A Rai Naa >>>
ดู Blog ทั้งหมด

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

เขียนโดย A Rai Naa >>>

ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

เป็นภาวะที่มีเลือดออกในสมอง ซึ่งสามารถพบได้ในชั้น Subarachnoid, Subdural epidural หรือในเนื้อสมอง ปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เลือดออกในกะโหลกศีรษะ คือ การคลอดก่อนกำหนด ภาวะขาดออกซิเจนเป็นเวลานาน การได้รับอันตรายรุนแรงจากการคลอด อาการจะปรากฏทันทีภายหลังคลอด หรือค่อยเป็นค่อยไป อาการที่พบทันทีหลังคลอด คือ ทารกเคลื่อนไหวน้อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง โมโรรีเฟล็กซ์น้อย หรือไม่มีเลย อาการที่ค่อยเป็นค่อยไปคือ เมื่อแรกเกิดทารกมีลักษณะปกติ และค่อยๆ ปรากฏอาการให้เห็นภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังคลอดถึง 2-3 วันหลังคลอด

อาการที่พบคือหงุดหงิด ร่างกายอ่อนปวกเปียก ร้องเสียงแหลม สั่น หายใจผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก หายใจช้า ไม่สม่ำเสมอ ม่านตาอาจไม่เท่ากัน หรือไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง กระหม่อมตึงรอยต่อของกะโหลกศีรษะ (Suture) กว้าง ชัก ดูดกลืนไม่ดี อุณหภูมิร่างกายต่ำ อาการที่แสดงว่ามีเลือดออกเพิ่มมากขึ้นคือ ซีด ตัวเย็น ชีพจรเบา

การพยาบาล

1.    ให้หายใจสะดวกและได้รับออกซิเจนเพียงพอ จัดให้นอนราบ ศีรษะตะแคงไปด้านใดด้านหนึ่ง อาจยกหัวเตียงสูงเล็กน้อย เพื่อลดความดันในสมอง และช่วยให้ปอดขยายได้สะดวก ดูดมูกและเสมหะจากปาก จมูก กรณีที่ให้ออกซิเจน สำรวจปริมาณของออกซิเจนที่ให้ไม่เกิน 40% หรือ ตามแผนการรักษา บันทึกลักษณะ พฤติกรรมที่สังเกตเห็น

2.    ให้ได้รับอาหารและน้ำเพียงพอ การให้อาหารทารกมีความสำคัญมาก เนื่องจากทารกดูดกลืนไม่ดี ทดสอบปฏิกิริยาสะท้อนของการดูดกลืน (Sucking และ swallowing reflex) ด้วยการใช้นิ้วที่สะอาดแตะริมฝีปากและลิ้นทารก ถ้าทารกดูดกลืนได้ หยอดนมให้ ถ้าได้อาหารไม่เพียงพอ ให้อาหารทางสายยาง เพื่อไม่ให้ทารกออกกำลังและไม่เพิ่มความดันในกะโหลกศีรษะ พยาบาลต้องดูแลให้ได้นมครบ ดูแลความสะอาดปากทำให้ริมฝีปากชุ่มชื้น เพราะทารกไม่ได้รับอาหารทางปากริมฝีปากจะแห้ง สังเกตอาการสำลักในรายที่หยอดนมให้ สังเกตการณ์อาเจียน ปริมาณนมที่ทารกรับได้

3.    กรณีให้สารน้ำทางเส้นเลือด คำนวณจำนวนสารน้ำอย่างถี่ถ้วน ปรับจำนวนหยด เพื่อป้องกันภาวะน้ำเกิน (Hypervolemia) สังเกตปฏิกิริยาทารก บริเวณที่ให้สารน้ำ ซึ่งจะเพิ่มความดันในสมองขึ้นอีก บันทึกปริมาณอาหารและสารน้ำที่เข้าสู่ร่างกาย และจำนวนที่ขับออกทุกครั้ง พร้อมทั้งประเมินภาวะสมดุลเป็นระยะ

4.    ดูแลร่างกายให้ได้รับความอบอุ่น อาจให้อยู่ในตู้อบใช้ไฟส่องหรือห่มผ้าให้ วัดและบันทึกอุณหภูมิของร่างกาย 2-4 ชั่วโมง ตามระดับความรุนแรงของอาการ

5.    ป้องกันและไม่ให้รับอันตรายจากการชัก จัดวางเตียงทารกให้อยู่ในที่ที่พยาบาลสังเกตทารกได้ง่ายให้ยาระงับชักตามแผนการรักษา สังเกตอาการที่แสดงว่ามีความดันในกะโหลกศีรษะเพิ่ม การเคลื่อนไหวของร่างกาย เสียงร้อง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่แสดงว่าจะเริ่มชัก เช่น อาการกระสับกระส่าย กรณีชัก บันทึกการเคลื่อนไหว เวลาที่เริ่มชัก เวลาที่หยุดชัก ส่วนร่างกายที่ชัก จำนวนเหงื่อ การเคลื่อนไหวลูกตา อัตราการหายใจ สีผิว ท่าทาง น้ำลายฟูมปาก อาเจียน ระดับการรู้ตัวระหว่างชัก พฤติกรรมหลังจากที่กลับมารู้สึกตัว ดูแลความปลอดภัยขณะชัก เช่น อาการสำลัก น้ำมูกน้ำลาย

6.    ให้ได้รับการพักผ่อนเพียงพอ การพักผ่อนสำคัญมาก จัดระบบการพยาบาลเพื่อให้รบกวนทารกน้อยที่สุด เครื่องนอนเรียบตึง สะอาด สิ่งแวดล้อมเงียบสงบ ดูแลท่านอนให้หายใจสะดวก

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น