Bloody Catherine
ดู Blog ทั้งหมด

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

เขียนโดย Bloody Catherine


โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย





 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (Suankularb Wittayalai School) (อักษรย่อ: ส.ก., S.K.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาชายล้วนขนาดใหญ่ เป็นโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันมีอายุ 130 ปี เป็นโรงเรียนที่เก่าแก่ที่สุดอันดับ 2 ของประเทศ โรงเรียนอยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ รหัสสถานศึกษา 00100101 (เดิม) , 10105505 (ใหม่) ก่อตั้งโดย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารเรียน 6 หลัง มีจำนวนห้องเรียนทั้งหมด 88 ห้อง แผนการจัดชั้นเรียน มีดังนี้ 12-12-12-14-14-14





โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นหนึ่งในโรงเรียนเครือ จตุรมิตรสามัคคี ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มีการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง 4 โรงเรียน รวมทั้งมีการการแปรอักษรกันทุกๆ 2 ปี ที่มีการจัดการแข่งขัน และแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ



และจากนโยบายกระจายโอกาสทางการศึกษาของกระมรวงศึกษาธิการ
ทำให้มีการจัดตั้งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในเครืออีก 10 แห่ง
รวมกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็น 11 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ
โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ชลบุรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เพชรบูรณ์
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สระบุรี
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (จิรประวัติ) นครสวรรค์
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี
และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นครศรีธรรมราช

โดยโรงเรียนในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัยได้มีการแข่งขันกรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ กรีฑาประเพณีประเภทลู่และลานจะขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยแต่ละโรงเรียนจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ รวมทั้งยังมีการจัดงานชุมนุมลูกเสือสวนกุหลาบสัมพันธ์ เพื่อเป็นงานชุมนุมและทำกิจกรรมร่วมกันของลูกเสือและเนตรนารีของโรงเรียนเครือสวนกุหลาบวิทยาลัยทั้ง 11 แห่งเป็นประจำทุกปีเช่นเดียวกัน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ดีที่สุดของประเทศ จากการจัดอันดับการศึกษาของหลายๆสำนัก นอกจากนี้ยังมีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมายหลายคน รวมถึง นายกรัฐมนตรีไทย 3 ท่าน 



สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน




 คติพจน์ : "สุวิชาโน ภวํ โหติ" อ่านว่า "สุวิชาโน ภวัง โหติ" แปลว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ"



สีประจำโรงเรียน : "ชมพู - ฟ้า" สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวง สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง




ตราประจำโรงเรียน : ตราประจำโรงเรียนเป็นรูปหนังสือมีไม้บรรทัดดินสอปากกาคั่นอยู่ หน้าปกหนังสือมีพระเกี้ยวยอดหรือจุลมงกุฏ และอักษรย่อ จ.ป.ร. ด้านขวามีช่อดอกกุหลาบ มุมซ้ายล่างมีริบบิ้นผูกช่อดอกกุหลาบ ซึ่งมีตัวหนังสือกำกับว่า "โรงเรียนหลวงสวนกุหลาบ" ด้านบนปรากฏมีปรัชญาและคติพจน์ "สุวิชาโน ภวํ โหติ" ด้านล่างมีคำแปลว่า "ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ"



ดอกไม้ประจำโรงเรียน : ดอกกุหลาบ



ประวัติโรงเรียน


 ย้อนหลังไปประมาณ 200 กว่าปีก่อน เมื่อแรกสร้างพระบรมมหาราชวังในสมัยรัชกาลที่ 1 บริเวณวังข้าง ด้านใต้หมดเพียงป้อมอนันตคิรีถนนมหาชัย กำแพงพระราชวังหักตรงไปทางตะวันตกจนถึงป้อมสัตบรรพตในระหว่าง กำแพงพระบรมมหาราชวังกับวัดพระเชตุพนมีบ้านเสนาบดีและวังเจ้า คั่นอยู่หลายบริเวณ ครั้นเมื่อถึงรัชกาลที่ 2 จึงมีการขยายเขตพระราชวังออกไป ในพระราชวังด้านใต้มีที่ว่าง โปรดฯให้ทำสวนปลูกต้นกุหลาบ สำหรับเก็บดอกใช้ในราชการจึงเกิดมีสวนกุหลาบขึ้นในพระราชวัง ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา และในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดฯให้แบ่งสวนกุหลาบส่วนหนึ่งสร้างคลังศุภรัตน ทำเป็นตึกรูปเก๋งจีน แต่พื้นที่นอกจากสร้างคลัง ศุภรัตน ยังคงเป็นสวนกุหลาบต่อมาอย่างเดิม
ต่อมาในรัชกาลที่ 4 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงเวลาจะเสด็จมาประทับอยู่พระราชวังชั้นนอก แต่พระบรมพระชนกนาถมีพระประสงค์ที่จะให้เสด็จประทับอยู่ในที่ใกล้พระองค์ จึงโปรดฯให้จัดตำหนักพระราชทานเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ในสวนกุหลาบ ตรงตึกคลังศุภรัตน ซึ่งสร้างไว้ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เรียกพระตำหนักนี้ว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็โปรดฯให้กรมหลวงอดิศรอุดมเดช เสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบแทน จนออกจากวัง และจากนั้นมาก็ใช้เป็นคลังเก็บของเรื่อยไป



ยุคที่ 1 พระพุทธเจ้าหลวงทรงให้กำเนิด
(ชื่อยุคพระราชทานกำเนิด)


เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดฯ ให้เลือกสรรลูกผู้ดีมาฝึกหัด จัดเป็นกรมทหารมหาดเล็กสำหรับรักษาพระองค์ และให้เป็นที่ศึกษาหาความรู้ในราชสำนักสำหรับราชการด้วย และพระองค์เองก็ทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ครั้นเมื่อกรมทหารมหาดเล็กเจริญขึ้นทรงพระราชดำริว่า เชื้อสายราชสกุลชั้นหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์มีอยู่มากแต่มักไม่ได้รับการอบรม บางคนประพฤติเสเพลเป็นนักเลงหัวไม้ เมื่อเกิดถ้อยความก็ขึ้นชื่อว่า เชื้อเจ้านายไปรังแกผู้อื่น จึงโปรดให้หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ ซึ่งมีอายุสมควรจะฝึกหัด เข้าเป็นทหารมหาดเล็ก ต่อมากรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก ได้ทรงดำริที่จะจัดตั้งโรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่ง เพื่อฝึกหัดหม่อมเจ้า และหม่อมราชวงศ์โดยเฉพาะ ให้เป็นทหารมหาดเล็ก ทั้งนี้เนื่องจากฐานะทหารมหาดเล็กได้เสื่อมไปไม่เหมือนแต่ก่อน ประกอบกับสมัยนั้นราชการกระทรวงต่างๆ เปลี่ยนแปลงแบบแผนเป็นอย่างใหม่ เป็นที่นิยมของคนหนุ่มๆขึ้นมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนซึ่งมีเพียงทหารมหาดเล็กอย่างเดียว ดังนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงคิดว่าควรจะจัดตั้งโรงเรียนจะได้มีผู้สมัครเข้ามามาก กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงนำความเห็น ขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับความเห็นชอบด้วย พระองค์ดำรัสสั่งให้จัดตั้งโรงเรียน ตามที่คิดนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับจะทรงอุดหนุน ครั้นจะเลือกหาที่ตั้งโรงเรียนในโรงเรียน มหาดเล็กก็ไม่มีที่พอแก่การจัด จึงได้เลือก พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งตอนนั้นใช้เป็นคลังรุงรังรกอยู่ไม่เป็นประโยชน์นัก จึงกราบทูลฯขอ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นในที่นั้น อาศัย เหตุนั้นจึงได้เรียกชื่อว่า "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" เมื่อ พ.ศ. 2425 เป็นต้น   สวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบได้จัดทั้งการฝึกหัดอย่างทหาร และเรียนแบบสามัญเหมือนโรงเรียนทั้งปวงด้วย ต่อมากิจการงานของโรงเรียนเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ มีหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์และบุตรหลานของข้าราชการ สมัครเรียนมากขึ้นทุกที จนเกินจำนวนตำแหน่งนายทหารมหาดเล็ก ฉะนั้น ณ จุดนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตัดสินพระทัยว่า ถ้าหากเปลี่ยนให้เป็นโรงเรียน สำหรับข้าราชการทั่วไป จะเป็นประโยชน์ แก่บ้านเมืองยิ่งกว่าเป็นโรงเรียนสำหรับนายทหารมหาดเล็กกรมเดียว และได้เปลี่ยนฐานะนักเรียนจากทหารมาเป็นนักเรียนพลเรือน นอกจากนั้นพระองค์ก็ได้โปรดฯให้สร้าง ตึกยาวทางพระราชวังด้านใต้ ใช้เป็นที่เล่าเรียนและที่อยู่นักเรียนอีกหลังหนึ่งด้วย การตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบจึงนับว่าสำเร็จบริบูรณ์เมื่อ ปี ระกา พ.ศ. 2427 นั่นเอง โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2436 จึงขยายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวัง และจากเหตุนี้เองจึงเรียกชื่อเพียง "โรงเรียนสวนกุหลาบ" กับได้แยกเป็น 2 แห่ง คือ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย และ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ



ยุคที่ 2 ขยายออกนอกวัง

โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย หลังจากออกย้ายจากพระบรมมหาราชวัง โรงเรียนสวนกุหลาบก็ได้เคลื่อนย้ายไปยังศาลา 4 หลัง ของวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือเรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวัดมหาธาตุด้านทิศเหนือ เพื่อรอการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ซึ่งในช่วงนี้มีโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยอยู่ 2 ที่ ซึ่งอีกที่หนึ่งอยู่ที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงในพระบรมมหาราชวัง เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบไทยในโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งโรงเรียนนี้คาดว่าเกิดจากการเคลื่อนย้าย ไปยังวัดมหาธาตุนั้นเคลื่อนย้ายไปไม่หมด ต่อมากระทรวงธรรมการได้งบประมาณในการสร้างที่ว่าการกระทรวงใหม่ และกระทรวงต้องการให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดทดลองวิธีสอนและตำราเรียน จึงยกตึกหลังแรกใน 3 หลัง ให้เป็นโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวังหน้า ซึ่งจริงๆ กระทรวงต้องการให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายอังกฤษมารวมกันที่นี่ แต่สถานที่คับแคบไป จึงนำมาเฉพาะโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยเพียงฝ่ายเดียว ต่อมาในปี พ.ศ. 2452 กระทรวงธรรมการ ได้ย้ายสถานที่ใหม่ ดังนั้นโรงเรียนสวนกุหลาบจึงต้องย้ายด้วย ซึ่งได้ย้ายไปอาศัยอยู่ ณ บริเวณศาลาวัดมหาธาตุด้าน ใต้เป็นการชั่วคราว จนกระทั่งย้ายมาอยู่ที่โรงเลี้ยงเด็กริมคลองมหานาค (โรงเรียนสวนกุหลาบโรงเลี้ยงเด็กริมคลอง มหานาค) หลังจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทยได้ย้ายไปตามสถานที่ต่างๆ ถึง 5 แห่ง โรงเรียนสวนกุหลาบก็ได้กลับมารวมอีกครั้งที่ "ตึกแถวหลังยาววัดราชบูรณะ" โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้กรมโยธาธิการออกแบบ แล้วใช้งบประมาณของวัดราชบูรณะเพื่อเช่าสถานที่ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กำหนดเป็นโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาพิเศษ แล้วให้ชื่อว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" และการรวมตัวครั้งนี้เป็นการรวม "สวนกุหลาบ" ทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษด้วย


โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษ

หลังจากโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายไทย ย้ายออกจากพระบรมมหาราชวังไปแล้ว แต่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบฝ่ายอังกฤษยังคงอยู่ในพระบรมหาราชวัง โดยย้ายจากที่เดิมมาอยู่ที่ตึก 2 หลังริมพระที่นั่งสุทไธสวรรย เรียกว่า "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบริมพระที่นั่งสุทธัยสวรรค์" ต่อมาได้ย้ายไปตั้งอยู่ ณ วังพระองค์เจ้าภานุมาศ ซึ่ง หมายถึง "วังหน้า" เดิมในสมัยรัชกาลที่ 4 เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวังหน้า โดยอาศัยเก๋งจีนที่เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สอน หลังจากอาศัยอยู่ที่นี่ช่วงหนึ่ง ก็ได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่สตรีสวนสุนันทาลัย ( ปากคลองตลาด ) เนื่องจากโรงเรียนนี้มีนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ จำต้องปรับปรุง มีการพักการเรียนการสอนไว้ก่อน โรงเรียนสวนกุหลาบซึ่งยังไม่มีสถานที่แน่นอน จึงได้ย้ายมา เปิดการสอนเป็นชั่วคราว เรียกว่า โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัย จนกระทั่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้มีหนังสือขอพระราชทานที่โรงเรียนสตรีสุนันทาลัยเพื่อปรับปรุงให้เป็น "โรงเรียนราชินี" โรงเรียนสวนกุหลาบอังกฤษสุนันทาลัยจึงได้ย้ายมารวมอยู่กับโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพราะว่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมโรงเรียนครั้งใหญ่ ใช้งบประมาณในการสร้างโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบแห่งใหม่ โดยมีข้อตกลงในการก่อสร้าง "ตึกแม้นนฤมิตร์" เป็นตึกเรียนหลังใหม่ และให้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบตึกแม้นนฤมิตร์ ทั้งนี้โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการให้กรมศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการทำสัญญาก่อสร้าง ต่อมาได้มีการเปลี่ยนนามโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนเทพศิรินทร์ตึกแม้นนฤมิตร์แทน โดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าพระองค์ได้ออกเงินเพียงส่วนน้อยเท่านั้น




ยุคที่ 3 กลับมารวมตัว

ต่อมาการเดินทางอันยาวนานของ "สวนกุหลาบ" จึงได้สิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2454 โดยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ได้รวมกับฝ่ายไทยและได้แหล่งที่พำนักถาวร พร้อมกับนามว่า "โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" ถึงตรงนี้ โรงเรียนสวนกุหลาบทั้งสองฝ่ายก็ได้มารวมกันอีกครั้งโดยอยู่ในพื้นที่ของวัดราชบุรณะ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้สร้างตึกยาวขึ้นเพื่อดำเนินการสอน การที่พระองค์ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างตึกยาวนี้ ทรงมอบให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบโดยใช้งบประมาณของวัดราชบูรณะ ซึ่งในเวลานั้นเงินสร้างตึกให้ชาวบ้านเช่าโดยเปลี่ยนเป็นให้โรงเรียนเช่า เพื่อใช้เป็นโรงเรียนแผนใหม่ ทั้งนี้ด้วยความคิดของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) ศิษย์เก่าเลขประจำตัวหมายเลข 2 ของโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น โดยมีการเซ็นสัญญาเช่ากับพระธรรมดิลก เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะในสมัยนั้น โดยมีนายเอง เลียงหยง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 10,150 บาท จึงได้เกิดตึกยาว รวมนักเรียนสวนกุหลาบจากที่ต่างๆ ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทอดพระเนตรการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง ก่อนสวรรคตในปี พ.ศ. 2453 นั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงเป็นผู้ก่อกำเนิดโรงเรียนนี้โดยแท้ นับเป็นมหากรุณาธิคุณแก่ทวยราษฎร์อย่าง ล้นเกล้าฯหาที่สุดมิได้

ตึกยาว ที่เคียงข้างตึกยาว(สวนกุหลาบ) ความจริงแล้วก่อนช่วงเกิดสงครามโลก ตึกยาวดังกล่าวเป็นของโรงเรียนเพาะช่าง ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพป้ายโรงเรียนเพาะช่างติดอยู่บริเวณทางเข้าตึกยาว






บทบาททางวิชาการ สังคม
และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม


ริเริ่มโครงการฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์

โรงเรียนมีความโดดเด่น ในด้าน ความรักความสมานสามัคคีกลมเกลียวระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ความรักกตัญญูกตเวที ทั้งระหว่าง พ่อ-แม่ ระหว่างอาจารย์-ลูกศิษย์ มีความเป็นผู้นำ ดังคติประจำใจที่ว่า "เป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อ-แม่ ดูแลน้อง"

โรงเรียนมีความโดดเด่นด้านกิจกรรมมากมาย โดยจัดขึ้นในกลุ่ม ของนักเรียน (ตัวอย่าง ภายใน รร. คือ งานสมานมิตร และงานมุทิตาจิต ภายนอกโรงเรียน ได้แก่ สวนจาม สวนโดม สวนศรีตรัง เป็นต้น) ชึ่งในโรงเรียนก็ได้จัดกิจกรรมชุมนุมขึ้นของนักเรียนที่เปิดทำการทั้งหมดทั้งที่มีในคำสั่งโรงเรียนและไม่มีในคำสั่งโรงเรียน(ปีการศึกษา 2551) จำนวนทั้งหมดเฉลี่ย 30-50 ชุมนุมในแต่ละปีการศึกษา





บทบาททางการเมืองและการก้าวสู่ปัจจุบัน

พ.ศ. 2475 มี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นที่ไม่คาดคิดว่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย จะมีหน้าประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในสมัยนั้นด้วย เมื่อ วันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ได้จับตัวพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นตัวประกัน รวมทั้ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพด้วย บรรยากาศขณะนั้นตึงเครียดมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก บรรยากาศด้านการเมืองรุนแรงน่าหวาดกลัวแม้กระทั่งในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีรถถังแล่นมาจอดขวางประตูโรงเรียน มีนายทหารและพลเรือน ชื่อนาย สงวน ตุลาลักษณ์ ผู้ก่อการได้เข้ามาในโรงเรียน เชิญอาจารย์ใหญ่ ซึ่งขณะนั้นคือ อาจารย์เอซี เชอร์ชิล และนักเรียน ม.6-ม.8 เข้าหอประชุมสามัคคยาจารย์สมาคม ประกาศทุกคนได้รับทราบว่า ขณะนี้ได้มีการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอให้ทุกคนอยู่ในความสงบ

นักเรียนสวนกุหลาบได้ลุกขึ้นถามว่า "ทำไมต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง" นายสงวน ตุลาลักษณ์ ตอบว่า "ไม่ต้องถามเวลานี้ ถ้าต้องการรายละเอียดต้องตอบด้วยปืน ขณะนี้ได้จับเจ้านายไปแล้ว"

บรรยากาศตอนนี้มีความสับสน นักเรียนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ บ้างก็หลบอยู่ตามห้องเรียน บ้างก็กระโดดหนีออกจากโรงเรียนไป ที่เข้าประชุมก็ไม่ค่อยเข้าใจแจ่มชัดนัก แต่การกระทำครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะควบคุมความสงบสุขของ ครูและนักเรียนในโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนใหญ่ และในขณะนั้นถือว่าใกล้ชิดกับราชวงศ์และข้าราชการชั้นสูงของกระทรวงธรรมการนั่นเอง

จากเหตุการณ์ตอนนี้พอสันนิษฐานว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีบทบาทสำคัญแห่งหนึ่ง ซึ่งคณะราษฎร์จำเป็นจะต้องควบคุมสถานการณ์ไว้ เพราะเป็นต้นแบบในด้านต่างๆของโรงเรียนทั่วไป ครูอาจารย์ และ นักเรียน ก็น่าจะเป็นพลังที่จะต่อต้านคณะปฏิวัติ ซึ่งก่อให้เกิดความระส่ำระสาย ยากที่คณะราษฎร์จะดูแลได้ จึงได้ใช้วิธีนำรถถังมาปิดโรงเรียนและควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว

นอกจากนี้ กิจกรรมอีกประการหนึ่งที่เป็นผลสะท้อนให้เห็นว่า โรงเรียนสวนกุหลาบมีบทบาททางการเมืองการปกครอง สมัยนั้นคือ การที่ลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มีส่วนช่วยรัฐบาลในการปราบกบฏบวรเดช ในกรณีของการปราบกบฏบวรเดชนี้ รัฐบาลขณะนั้นได้ขอความร่วมมือจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้ส่งอาสาสมัครที่เป็นลูกเสือไปช่วยเป็นกองกำลัง ด้านลำเลียงกระสุนปืนส่งเสบียงบริเวณบางซื่อบ้าง และหลักสี่ทำหน้าที่เฝ้าคุกเพื่อไม่ให้มีการจลาจลบ้าง โดยแต่งกายชุดลูกเสือไปช่วยเป็นพลรบ การสู้รบครั้งนี้มีลูกเสือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยที่ช่วย เป็นกองกำลังสนับสนุนจนฝ่ายรัฐบาลได้รับชัยชนะ ต่อมาจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้มอบโล่เกียรติยศ จากการปราบกบฏครั้งนี้ ให้กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (อยู่ในห้องนิทรรศการ จาริกานุสรณ์) และนักเรียนรุ่นนั้นทุกคนได้รับเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย

เมื่อในปี พ.ศ. 2541 เหตุการณ์ทางการเมืองที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นอีกเป็นหนที่สอง เมื่อนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กว่า 2,000 คน ได้เดินทางไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสอบถามข้อข้องใจ ในเรื่องสาเหตุของการสั่งย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนในสมัยนั้น (ผอ.ธานี สมบูรณ์บูรณะ) จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปรากฏไปตามสื่อต่าง ๆ ทั้ง โทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์




เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

 เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประพันธ์ขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เลื่อน สิงหรา ผู้เรียบเรียงคือ สุวัฒน์ เทียมหงษ์ ทำนองจากเพลงแขกต่อยหม้อ อัตราจังหวะสองชั้น เป็นเพลงไทยเดิมที่ใช้ประกอบการแสดง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีจังหวะการเอื้อนทำนองโดยเฉพาะ



กิจกรรม-ประเพณี  

วันละอ่อน
วันรับขวัญเสมา
วันแนะนำกิจกรรม
วันสมานมิตร
วันมุทิตาจิต
วันจากเหย้า
นิทรรศสวนฯ (Suankularb Exhibition)
จตุรมิตรสามัคคี (Jaturamitr)
ลูกเสือ-เนตรนารีสวนกุหลาบสัมพันธ์ (ร่วมกับโรงเรียนในเครือ)
กรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ (ร่วมกับโรงเรียนในเครือ)









ELA CIE

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น