sagime
ดู Blog ทั้งหมด

10 เรื่องในสมองผู้ชายที่ผู้หญิงควรรู้

เขียนโดย sagime
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ผู้หญิงไม่ใช่เพศเดียวที่เข้าใจยาก หลายครั้งเธอทั้งหลายไม่เข้าใจเพศชาย หากแต่ไลฟ์ไซน์ได้รวบรวมงานวิจัย ที่อธิบายพฤติกรรมผู้ชายอันเป็นผลจากการทำงานของสมอง 10 เรื่อง ที่เพศตรงข้ามควรรู้ ดังนี้
       
       
1.เจ้าอารมณ์ 
       

       ผู้หญิงมักถูกมองว่าเป็นเพศที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่นักวิจัยพบว่า ทารกชายมีปฏิกริยาและแสดงออกทางอารมณ์มากกว่าทารกเพศหญิง และในผู้ชายที่โตแล้วยังพบการแสดงออกทางอารมณ์ที่รุนแรงอยู่เช่นกัน แต่เป็นกรณีก่อนทีเจ้าตัวจะตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง
       
       จากงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารสแกนดิเนเวียนเจอร์นัลออฟไซโคโลจี (Scandinavian Journal of Psychology) เมื่อปี 2008 ที่ศึกษาเกี่ยวกับการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้านั้น พบว่าแม้ผู้ชายมีอารมณ์แต่จะแสดงออกด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย
       
       ทั้งนี้เมื่อยังเล็กเด็กผู้ชายเรียนรู้ที่จะซ่อนอารมณ์ตามที่วัฒนธรรมชี้ว่า "ไม่ใช่ลูกผู้ชาย" แต่การกดอารมณ์ไว้ก็กระตุ้นให้ร่างกายของผู้ชายเลือกที่จะตอบสนองด้วยการ "สู้" หรือ "หนี" ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลุนด์ (Lund University) สวีเดน ที่ศึกษาเรื่องนี้ได้เสนอทฤษฎีไว้ว่า ปฏิกริยาที่ชัดเจนและการแสดงออกที่ตามมาของผู้ชายนั้นอาจเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสิ่งที่คุกคาม
       
       
2. บอบบางต่อความเหงา
       

       ขณะที่ความเหงาทำให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพและสมองของทุกคน แต่ดูเหมือนว่าผู้ชายที่แก่ขึ้นจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
       
       ตามข้อมูลของ ดร.ลูแอนน์ บริเซนไดน์ (Dr. Louann Brizendine) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลีนิค จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในซานฟานซิสโก (University of California, San Francisco) สหรัฐฯ ผู้เขียนหนังสือ "สมองผู้ชาย" (The Male Brain) ในปี 2010 ระบุว่า ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะสลัดออกจากความเหงาน้อยกว่าผู้หญิง ซึ่งทำให้ความเหงาและความเสียหายที่เกิดขึ้นในสมองของพวกเขายิ่งเลวร้ายลงไปอีก
       
       การใช้ชีวิตกับผู้หญิงอาจจะช่วยได้ในเรื่องนี้ จากการศึกษาพบว่าผู้ชายที่มีความสัมพันธ์อันมันคงมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า มีชีวิตยืนยาวขึ้น และมีระดับฮอร์โมนที่ช่วยคลายกังวลลง
       
       ผู้หญิงยังอาจเป็นผลดีต่อต่อมเพศของผู้ชาย ทั้งนี้จากการศึกษาในหนูพบว่า หนูตัวผู้ที่อยู่กับหนูตัวเมียจะสามารถสืบพันธุ์ได้นานกว่าหนูในคอกเดียวกันที่ถูกแยกให้โดดเดี่ยว ซึ่งงานวิจัยนี้ตีพิมพ์ลงวารสารไบโอโลจีออฟรีโปรดัคชัน (Biology of Reproduction) เมื่อปี 2009
       
       
3. มุ่งมั่นกับการแก้ปัญหา 
       

       ขณะที่การศึกษาจำนวนมากชี้ว่าผู้หญิงมีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากกว่าผู้ชาย แต่ ดร.บริเซนไดน์เน้นว่า เรื่องนี้อาจไม่ถูกไปเสียทั้งหมด ระบบความเห็นอกเห็นใจในสมองผู้ชายนั้น จะตอบสนองเมื่อบางคนตกอยู่ในภาวะตึงเครียดหรือแสดงออกถึงปัญหา แต่สมองส่วน "แก้ไข" จะเข้ามาควบคุมอย่างรวดเร็ว
       
       “จุดศูนย์กลางส่วนนี้จะค้นหาทางออกของปัญหาไปทั่วสมอง ซึ่งผลคือผู้ชายมีแนวโน้มที่จะกังวลกับการแก้ปัญหา มากกว่าแสดงออกถึงความรู้สึก" ดร.บริเซนไดน์ระบุ
       
       4. นิสัยจ้องมองผู้หญิงฝังในเส้นเลือด 

       
       เทสโทสเตอโรน (testosterone) มักถูกนำไปเชื่อมโยงกับความก้าวร้าวและความมุ่งร้าย แต่ขณะเดียวฮอร์โมนเพศชายนี้ ยังเป็นฮอร์โมนความใคร่ด้วย ซึ่ง ปรันจาล เมห์ตา (Pranjal Mehta) นักจิตวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ กล่าวว่า ผู้ชายมีฮอร์โมนชนิดนี้พลุ่งพล่านอยู่ในกระแสเลือดมากกว่าผู้หญิงถึง 6 เท่า
       
       เมห์ตาและคณะยังพบด้วยว่า เทสโทสเตอโรนนี้ทำให้ส่วนควบคุมคลื่นสั้นในสมองทำงานแย่ลง แม้จะยังไม่มีการศึกษาอย่างแน่ชัดแต่เหตุนี้อาจใช้อธิบายลักษณะที่ ดร.บริเซนไดน์เรียกว่า ผู้ชายชอบจ้องมองผู้หญิง ราวกับเปิดเครื่องชี้ทางอัตโนมัติ และผู้ชายมักจะลืมว่าบางครั้งผู้หญิงที่พวกเขามองนั้นอยู่นอกกรอบสายตาของพวกเขา
       
       
5.ต้องปกป้องอาณาเขต
       

       แม้ว่าควรจะต้องศึกษาในมนุษย์ให้มากกว่านี้ แต่จากการศึกษาในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพศผู้นั้น พบว่าสมองของเพศชายมีบริเวณที่กำหนดให้ผู้ชายรู้สึกหวงแหนอาณาเขตมากกว่าผู้หญิง ซึ่ง ดร.บริเซนไดน์กล่าวว่า ผู้หญิงรู้สึกเป็นเจ้าในระดับที่พอดี แต่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรงมากกว่าเมื่อชีวิตรักหรืออาณาเขตถูกรุกราน
       
       
6.ยึดหลักสายงานบังคับบัญชา 
       

       การปกครองที่ไม่มั่นคงเป็นสาเหตุให้ผู้ชายกังวลอย่างมาก แต่ ดร.บริเซนไดน์กล่าวว่า การกำหนดสายบังคับบัญชา เช่น การฝึกทหารหรือในสานที่ทำงานหลายๆ แห่งนั้น ช่วยลดฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนและความก้าวร้าวของผู้ชายลงได้
       
       
7. ชอบเหนือกว่า
       

       ความลุ่มหลงทำให้ผู้ที่แข็งแกร่งกว่ารังแกผู้ที่อ่อนแอกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เริ่มต้นตั้งแต่เด็กอายุได้ 6 ขวบ และกระตุ้นให้ผู้ชายเล่นเกมต่อสู้ในการล้มฝ่ายตรงข้าม หากแต่ ดร.บริเซนไดน์เสริมว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า หากจะแสดงด้วยคำพูดทิ่มแทงแทนที่จะแสดงออกด้วยการใช้กำลัง และพบว่าเมื่อผู้ชายแก่ขึ้นการเอาเปรียบคนอื่นจะน้อยลง แล้วจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และการทำสังคมให้ดีขึ้น
       
       ด้านเมห์ตากล่าวว่า ตลอดระยะเวลาของวิวัฒนาการผู้ชายจำเป็นต้องแข่งขันเพื่อสถานะและคู่ครองขณะที่ยังเล็ก และตอกย้ำความสัมพันธ์และความร่วมมือเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ส่วนการเปลี่ยนแปลงเมื่อแก่ขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการลดลงโดยธรรมชาติของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอย่างช้าๆ
       
       นอกจากนี้เมห์ตาและคณะยังพบด้วยว่า ผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงนั้น มีแนวโน้มที่จะแข่งขันแบบตัวต่อตัวได้ดีกว่า ขณะทีผู้ชายซึ่งมีระดับฮอร์โมนดังกล่าวต่ำกว่าจะมีความสามารถในการแข่งขันเป็นทีมดีกว่า ซึ่งงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารฮอร์โมนและบีแฮฟวิเออร์ (Hormones and Behavior) เมื่อปี 2009
       
       
8. เตรียมตัวเป็นพ่อ  
       

       สมองของผู้ชายจะเตรียมพร้อมหลายเดือนก่อนเป็นพ่อคน ซึ่งการเป็นพ่อนี้ขึ้นอยู่กับระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยฮอร์โมนโปรแลคตินจะเพิ่มขึ้นแต่ระดับเทสโทสเตอโรนจะลดลง ซึ่งส่งเสริมพฤติกรรมการเป็นพ่อ และการค้นพบในเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอีโวลูชันแอนด์ฮิวแมนบีแฮฟวิเออร์ (Evolution and Human Behavior) เมื่อปี 2000
       
       อย่างไรก็ดี ดร.บริเซนไดน์ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยดังกล่าว ให้ความเห็นว่าเป็นไปได้ที่ฟีโรโมนจากหญิงท้องจะโชยไปกระตุ้นให้คู่ของเธอมีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน ทั้งนี้อาจจะเป็นการให้คืนของฝ่ายหญิง ซึ่งงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารฮอร์โมนแอนด์บีแฮฟวิเออร์เมื่อปี 2008 พบว่าก่อนผู้หญิงท้องนั้นฟีโรโมนจากฝ่ายชายจะเป็นสาเหตุให้เส้นประสาทการเป็นแม่ที่ดีนั้นผุดขึ้นในสมองผู้หญิง
       
       
9.วิธีหยอกเหย้าของคุณพ่อ
       

       คุณพ่อมีวิธีที่จะหยอกเหย้ากับลูกๆ ซึ่งเอะอะตึงตัง เป็นธรรมชาติและเย้าแหย่ และการเล่นกับลูกของพ่อนี้จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้นและเป็นการเตรียมพร้อมก่อนออกไปสู่โลกของความจริง อีกทั้งยังลดพฤติกรรมทางเพศของเด็กๆ ที่เสี่ยงอันตราย จากการศึกษาในหลากหลายวัฒนธรรม พ่อที่เลี้ยงดูลูกๆ มีแนวโน้มที่จะมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลง
       
       แม้จะยังไม่ทราบว่าระดับฮอร์โมนนั้นเป็นสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าวหรือให้ผลในทางกลับกันหรือไม่ นักวิจัยเสนอทฤษฎีว่าวิวัฒนาการได้สนับสนุนให้พ่อมีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูก ซึ่งลูกๆ ของมนุษย์มีชีวิตอยู่ได้ยากลำบากที่สุดในสิ่งมีชีวิตของอาณาจักรสัตว์ และพ่อที่ดีต้องสร้างความมั่นใจว่าลูกๆ และยีนของผู้เป็นพ่อเองนั้นจะอยู่รอดได้ต่อไป
       
       
10.ปรารถนาลั่นระฆังวิวาห์หลายครั้ง 
       

       จากการศึกษาชายชาวโบลิเวียซึ่งได้รายงานผลการวิจัยในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะรอยัลโซไซตี (Proceedings of the Royal Society) เมื่อปี 2007 พบว่าการนอกใจมักจะเกิดขึ้นกับผู้ชายก่อนอายุ 30 ปี หลังจากนั้นผู้ชายจะเริ่มให้ความสำคัญกับครอบครัว
       
       แน่นอนว่าผู้ชายบางคนมีช่วงเวลายากลำบากที่จะรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น ซึ่งจากงานวิจัยที่พิมพ์ในวารสารโพรซีดิงส์ออฟเดอะเนชันนัลอคาเดมีออฟไซน์ (Proceedings of the National Academy of Science) เมื่อปี 2008 ระบุว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะมีเรื่องยีนเข้ามาเกี่ยวข้อง
       
       ผู้ชายที่ไม่มี "ยีนสำส่อน" (promiscuity gene) ซึ่งมีมากถึง 60% ของประชากร มีแนวโน้มที่จะแต่งงาน และงานวิจัยยังพบว่าทั้งผู้ชายและภรรยาของเขามีแนวโน้มที่จะมีชีวิตแต่งงานที่สุขสุดยอด หากแต่ แฮสส์ วาลุม (Hasse Walum) จากสถาบันคาโรลินสกา (Karolinska Institute) ในสวีเดน หัวหน้าในการวิจัยครั้งนี้กล่าวว่ากลุ่มศึกษายังน้อย และยังไม่สามารถใช้เป็นแนวทางในการหาคู่ได้
        

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น