ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

    ลำดับตอนที่ #1 : ประวัติอันยาวนาน

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 657
      2
      2 พ.ค. 49

         ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 5) เกิดอหิวาตกโรคระบาดชุกชุมเมื่อ พ.ศ. 2424 ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการ หากแต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้นยังประโยชน์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พสกนิกรและผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร แต่การโรงพยาบาลนั้นเป็นการใหญ่ จำเป็นอยู่ที่ต้องมีคณะกรรมการเพื่อจัดการโรงพยาบาลให้สำเร็จ

           ดังนั้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้น เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ
          ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ พระราชโอรสอันประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้ประชวรโรคบิดสิ้นพระชนม์ลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 ยังความอาลัยเศร้าโศกแห่งพระบาทสมเด็จพรจุลจอมเกล้าฯ ยิ่งนักถึงกับทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะให้มีโรงพยาบาลขึ้น ครั้นเสร็จงานพระเมรุแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่าง ๆ ในงานพระเมรุนำไปสร้างโรงพยาบาล ณ บริเวณ

           วังหลังดังกล่าว นอกจากนี้ยังพระราชทานทรัพย์ส่วนของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ฯ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย ในระยะแรกคณะกรรมการจัดสร้างโรงพยาบาล ได้จัดสร้างเรือนพักผู้ป่วยขึ้น 6 หลัง และเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิด และพระราชทานนามว่า "โรงศิริราชพยาบาล" หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย


           เมื่อภาระการดำเนินงานรักษาพยาบาลของโรงศิริราชพยาบาลมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นจนในเวลาต่อมาปรากฏว่ามีแพทย์ไม่เพียงพอจึงได้ตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้นใน โรงพยาบาลนี้ และเริ่มเปิดสอนตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2433 เป็นต้นมา โดยจัดหลักสูตร การศึกษา 3 ปีสอนทั้งวิชาแพทย์แผนปัจจุบันและแผนโบราณนักศึกษาแพทย์รุ่นแรกได้สำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2436 พร้อมกับที่กรมพยาบาลประกาศเปิดและตั้งชื่อโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศไทยนี้ว่า โรงเรียนแพทยากร

           พ.ศ. 2440 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนแพทย์แห่งนี้ให้เป็นหลักฐานมีอาคารเรียนถาวรและมีที่พักสำหรับนักเรียนด้วย เมื่อการก่อสร้างสำเร็จเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วย สมเด็จพระบรมราชินีนาถจึงได้ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2443 และพระราชทานนามใหม่ว่า ราชแพทยาลัย

           ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้มีการขยายหลักสูตรแพทย์เป็น 4 ปียังคงมีวิชาแพทย์ไทยแผนโบราณให้เลือกเรียนเพิ่มเติมจากแผนปัจจุบันในปี พ.ศ. 2448 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชแพทยาลัย
    ไปขึ้นกับกรมศึกษาธิการ โดยมีโรงศิริราชพยาบาลเป็นสาขาของ โรงเรียนสำหรับใช้เป็นที่ฝึกหัดวิชาแพทย์แก่นักเรียน ต่อมาในปี พ.ศ. 2450 จึงได้รวมแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบันเข้าด้วยกัน ในระยะที่พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นไชยนาทนเรนทร (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาไชยนาทนเรนทร)
    ทรงเป็นผู้บัญชาการราชแพทยลัย ได้ทรงขยายหลักสูตรแพทย์เป็น 5 ปี


           วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมา
    ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2460 กระทรวงธรรมการได้ประกาศรวมราชแพทยาลัยเข้าใน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนนามเป็น คณะแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเปลี่ยนนามตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2461เป็น คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ในปีเดียวกันนั้นเองได้ขยายหลักสูตรแพทย์เป็น 6 ปี ย้ายการเรียนการสอน 4 ปีแรก ไปที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่หอวัง ปทุมวัน (บริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ) ส่วนที่โรงพยาบาลศิริราชคงสอนเฉพาะชั้นปีที่ 5 และ 6 (คลินิก)


             ในปี พ.ศ. 2464 รัฐบาลสยามเริ่มเจรจากับมูลธินิร็อกกิเฟลเลอร์ เพื่อปรับปรุงการศึกษาแพทย์ให้ถึงระดับปริญญาสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งในขณะนั้น ทรงดำรงพระยศสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงเป็นผู้แทนฝ่ายไทย ในที่สุดมูลนิธิร็อกกิเฟลเลอร์ได้ให้ความช่วยเหลือทั้งการศึกษาแพทย์เตรียมแพทย์ และพยาบาล สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตใช้เวลาศึกษา 6 ปี รับนักเรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์ (ม. 8) เรียนเตรียมแพทย์ 2 ปีที่จุฬาฯ แล้วเรียนแพทย์อีก 4 ปีที่ศิริราช

          การปรับปรุงการศึกษาแพทย์ของไทยด้วยความร่วมมือ ระหว่างมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์กับรัฐบาลไทยเมื่อ พ.ศ. 2466 - 2478 มีข้อตกลงสำคัญประการหนึ่ง คือ รัฐบาลไทยจะต้องจัดให้มีการศึกษาหลังปริญญาด้วย


    พระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณต่อ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลและวงการแพทย์ไทย ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกมีหลายประการและปรากฏเป็นผลสำเร็จดียิ่ง จนบุคลากรทางการแพทย์, สาธารณสุข และประชาชนทั่วไปถือว่าพระองค์ทรงเป็น "องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย"

          ในสมัยก่อนที่จะมีหลักสูตรสำหรับการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง หากแพทย์ผู้ใดปฏิบัติงานในสาขาเฉพาะทางเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จะสามารถสอบเพื่อรับ วุฒิบัตร ผู้มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางสาขานั้นได้แพทย์ที่ได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจะได้รับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปด้วย หากได้รับคัดเลือกให้ปฏิบัติงานในโรงเรียนแพทย์ จะอยู่ในฐานะ แพทย์ประจำบ้าน หรือ House Office เป็นเวลา 1 ปี และอาจได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ประจำบ้านอาวุโสในปีต่อ ๆ ไป ใน พ.ศ. 2504
    มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และกระทรวงสาธารณสุขเริ่มการจัดให้มีการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัดขึ้น จนถึงปี พ.ศ. 2506 แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 ได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาบัณฑิตวิทยาลัย มีการเรียนการสอนหลักสูตร "ประกาศนียบัตรชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก" ต่อมาจึงมีการเปิดสอนปริญญามหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานโดยความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล สาขาวิชาแรกที่เปิดสอน คือ กายวิภาคศาสตร์ และทำการเปิดสอนปริญญามหาบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิกในเวลาต่อมา


             พ.ศ. 2485 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ให้แยกคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตั้งเป็น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และได้โอนมาสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2502
          นอกจากนั้นได้เปิดหลักสูตรปริญญาแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิต โดยเน้นด้านการวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 เมื่อแพทยสภามีนโยบายให้มีโครงการอบรมแพทย์เพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง โดยมีหลักสูตรชัดเจน ในปี 2512 คณะฯจึงได้เริ่มการฝึกอบรมตามนโยบายดังกล่าว โดยเริ่มฝึกอบรมรุ่นแรกในปี 2512 การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาต่าง ๆ กำหนดเวลา 3 ปี และเริ่มมีการสอบเพื่อรับ "วุฒิบัตรผู้มีความรู้ความชำนาญ" ครั้งแรก ใน พ.ศ. 2514 ใน 10 สาขาได้แก่ อายุรศาสตร์ เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศัลยศาสตร์ ศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์ วิสัญญีวิทยา สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รังสีวิทยา จักษุวิทยา และกุมารเวชศาสตร์


        การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาต่าง ๆ ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แบ่งเป็น 2 ระดับโดยใช้เวลา 3 ปี ระดับแรกเป็นการฝึกอบรมทั่วไปแต่ละสาขาวิชา ใช้เวลา 1 ปี และระดับที่สอง เป็นการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม (ว.ว.) สาขาต่าง ๆ ของแพทยสภา

          มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ใช้พระนามาภิไธย "มหิดล" เป็นนามใหม่ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ในครั้งนั้นคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลได้รับชื่อใหม่ว่า "คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล" มหาวิทยาลัยมหิดล และได้โอนจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาขึ้นกับทบวงมหาวิทยาลัยใน พ.ศ. 2514


           คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้เริ่มการฝึกอบรมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตั้งแต่ปี 2484 โดยยังไม่มีหลักสูตรที่แน่ชัด แพทย์ที่จบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตและมีความต้องการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสมัครอยู่ปฏิบัติงานในสาขาที่สนใจในตำแหน่งแพทย์ประจำบ้าน (House officer) ซึ่งในปีแรกนั้น มี 4 สาขาวิชาคือ อายุร-ศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และรังสีวิทยา แต่ยังไม่มีการปรับเพิ่มคุณวุฒิ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×