Tellurite
ดู Blog ทั้งหมด

เทคนิคใหม่กระตุ้นกุ้งกุลาดำวางไข่-ไม่ทรมานสัตว์

เขียนโดย Tellurite

เทคนิคใหม่กระตุ้นกุ้งกุลาดำวางไข่-ไม่ทรมานสัตว์ 

แหล่งที่มาของข้อมูล : 
http://www.farmkaset.org/contents/default.aspx?content=01032





พบเทคนิคใหม่กระตุ้นกุ้งกุลาดำวางไข่-ไม่ทรมานสัตว์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มหาวิทยาลัยมหิดลพบเทคนิคใหม่ในการกระตุ้นให้แม่กุ้งกุลาดำวางไข่ โดยการใช้สารชีวโมเลกุลเพื่อกระตุ้นการพัฒนารังไข่ของกุ้งกุลาดำ แทนวิธีการตัดก้านตาซึ่งเป็นวิธีที่เกษตรกรใช้กระตุ้นการทำงานของรังไข่ในแม่พันธุ์กุ้งในปัจจุบัน แต่การตัดตาส่งผลให้แม่พันธุ์บอบช้ำ ไม่สามารถนำกลับมาผลิตลูกกุ้งซ้ำหลายครั้ง อีกทั้งเป็นการทรมานสัตว์ รวมทั้งเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการผลิตลูกกุ้งกุลาดำ 

ดร.สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล ดุษฎีบัณฑิตจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้คว้ารางวัลวิทยานิพนธ์ระดับดี ประจำปี 2554 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จากสภาวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นผู้ศึกษาลักษณะและหน้าที่ของฮอร์โมนยับยั้งการพัฒนาของรังไข่จากกุ้งกุลาดำ โดยได้ทำการโคลนนิ่งยีนที่สร้างฮอร์โมนดังกล่าวจากแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำต้นแบบ แล้วใช้ข้อมูลของยีนนั้นมาสร้างสารชีวโมเลกุลที่ยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารังไข่ ด้วยวิธีการฉีดสารชีวโมเลกุลเข้าไปในแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากธรรมชาติและแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากบ่อเลี้ยง 

จากเทคนิคดังกล่าว สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนารังไข่และประสบความสำเร็จในการวางไข่ได้ดีในระดับที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำที่ถูกกระตุ้นการพัฒนารังไข่โดยการตัดตา 

“ปัจจุบันกุ้งกุลาดำเป็นที่ต้องในตลาดระดับพรีเมี่ยม เนื่องจากมีรสชาติดี และสีสวยเมื่อนำไปประกอบอาหาร ดังนั้นเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกุ้งกุลาดำควบคู่กับการพัฒนาการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืน โดยอาศัยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพเข้ามาแก้ไขปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งกุลาดำอย่างยั่งยืนในอนาคต 

การฉีดสารกระตุ้นให้แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำมีการพัฒนารังไข่ได้โดยไม่ต้องตัดก้านตา หากมีการทดลองจนได้ผลดี ก็จะสามารถกระตุ้นให้แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำมีการพัฒนารังไข่ได้หลายครั้งตามที่ต้องการ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุด เป็นการช่วยลดปริมาณการใช้แม่พันธุ์กุ้งกุลาดำจากธรรมชาติ รวมถึงแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำในบ่อเลี้ยง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิตลูกกุ้งกุลาดำ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ทางอ้อมในการเก็บรักษาแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำ ไม่ให้โทรมและตาย เนื่องจากการเร่งการพัฒนารังไข่และวางไข่โดยวิธีตัดตา จนกระทั่งสามารถตรวจสอบได้ว่าลูกกุ้งกุลาดำที่ผลิตได้นั้นเป็นสายพันธุ์ที่แข็งแรง โตไว เหมาะสมที่จะนำแม่พันธุ์กุ้งกุลาดำดังกล่าวมาใช้ในการปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกุ้งกุลาดำ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมกุ้งกุลาดำของประเทศให้ยั่งยืนในระยะยาว และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อีกทางหนึ่ง” ดร. สุพัตรา ตรีรัตน์ตระกูล กล่าว.
 
 
 
 
 
 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น