Bloody Catherine
ดู Blog ทั้งหมด

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ

เขียนโดย Bloody Catherine




โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ
สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ




    


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ (Nawamintrachinutit Suankularb Wittayalai Samutprakarn School) (อักษรย่อ: นมร.ส.ก.ส., S.K.S.) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทสหศึกษา ในเครือสวนกุหลาบวิทยาลัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การมัธยมศึกษาเขต6 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ชื่อเดิม: กรมสามัญศึกษา) กระทรวงศึกษาธิการ


ผู้บริหารชุดปัจจุบันของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ ข้อมูล ณ วันที่ 10 ธันวาคม 2554 โดยผู้ดูแลระบบ นมร.สกส 1.นางเพ็ญพิไลลักษณ์ มณีภาค ผู้อำนวยการคนที่ 5 ของโรงเรียน,รองผู้อำนวยการ 2.นายธานี จั่นอาจ,3.นางจุฑารัตน์ ละอองสุวรรณ,4.นายกมลภพ ปทุมมาศ,5.นางสาวศุภกร สวนสมุทร




ประวัติโรงเรียน
นวมินทราชินูทิศ
สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ



  

เมื่อปี พ.ศ. 2523 นายสำเริง นิลประดิษฐ์ มีดำริจะขยายโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ออกไปสี่มุมเมือง จึงได้ปรึกษากับ นายวัฒนา อัศวเหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้น ให้จัดหาที่ดินสร้างโรงเรียน แต่ก็ติดปัญหาบางประการ จึงระงับโครงการไป ต่อมา กรมสามัญศึกษา ได้สั่งให้สำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสมุทรปราการ รับสมัครนักเรียนในปีการศึกษา 2533 จำนวน 5 ห้องเรียน โดยฝากไว้ที่โรงเรียนสตรีสมุทรปราการ 2 ห้อง และ โรงเรียนสมุทรปราการ 3 ห้อง รวมนักเรียนชาย–หญิง จำนวน 250 คน เมื่อประกาศจัดตั้งโรงเรียนแล้ว จึงนำนักเรียนที่ฝากไว้ มาเรียนที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ ทว่าเกิดปัญหาขัดข้องในเรื่องที่ดินสร้างโรงเรียน ทำให้ต้องยกนักเรียนที่ฝากไว้ ให้เป็นนักเรียนของโรงเรียนนั้นไป

ต่อมาปี พ.ศ. 2534 อาจารย์สุทธิ เพ็งปาน ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้าพบ นายบรรจง พงศ์ศาสตร์ รองอธิบดีกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น เพื่อขอปรึกษาเรื่องประกาศจัดตั้งโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ท่านรองอธิบดีฯ จึงได้สั่งการให้โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จัดคณาจารย์ขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีอาจารย์สุโข วุฑฒิโชติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง เป็นหัวหน้าคณะ จัดเตรียมเอกสารการรับสมัคร และรับสมัครนักเรียน ปีการศึกษา 2534 ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2534


กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีประกาศจัดตั้งโรงเรียนรัฐขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ เมื่อเปิดภาคเรียน ได้ฝากนักเรียนดังกล่าว จำนวน ๓๐๖ คน ให้ศึกษาเป็นการชั่วคราว ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 71 เพื่อรออาคารเรียนชั่วคราวจัดสร้างแล้วเสร็จ โดยมีนายไพฑูรย์ สุนทรวิภาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นประธานประกอบพิธียกเสาเอก และเปิดป้ายอาคารเรียน ในปีเดียวกัน

เมื่ออาคารชั่วคราวแล้วเสร็จ จึงย้ายนักเรียนที่ฝากไว้ เข้าเรียนในอาคารดังกล่าว ในปีถัดมา กรมสามัญศึกษา คัดเลือกให้เป็นโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๕ และได้รับพระราชทานชื่อโรงเรียน เป็นโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ




สัญลักษณ์ประจำโรงเรียน



พ่อสวนกุหลาบ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อสวนกุหลาบจำลองขึ้น และได้รับอุปการะให้นำมาประดิษฐานที่โรงเรียนฯ โดยมี นายสุโข วุฑฒิโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ เป็นประธานในพิธี เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 หลวงพ่อสวนกุหลาบ จึงนับเป็นพระพุทธรูปประจำโรงเรียนฯ และเป็นที่เคารพสักการะของผู้บริหาร คณาจารย์ นักเรียน และบุคลากรของโรงเรียนฯ นับแต่นั้นมา ต่อมา สมาคมผู้ปกครองและครู โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ ผู้อำนวยการ สุโข วุฑฒิโชติ และ คุณสิน วรนาวิน มีดำริร่วมกัน ในการจัดสร้างพระพุทธรูปประจำโรงเรียน ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว จำนวน 3 องค์ โดยอีก 2 องค์ นำไปประดิษฐานที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต และ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี เนื่องในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๓๙ โดยหล่อที่ โรงพิมพ์ทองเจริญการช่าง และมีเจ้าอาวาสวัดศรีราชา เป็นประธานสงฆ์ ในพิธีหล่อ พระคุณเจ้านั่งปรก 4 ทิศ ทั้งนี้ การจัดสร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2540 และได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ที่ตั้งชั่วคราว ภายในโรงเรียนฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กันยายน ปีเดียวกัน






ตราประจำโรงเรียน

ตราประจำโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ มีทั้งหมด 2 ลักษณะ ดังนี้




ตราประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
 - เป็นรูปหนังสือเล่มหนา หน้าปกหนังสือมี พระเกี้ยวยอด และอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จปร” มีไม้บรรทัด ดินสอ ปากกา คั่นอยู่ ด้านขวามีช่อดอกกุหลาบ มุมซ้ายล่างมีริบบิ้นผูกช่อดอกกุหลาบ ซึ่งมีตัวอักษรกำกับว่า “โรงเรียน หลวง สวนกุหลาบ”





ตราประจำโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ
- เป็นรูปอักษรพระนามาภิไธยย่อ สก ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีอักษรกำกับสองแถว แถวบนเป็นรูปโค้ง มีข้อความว่า โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ” แถวล่างเป็นแนวขวางตรง มีข้อความว่า “สวนกุหลาบวิทยาลัย สมุทรปราการ” ซึ่งใช้ร่วมกับโรงเรียนในโครงการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยได้พระราชทานนามนำหน้าว่า “นวมินทราชินูทิศ”




คติพจน์และคำขวัญ




เป็นพุทธศาสนสุภาษิตความว่า “สุวิชาโน ภวํ โหติ” แปลว่า “ผู้รู้ดี เป็นผู้เจริญ” โดย ผู้รู้ดี คือ ผู้รับรู้ และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ดี คือ รู้อ่าน รู้คิด รู้เท่ากับ รู้ความ และรู้คุณ ส่วน ผู้เจริญ คือ ผู้เจริญด้วยความประพฤติ ดีพร้อมทั้งกาย วาจา และใจ คือการกระทำแต่สิ่งดีงาม สร้างสรรค์ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน[3] ส่วนคำขวัญประจำโรงเรียนฯ คือ รักศักดิ์ศรี มีคุณธรรม นำวิชาการ สืบสานงานพระราชดำ


ต้นไม้ประจำโรงเรียน
ต้นกัลปพฤกษ์




สีประจำโรงเรียน : "ชมพู - ฟ้า" สีชมพู เป็นสีประจำวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว พระพุทธเจ้าหลวง สีฟ้า เป็นสีประจำวันพระราชสมภพในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง



เพลงประจำโรงเรียน

เพลงประจำโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประพันธ์ขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำร้องโดย หม่อมราชวงศ์เลื่อน สิงหรา ผู้เรียบเรียงคือ สุวัฒน์ เทียมหงษ์ ทำนองจากเพลงแขกต่อยหม้อ อัตราจังหวะสองชั้น เป็นเพลงไทยเดิมที่ใช้ประกอบการแสดง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีจังหวะการเอื้อนทำนองโดยเฉพาะ


กิจกรรม-ประเพณี

วันละอ่อน
วันรับขวัญเสมา
วันแนะนำกิจกรรม
วันสมานมิตร
วันมุทิตาจิต
วันจากเหย้า
นิทรรศสวนฯ (Suankularb Exhibition)
จตุรมิตรสามัคคี (Jaturamitr)
ลูกเสือ-เนตรนารีสวนกุหลาบสัมพันธ์ (ร่วมกับโรงเรียนในเครือ)
กรีฑาสวนกุหลาบสัมพันธ์ (ร่วมกับโรงเรียนในเครือ)



ขอขอบคุณ

ELA CIE





 

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
รู้สึกกิจกรรม-ประเพณีนี้มันของสวนใหญ่หมดเลยนะ
นุชสรา
นุชสรา 24 ธ.ค. 56 / 19:37
เราอยากเข้าโรงเรียนนี้มากน่ะแต่โดนบังคับให้ไปอยู่สตรีเพราะเหตุที่ว่ามันเปิดนานแล้ว คุณมากน่ะคนที่เอามาลงทำให้เรารักโรงเรียนนี้