kidsleep01
ดู Blog ทั้งหมด

รับมืออย่างไร เมื่อโรคร้ายมาเยือนคนในครอบครัว ( ตอนที่ 1 )

เขียนโดย kidsleep01


รับมืออย่างไร เมื่อโรคร้ายมาเยือนคนในครอบครัว
( ตอนที่ 1 )

แค่ได้ยินว่าเป็นเนื้อร้าย คงเดากันได้ไม่ยากว่า คงไม่พ้นเป็นโรคมะเร็ง แน่นอนว่าผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยเองคงทำใจลำบาก อย่างที่เรารู้กันว่า โรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาให้หายขาด แต่อาจจะบรรเทาอาการได้ในระยะเวลาหนึ่ง ถ้าตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสรักษาให้หายได้  มีชีวิตยืนยาวได้หลายปี แต่ยังต้องคอยมาตรวจเช็คร่างกายกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ดังนั้นควรต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคนี้ด้วยความระมัดระวัง ให้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง โดยไม่ให้โรคกำเริบกลับมาเป็นอีก บทความต่อไปนี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงจากคนในครอบครัว จึงอยากแนะนำการดูแลผู้ป่วยในครอบครัวที่เป็นมะเร็ง ว่าควรปรับตัว และทัศนคติพร้อมที่จะรับมือกับโรคมะเร็งต่อไปอย่างไร

ถ้าเกิดพบว่ามีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็ง แน่นอนย่อมต้องเกิดความรู้สึกหลายอย่าง ทั้งตกใจ กลัว เสียใจ กังวล ท้อแท้ หมดกำลังใจ หลากหลายความรู้สึก ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งนั้น ส่วนใหญ่แล้วแพทย์ที่ทำการรักษา มักจะไม่บอกความจริงกับตัวผู้ป่วยเอง แพทย์มักจะแจ้งแก่ญาติให้ทราบก่อนผู้ป่วย เพราะกลัวผู้ป่วยจะใจเสีย ญาติที่รับรู้เองส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าที่จะบอกความจริงเช่นกันว่าเป็นโรคร้าย เพราะไม่รู้ว่า ถ้าผู้ป่วยได้รับรู้แล้วจะทำใจได้แค่ไหน จะช็อค เสียใจ เครียด หมดหวัง ไปตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มรักษาเลยหรือไม่  คนที่เป็นญาติเอง เมื่อได้รับรู้แล้วจากแพทย์ ควรขอคำแนะนำรายละเอียดของโรค และแนวทางการรักษา ซึ่งญาติก็ควรมีสติ เข้มแข็งมากกว่าตัวคนไข้ และทำใจยอมรับก่อน เพราะโรคมะเร็ง จะต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ใช้เวลานานในการรักษา หลังจากนั้น ควรค่อยๆหาทางบอกผู้ป่วย เพราะเมื่อไหร่ที่เริ่มทำการรักษา ตัวผู้ป่วยก็จะทราบเองได้ ไม่ช้าก็เร็ว

ก่อนที่จะกล่าวไปถึงการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น  อยากแนะนำเบื้องต้นให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 – 30 ปี เริ่มไปตรวจสุขภาพประจำปี หลายคนคงคิดว่า ช่วงวัยนี้ ยังมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคดี  ยังไม่ค่อยมีโอกาสเจ็บป่วย เป็นโรคร้ายแรงอะไรง่ายๆ  แต่ก็ไม่ควรประมาท บางคนเป็นมะเร็งวัยเด็ก วัยหนุ่มสาวก็มี เพราะคุณไม่มีโอกาสรู้เลยว่า โรคภัยต่างๆ จะแฝงตัว  หรือจะออกอาการเมื่อไหร่ ช่วงวัยนี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง หลายๆคน โดยเฉพาะคุณผู้หญิงมักจะอาย ถ้าได้ยินว่า ไปตรวจสุขภาพ จะต้องตรวจมะเร็งปากมดลูก โดยการตรวจภายในด้วย แค่ได้ยินก็ส่ายหน้าหนีกันแทบทุกคน แต่ถ้าการตรวจนั้น ทำให้ชีวิตและสุขภาพเรายืนยาว ไม่มีโรคร้าย ลองคิดดูถึงผลดีผลเสีย ว่าจะคุ้มกันหรือไม่ ถ้าคิดว่า ไม่เป็นไร อายุยังน้อยอยู่ยังไม่ต้องตรวจก็ได้ เอาไว้อายุเยอะค่อยตรวจ แต่คุณอาจจะเป็น 1 ใน100 คนที่เป็นโรคร้าย จะคุ้มกันหรือไม่ กว่าที่จะตรวจเจอก็อาจจะสายไปเสียแล้ว คุณผู้หญิงทั้งหลายจึงควรไตร่ตรองดู แรกๆก็อาจจะเขินอายอยู่บ้าง แต่ถ้าให้อายน้อยลงหน่อยก็แนะนำให้เลือกตรวจกับแพทย์ผู้หญิง  ถ้าเลือกได้ก็ลองสอบถามจากพยาบาล หรือเลือกแพทย์ผู้อาวุโสหน่อยก็ดีค่ะ จะได้ลดความเขินอาย และอาการประหม่าลงได้ระดับหนึ่ง ลองคิดดูว่าแพทย์ด้านสูตินารีนี้ ท่านก็จะต้องตรวจมาเยอะแล้วค่ะ เป็นเรื่องธรรมดา ที่คุณผู้หญิงทุกคนต้องเจอ ดังนั้น การแนะนำให้ตรวจสุขภาพปีละ 1 ครั้ง อย่างน้อยเพื่อที่ว่า ถ้าเกิดตรวจสุขภาพแล้วพบว่าเจอโรคมะเร็ง ก็จะได้หาทางรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ซึ่งเราตรวจพบก่อน ดีกว่าปล่อยไว้นานๆ กว่าจะออกอาการก็อาจจะเป็นระยะสุดท้ายแล้ว

หลังจากผ่านพ้นอารมณ์นั้นๆมาแล้ว ต่อไปคนในครอบครัวและผู้ป่วยเองต้องตั้งสติ ทำใจยอมรับ และก้าวข้ามผ่านความวิตก กังวลต่างๆออกไปให้ได้  เตรียมพร้อมที่จะรับมือกับโรคมะเร็ง ต่อไป  ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องเป็นหลักให้ผู้ป่วย ถ้าคนดูแลท้อแท้แล้ว ผู้ป่วยก็อาจจะเสียกำลังใจ อาการทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด โรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องการกำลังใจอย่างมาก ตัวผู้ป่วยเองจะต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งที่จะต่อสู้กับโรคร้าย ถ้าไม่มีกำลังใจแล้ว ร่างกายก็จะทรุดตามลงไปด้วย โรคจะลุกลามไปเร็วมาก  หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว ความหมายก็มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ถ้าเรามีสุขภาพจิตที่ดี สุขภาพกายก็จะดีตามไปด้วย คนที่มีสุขภาพจิตดี จะมองโลกในแง่ดี เข้าใจตนเอง สามารถปรับตัวปรับใจได้อย่างเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง

By  P.Saruda

ต่อตอนที่ 2


 

คอนโดแมว , พัดลมมือถือ , หมอนผ้าห่ม , หมอนหัวทุย  , เก้าอี้หัดนั่ง

 

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น