orishim
ดู Blog ทั้งหมด

จารีตภาคอีสาน

เขียนโดย orishim

จารีตของชาวอีสาน

ประเพณีเกี่ยวกับการทำบุญของภาคอีสานนั้นมีการปฏิบัติสืบมาตั้งแต่โบราณ โดยมีการทำบุญทุก ๆ เดือน ซึ่งเป็นคติจากทางศาสนาและความเชื่อที่มีมาแต่ก่อน ผู้ใหญ่ที่มีอายุ หรือหมอลำที่ลำทางภาคอีสาน มักจะพูดถึงอยู่เสมอ ประเพณีนี้เรียกว่า “ ฮีตคอง ” เป็นประเพณีที่มุ่งหมายเพื่อทำบุญและการพบปะกัน ชุมนุมกันในสังคม ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความรู้จักมักคุ้นกันดี       เอกวิทย์ได้กล่าวไว้ว่า  ฮีตสิบสองคองสิบสี่เป็นโครงสร้างทางความคิด ความเชื่อและเป็นทั้งพลังในการหล่อหลอมและผูกพันให้คนอีสาน มีสำนึกแน่นแฟ้นอยู่กับสังคมเครือญาติผู้จำเริญรอยวิถีชาวนา ที่ฤดูกาลแห่งการผลิต การบริโภค ก็ได้รับการจัดวางให้ ประสานสอดคล้องกับวันสำคัญของพุทธศาสนาและวันสำคัญของสังคมโครตวงศ์อย่างแนบเนียน แยกจากกันไม่ได้  ความผสมกลมกลืนทางโครงสร้าง สาระ และรูปแบบที่กำหนดไว้  อย่างสอดคล้องกับการหมุนเวียนของธรรมชาติ เป็นวัตรปฏิบัติตามปฎิทินทั้งปี (เอกวิทย์    ถลาง , 2544 : 66 )


ฮีตสิบสอง

คำว่า “ ฮีต ” มาจากคำว่าจารีต เป็นจรรยาทางสังคม ถ้าฝ่าฝืนจะมีความผิดเรียกว่า “ ผิดฮีต       ( ผิดจารีต ) สังคมก็จะตั้งข้อรังเกียจฮีตสิบสองก็คือ ประเพณีที่จะต้องปฏิบัติทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี ในที่นี้ขอกล่าวเพียงย่อๆ

 เดือนอ้าย ( ธันวาคม ) ทำพิธีบุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม ( ปริวาสกรรม ) ซึ่งเป็นพิธีสำหรับพระภิกษุเพื่อให้บริสุทธ์จากอาบัติสังฆาทิเสส คือ ให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เป็นการฝึกสำนึกถึงความบกพร่องของตนและมุ่งประพฤติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป ทางด้านฆราวาส ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ



         เดือนยี่ ( มกราคม ) ทำพิธีบุญคูณลาน หรือ ทำบุญคูณข้าว โดยนิมนต์พระไปเทศน์ที่ลานข้าวของหมู่บ้าน ทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระ ประพรมน้ำมนต์แก่ลานข้าวและต้นข้าวที่นาให้เป็นสิริมงคล เมื่อเกี่ยวข้าวเข้ายุ้งฉางแล้วก็ทำพิธี “ สู่ขวัญข้าว ” และตักข้าวเปลือกจากยุ้งเป็นปฐมฤกษ์เพื่อเอาไปถวายพระที่วัด

                เดือนสาม ( กุมภาพันธ์ ) พิธีทำบุญข้าวจี่ และทำบุญมาฆะบูชา การทำบุญข้าวจี่เริ่มในตอนเช้า โดยใช้ข้าวเหนียวปั้นหุ้มน้ำอ้อย นำไปบี้แล้วชุบด้วยไข่เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระ  นอกจากนั้นยังมีการลงผลผลิตกันไว้ที่วัดซึ่งเรียกว่า พิธีบุญประทายข้าวเปลือก

                เดือนสี่ ( มีนาคม ) พิธีทำบุญพระเวส หรือเผวส ( พระเวสสันดร ) คือ พิธีเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านจัดข้าวปลาอาหารไปทำบุญแล้วร่วมกันฟังเทศน์มหาชาติ ถือกันว่าใครไปฟังเทศน์มหาชาติครบสิบสามกัณฑ์ในวันเดียวกันจะได้ไปเกิดในสมัยพระศรีอาริยเมตไตรยอันเป็นยุคอุดมสุข พร้อมทั้งอุทิศส่วนกุศลให้ปู่ย่าตายายผู้ล่วงลับ และจัดขนมจีนเลี้ยงญาติมิตร

                เดือนห้า ( เมษายน ) พิธีสงกรานต์ หรือบุญสรงน้ำ ชาวบ้านจะสรงน้ำพระพุทธรูปพระสงฆ์  ผู้หลักผู้ใหญ่ การทำบุญมีการถวายทาน การทำบุญนี้กำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 บางทีเรียกว่า บุญเดือนห้า ถือเป็นเดือนสำคัญเพราะเป็นเดือนเริ่มปีใหม่ 

เดือนหก ( พฤษภาคม ) ทำบุญบ้องไฟ และบุญวิสาขะบูชา  การทำบุญบ้องไฟ เพื่อขอฝนและมีงานบวชนาคพร้อมกัน พิธีบุญบ้องไฟเป็นพิธีทำบุญเพื่อบูชาพระยาแถนให้ฝนตกตามฤดูกาล หมู่บ้าน ส่วนงานวิสาขบูชานั้นกลางวันมีการเทศน์ กลางคืนมีการเวียนเทียน

เดือนเจ็ด (มิถุนายน ) พิธีทำบุญชำฮะ หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ  มีการเซ่นสรวงหลักเมือง หลักบ้าน ปู่ย่า ผีเมือง ผีตาแฮก เป็นพิธีทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ ในขณะที่บางแห่งเรียกพิธีนี้ว่า

บุญเบิกบ้าน โดยชาวบ้านจะพร้อมใจกันปัดกวาดทำความสะอาดเรือนคุ้มบ้าน และข้าวของเครื่องใช้ให้เรียบร้อย แล้วจึงทำบุญและประกอบพิธีชำระและป้องกันเสนียดจัญไรในหมู่บ้าน นอกจากพิธีสงฆ์แล้ว ก็มีพิธีปัดรังควาน ปัดเป่าความชั่วร้าย  แล้วรดน้ำมนต์ทั่วหมู่บ้าน จากนั้นก็เตรียมกล้าแฮกนา ไถหว่าน และทำไร่กัน

                เดือนแปด ( กรกฎาคม ) พิธีบุญเข้าพรรษา ชาวบ้านแห่เทียนเข้าพรรษา ไปวัด และเอาผ้าอาบน้ำถวายพระ แล้วหมั่นไปฟังเทศน์ฟังธรรมตลอดพรรษา

 

เดือนเก้า ( สิงหาคม ) พิธีทำบุญข้าวประดับดิน เป็นพิธีรำลึกถึงคุณแผ่นดินที่มนุษย์ได้อาศัยทำมาหาเลี้ยงชีพ เมื่อมีทำบุญที่วัดแล้วจัดข้าวปลาอาหารไปฝังให้แก่ดิน บางแห่งนำ พลู เหล้า บุหรี่ นำไปวางใต้ต้นไม้ พร้อมทั้งเชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับไปมาเอาอาหารไป ปัจจุบันบางหมู่บ้านดัดแปลงมาเป็นใส่ปุ๋ย บำรุงไร่นา  โดยมักทำกันในวันแรม 14 ค่ำ เดือนเก้า

                เดือนสิบ ( กันยายน ) พิธีบุญข้าวสาก ( สลากภัตร ) ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบ ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรรูปใดได้สลากของใคร

ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของเมื่อพระฉันเสร็จก็มีการฟังเทศน์การทำบุญเดือนสิบนี้เป็นการอุทิศให้แก่ผู้ตายเช่นเดียวกัน แต่ เอกวิทย์ ณ ถลางนั้นได้กล่าวไว้ว่า ในวันบุญเดือนสิบชาวบ้านจะนำข้าวสลากหรือห่อข้าวใหญ่ไปถวายพระสงฆ์ อุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษและญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว นำห่อข้าวน้อยไปแขวนไว้ตามต้นไม้ ตามเสาหรือเจดีย์ แล้วตีกลองตีดโปงบอกสัญญาณให้ผีญาติพี่น้อง รุกขเทวดา และเปรตมารับเอาข้าวห่อนั้น ด้วยถือว่าเป็นการส่งเปรตและผู้ล่วงลับที่ออกมาเที่ยวในเดือนเก้าให้กลับสู่แดนของตนในเดือนสิบ (เอกวิทย์    ถลาง , 2544 : 55 )

                เดือนสิบเอ็ด ( ตุลาคม ) พิธีบุญออกพรรษา วันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดตอนเช้าชาวบ้านไปทำบุญที่วัด ตกเย็นชาวบ้านเอาดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาพระและถวายผ้าบังสุกุล มีการตักบาตรเทโวที่วัด กวนข้าวทิพย์ กรอกน้ำมัน ปั่นฝ้าย การกวนข้าวทิพย์ต้องให้หญิงสาวพรหมจารีมาช่วยกันกวน ส่วนพระสงฆ์จะแสดงอาบัติทำการปรารถนา คือการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ต่อมาเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่จะให้โอวาสเตือนพระสงฆ์ให้ปฏิบัติตัวอย่างผู้ทรงศีลเป็นอันเสร็จพิธีพอตกกลางคืนมีการจุดประทีป โคมไฟนำไปแขวนตามต้นไม้ในวัดหรือกำแพงวัด

                เดือนสิบสอง (พฤศจิกายน ) พิธีบุญกฐิน จากวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึงวันเพ็ญ

เดือนสิบสอง ชาวบ้านจะทำพิธีทอดกฐินที่วัด บางแห่งอยู่ใกล้แม่น้ำก็จะมีการส่วงเฮือแข่งเรือ การไหลเรือไฟ และลอยกระทงกัน ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ข้าวตั้งท้องและเปลี่ยนเป็นเมล็ดข้าวแล้ว ก่อนจะสุขเต็มที่ก็จะเก็บไว้ถวายพระและเอาไว้กินกัน จึงเรียกพิธีช่วงนี้อีกชื่อว่า บุญข้าวเม่า บางแห่งทำบุญดอกฝ้ายเพื่อทอเป็นผ้าห่มหนาวถวายพระเณร จะมีพลุตะไลจุดด้วยบางแห่งทำบุญโกนจุกลูกสาวซึ่งนิยมทำกันมากในสมัยก่อน ”  ( ศูนย์วัฒนธรรมวัฒนธรรม จังหวัดมหาสารคาม, 2521: 53 55 )



               ประเพณีที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของทุกคนจะร่วมมือกันอย่างจริงจังตั้งแต่เดือนอ้ายจนถึงเดือนสิบสอง ใครที่ไม่ไปช่วยงานจะถูกสังคมตั้งข้อรังเกียจและไม่คบค้าสมาคมด้วยการร่วมประชุมทำบุญเป็นประจำเช่นนี้จึงทำให้อีสานมีความสนิทสนมกันไม่เฉพาะแต่ในหมู่บ้านของตนเท่านั้นแต่ยังสนิทสนมกันในหมู่บ้านใกล้เคียงอีกด้วย ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความสามัคคีและประโยชน์ต่อการปกครองได้อย่างดี


คองสิบสี่

                คองสิบสี่คือ คองธรรมสิบสี่อย่างเป็นแนวทางที่ใช้ปฏิบัติต่อระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง หรือระหว่างคนธรรมดาพึงปฏิบัติกัน เป็นการนำธรรมทางพุทธศาสนากับแนวทางที่เคยปฏิบัติประยุกต์เข้ากับคองสิบสี่  ซึ่งเนื่องจากเป็นจารีตมุขปาฐะ จึงได้แตกต่างกันไปแต่ละผู้ถ่ายทอด แต่เนื่องจากภาคนิพนในฉบับนี้ต้องการเน้นในประเพณีของภาคอีสาน

                “ได้นำฮีตคองมาจากพระเดชาคุณพระอรินานุวัตร เจ้าอาวาสวัดมหาชัย จังหวัดสารคาม ได้ค้นคว้าจากหนังสือใบราณเก่าๆซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

1. ฮีตเจ้า คองขุน  คำว่า “ เจ้า ” ส่วนใหญ่คือพระเจ้าแผ่นดิน ต่ำลงมาคือเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นๆ อีสานสมัยก่อนเรียกว่า “ เจ้า ”  คำว่า “ ขุน ” หมายถึง กษัตริย์ผู้ครองเมือง

2. ฮีตท้าว คองเพีย  คำว่า “ ท้าว เป็นคำเรียกเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ เช่นท้าวเธอ แต่อีสานเรียกท้าวอุปราช ส่วนฮีตคองนั้น น่าจะอนุโลมตามขุนหรือตามตระกูล แม้เพียซึ่งทำงานก็ให้ถูกคองธรรม ซึ่งเรียกคองเพีย

3. ฮีตไพร่ คองนาย  คำว่า “ ไพร่ ”  ได้แก่ราษฎร มีประเพณีจะต้องทำตามระบอบกฎหมายบ้านเมือง ส่วนในปกครองมีคลองธรรมจะปฏิบัติอย่างไรทุกคนปฏิบัติตามกบิลเมือง และหน้าที่นั้นๆจึงเรียกว่า  “ คองนาย

4. ฮีตบ้าน คองเมือง  บ้านแต่ละบ้านประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพ จะต้องตั้งอยู่ในข้อบังคับศีลธรรม บ้านและเมืองปฏิบัติตามจารีต 12 อย่าง  

5. ฮีตปู่ คองย่า  ตายายทั้งสองนี้ คนทั่วไปมักเรียกว่า พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ พ่อซ้น แม่ซ้น พ่อตู้

แม่ตู้ ลูกหลาน เครพนับถือ เพราะเป็นพ่อแม่ของแม่

6. ฮีตพ่อ คองแม่  พ่อแม่เป็นผู้มีพระคุณมาก ตั้งอยู่ในคองธรรม เมื่อลูกเจริญวัยแล้วจึงควรตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ เลี้ยงพ่อแม่ให้ถูกต้องตามครรลองคองธรรม



           7. ฮีตสะใภ้ คองเขย   ลูกสะใภ้ ลูกเขย จึงจำเป็นต้องทำตนให้ดี ก่อนจะเป็นหญิงสะใภ้ใครๆก็ควรศึกษาขนบธรรมเนียมหน้าที่ความเป็นสะใภ้ให้เข้ใจ มิฉะนั้นก็จะเป็นทางให้ปู่ย่ารังเกียจเกิดแตกแยก แม้ชายจะเป็นเขยใครใครก็ควรศึกษาคองธรรมอันตนจะพึงวางตนให้ถูกต้อง

8. ฮีตป้า  คองลุง   บรรดาญาติ คือ พี่ป้าน้าอา ลูกหลานจะต้องวางตนเป็นที่เครพนับถือ ไม่ถือตัวโอ้อวด เชื่อฟังและช่วยเหลือสงเคราะห์เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ ให้เป็นไปตามธรรมนองคองธรรมเสมอ

9. ฮีตลูก  คองหลาน  ลูกหลานทุกคนควรทำตนให้เป็นลูกหลานที่ดี คือเป็นลูกแก้วหลานแก้ว ศึกษาเล่าเรียนวิชาการ ไม่ทำความชั่วทำแต่ความดี เมื่อน้อยเรียนวิชาใหญ่มาหาทรัพย์สินเงินทอง

10. ฮีตเฒ่า  คองแก่ ( คนชรา )   ผู้เฒ่าผู้แก่คือผู้หลักผู้ใหญ่ จะวางตนให้เป็นที่เครพของลูกหลานได้อย่างไร

11. ฮีตปี  คองเดือน   ถึงปีเดือนจะพึงปฏิบัติให้ถูกต้องตามฮีตสิบสอง ดังกล่าวแล้วข้างต้น มิได้ละเลยเอาใจใส่ตามประเพณี ชื่อว่าเครพต่อประเพณีวัฒนธรรมของชาติ

12. ฮีตไร่  คองนา  คือ การทำไร่ทำนาต้องขยันหมั่นเพียรตามกาลเวลา ชื่อว่ากาลัญญรู้กาลสมัยไม่ทอดทิ้งศึกษาการทำนาอันมีพืชมงคลเป็นต้น

13. ฮีตบ้าน  คองเมือง  คือ กฎระเบียบของบ้านเมือง

14. ฮีตวัด คองสงฆ์  วัดวาอารามเป็นหลักศาสนาพุทธ เมื่อตั้งบ้านก็พร้อมกันตั้งวัดวาอารามบวชลูกหลานไว้ วัดจึงเป็นของชาวบ้าน เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

                ส่วนคองสงฆ์นั้น คือระเบียบของสงฆ์ที่พึงปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยพุทธศาสนิกชนควรรู้จักพระภิกษุสามเณร ”  (ศูนย์วัฒนธรรม จังหวัดมหาสารคาม, 2521: 55 57 )

ฮีตสิบสองคองสิบสี่ที่ได้กล่าวมานี้ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสานทั่วทุกจังหวัดหากจะมีบางจังหวัด บางอำเภอ บางตำบล หรือบางที่ไม่ตรงกันบ้างนั้นคงมีอยู่บ้างเพราะประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งสมัยก่อนบ้านเมืองผู้คนมาจากสายจำปาศักดิ์ และเวียงจันทน์ ยอมรับนับถือฮีตสิบสองคองสิบสี่

ประเพณีต่างๆติดตามได้ภายในบล็อคค่ะ


น.ส.สุพัตรา โอ่งเจริญ

สาขาวิชาภาษาไทย ศศ.บ.

ราชภัฏเชียงใหม่






ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
ขอบคุณมากนะคะ
แต่ถ้าเปลี่ยนสีตัวหนังสือจะดีต่อสายตามากเลยค่ะ
ความคิดเห็นที่ 2
ขอบคุณคะ
yo
yo 29 ก.พ. 59 / 15:54
ควรเปลี่ยนสีพื้นหลัง
<(-_-)>
<(-_-)> 29 ก.พ. 59 / 16:01
-v- ขอบคุณครับ
) )
---