ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    Encyclopedia Earth

    ลำดับตอนที่ #265 : ยุทธการบาร์บารอสซ่า ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.1K
      1
      30 ธ.ค. 52

    ยุทธการบาร์บารอสซ่า ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

    ยุทธการบาร์บารอสซ่า

    Operation Barborossa

    การรุกเข้าสู่ประเทศรัสเซียของนาซีเยอรมัน

    ในสงครามโลกครั้งที่ ๒

    จาก http://www.geocities.com/saniroj

    โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ



    ---------------------------------





    แผนที่แสดงการรุกของนาซีเยอรมันเข้าไปในรัสเซีย ตามยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ซึ่งเปิดฉากขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 1941 เวลา 03.30 น. จะเห็นว่ากองทัพเยอรมันรุกเข้าสามแนว คือทางเหนือ กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) บุกจากโปแลนด์ มุ่งสู่เลนินกราด กลุ่มกองทัพกลาง (Army Group Centre) มุ่งหน้าสู่มอสโคว์ และกลุ่มกองทัพใต้ (Army Group South) รุกจากโรมาเนีย พันธมิตรของเยอรมัน มุ่งลงใต้สู่ทะเลดำ และคอเคซัส ขวามือของแผนที่จะเห็นเมืองสตาลินกราด ที่กองทัพที่ 6 ของกลุ่มกองทัพกลาง ถูกทำลายลงทั้งกองทัพ



    ภาพเชลยศึกรัสเซีย (POW - Prisoners of War) ถูกทหารเยอรมันจับขึ้นรถถัง Panzer III ของเยอรมัน เพื่อนำตัวไปควบคุมต่อไป ในช่วงแรกของยุทธการบาร์บารอสซ่า ทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก เพราะมีขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ อาวุธไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ตลอดจนขาดการเตรียมความพร้อมที่ดี เฉพาะที่เมือง Minsk และ Smolensk มีทหารรัสเซียถูกจับถึง 400,000 คน

    แต่ในช่วงต่อมาของสงคราม ทหารรัสเซียได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก อีกทั้งยังมีจำนวนที่มากมายมหาศาล อย่างชนิดที่เรียกว่า ไม่รู้จักหมดสิ้น สำหรับเชลยในภาพเหล่านี้ ส่วนใหญ่ประสบชะตากรรมคล้ายกัน คือถูกใช้เป็นแรงงานทาส หรือถูกจองจำในค่ายเชลยศึกอย่างทารุณ จนเชลยจำนวนมากเสียชีวิตในที่สุด



    รถถัง Panzer III และทหารราบเยอรมันกำลังรุกคืบหน้าเข้าสู่รัสเซีย ในช่วงต้นของยุทธการบาร์บารอสซ่า (Barbarossa) ภูมิประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลของรัสเซีย จะดูดซึมพลังอำนาจของกองทัพเยอรมันที่ยิ่งใหญ่ ไปจนหมดสิ้น

    ---------------------------------

    ปลายเดือนมิถุนายน 1940 หลังจากที่ฮิตเลอร์ยึดครองยุโรปตะวันตกแล้ว เขาก็ประกาศเจตนารมณ์ให้ฝ่ายเสนาธิการทราบว่า การโจมตีรัสเซียเพื่อ "กวาดล้างกลุ่มอำนาจที่มีอยู่ในรัสเซีย" (wiping out the very power to exist of Russia) นโยบายดังกล่าวส่งผลให้มีการเพิ่มอำนาจการผลิตยุทโธปกรณ์ การขยายขนาดของกองทัพ การเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์จากดินแดนยึดครองในโปแลนด์และยุโรปตะวันตก มาสู่ชายแดนด้านรัสเซีย

    เดือนธันวาคม 1940 ฮิตเลอร์จึงได้กำหนดแผนยุทธการเพื่อโจมตีรัสเซีย โดยให้ชื่อว่า ยุทธการบาร์บารอสซ่า (Operation Barbarossa) ตามชื่อจักรพรรดิ์เยอรมันในยุคกลาง โดยยุทธการบาร์บารอสซ่าถูกกำหนดให้เปิดฉากขึ้นในต้นเดือนพฤษภาคม 1941 และฮิตเลอร์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือนในการพิชิตรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เยอรมันต้องเสียเวลากว่า 6 สัปดาห์จัดการกับยูโกสลาเวียและกรีซ ยุทธการนี้จึงถูกเลื่อนเวลาปฏิบัติการออกไปอีก จนถึงวันที่ 22 มิถุนายน

    หกสัปดาห์ที่ล่าช้าออกไป ได้รับการวิเคราะห์จากนักยุทธศาสตร์ปัจจุบันว่า ส่งผลให้กองทัพเยอรมันต้องเผชิญกับฤดูหนาวอันหนาวเย็นของรัสเซีย และทำให้โฉมหน้าของสงครามระยะยาวเปลี่ยนไป จริงๆแล้วฝ่ายเสนาธิการของเยอรมันก็แนะนำฮิตเลอร์ว่า เยอรมันอาจจะไม่สามารถพิชิตรัสเซียได้ก่อนฤดูหนาวจะมาถึง แต่ฮิตเลอร์ไม่สนใจคำวิเคราะห์ดังกล่าว และไม่อนุญาตให้โรงงานอุตสาหกรรม ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในฤดูหนาว โดยเขายืนยันว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำเช่นนั้น

    ในรัสเซียทุกอย่างดำเนินไปตามปกติ สตาลินมีความเชื่อมั่น ในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน ที่เขาทำกับฮิตเลอร์ แม้จะมีข่าวว่าเยอรมันเตรียมการบุกรัสเซีย แต่สตาลินก็ปฏิเสธข่าวดังกล่าว และถือว่าเป็นข่าวที่ถูกปล่อยออกมาโดยมือที่สาม เพื่อสร้่างความแตกแยกขึ้นระหว่างสองประเทศ

    ในเวลา 03.15 ของวันที่ 22 มิถุนายน 1941 กองทัพเยอรมันได้เปิดฉากบุกเข้าไปในรัสเซียทุกทิศทาง ตามแนวชายแดนตะวันตกของรัสเซีย กองทหารเยอรมันเหนือกว่ากองทหารรัสเซียทุกอย่าง ทั้งระเบียบวินัย การฝึกฝน ประสบการณ์ที่ผ่านการรบในยุโรปตะวันตก อาวุธยุทโธปกรณ์และความเป็นผู้นำหน่วย

    กำลังพลของเยอรมันประกอบด้วย กองพลทหารราบ 102 กองพล กองพลยานเกราะแพนเซอร์ 19 กองพล กองพลเคลื่อนที่เร็ว 14 กองพล กองพลพิเศษ (ไม่ใช่กองพลรบพิเศษ) 5 กองพล และกองพลทหารม้า (ม้าเนื้อ) 1 กองพล ฝ่ายรัสเซียมีกำลังประกอบด้วย กองพลทหารราบ 154 กองพล กองพลทหารม้า (ม้าเนื้อ) 25 กองพล และกรมยานเกราะ 37 กองพล
    นอกจากนี้ทางฝ่ายเยอรมันยังได้รับการสนับสนุนจากกองทัพอักษะอื่นๆ เช่น ฟินแลนด์ สโลวัค อิตาลี โรมาเนีย และโครเอเชีย รวมทั้งฮังการี

    กองทัพเยอรมันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

    1. กลุ่มกองทัพเหนือ (Army Group North) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล วิลเฮล์ม ฟอน ลีบ (Wilhelm Von Leeb) มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่เลนินกราด (Leningrad) เผชิญหน้ากับนายพลคลีเมนท์ โวราชิตอฟ (Kliment Vorashitov)

    2. กองทัพกลุ่มกลาง (Army Group Centre) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพล ฟีดอร์ ฟอน บอค (Fedor Von Bock) มีจุดหมายอยู่การยึดกรุงมอสโคว์ เผชิญกับนายพล ซีเมน ทิโมเชนโก้ (Semen Timoshenko)

    3. กลุ่มกองทัพใต้ (Group South) ภายใต้การบังคับบัญชาของจอมพลเกิร์ด ฟอน รุทชเท็ดท์ (Gred Von Rundstedt) มีเป้าหมายคือยึดครองคอเคซัส (Caucasus) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมัน เผชิญหน้ากับนายพลซีเมน บูเดนนี่ (Semen Budenny) ของรัสเซีย

    กองทัพเยอรมันในขณะที่เปิดยุทธการบาร์บารอสซ่านั้น จัดเป็นกองทัพที่มีความพร้อมเป็นอย่างดี เป็นกองทัพยานยนต์เคลื่อนที่เร็ว ตาม หลักการรุกแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkreig) ที่ประสบความสำเร็จ มาจากการบุกยุโรปตะวันตกมาแล้ว อีกทั้งยังมีทหารที่มีประสบการณ์ในการรบมาอย่างโชกโชน

    ในทางตรงกันข้าม ทหารรัสเซียกลับเป็นกองทัพที่ขาดความพร้อม ขาดยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ อาวุธที่ล้าสมัย ไม่มีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ กำลังพลส่วนใหญ่เป็นกำลังพลเดินเท้า การสื่อสารก็อาศัยพลเรือนเป็นหลัก

    ในช่วงแรกๆของยุทธการบาร์บารอสซ่า หน่วยแพนเซอร์ ซึ่งเป็นหน่วยยานเกราะของเยอรมัน รุกเข้าสู่ดินแดนรัสเซียอย่างรวดเร็วและสามารถยึดครองดินแดนได้เป็นจำนวนมาก

    อย่างไรก็ตามภูมิประเทศของรัสเซียนั้นเป็นทุ่งกว้างที่เวิ้งว้างสุดสายตา การรุกไปข้างหน้า เปรียบเหมือนการเดินทางที่ไม่รู้จักจบสิ้น ไม่เห็นที่หมาย รวมทั้งการส่งกำลังบำรุงของเยอรมันส่วนใหญ่ยังใช้พาหนะประเภทรถม้าลากจูง จึงทำให้ไม่สามารถไล่ตามกำลังรถถังและทหารราบที่รุกไปข้างหน้าได้อย่างทันท่วงที สายการส่งกำลังบำรุงจึงเริ่มห่างและยืดออกมากขึ้น มากขึ้น และไม่สามารถให้การสนับสนุนได้ในที่สุด

    ในขณะที่ทหารเยอรมันรุกเข้ามา ทหารรัสเซียซึ่งอยู่สภาพที่ตกใจ เสียขวัญ ผู้นำก็ขาดแคลน เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่นาน รัฐบาลสตาลินได้ทำการกวาดล้างนายทหารของตน ซึ่งคาดว่าสนับสนุนการปกครองของพระเจ้าซาร์ กษัตริย์ที่ถูกโค่นล้ม นายทหารที่มีฝีมือจำนวนมาก ถูกประหารชีวิต ถูกจำขัง ถูกทรมาน นายทหารที่เหลือก็เป็นผู้ที่ด้อยประสบการณ์ เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ ทำให้การสู้รบดำเนินไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ กองทัพเยอรมันทำการเจาะลึก และโอบล้อมกองทหารรัสเซียหน่วยแล้ว หน่วยเล่า

    ในขณะที่กองทัพอากาศเยอรมันก็บินถล่มที่มั่นต่างๆของฝ่ายรัสเซีย ประมาณกันว่าในช่วงเปิดยุทธการนั้น มีทหารรัสเซียถูกจับเป็นเชลยกว่า 290,000 คน รถถังทั้งที่ล้าสมัยแบบ BA 10 และที่มีประสิทธิภาพอย่าง KV 1 ถูกยึดเป็นจำนวนถึง 2,585 คัน ปืนใหญ่อีก 1,449 กระบอก กองทัพอากาศลุฟวาฟ (Luftwaffe) สามารถทำลายอากาศยานของรัสเซียที่ล้าสมัยที่จอดอยู่ตามสนามบินต่างๆ อย่างชนิดที่ไม่มีโอกาสได้บินขึ้นมาขัดขวาง

    กล่าวได้ว่ายุทธการบาร์บารอสซ่า เปิดฉากด้วยการประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่เวลาที่ล่าช้าไป 6 สัปดาห์ ในการยึดครองประเทศในบอลข่าน ก่อนหน้าที่จะเปิดยุทธการบาร์บารอสซ่า ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต เมื่อฤดูหนาวมาเยือน โอกาสแห่งชัยชนะจึงหลุดลอยไปอย่างไม่มีวันหวลกลับมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูหนาวของปี 1941 ซึ่งเป็นฤดูหนาวแรกของเยอรมันในรัสเซีย ได้สร้างความสูญเสียอย่างมากมายให้กับทหารเยอรมัน จนในเืดือน มี.ค. 1942 เยอรมันต้องสูญเสียทหารทั้งบาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิต กว่า 3,000,000 คน ในจำนวนนี้ 200,000 คนเสียชีวิต

    หน่วยทหาร เอส เอส ที่ทรงประสิทธิภาพที่เข้าร่วมในการยุทธบาร์บารอสซ่า กว่า 43,000 คนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกำลังพลจาก กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 1 ไลป์สตานดาร์ด อดอฟ ฮิตเลอร์ (1st SS. Panzer Division Leibstandarte Adolf Hitler), กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 2 ดาสไรซ์ (2nd SS. Panzer Division Das Reich), กองพลยานเกราะ เอส เอส ที่ 3 โทเทนคอฟ (3rd SS. Panzer Division Totenkoft) ความสูญเสียนี้ทำให้เยอรมันต้องเริ่มระดมกำลังพลจากประเทศที่ตนยึดครองในยุโรป มาเสริมกำลังในแนวหน้า

    ยุทธการบาร์บารอสซ่า เป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจที่ผิดพลาด ที่นำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอาณาจักรไรซ์ที่สาม ของฮิตเลอร์ เพราะหากฮิตเลอร์ตัดสินใจเปิดศึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น กำลังพลของเยอรมันก็จะไม่ต้องกระจัดกระจายไปทั่วทั้งยุโรปเช่นที่เกิดขึ้น นับเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งบทเรียนหนึ่ง ของการรบในยุคปัจจุบัน

    -------------------------------------




    เครื่องบิน JU 87 สตูก้า (stuka) ของนาซีเยอรมัน กำลังแปรรูปขบวน โดยบินเกาะหมู่ 2 เครื่องบินชนิดนี้เยอรมันใช้เป็นเครื่องบินโจมตีแบบดำทิ้งระเบิดในช่วงแรกของสงคราม โดยนักบินจะบินดำลงสู่เป้าหมายด้วยความเร็วสูง บางรุ่นติดไซเรนไว้ที่ใต้ท้องเครื่องบิน เพื่อทำให้เกิดเสียงโหยหวน ทำลายขวัญข้าศึก หากนักบินมีความสามารถสูงจะสามารถทิ้งระเบิดได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากขณะที่ดำลงไปนั้น นักบินต้องต่อสู้กับแรง จี

    อย่างไรก็ตามในช่วงต่อมาของสงคราม เครื่องบินรุ่นนี้เริ่มล้าสมัย ไม่สามารถต่อกรกับเครื่องบินรุ่นใหมๆ ่ของพันธมิตรได้ แต่ด้วยความขาดแคลน กองทัพอากาศเยอรมัน (Luftwaffe) ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องบินรุ่นนี้ ในการเป็นเครื่องบินต่อสู้รถถัง โดยเฉพาะในแนวรบด้านตะวันออก เนื่องจากรัสเซียมีจำนวนรถถังที่เหนือกว่าเยอรมันมาก และจำนวนก็ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

    ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลของกำลังรบ เยอรมันจำเป็นต้องใช้เครื่องบินสตูก้า ร่วมกับรถถังของเยอรมัน ทำการรบกับกองทัพรถถังของรัสเซีย โดยนักบินจะนำเครื่องบินสตูก้า บินดำลงไปทางด้านหลังของรถถัง ที 34 ของรัสเซีย และทิ้งระเบิดลงไปบริเวณห้องเครื่องยนต์ที่อยู่ด้านหลังของรถถัง ซึ่งถือเป็นจุดที่เปราะบางที่สุดของ ที 34 นอกจากนี้ยังได้มีการติดตั้งปืนใหญ่อากาศขนาด 20 มม. มาติดใต้ปีกทั้งสองข้างของสตูก้า เพื่อระดมยิงใส่รถถังของรัสเซียจากด้านหลัง

    สำหรับไซเรนที่เคยติดเพื่อใช้ข่มขวัญข้าศึก ก็ได้ถูกถอดออก เพรามันะกลายเป็นสัญญาณทำให้ข้าศึกรู้ตัว และสามารถใช้ปืนต่อสู้อากาศยานตอบโต้เครื่องบินชนิดนี้ได้ แม้ว่าสตูก้าจะล้าสมัยไปตั้งแต่ปี 1943 หรือช่วงกลางของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่มันก็ยังคงถูกใช้อยู่ในกองทัพอากาศเยอรมันจนสิ้นสุดสงครามในปี 1945



    รถถังนาชอร์น (Nashorn) หรือที่แปลว่า แรด ในภาษาเยอรมัน เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทดแทนสายการผลิตรถถังของเยอรมัน ที่ไม่เคยเพียงพอกับความต้องการในแนวหน้า นาชอร์น ได้นำเอาตัวรถของรถถังแพนเซอร์ 4 (Panzer IV) มาถอดป้อมปืนออก แล้วติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มม. เข้าไปแทน ต่างจากฮัมเมล (Hummel) ที่ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 155 มม.

    วัตถุประสงค์ของนาชอร์นก็คือ การสนับสนุนหน่วยทหารราบ และทหารรถถังที่รุกคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว ปืนใหญ่ธรรมดาไม่สามารถตามได้ทัน จึงใช้รถปืนใหญ่อัตตาจรนาชอร์นนี้ ปกติจะจัดให้มี กองพันปืนใหญ่อัตตาจรนาช์อร์นนี้ 1 กองพันต่อ 1 กรมทหารราบในแนวหน้า

    อย่างไรก็ตามจำนวนเหล่านี้ไม่เคยเป็นจริงได้ในสภาพตามความเป็นจริง อีกทั้งนาชอร์นเอง ก็ยังต้องรับบทบาทในทางรับ จากแต่เดิมที่ต้องการใช้ทางรุก เพราะแนวรบของเยอรมันทั้งสองด้าน กลายเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่อานุภาพของปืนใหญ่ขนาด 88 มม.ของนาชอร์นก็เป็นที่น่าเกรงขามไม่น้อย โดยเฉพาะในแนวรบด้านตะวันออก รถถังของรัสเซียจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อของกระสุน 88 มม.ของนาชอร์น

    จากการที่ติดตั้งปืนใหญ่ขนาด 88 มม. ทำให้ป้อมปืนของนาชอร์นต้องเปิดด้านบนออก และต้องการรถบรรทุกกระสุน ที่คอยติดตามไปทุกหนทุกแห่ง เนื่องจากตัวของมันเองบรรทุกกระสุนได้อย่างจำกัด
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×