healthygamer
ดู Blog ทั้งหมด

คุณเคย 'ฟับ หรือไม่??...Stop Phubbing กันเถอะ !!

เขียนโดย healthygamer

คุณเคย 'ฟับ หรือไม่??...Stop Phubbing กันเถอะ !!


บทความโดย: รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล และนส.เสาวภาคย์ ทวีสุข

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
 

ตั้งแต่สมาร์ทโฟนเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ในบ้านหรือนอกบ้าน จะเห็นว่าใครๆ ก็เอาแต่ก้มหน้า กดยุกยิกๆกับมือถือของตนเอง พ่อ แม่ ลูก ถึงแม้จะอยู่ในบ้านเดียวกัน นั่งอยู่ในรถคันเดียวกัน แต่ทุกคนดูเหมือนจะสนใจอยู่กับโทรศัพท์มือถือของตัวเองมากกว่าที่จะพูดคุยหยอกล้อกัน ลูกน้องก้มหน้าจิ้มโทรศัพท์มือถือระหว่างประชุมกับเจ้านาย นักเรียนก้มหน้าแอบใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างครูกำลังสอนในห้องเรียน หรือไม่ว่าจะไปกินข้าวดูหนัง ฟังเพลงกับเพื่อนๆเป็นกลุ่ม เจ้าโทรศัพท์มือถือก็มาขโขยซีน ทำให้คนคุยกันเองน้อยลง เอาเวลาไปแชทกับคนในโลกออนไลน์แทน พฤติกรรมเหล่านี้เราแทบจะเห็นได้ทั่วไปจนชินตา จริงๆแล้ว พฤติกรรมนี้เค้ามีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า Phubbing
 
Phubbing (ฟับบิ้ง) คืออะไร
 
เป็นคำศัพท์ใหม่ ที่เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พฤษภาคม 2555 โดยกลุ่มนักภาษาศาสตร์ชาวออสเตรเลีย มาจากคำว่า Phone + Snubbing = Phubbingb หมายถึง การเมินเฉย ไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้า ด้วยการใช้โทรศัพท์มือถือต่อหน้าคนๆ นั้น คนที่กำลัง "ฟับ (phub)" จะก้มหน้าก้มตาสนใจแต่โทรศัพท์มือถือของตัวเองอย่างเดียว ไม่ดู ไม่มอง ไม่สนทนากับคนรอบข้างซึ่งถือว่าเป็นการกระทำไร้มารยาททางสังคมอย่างมาก
 
ปรากฏการณ์นี้ เห็นได้ทั่วๆ ไป พบได้ในทุกๆ ประเทศทั่วโลก เราอาจเรียกกันว่า “วัฒนธรรมก้มหน้า” หรือเรามีชนเผ่าใหม่อุบัติขึ้นบนโลกใบนี้ ได้แก่ "ชนเผ่าหัวก้ม" เพราะดูอย่าง เวลาขึ้นรถไฟฟ้าหรือไปร้านอาหาร เรามักจะเห็นคนรอบๆ ตัวเรากำลังก้มหน้าดูแต่มือถือ ง่วนอยู่กับโทรศัพท์ของตนเอง โดยละเลยการพูดคุยกับคนรอบข้าง ทำให้เกิดเป็นคำถามว่า เอ๊ะ? มันเกิดอะไรขึ้นในสังคมเรา สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม หรือว่า เป็นความผิดปกติของบุคคลกันแน่
 
สาเหตุของการ ‘ฟับ
 
มีคำอธิบายหลายอย่างเกี่ยวกับสาเหตุของ Phubbing
 
- ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า คนเราลึกๆ มีความรู้สึกไม่ต้องการอยู่คนเดียว ต้องการเชื่อมโยง ต้องการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นตลอดเวลา ต้องการคนอยู่ด้วย ต้องการเป็นที่สนใจ ได้เป็นจุดศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นการที่คนเอาโทรศัพท์ขึ้นมา เช็คเฟสบุ๊ค เช็คไลน์ เช็คอินสตาแกรม อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนว่า เค้ากำลังเชื่อมโยงกับคนอื่นอยู่ กำลังเป็นที่สนใจอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีๆกับคนๆนั้น
 
- แต่ว่าในบางครั้ง การที่ใช้โทรศัพท์มือถือในบางสถานการณ์ อาจจะเป็นการใช้ เพื่อหลีกเลี่ยง เพื่อแยกตัว ในสถานการณ์ที่เค้ารู้สึกเบื่อ เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ อย่างเช่น เวลาเราขึ้นรถไฟฟ้า เราเบื่อที่จะต้องนั่งประจันหน้ากับคนที่เราไม่รู้จัก หรือว่าไม่อยากสนใจคนรอบข้าง เราก็เลือกที่จะควักโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเล่น เพื่อที่ว่าเราจะได้ไม่ต้องไปเผชิญกับความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจ ซึ่งในบางครั้งอาการเช่นนี้เป็นอาการหนึ่งของคนที่เป็นโรค social phobia หรือโรคกลัวการเข้าสังคม ซึ่งคนกลุ่มนี้จะรู้สึกอึกอัดไม่สบายใจ เครียด ตื่นเต้น เวลาที่ต้องอยู่ท่ามกลางคนหมู่มาก แต่คนที่เป็นโรค social phobia จริงๆ นั้นมีน้อยกว่าคนทั่วไปที่เป็นแค่ phubber หรือ คนที่มีพฤติกรรม phubbing
 
- และอีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุของคนส่วนใหญ่ คือ เป็นลักษณะของการติดต่อกันทางพฤติกรรม เช่น กลุ่มเพื่อนไปกินข้าวกัน 4 คน ตอนแรกอาจจะมีแค่ 1-2 คนที่ควักโทรศัพท์มือถือมาเล่น โดยที่ไม่คุยกับเพื่อนที่เหลือ สักพักหนึ่งคนที่เหลืออยู่ก็จะทำตามแม้ว่าตอนแรกอาจจะไม่ได้ต้องการ phubbingเหมือนกับการเป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่ง แต่เป็นโรคติดต่อทางพฤติกรรม หรือเป็นเพราะว่าบทสนทนนั้นมันเริ่มน่าเบื่อลงแล้ว หรือเริ่มทำให้รู้สึกอึดอัด
 
ผลกระทบ

ถ้าหากปรากฏการณ์ Phubbing ดำเนินต่อไปเรื่อยๆสังคมจะเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ เพราะยังไม่มีการทำวิจัยในเรื่องนี้ แต่มีวิจัยงานหนึ่งในต่างประเทศที่นำคนแปลกหน้ามา 74 คน แล้ว จับคู่กัน ให้ต่างฝ่ายต่างคุยอะไรกันก็ได้ เพื่อทำความรู้จักอีกฝ่ายหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ให้ กลุ่มหนึ่งจะมีกระดาษโน้ตวางไว้ และกลุ่มหนึ่งมีโทรศัพท์มือถือวางไว้ โดยที่ไม่ได้ทำอะไรกับโทรศัพท์ เมื่อหมดเวลาพบว่า กลุ่มที่มีโทรศัพท์มือถือวางไว้มีการพูดคุยกันน้อยกว่า และสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันแย่กว่า กลุ่มที่มีกระดาษโน้ตวางไว้
 
คนที่ได้ชื่อว่าเป็น phubber หรือคนที่ทำพฤติกรรม phubbing มากๆ ได้แก่ คนในวัย 20-30 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ใช้โทรศัพท์มือถืออย่างคล่องแคล่ว แต่ว่าตอนนี้ก็เริ่มระบาดไปยังกลุ่มคนที่มีอายุมาก กับกลุ่มเด็กและวัยรุ่น
 
อาจจะดูเหมือนเป็นพฤติกรรมที่ใครๆก็ทำกัน แต่มันมีผลเสียมากกว่าผลดี คนที่ถูกทำ phubbing ใส่ก็มักจะรู้สึกว่าไม่พอใจ รู้สึกอึดอัด และรู้สึกว่าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้เกียรติกันอย่างรุนแรง
 
ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยในต่างประเทศก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวที่จะหยุดพฤติกรรมนี้ อย่างในออสเตรเลีย ก็มีแคมเปญ stop phubbing เพื่อรณรงค์ให้คนกลับมาเชื่อมโยงพูดคุยสื่อสารกันจริงๆ มากขึ้น เงยหน้าขึ้นมาจากจอโทรศัพท์และหันกลับมามองกันและกันให้มากขึ้น ส่วนในประเทศไทย ก็เริ่มมีคนพูดถึงเรื่องนี้กันบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าที่ควร
 
ปัจจุบันนี้ถึงแม้เราจะมีเทคโนโลยี มีโทรศัพท์มือถือเพื่อการติดต่อสื่อสารที่ดีขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คนเชื่อมโยงระหว่างกันและกันทางอารมณ์หรือจิตวิญญาณมากขึ้นเลยแม้แต่นิด ถ้าหากคุณกำลังทำพฤติกรรม "ฟับ" อยู่ ถึงเวลาที่ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วหละ ช่วยละสายตาจากจอมามองหน้าสบตาผู้คนรอบข้างบ้าง ช่วยให้ความหวังกับสังคมที่เราอยู่ว่า เรายังเป็นสังคม "มนุษย์" อยู่นะไม่ใช่สังคม "ชนเผ่าหัวก้ม"
 
ตอนหน้าเราจะนำเสนอเทคนิคบางอย่างในการหยุดพฤติกรรม phubbing 
และการปฏิบัติเมื่อโดนคนอื่นทำพฤติกรรม phubbing ใส่
โปรดติดตามตอนต่อไป....


สนใจติดตามประเด็นเกี่ยวกับการติดเกม อินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถติดตามได้ใน 
HealthyGamer




 


 
 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น