sagime
ดู Blog ทั้งหมด

วงจรการเสพติด

เขียนโดย sagime
โดย หนูดี วนิษา เรซ

ในที่นี้ใครติดสิ่งเสพติดบ้างคะ หลายคนคงบอกว่าไม่ แต่หลายคนอาจจะบอกว่ากำลังติดอยู่ และหลายคนอาจบอกว่า “เลิกแล้ว” และแถมท้ายต่อด้วยว่า กว่าจะเลิกได้ก็แทบตาย

การติด “สิ่งเสพติด” ไม่จำเป็นต้องติดยาเสพติดที่เป็นอันตรายและผิดกฎหมาย แต่เราสามารถเสพติดทุกสิ่งรอบตัวได้ โดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ บางคนเสพติดความยุ่ง ชอบทำตัววุ่นๆ และ “บีซี่” บางคนเสพติดละครโทรทัศน์ บางคนเสพติดบุหรี่ น้ำอัดลม ส่วนบางคนน่าสงสารหน่อยก็เสพติดความทุกข์ เสพติดความเศร้าของตัวเอง ส่วนบางคนก็เสพติดเงินค่ะ

มาดูวงจรการเสพติดกันดีกว่าว่า เวลาเรา “เสพ” เกิดอะไรขึ้นบ้างในสมองก้อนนี้

รู้มั้ยคะว่า อาการอยากเสพยานั้นเป็นวงจรเดียวกับ “อาการหิว” พูดแบบนี้แล้วเราทุกคนที่เคยหิวคงรู้ดีว่า เวลาหิวตาลายแล้วไม่ได้กินมันทรมานขนาดไหน ใช่แล้วค่ะ คนที่เสพติดหากไม่ได้ยามาเสพให้ทันละก็จะทุรนทุรายแสนสาหัส ประมาณคนที่อดอาหารมานานเลยทีเดียว คนที่ไม่มีกินพร้อมจะขโมยเมื่อหิวสุดขีดแค่ไหน คนที่อยากยาก็คูณไปเป็นสิบเป็นร้อยเท่าเลยทีเดียว และเพราะว่ายานั้นทำให้สมองทำงานผิดพลาดได้เมื่อเสพไปนานๆ ไม่ได้บำรุงร่างกายแบบอาหารที่พอหามากินได้ก็จะรู้สึกดีเพราะเซลล์ได้รับการบำรุง เพราะฉะนั้น เราจึงมักได้ยินข่าวว่าลูกที่อยากยาบางครั้งทำร้ายร่างกายพ่อแม่เพื่อแย่งเงินไปซื้อยากันได้แบบไม่กลัวบาป

ยาเสพติดส่วนใหญ่ทำงานด้วยการไปหลอกล่อสมองว่ามี “สารความสุข” ในปริมาณที่มากกว่าปกติ ซึ่งสารเคมีเหล่านี้เราผลิตกันประจำในสมองอยู่แล้ว เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น เวลาเราออกกำลังกาย เวลาเราทำงานสนุกๆ และสารที่เราเสพกันจนชินก็จำพวก เอนดอร์ฟิน โดพามีน เซโรโทนิน หรือนอร์อะดรีนาลิน อาจารย์ของหนูดียังเคยเปรียบเทียบเล่นๆ ว่า พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ที่สุดในโลกคือสมองของเรานี่เองค่ะ เพราะสมองของเราผลิตสารเคมีธรรมชาติเลียนแบบยาเสพติดได้แทบทุกประเภทที่มีวางจำหน่าย

เอ๊ะหรือต้องบอกว่า ยาเสพติดเลียนแบบการทำงานของสมองเราได้เก่ง ถึงจะถูกใช่ไหมคะ

ยาอีหรือเอกซ์ทาซีที่เคยดังมากอยู่พักหนึ่งนั้น หากเราเสพเข้าไปแล้วเขาจะเข้าไปบอกเซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตเซโรโทนินให้ผลิตออกมามากขึ้น เซโรโทนินนี้เป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้เรารู้สึกมั่นใจในตัวเอง มีความสุข อิ่มเอมใจ และเมื่อได้รับมากก็จะทำให้รู้สึก “ดีแบบที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน” ลักษณะการทำงานก็คล้ายยาคลายโรคซึมเศร้าที่หมอสั่งให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากินนั่นล่ะค่ะ กินแล้วรู้สึกดีมากทีเดียว แต่ผลเสียของ “ยาอี” ก็คือ ทำให้เซลล์ที่ต้องผลิตเซโรโทนินนั้น “แก่ก่อนวัย” พูดง่ายๆ ว่าทำงานหนักไปหน่อย ระบบเลยจะล่มเร็ว คนที่เสพยาพวกนี้ไปนานๆ เข้าจะเสี่ยงกับการเป็น “โรคซึมเศร้า” เข้าสักวันค่ะ และมักจะเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรงอีกด้วย หนูดีเคยเห็นภาพสแกนสมองของคนที่เสพยาอีแล้ว ทำให้ไม่กล้าเสพยาประเภทไหนเลย เพราะเห็นได้ชัดว่ามันทำให้สมองส่วนคิด ส่วนตัดสินใจ ประมวลผลได้แย่กว่าปกติมาก ใครที่ได้เห็นแล้วจะรู้เลยว่า ได้ความสุขไม่คุ้มเสียสมองเลยจริงๆ

ส่วน “โคเคน” นั้น ทำงานโดยเพิ่มปริมาณของสารโดพามีน เซโรโทนิน และนอร์อะดรีนาลีนที่เซลล์สมองจะรับมาใช้ได้ ไม่ได้เพิ่มโดยการสั่งผลิตเพิ่มนะคะ แต่เพิ่มโดยการไปปิดระบบกำจัดส่วนเกิน พูดง่ายๆ ว่า ไม่ยอมให้เทศบาลในสมองมาเอาสารเคมีสามตัวที่เกินไปทิ้งได้ เราก็เลยมีขยะตกค้างในสมองเยอะมาก แต่บังเอิญสารพวกนี้รวมตัวกันแล้ว ทำให้เรารู้สึกมีความสุขมาก มีพลังงานสูง และมีความมั่นใจในตัวเองอย่างยิ่ง ผลก็เลยเป็น “การเสพติด” แบบเลิกไม่ได้อย่างที่เห็นกันมากมายนั่นล่ะค่ะ ก็ใครจะไม่ชอบอารมณ์เหล่านี้

และบุหรี่ที่คนเมืองทั่วไปน่าจะมีโอกาสได้สัมผัสมากว่าสารอีกสองตัวที่หนูดีพูดถึงนั้น ทำงานน่าทึ่งทีเดียว มีใครเคยขอให้คนรักเลิกบุหรี่แล้วเขาบอกว่า เลิกไม่ได้ เพราะถ้าไม่ได้สูบบุหรี่แล้วเขา “คิดงานไม่ออก” บ้างไหมคะ

เขาพูดจริงค่ะ

เพราะทุกครั้งที่สูบบุหรี่ สมองจะถูกกระตุ้นให้หลั่งสารโดพามีนออกมา รวมทั้งสารอะซีทิลโคลีน ตัวหลังนี่ล่ะค่ะ เกี่ยวข้องกับเรื่องความจำ ช่วยให้เราจำได้ดีจริงๆ เสียด้วย สารพวกนี้จะหลั่งมากในสองสามลมหายใจแรก หลังจากนั้นก็จะซาไป คนสูบบุหรี่จึงมักรู้สึกว่า เวลาเครียดคิดอะไรไม่ออกแล้วเดินออกไป “อัดบุหรี่” นี่หัวโล่งจริงๆ ค่ะ แต่ผลเสียกับปอดนั้น ดูท่าจะได้ไม่คุ้มเสียอีกแล้ว เพราะสารพวกนี้จริงๆ สมองก็ผลิตกันทุกวันอยู่แล้วค่ะ

ส่วน “กาแฟ” ผู้โด่งดังและมีลูกค้ามากมาย ก็ทำงานกระตุ้น ช่วยในการหลั่งโดพามีนและนอร์อะดรีนาลิน ทำให้ทั้งจำดีและมีพลังงาน แต่ผลข้างเคียงก็ทำให้กังวลและตื่นเต้น ตื่นตัวมากไป หยุดวงจรนี้ยากด้วย อาการที่หนูดีได้ยินบ่อยก็คือ ตาค้าง นอนไม่หลับ

แต่ที่น่ากลัวที่สุดหนูดีว่า มันคือ “อาการเคยชิน” ของสมอง ที่พอเราเสพติดอะไรไปสักพัก สมองจะเริ่มสร้างภูมิต้านทาน และคราวนี้เสพเท่าเดิมก็ไม่ได้ผลแล้วค่ะ ต้องเสพมากขึ้นกว่าเดิมถึงจะได้ผลเท่าเดิม ตรงนี้ล่ะค่ะที่วงจรการเสพติดเริ่มน่ากลัว

แล้ววันนี้ เราเสพติดอะไรกันอยู่บ้างคะ

ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
อยากแสบติดความดี อิอิ ได้ความรู้เยอะเลย ขอบคุณค่า