Tellurite
ดู Blog ทั้งหมด

ไก่ชีท่าพระ เนื้อนุ่ม-คอเลสเตอรอลต่ำ

เขียนโดย Tellurite

เรื่อง ไก่ชีท่าพระ เนื้อนุ่ม-คอเลสเตอรอลต่ำ

แหล่งข้อมูล: คม ชัด ลึก
http://www.komchadluek.net/detail/20121214/147114/ไก่ชีท่าพระเนื้อนุ่มคอเลสเตอรอลต่ำ.html#.UeDQEeSL9Lg



                          หลังจากที่กรมปศุสัตว์ได้รับเงินสนันสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำการวิจัยไก่พันธุ์พื้นเมือง 4 ภาค ประกอบด้วยไก่พันธุ์ประดู่หางดำของภาคเหนือ ไก่เหลืองหางขาวภาคกลาง ไก่แดงภาคใต้ และไก่ชีท่าพระ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรมากว่า 10 ปีแล้ว ปรากฏว่าไก่พันธุ์ประดู่หางดำ มีการเลี้ยงอย่างแพร่หลาย แต่ไก่ชีท่าพระยังไม่มีการส่งเสริมและทำตลาดอย่างจริงจัง ทั้งที่เป็นไก่ที่มีคุณสมบัติพิเศษหนังขาว มีคอเลสเตอรอลต่ำ โอเมก้า 3 สูง รสชาตินุ่ม ทำให้ล่าสุด นายธนิตย์ เอนกวิทย์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ถือโอกาสไปโปรโมทเปิดตัวไก่ชีท่าพระอย่างเป็นทางการ ระหว่างการประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดขอนแก่นเมื่อเร็วๆ นี้

                          นายธนิตย์ บอกว่า การพัฒนาวิจัยไก่ชีท่าพระจนได้เป็นสายพันธุ์แท้เมื่อปี 2550 จนเกิดความนิ่ง ทั้งสี การเจริญเติบโต การไข่ และอัตราการแลกเนื้อ จุดเด่นคือด้านรสชาติ ที่มีเนื้อนุ่มตามธรรมชาติของสายพันธุ์ มีคอเลสเตอรอลต่ำ มีโอเมก้า 3 สูง เลี้ยงง่าย ทนโรค เหมาะแก่การเลี้ยงเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมาได้ส่งเสริมในพื้นที่นำร่องไปแล้วที่ อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น อ.เชียงคาน จ.เลย และ อ.เมือง จ.มหาสารคาม โดยกรมปศุสัตว์ให้แม่พันธุ์พ่อพันธุ์อายุ 3 เดือนเพื่อเลี้ยงตามคำแนะนำ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการผลิตไก่ชีท่าพระ และให้เป็นฟาร์มสาธิตแก่เกษตกรรายอื่นๆ ที่สนใจ

                          "ผมมั่นใจว่าไก่ชีท่าพระน่าจะมีอนาคต เพราะสามารถปรุงอาหารได้หลายอย่างทั้งไก่ย่าง ลาบ ต้ม และข้าวมันไก่ เกษตรกรสามารถเลี้ยงอาชีพได้ โดยกรมปศุสัตว์ให้การส่งเสริมการเลี้ยงแล้ว และกรมปศุสัตว์ให้ความสำคัญกับการสร้างตลาดควบคู่ไปด้วย เพราะที่ผ่านมาคนไทยนิยมกินไก่พื้นบ้าน แต่ราคาแพง หาซื้อยาก เนื่องจากมีการเลี้ยงจำนวนน้อย เมื่อมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงมากขึ้น ต้นทุนและราคามีแนวโน้มถูกลง อนาคตจะเป็นทางเลือกของคนที่รักสุขภาพที่ชอบบริโภคเนื้อไก่พื้นบ้านได้" นายธนิตย์ กล่าว

                          ด้าน นายชูศักดิ์ ประภาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นเจ้าของงานวิจัยไก่ชีท่าพระ บอกว่า ไก่ชีท่าพระมีลักษณะเฉพาะคือเพศผู้มีสร้อยคอ หลังสีขาวขนขาวทั้งตัว ปากสีเหลือง ใบหน้าแดง ตาเหลือง ผิวหนังสีขาวอมเหลือง มีหงอนถั่ว ส่วนเพศเมียเหมือนกันทุกอย่างยกเว้นไม่มีขนสร้อยคอและหลัง มีขนหมุดสีขาว เมื่อชำแหละทำให้ผิวหนังสวยน่ารับประทาน และเหมาะกับระบบการฆ่าแบบอุตสาหกรรม

                          "ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ทำการวิจัยจนทำให้เกิดความนิ่งในด้านลักษณะเฉพาะของเนื้อหนัง สีสวย ที่สำคัญเลี้ยงง่าย ทนโรค การเจริญเติบโตดีกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไปประมาณ 30% เมื่อเลี้ยงในระบบฟาร์มจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป 20% ให้ไข่มากกว่า 8% แต่เมื่อเลี้ยงในหมู่บ้านจะให้ลูกไก่มากกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไปถึง 20% หากเลี้ยงถึง 12 สัปดาห์จะให้น้ำหนัก 1.5 กก. ส่วนต้นทุนต่อตัวเฉลี่ย 65-67 บาท ราคาขายในท้องตลาดทั่วไป กก.ละ 110-120 บาท" นายชูศักดิ์ กล่าว 

                          ขณะที่ นายอำนวย เลี้ยวธารากุล ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ปีก กรมปศุสัตว์ บอกว่า คนไทยเลี้ยงไก่พื้นเมืองทั่วประเทศ 2.7 ล้านครอบครัว หรือ 60 ล้านตัว ภาคอีสานมีเลี้ยงมากที่สุดประมาณ 24 ล้านตัว การบริโภคไก่พื้นเมืองของไทยยังถือว่าน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนแค่ 6-7% ของการบริโภคไก่ทั้งหมด ฉะนั้นไก่ชีท่าพระนักวิจัยของกรมปศุสัตว์คาดหวังว่า นอกจากจะต้องการวิจัยเพื่อพัฒนารักษาพันธุ์แล้ว ยังต้องการให้สัดส่วนการบริโภคไก่พื้นเมืองขยับขึ้นอย่างน้อยเป็น 15% แต่ก็ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของส่วนราชการ และขณะนี้การพัฒนาพันธุ์แท้ที่ถือว่านิ่งแล้ว

                          ก็นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรที่สามารถเลี้ยงไก่ชีท่าพระเป็นอาชีพได้

 

 

--------------------

(ชู 'ไก่ชีท่าพระ' ให้เกษตรกรเลี้ยง จุดเด่นเนื้อนุ่ม - คอเลสเตอรอลต่ำ : โดย...จิติมา จันพรม)

 

 

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น