kia27
ดู Blog ทั้งหมด

บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ( CAI )

เขียนโดย kia27

 บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)

CAI ย่อมาจากคำว่า COMPUTER-ASSISTED หรือ AIDED INSTRUCTION          
คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (
CAI) หมายถึงสื่อการเรียนการสอนทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งใช้ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการนำเสนอสื่อประสมอันได้แก่ ข้อความ ภาพนิ่ง กราฟฟิก แผนภูมิ กราฟ วิดีทัศน์ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เพื่อถ่ายทอดเนื้อหาบทเรียน หรือองค์ความรู้ในลักษณะที่ ใกล้เคียงกับการสอนจริงในห้องเรียนมากที่สุด
โดยมีเป้าหมายที่สำคัญก็คือ สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เรียน และกระตุ้นให้เกิดความต้องการที่ จะเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนเป็นตัวอย่างที่ดีของสื่อการศึกษาในลักษณะตัวต่อตัว ซึ่งผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการมีปฏิสัมพันธ์ หรือการโต้ตอบพร้อมทั้งการได้รับผลป้อนกลับ (FEEDBACK) นอกจากนี้ยังเป็นสื่อ ที่สามารถตอบสนองความแตกต่างระหว่างผู้เรียนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถที่จะประเมิน และตรวจสอบความเข้าใจของผู้เรียนได้ตลอดเวลา ในการศึกษาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่นำเสนอนี้ เป็นการศึกษาที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน ผู้ศึกษาได้ทำวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และศึกษาขอบข่ายเนื้อต่อไปนี้
            1.ความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                  2.ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                  3.ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                  4.ข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
                  5.ระบบเครือข่าย
           6.ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง
 
1. ความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
      คอมพิวเตอร์ช่วยสอน มาจากภาษาอังกฤษว่า Computer Assisted Instruction หรือใช้คำย่อว่า CAI และมีผู้ให้ความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้หลายท่าน ดังนี้
       เคแอล ชินน์ ( K.L. Zinn. 1976 : 28 ) ได้ให้ความหมายไว้ว่า “ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนหมายถึงการใช้คอมพิวเตอร ์แสดงการฝึกฝน ฝึกหัดแบบฝึกหัดและบททบทวนลำดับบทเรียนให้แก่นักเรียนและบางส่วนที่ช่วยนักเรียนในด้านการโต้ตอบเกี่ยวกับเนื้อหาของการเรียนการสอน”
      พรีนิส ( Prenis. 1977 : 20 ) ได้ให้ความหมายว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึงคอมพิวเตอร์ที่ช่วยทำให้นักเรียนเรียนรู้รายวิชาไปทีละขั้นตอน โดยขณะที่มีการเรียนการสอนที่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของนักเรียนนั้น คอมพิวเตอร์จะทำหน้าที่ ถามคำถามให้ คอมพิวเตอร์สามารถย้อนกลับไปสู่รายละเอียดที่ผ่านมาแล้วได้ หรือสามารถให้การฝึกฝนซ้ำให้แก่นักเรียนได้
      สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( กระทรวงศึกษาธิการ. 2528 : 1) ได้ให้ความหมายได้ดังนี้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำคอมพิวเตอร์มาช่วยสอนวิชาต่าง ๆ ให้มนุษย์ โดยการนำเนื้อหาวิชาและลำดับวิธีการสอนมาบันทึกเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ใช้ช่วยสอนโดยให้เครื่องกับผู้เรียนโต้ตอบกันเอง ทั้งนี้จะรวมถึงการสอนให้รู้จักเขียนโปรแกรมสั่งงานคอมพิวเตอร์แต่ไม่รวมถึงการสอนคนให้รู้จักวิธีใช้คอมพิวเตอร์หรือรู้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นอย่างไร คอมพิวเตอร์จึงเป็นเพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ครูนำมาใช้เป็นสื่อในการสอน
       ยืน ภู่วรวรรณ (2531 : 120-129) ได้กล่าวถึงคอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้นำเนื้อหาวิชาและลำดับวิธีการสอนมาบันทึกเก็บไว้ คอมพิวเตอร์จะช่วยนำบทเรียนที่เตรียมไว้อย่างเป็นระบบมาเสนอในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับ นักเรียน แต่ละคน
       พวงเพชร วัชรรัตนพงค์ (2526 :16) ได้กล่าวไว้ว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอน คือการนำเอาคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยครูในการเรียนการสอน นักเรียนเรียนรู้เนื้อหา บทเรียน และฝึกฝนทักษะจากคอมพิวเตอร์ แทนที่จะเรียนจากครูในบางวิชา บางบทเรียน การเรียนการสอนกับคอมพิวเตอร์จะถูกดำเนินไปเป็นระบบ คอมพิวเตอร์จะสามารถชี้ที่ผิดของนักเรียนได้ เมื่อนักเรียนกระทำผิดขั้นตอนและคอมพิวเตอร์ช่วยการเรียนการสอนยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยสนองความแตกต่างของความสามารถระหว่างบุคคลของนักเรียนได้อีกด้วย
      จากความหมายที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปความหมายของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้ว่าคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หมายถึง การนำคอมพิวเตอร์กับโปรแกรมบทเรียนมาช่วยในการเรียนการสอน มีการวางแผนเนื้อหาวิชาอย่างเป็นขั้นตอน สามารถตอบสนองกับผู้เรียน มีการทบทวน การทำแบบฝึกหัด และการประเมินผล
 
2. ประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
       คอมพิวเตอร์ช่วยสอน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ได้แบ่งออกเป็นหลายประเภทตามลักษณะการนำไปใช้ ซึ่งอาศัยจุดเด่นหลายประการของคอมพิวเตอร์ ได้มีนักวิชาการได้สรุปประเภทของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไว้ดังนี้ ( ทักษิณา สวนานนท์. 2530 : 216 ; สมัย ชินะตระกูล. 2531:39-43 ;ยืน ภู่วรวรรณ. 2529 : 5-7 ; วีระ ไทยพานิช. 2527 : 12-14 ; ผดุง อารยะวิญญ. 2527 : 45-46)
       1. การแก้ปัญหา (Problem Solving) คอมพิวเตอร์ประเภทนี้จะเน้นให้ฝึกการคิดการตัดสินใจ โดยมีการกำหนดกฎเกณฑ์ให้แล้วผู้เรียนพิจารณาไปตามเกณฑ์ มีการให้คะแนนหรือน้ำหนักกับเกณฑ์แต่ละข้อ เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เป็นต้น 
       2. การสร้างสถานการณ์จำลอง (Simulation) โปรแกรมประเภทนี้เป็นโปรแกรมที่จำลองสถานการณ์ในชีวิตจริงของผู้เรียนโดยมีเหตุการณ์สมมุติต่าง ๆ อยู่ในโปรแกรมและนักเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงหรือจัดกระทำได้ สามารถโต้ตอบ และมีตัวแปรหรือทางเลือกให้หลาย ๆ ทาง เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกได้อย่างสุ่มเพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นจากทางเลือกเหล่านั้น นอกจากนั้นยังช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเห็นภาพพจน์ในบางบทเรียน แต่หลายวิชาไม่สามารถทดลองให้เห็นจริงได้เช่น การเคลื่อนที่ของลูกปืนใหญ่ การเดินทางของแสงและการหักแหของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือปรากฏการณ์ทางเคมี รวมทั้งชีววิทยาที่ต้องใช้เวลานานหลายวันจึงปรากฏผล ปัญหาเหล่านี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์จำลองแบบให้ผู้เรียนได้เห็นจริงและเข้าใจง่าย
       3. ผู้เรียนแบบเฉพาะรายตัว (Tutoring) เป็นโปรแกรมที่สร้างขึ้นมาในลักษณะของบทเรียนโปรแกรม เป็นการเลียนแบบการสอนของครู กล่าวคือ จะมีบทนำ (Introduction) และมีคำอธิบาย (Explanation) ซึ่งประกอบด้วยทฤษฎี กฎเกณฑ์คำอธิบายและแนวความคิดที่จะสอน หลังจากที่นักเรียนได้ศึกษาแล้วก็จะมีคำถาม เพื่อใช้ในการตรวจสอบความเข้าใจในแง่ต่าง ๆ มีการแสดงผลย้อนกลับตลอดจนการเสริมแรงสามารถให้นักเรียนย้อนกลับไปบทเรียนเดิม หรือข้ามบทเรียนที่นักเรียนรู้แล้ว นอกจากนี้ยังอาจสามารถบันทึกการกระทำของนักเรียนว่าทำได้เพียงไรและอย่างไร เพื่อให้ครูสอนมีข้อมูลในการเสริมความรู้ให้กับนักเรียนบางคนได้
       4. การฝึกและปฏิบัติ (Drill and Practice) แบบการฝึกและปฏิบัติส่วนใหญ่จะใช้เสริมเมื่อครูผู้สอนบทเรียนตัวอย่างไปแล้วและให้นักเรียนทำแบบฝึกหัดกับคอมพิวเตอร์เพื่อวัดระดับหรือให้นักเรียนมาฝึกจนถึงระดับที่ยอมรับได้ บทเรียนประเภทนี้จึงประกอบด้วยคำถาม คำตอบ มีให้ผลย้อนกลับและการเสริมแรง ที่จะให้นักเรียนทำการฝึกและปฏิบัติ ซึ่งอาจแทรกรูปภาพเคลื่อนไหว หรือคำพูดโต้ตอบ รวมทั้งอาจมีการแข่งขัน เช่น จับเวลา หรือ สร้างรูปให้ตื่นเต้นจากการมีเสียง เป็นต้น
       5. บทสนทนา (Dialogue) เป็นการเลียนแบบการสอนในห้องเรียนกล่าวคือ พยายามให้เป็นการพูดคุยระหว่างผู้สอนและผู้เรียน เพียงแต่ว่าแทนที่จะใช้เสียง ก็เป็นตัวอักษรบนจอภาพแล้วมีการสอนด้วยการตั้งปัญหาถาม ลักษณะในการใช้แบบสอบถามก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง เช่น บทเรียนวิชาเคมี
       6. การไต่ถาม (Inquiry) ผู้สอนจะรวบรวมเนื้อหาเขียนโปรแกรม (Software) ขึ้นโดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อ ผู้เรียนจะตั้งปัญหา หรือวิธีการแก้ปัญหา (Problem Solving) ป้อนคำถามเข้าคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์จะให้คำตอบ การเรียนจะดำเนินไปเช่นนี้ จนกว่าผู้เรียนจะสามารถแก้ปัญหา หรือเข้าใจปัญหา
       7. การสาธิต (Demonstration) การสาธิตโดยใช้คอมพิวเตอร์มีลักษณะคล้ายกับการสาธิตของครูแต่การสาธิตโดยใช้คอมพิวเตอร์น่าสนใจกว่า เพราะคอมพิวเตอร์ให้ทั้งเส้นกราฟที่สวยงามตลอดทั้งสีและเสียงด้วย ครูสามารถนำคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อสาธิต เช่น การโคจรของดาวพระเคราะห์ในระบบสุริยะ การหมุนเวียนของโลหิต การสมดุลของสมการ
       8. การเล่นเกม (Gaming) เกมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เพื่อการเรียนการสอนนั้น เป็นสิ่งที่ใช้เพื่อเร้าใจผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โปรแกรมประเภทนี้เป็นแบบพิเศษของแบบจำลองสถานการณ์ โดยมีเหตุการณ์ที่มีการแข่งขัน ซึ่งสามารถที่จะเล่นได้โดยนักเรียนเพียงคนเดียวหรือหลายคน มีการให้คะแนน มีการแพ้ชนะ
       9. การทดสอบ (Testing) การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน มักจะต้องรวมการทดสอบเป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนไปด้วย โดยผู้ทำต้องคำนึงถึงหลักการต่าง ๆ คือ การสร้างข้อสอบ การจัดการสอบ การตรวจให้คะแนน การวิเคราะห์ข้อสอบ การสร้างข้อสอบและการจัดให้ผู้สอนสุ่มเลือกข้อสอบเองได้
 
3. ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
       โดยทั่วไปแล้วคอมพิวเตอร์มีประโยชน์มากมายนอกจากการประมวลผล การจัดทำเอกสารและในโรงเรียนได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะนำมาช่วยสอน ถึงอย่างไรก็ตามการนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนมาใช้จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ ประกอบกับใช้คุณลัษณะของคอมพิวเตอร์ควบคู่กับการดูแลของผู้สอนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะสามารถให้คุณประโยชน์อย่างแท้จริง ได้มีผู้ทำการวิจัยศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับ      
       ประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน พบว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีประโยชน์ต่อผู้เรียนหลายประการ กล่าวโดยสรุปคือ (Liu. 1975 : 1411 – A ; Morris. 1983 : 14; Hall. 1982 : 362; Friedman. 1974 : 799 – A; วีระ ไทยพานิช. 2526 : 9; วารินทร์ รัศมีพรหม. 2524 : 75; นิตยา กาญจนวรรณ. 2526 : 80; นิพนธ์ ศุขปรีดี. 2526 : 41-41; คณิต ไข่มุก. 2527 : 23-24; ศิริ สาเกทอง. 2527 : 22 )
      1. ส่งเสริมให้ผู้เรียนตามเอกัตภาพ
      2. มีการป้อนกลับ (Feedback) ทันที ทำให้ผู้เรียนเกิดความตื่นเต้นไม่เบื่อหน่าย
      3. ผู้เรียนไม่สามารถแอบพลิกดูคำตอบได้ก่อน จึงเป็นการบังคับผู้เรียนให้เรียนจริง ๆ ก่อนที่จะผ่านบทเรียนนั้นไป
      4. ผู้เรียนสามารถทบทวนบทเรียนที่เคยเรียนในห้องเรียน
      5. นักเรียนเรียนได้ดีกว่า และเร็วกว่าการสอนตามปกติ ลดการสิ้นเปลืองเวลาของผู้เรียนลง
      6. สามารถประเมินผลความก้าวหน้าของผู้เรียนโดยอัตโนมัติ 
      7. ผู้เรียนได้เรียนแบบ Active Learning
      8. ฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล เพราะต้องคอยแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา
      9. ผู้เรียนสามารถเรียนตามลำพังด้วยตนเองได้
      10. ทำให้เกิดความแม่นยำในวิชาที่เรียนอ่อน
      11. ช่วยให้ผู้เรียนคงไว้ซึ่งพฤติกรรมการเรียนได้นาน
      12. เป็นการสร้างนิสัยรับผิดชอบให้เกิดในตัวผู้เรียน เพราะไม่เป็นการบังคับผู้เรียนให้เรียนแต่เป็นการให้                       
      13. มีเกณฑ์การปฏิบัติโดยเฉพาะ
      14. ผู้เรียนจะเรียนเป็นขั้นตอนที่ละน้อย จากง่ายไปหายาก
      15. ทำให้นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อวิชาที่เรียน
      นอกจากนี้ประโยชน์ต่อนักเรียนโดยทั่วไปแล้ว ในห้องเรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนอย่างมีประสิทธิภาพ ดังเช่น นิพนธ์ ศุขปรีดี (2528 : 8 – 9) ได้กล่าวถึงประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ ในแง่การเรียนการสอนไว้ดังนี้
      1. คอมพิวเตอร์สามารถทำให้เด็กเรียนได้เป็นรายบุคคล (Computer can Individualize) ที่เด็กสามารถเรียนได้เป็นรายบุคคล จะทำให้มีการสนองความต้องการของเด็กแต่ละคน ซึ่งสอดคล้องกับหลักความแตกต่างระหว่างบุคคลไม่ว่านักเรียนเก่ง ปานกลาง หรืออ่อนก็จะเรียนได้เหมาะสมกับความสามารถ และความต้องการของตนเอง
       2. คอมพิวเตอร์สามารถบริหารการสอน (Computer can Manage Instruction) คอมพิวเตอร์สามารถบริหารบริหารการสอนได้อย่างดี เพราะว่าคอมพิวเตอร์สามารถตั้งจุดมุ่งหมายทำการสอน ทำการสอบ วิเคราะห์ผล ดูความก้าวหน้าของนักเรียนตามระยะเวลา เก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่ง สามารถเรียกมาดูได้เมื่อต้องการ และทำรายงานผลได้อย่างรวดเร็วไม่เสียเวลา การทำรายงานผลก็สามารถทำได้เป็นรายบุคคล โดยครูไม่ต้องเป็นผู้เขียนชื่อนักเรียนทุกคนเอง แต่สามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็นมือที่สามได้ และตัวครูเองก็มีเวลาจะคิดและสอนให้เกิดผลดีต่อไป
       3. คอมพิวเตอร์สามารถสอนสังกัป (Computer can Teach Concepts) สังกัปและทักษะการสอนนั้นยากแก่การสอนโดยครูหรือเรียนจากตำราการจำลองสถานการณ์โดยคอมพิวเตอร์จะช่วยให้นักเรียนเรียนได้ง่ายขึ้น และดีขึ้นกว่าการเรียนจากครู
       4. คอมพิวเตอร์สามารถคำนวณ (Comptuer can Perform Calctlation) คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการคำนวณได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด ดังนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการสอนคณิตศาสตร์จึงทำให้นักเรียนเรียนได้เร็ว และถูกต้อง จึงมีเวลาเหลือที่จะศึกษาคอมพิวเตอร์แขนงต่าง ๆ ได้อีกมาก
       5. คอมพิวเตอร์สามารถสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้แก่นักเรียน (Computer can Simulation StudentLearning) เนื่องจากคอมพิวเตอร์สามารถทำเสียง สี รูปภาพหรือกราฟ ตลอดจนมีเกมคอมพิวเตอร์จึงทำให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์หรือในการแข่งขันกับคอมพิวเตอร์
       จากการที่กล่าวมาจะเห็นว่าคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ให้คุณประโยชน์ต่อนักเรียนในการเรียนรู้เพราะได้มองเห็นเป็นรูปธรรม เร้าใจ สำหรับประโยชน์ต่อครู-อาจารย์ ฮอลล์ (Hall. 1982 : 362) กล่าวถึงประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีต่อครูผู้สอนไว้ดังนี้
       1. ลดชั่วโมงสอนเพื่อจะได้ปรับปรุงการสอน
       2. ลดเวลาที่จะต้องติดต่อกับผู้เรียน
       3. มีเวลาศึกษาตำรา งานวิจัย และพัฒนาความสามารถให้มากยิ่งขึ้น
       4. ช่วยการสอนในชั้นเรียนสำหรับผู้ที่มีงานสอนมาก โดยการเปลี่ยนจากการฝึกทักษะในห้องเรียนมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์แทน
       5. ให้โอกาสในการสร้างสรรค์และพัฒนานวกรรมใหม่ ๆ สำหรับหลักสูตรและวัสดุเพื่อการศึกษา
       6. เพิ่มวิชาสอนโดยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนตามความต้องการของนักเรียน
       7. ช่วยพัฒนาทางวิชาการ
       8. ช่วยให้มีเวลาสำหรับตรวจสอบและพัฒนาหลักสูตรตามหลักวิชาการ
       9. ช่วยเพิ่มวัตถุประสงค์ของการสอนได้เท่าที่จะเป็นได้ เช่น การฝึกหัดดนตรี จัดนิทรรศการงานกราฟฟิก ช่วยแก้ปัญหาของผู้เรียนเกี่ยวกับสถาปัตย์
       จากคุณประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ที่กล่าวมาข้างต้น พอสรุปประโยชน์ของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ได้ดังนี้    
       1. ดึงดูดความสนใจของผู้เรียนให้สนใจในบทเรียน
       2. สร้างบทเรียนให้เป็นรูปธรรม มองเห็น Concept ได้ชัดเจนขึ้น
       3. ทำให้การเรียนรู้ใช้เวลาน้อยลง
        4. มีการตอบสนอง กระตุ้น เสริมแรง ทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
        5. ผู้เรียนสามารถเรียนได้หลายเที่ยว
        6. สร้างบทเรียน แบบฝึกหัดในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เกม เป็นต้น ทำให้ผู้เรียนสนุกสนาน
 
4. ข้อจำกัดของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
        คอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้รับความสนใจในการนำมาใช้ในการเรียนการสอน จุดหมายประการหนึ่ง คือเพื่อสนองตอบต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งมีลักษณะเหมือนสไลด์ การใช้องค์ประกอบของมัลติมีเดียที่เหมาะสม จะให้บทเรียน ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อการเรียนรู้ และการรับรู้ของนักเรียน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนไม่บรรลุจุดประสงค์เท่าที่ควรการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีข้อจำกัดดังนี้
        1. ราคาอุปกรณ์ที่ใช้ค่อนข้างสูง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ได้จำนวนเครื่องจำกัด ไม่เพียงพอต่อจำนวนของนักเรียน
        2. นักเรียนต้องมีพื้นฐานการใช้คอมพิวเตอร์พอสมควร จึงจะสามารถทำให้การเรียนการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนบรรลุไปด้วยดี ไม่ต้องสอนความรู้คอมพิวเตอร์ให้เป็นผลกระทบต่อการเรียนรู้วิชาที่สอนในขณะนั้น
        3. เกี่ยวกับแสงของจอภาพทำให้ประสิทธิภาพทางสายต่าสำหรับนักเรียนที่ไม่เคยชินกับการมองจอภาพนาน ๆ อาจทำให้นักเรียนมีอาการเบลอไม่เข้าใจในบทเรียนได้
        4. คุณสมบัติของเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่ทันสมัย หรือไม่ครบองค์ประกอบ เช่น จอภาพขาวดำ ไม่มีการ์ดเสียง ไม่มีเครื่อง CD-ROM หรือที่เป็นรุ่นเก่า อาจไม่สามารถใช้กับบทเรียนที่สร้างขึ้นในยุคปัจจุบันได้
        5. ผู้สอนไม่มีความสามารถในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นขณะทำการสอน เช่น โปรแกรมมีปัญหา หรือเครื่องคอมพิวเตอร์มีปัญหา เป็นต้น
         6. ความแตกต่าง และปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการใช้ soft ware ทำให้ไม่สามารถใช้กับบทเรียนที่จะใช้สอนได้
         7. การใช้สภาพแวดล้อมการทำงานบนวินโดวส์ เสียงและภาพจะถูกเก็บไว้ในรูปของ Files การกำหนดเส้นทางที่ถูกต้องและสมบูรณ์ จะทำให้การใช้มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากนำไปใช้กับเครื่องอื่นแล้ว อาจไม่สามารถใช้บทเรียนได้สมบูรณ์
         8. บทเรียนมีขนาดใหญ่ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับ File เช่นจากไวรัส แรงดันไฟฟ้า หน่วยความจำน้อย ทำให้การ ใช้เกิดปัญหาได้
         นอกจากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน อาจจะไม่บรรลุประสงค์ได้ถ้าการเรียนการสอนขาดการสร้างบทเรียนที่ดี สร้างสถานการณ์จำลองที่ไม่ชัดเจน นอกจากนั้นการใช้อักขระสื่อความหมายกับผู้ใช้บทเรียน ควรมีลักษณะดังนี้ (บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์. 2539 : 110-111)
         1. สื่อความหมายให้ชัดเจน
         2. การใช้อักขระเป็นเมนูสำหรับการเดินทาง
         3. การใช้ปุ่มอักขระบนจอภาพสำหรับการมีปฎิสัมพันธ์
         4. เนื้อหาไม่ควรให้อ่านจากคอมพิวเตอร์
         5. ควรใช้หน้าต่างเมื่อเนื้อหายาวเกินหน้าจอ
         6. สร้างชีวิตชีวาและการเคลื่อนไหวให้อักขระ
         7. การใช้เครื่องหมายและสัญลักษณ์อาจเสียเวลากว่าจะคุ้นเคย
         จะเห็นว่าข้อจำกัดในการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ ส่วนมากเป็นเรื่องที่แก้ไขค่อนข้างยาก อาจต้องใช้ผู้มีความรู้ความชำนาญด้านคอมพิวเตอร์โดยตรง หรือผู้ใช้ต้องศึกษาคอมพิวเตอร์มาแล้วเป็นอย่างดีสามารถแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอด้วย
 
5. ระบบเครือข่าย
       เครือข่ายคอมพิวเตอร์ มีดังนี้ ( พันจันท์ และคณะ . มปป : 2 )
       1. แลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้แผ่นดิสก์ก็อปปี้ข้อมูลไปมาระหว่างเครื่อง
       2. ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันได้ เช่น เครื่องพิมพ์ ซีดีรอมไดรว์ ทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่าย และสามารถใช้ทรัพยากรได้เต็มประสิทธิภาพ เช่น เราสามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้พร้อมๆ กัน แม้จะไม่มีโมเด็ม
       3. สื่อสารกับผู้อื่น ผ่านเครือข่ายได้ โดยใช้โปรแกรมสื่อสารข้อความไปจนถึงใช้ภาพ และเสียงพูด
       4. ป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลได้ โดยอนุญาตให้เฉพาะคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่มีสิทธิเรียกใช้ข้อมูลสำคัญ
       จากประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้น ระบบเครือข่ายยังสามารถทำงานในระบบอินทราเน็ต และอินเทอร์เน็ต ให้ประโยชน์ด้านการสืบค้นสารสนเทศ ให้บริการด้านการศึกษา จนเป็นที่ยอมรับในสถานศึกษาปัจจุบัน
 
6. ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
        มีนักวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ศึกษาการนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปใช้มากมายหลายแขนง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์การนำเอาคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสามารถสนับสนุนการเรียนรู้เป็นอย่างดี จะเห็นได้จากผลการศึกษาและวิจัย ดังนี้ลี (Lee. 1975:1361-A) ; เทอร์เนอร์ (Turner. 1982 : 1750-A); แฟรงค์ (Franke. 1988 : 3066-A) ;เมอร์ริท (Merritt., 1983 : 34-A); เฮคส์ (Hakes.1986 : 1590-A) ; โอเดน (Oden. 1982 : 355-A); อัลรัม (Abram. 1984 : 1032-A) ได้ศึกษาการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เปรียบเทียบกับการสอนแบบอื่น ๆ ปรากฏว่าทุกเรื่อง ผลสัมฤทธิ์จาการเรียนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสูงกว่าการสอนแบบอื่น ๆ นอกจากนั้นจากการศึกษาเปรียบเทียบของนักการศึกษาในประเทศ เช่น ฝนทิพย์ อามาตยกุล (2531 : 49-51); สุรพล อมาตยกุล (2530 : 27-42), พวงเพชร วัชรรัตนพงค์ (2536 : 39) ; นัยนา ลีนะธรรม (2535 : 37) ; ชูศรี ยินตระกูล (2529. 64) ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และเจตคติต่อวิชาคณิตศาสตร์ ที่ได้รับการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน สูงกว่าการสอนแบบอื่น ๆ เช่น สอนตามคู่มือครู และแบบปกติ เป็นต้นเมอเรล (Merrel. 1985 : 3502-A) ศึกษาผลการใช้คอมพิวเตอร์โดยเปรียบเทียบกับอีกสองวิธีคือ กลุ่มที่มีประสบการณ์ และกลุ่มที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ด้านพุทธพิสัยจากการใช้คอมพิวเตอร์สูงกว่าทั้งสองวิธี และผลสอดคล้องกับ กำพล ดำรงวงศ์ (2528 : 33-31); ชัชวาล ย์ มังคลังกูล (2532 : 30-31)ปรากฏว่าการสอนด้วยคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านพุทธพิสัยวิชาคณิตศาสตร์
       โคลลินส์ (Colhins. 1985 : 3601-A) พบว่า การเรียนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีการให้ข้อมูลป้อนกลับ 2 กลุ่ม คือป้อนกลับที่ให้เฉพาะคำตอบที่ถูก และป้อนกลับแบบให้คำอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม มีผลต่อการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ไม่แตกต่างกัน นอกจากนั้นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจ หรือการตอบสนองที่น่าสนใจ จะมีผลต่อการเรียนรู้มากขึ้น เช่นการศึกษาเปรียบเทียบของ รุ่งโรจน์ แก้วอุไร (2531 : 21-26) และสิทธิชัย แพงทิพย์ (2531: 29-31) ได้ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์กับนักเรียนมัธยม จากคอมพิวเตอร์ที่มีและไม่มีเสียงประกอบ และกลุ่มที่มีเสียงดนตรีแบบใช้การ์ตูน และไม่ใช้การ์ตูน ปรากฏว่าการสอนที่ใช้เสียง และใช้การ์ตูนสูงกว่าที่ไม่ใช้
       ดำรง ตาแจ่ม (2531 : 32-34) ได้ศึกษาการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนจากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีเกมประกอบเนื้อหา กับไม่มีเกมประกอบ ผลปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์จาการสอนแบบแรกสูงกว่าการศึกษาของนักวิชาการจากการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่มีการให้ข้อมูลป้อนกลับ ทีมีผลต่อการเรียนรู้ ดังต่อไปนี้
ซิคเลอร์ (Sickler. 1988 : 3045-A) วิจัยพบว่า การให้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ให้ข้อมูลป้อนกลับ มีผลสัมฤทธิ์สูงกว่าการสอนแบบบรรยายและ นุชน้อย กิจทรัพย์ไพบูลย์ (2531 : 30-32) พบว่าการให้ข้อมูลป้อนกลับแบบอธิบายคำตอบ ดีกว่าการให้ข้อมูลป้อนกลับแบบไม่อธิบายคำตอบ
นูแนน (Noonan. 1984 : 131-A) ได้ให้สภาพของการให้ข้อมูลป้อนกลับแตกต่างกัน 6 แบบ คือ 1. บอกคำตอบที่ถูกทันที 2. บอกคำตอบที่ถูกในคำถามถัดไป 3. บอกคำตอบที่ถูกพร้อมคำอธิบายทันที 4. บอกคำตอบที่ถูกพร้อมอธิบายในคำถามถัดไป 5. บอกผลว่า ผิดทันที และ 6. บอกผลว่า ผิด พร้อมอธิบายคำตอบทันทีผลปรากฏว่าการบอกคำถามที่ถูกต้องมีผลต่อการเรียนรู้มากกว่าการบอกผลว่าผิด
       นอกจากผลงานวิจัยการใช้คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการสอนในแบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนกับนักเรียนเป็นรายบุคคล และกลุ่มย่อย (Jonhson and Stanne. 1985 : 668-667 ; Durnin. 1985 :2530-A ; Smith.1984 : 72-A) ปรากฏว่ามี 2 เรื่องที่ไม่แตกต่าง ส่วนอีก 1 เรื่องการเรียนแบบกลุ่มดีกว่าการเรียนเป็นรายบุคคล
        วิชชุลาวัณย์ พิทักษ์ผล (2529 : 72-73) และมะลิ จุลวงษ์ (2530 : 72-74) ได้ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนในการเรียนซ่อมเสริม เปรียบเทียบกับครูสอน ปรากฏว่าผลไม่แตกต่างกัน 1 เรื่อง และแตกต่างกัน 1 เรื่องผลการศึกษาคอมพิวเตอร์ช่วยสอนในรายวิชาอื่น ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี การอ่านวรรณคดีอังกฤษ กับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 เรื่อง (Liu. 1975 : 1411-A – 1412-A; Summerville. 1985 : 603-A ; Carnes, 1985 : 1241-A ; Miller. 1974 : 87-89 ; พิทยา ไชยมงคล. 2533 : 60; สุวัฒน์ นิยมไทย. 2531 : 45-46) ปรากฏว่าผลการวิจัยสนับสนุนการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนมีผลต่อการเรียนการสอน 4 เรื่อง อีก 2 เรื่อง ไม่มีความแตกต่าง โดยเป็นวิชาวิทยาศาสตร์และการอ่านวรรณคดีอังกฤษ
         โอทส์ (Oates. 1983 : 2822-A); แซมสัน (Sampson. 1983 : 2822-A) ได้ทดลองนำคอมพิวเตอร์ใช้กับระดับอุดมศึกษา ในการสอนทักษะพื้นฐานในการเขียนข่าวของนักศึกษาวารสารศาสตร์ และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิชาแนะแนว เปรียบเทียบกับการสอนด้วยครู ปรากฏว่า ทั้งสองเรื่องสนับสนุนการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
         จากการวิจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศ เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน รายวิชาคณิตศาสตร์ ส่วนใหญ่พบว่าผลสัมฤทธิ์และเจตคติทางการเรียนจากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนสูงกว่าการสอนแบบปกติ
 
คุณลักษณะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน 4 ประการ ได้แก่
1.    สารสนเทศ (Information)
หมายถึง เนื้อหาสาระที่ได้รับการเรียบเรียง ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือได้รับทักษะอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้สร้างได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ การนำเสนออาจเป็นไปในลักษณะทางตรง หรือทางอ้อมก็ได้ ทางตรงได้แก่ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทติวเตอร์ เช่นการอ่าน จำ ทำความเข้าใจ ฝึกฝน ตัวอย่าง การนำเสนอในทางอ้อมได้แก่ คอมพิวเตอร์ช่วยสอนประเภทเกมและการจำลอง
2.    ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individualization)
การตอบสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล คือลักษณะสำคัญของคอมพิวเตอร์ช่วยสอน บุคคลแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกันทางการเรียนรู้ คอมพิวเตอร์ช่วยสอน เป็นสื่อประเภทหนึ่งจึงต้องได้รับการออกแบบให้มีลักษณะที่ตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคลให้มากที่สุด
3.      การโต้ตอบ (Interaction)
คือการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับคอมพิวเตอร์ช่วยสอนการเรียน การสอนรูปแบบที่ดีที่สุดก็คือเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้มากที่สุด
4.       การให้ผลป้อนกลับโดยทันที (Immediate Feedback)
ผลป้อนกลับหรือการให้คำตอบนี้ถือเป็นการ เสริมแรงอย่างหนึ่ง การให้ผลป้อนกลับแก่ผู้เรียนในทันทีหมายรวมไปถึงการที่คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่สมบูรณ์จะต้องมีการ ทดสอบหรือประเมินความเข้าใจของผู้เรียนในเนื้อหาหรือทักษะต่าง ๆ ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
 
ข้อพึงระวังของการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน
·      ผู้สอนจะต้องมีความพร้อม ความชำนาญในการสอนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน
·      ผู้สอนควรมีการวางแผน และเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้เรียนให้รอบคอบ ก่อนนำคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไปใช้อย่างเหมาะสม
·      การผลิตคอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้มาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญมาก หากคอมพิวเตอร์ช่วยสอนไม่ได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนนั้น ๆ
·      ผู้ที่สนใจสร้างคอมพิวเตอร์ช่วยสอนควรที่คำนึงเวลาในการผลิตว่า คอมพิวเตอร์ช่วยสอนที่ได้มาตรฐานนั้นต้องใช้เวลาเท่าไร

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
55555555555555
+