mengga
ดู Blog ทั้งหมด

รู้จักตัวเองก่อนคว้าทุนเรียน

เขียนโดย mengga

 

รู้จักตัวเองก่อน

  ก่อนอื่นวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าความสามารถของเราอยู่ในจุดไหน จะได้ตั้งเป้าหมายได้เหมาะสม เคยมีน้องถามพี่นุ้ยว่า “พี่ครับ ผมอยากเข้ามหาวิทยาลัย Harvard แต่ผมเรียนได้เกรด 2 กว่า มันจะเป็นไปได้ไหมครับ” พี่นุ้ยก็ได้แต่ตอบว่า “เอ่อ...มันก็คงจะยากหน่อยนะคะ” สรุปคือ จะวางเป้าหมาย ต้องดูศักยภาพของตัวเองด้วย

  ถ้าเราเรียนได้เกรด 3 กว่า ๆ พอไปวัดไปวาได้ จะหวังได้ทุนเกรด A ได้เปล่า ไม่ต้องใช้คืน ไปประเทศดัง ๆ ก็อาจจะยากหน่อย คงต้องมองเป้าหมายที่รองลงมา การวิเคราะห์ตัวเองนั้นต้องมองหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งการเรียน กิจกรรม ประสบการณ์

  คำถามที่ต้องถามตัวเอง

เราเป็นคนเรียนเก่งไหม ถ้าเรียนไม่เก่ง ตัวเรามีคุณสมบัติอะไรที่โดดเด่นบ้าง แบบมองแล้วเข้าตากรรมการ หรือในกรณีที่เราเรียนเก่งมีคุณสมบัติอะไรที่โดดเด่นอีกนอกจากเรื่องเรียน เช่น ทำงานเก่ง หรือเคยทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องรับผิดชอบต่อองค์กรและผู้คนในวงกว้างมาแล้ว

  ทุนไหนล่ะที่เหมาะสมและเป็นไปได้เมื่อเทียบกับศักยภาพของเรา

   มาถึงตรงนี้ น้อง ๆ หลายคนอาจเริ่มนึกท้อใจว่า “ฉันก็เป็นแค่คนธรรมดา เรียนได้เกรด 2 ปลาย ๆ 3 ต้น ๆ แล้วจะมีสิทธิ์ได้ทุนหรือได้ไปเรียนต่อต่างประเทศแบบคนอื่นหรือเนี่ย” คำตอบคือ ได้ค่ะ แต่น้องต้องเลือกเป้าหมายที่เป็นไปได้ เช่น ทุนที่อาจจะต้องชดใช้หรือทุนบางส่วน มหาวิทยาลัยกลาง ๆ ที่อาจไม่ได้มีชื่อเสียงมากมักนิยมให้ทุนบางส่วนหรือลดค่าเรียนให้แก่นักศึกษาต่างชาติเพื่อดึงดูดให้สมัครเรียน

  ทุนที่มีเงื่อนไขให้ชดใช้ 3 เท่าย่อมมีอัตราการแข่งขันน้อยกว่าทุนให้เปล่า ดังนั้นคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “นักเรียนทุน” จึงไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าทุนที่หมายตาเป็นทุนอะไรต่างหาก

  ทุนการศึกษาดีจริงหรือไม่

  ขึ้นชื่อว่าทุนการศึกษาก็ต้องดีซิ แต่พี่นุ้ยตอบว่า “ไม่แน่เสมอไป” เพราะทุกอย่างเป็นเหมือนดาบสองคม (Double-edged Swords) บางคนเรียนไม่ไหว หรือปรับตัวไม่ได้ในกรณีที่ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศก็มีเช่นได้ไปเรียนต่อจีน แต่ปัญหาที่กล่าวมาถือเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่นักเรียนทุนมักจะเรียนใช้ได้ ปรับตัวเก่ง (ถึงได้รับคัดเลือก)

  ปัญหาใหญ่จริง ๆ เกิดขึ้นกับนักเรียนทุนประเภทมีเงื่อนไขต้องกลับมาชดใช้ หลายคนสำเร็จการศึกษาแล้วกลับมาทำงานที่หน่วยงานต้นสังกัดแล้วปรากฏว่าเกิดข้อขัดแย้งกับคนในหน่วยงาน หรือมีปัญหากับวัฒนธรรมขององค์กรด้วยสาเหตุนานับประการ (ประมาณว่า เราเข้ากันไมม่ได้) กลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จะลาออกก็ไม่ได้ เพราะในสัญญาระบุว่าถ้าทำงานใช้ทุนไม่ครบจะต้องใช้เงินคืน 3 เท่า (หรือ 4 เท่า) ลองคิดดูสิ ถ้าไปเรียน 10 ปี ใช้เงินปีละ 1 ล้าน ก็เท่ากับ 30-40 ล้านบาทเลยทีเดียว

  เราทุกคนมีความกลัวสิ่งที่ไม่รู้ (Fear of the Unknown) ด้วยกันทั้งนั้น น้อง ๆ และเพื่อน ๆ ของพี่นุ้ยหลายรายปฏิเสธการรับทุนเนื่องจากกลัวข้อผูกพันในอนาคต ก็ลองคิดดูสิ ถ้าเราได้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศตั้งแต่ ม. 3 ไปจนถึงระดับปริญญาโท จะต้องใช้เวลาเรียนประมาณ 8-10 ปี หากทุนมีเงื่อนไขให้ต้องกลับมาทำงานชดใช้ 1 เท่าของระยะเวลาเรียน ก็จะเท่ากับว่าต้องทำงานชดใช้ในหน่วยงานต้นสังกัด 8-10 ปี ถ้า 2 เท่า ของระยะเวลาเรียน ก็คือ 16-20 ปี ถ้ามีข้อขัดแย้งใหญ่ ๆ ในที่ทำงานทั้งที่เกิดจากตัวเองหรือปัจจัยอื่น ๆ ระหว่างนั้น ก็จะกลายเป็นปัญหาซึ่งหาทางออกไม่ได้ พี่นุ้ยจึงขอแนะนำให้น้อง ๆ ศึกษาเงื่อนไขดูก่อนรับทุนว่าต้องทำงานชดใช้กี่ปี นานเกินไปหรือไม่ หน่วยงานอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ชอบตำแหน่งและลักษณะงานที่ทำหรือไม่ วัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างไร

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น