Pat_Patsanun
ดู Blog ทั้งหมด

ล่องแม่น้ำกก...เรียนรู้วิถีชีวิตชาวไทลื้อ

เขียนโดย Pat_Patsanun

สวัสดีเจ้า...

                เมื่อเดินทางมาถึงเมืองเชียงใหม่แล้ว กิจกรรมแรกในการ ‘ตามรอยพ่อหลวง’  ณ จังหวัดเชียงใหม่นี้ คือ การเดินทางไปศึกษาวิถีชีวิตของชุมชนชาวไทลื้อ พวกเขาจะอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกก  เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งในภาคเหนือของประเทศไทยโดยมีต้นกำเนิดมาจากภูเขา ตอนเหนือของเมืองกก จังหวัดเชียงตุงภายในอาณาเขตของรัฐฉานในพม่าไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องแม่ น้ำกก อ.แม่อาย ไหลมาเรื่อยๆจนผ่านตัวอ. เมือง เชียงราย หลังจากนั้นก็ไหลลงแม่น้ำโขงที่บริเวณสบรวก อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย มีความยาว 130 กิโลเมตร  การเดินทางไปยังจุดหมายนั้นจะให้เดินทางด้วยรถก็คงจะซึมซับบรรยากาศได้ไม่ เต็มที่ และพาหนะที่จะนำเราไป ก็คือ เรือหางยาว เราไปขึ้นเรือกันที่ท่าเรือสาธารณะบ้านท่าตอน

  
  

             ตลอดสองฝั่งแม่น้ำกกนั้น เต็มไปด้วยทัศนียภาพของ ธรรมชาติ บ้างก็เป็นพืชผลของชาวไทลื้อ  บ้างก็เป็นบ้านเรือนของพวกเขา  โดยมีฉากหลังเป็นภูเขาขึ้นสลับซับซ้อน ระหว่างการเดินทางนั้นก็มีเด็กๆกระโดดเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานเพื่อคลายร้อน และก็มีพวกชาวบ้านต่างพากันช้อนหินที่อยู่ใต้น้ำขึ้นมา สำหรับการเดินทางด้วยเรือหางยาวนี้ค่อนข้างจะตื่นเต้นเสียหน่อย เนื่องจากว่าลักษณะเส้นทางค่อนข้างคดเคี้ยว มีโขดหินขึ้นอยู่กลางแม่น้ำเป็นจำนวนมาก และกระแสน้ำค่อนข้างเชี่ยว  จึงทำให้บางครั้งก็อดที่จะร้องตกใจด้วยความตื่นเต้นกลัวว่าเรือจะล่มไม่ได้  แต่ก็นับว่าเป็นการเดินทางที่สนุกสนานมาก  เมื่อเดินทางมาได้สักพักหนึ่งก็เห็น วัดใหม่ อ.หมอกจ๋าม เป็นวัดประจำของชุมชนไทใหญ่ มีความสวยงามเป็นอย่างมากตามแบบศิลปะของไทใหญ่ เมื่อผ่านวัดใหม่มาแล้วก็ถึงท่าเรือบ้านวังไผ่ ชุมชนไทลื้อจุดหมายปลายทาง

   
            ด้วยบรรยากาศอันร่มรื่น มีต้นไม้ต้นใหญ่คอยให้ร่มเงาอยู่ ชุมชนชาวไทลื้อเป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่กันแบบครอบครัว เมื่อขึ้นจากเรือมาก็มีน้องๆชาวไทลื้อแต่งกายตามประเพณีออกมาต้อนรับ  พร้อมกับเสียงดนตรีพื้นเมืองบรรเลงต้อนรับ  การมาเยือนชุมชนชาวไทลื้อ นอกจากจะเดินทางมาเรียนรู้วิถีชีวิตของพวกเขาแล้ว พวกเรายังมีโอกาสได้รับประทานอาหารพื้นเมืองที่นี่ด้วย  ได้แก่  น้ำพริกคั่วทราย  ยำบุก  ไก่อุ๊บสิบสองปันนา ปลาอุ๊บ และผักจอ  ซึ่ง ชาวไทลื้อจะรับประทานข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก  ระหว่างรับประทานอาหารไปด้วยก็ฟังเสียงบรรเลงดนตรีอันไพเราะไปด้วย  เมื่อฉันรับประทานอาหารจนอิ่มแล้ว ด้วยความอยากลองจึงขอคุณลุง ซึ่งพักการบรรเลงดนตรีสักครู่ไปลองเล่นดูบ้าง คุณลุงบอกว่าเครื่องดนตรีที่บรรเลงนั้น เรียกว่า ‘กอระสับ ซึง กลอง’ มีเครื่องดนตรีทั้งหมด 3 ชิ้นด้วยกัน  กอระสับ ไม่แน่ใจว่าเรียกผิดหรือไม่ จะมีลักษณะคล้ายระนาดเอกเหล็กของไทย ซึง เป็นดนตรีพื้นเมืองของชาวเหนือ ประเภทเครื่องสาย ซึ่งคิดว่าหลายๆคนคงจะรู้จักกันดี และกลอง ก็ใช้ตีประกอบจังหวะนั่นเอง  นอกจากนี้ทางชุมชนบ้านวังไผ่ยังจัดการแสดงฟ้อนรำให้พวกเราได้รับชมกันอีกด้วย


      
  
            หลังจากนั้นก็ไปดูวิธีการทำบุก  ขั้นตอนการทำบุก คือ จะนำหัวบุกมาหมักแล้วก็นำไปบดกับเครื่องบดเพื่อให้ออกมาเป็นเส้นเล็ก สีขาว เรียวยาว ซึ่งการบดนั้นจะต้องออกแรงโยกคันโยกเยอะเสียหน่อย โดยการปีนขึ้นไปนั่งบนคันโยกเพื่อกดเส้นบุกให้ออกมาสวยงาม เมื่อผ่านการบดก็จะลงสู่กระทะต้มที่รองรับไว้ด้านล่าง  และเมื่อเส้นบุกสุกแล้วก็จะนำไปแช่น้ำเย็นเพื่อให้เส้นพองออกมา ก็สามารถนำไปประกอบอาหารได้  นอกจากดูวิธีการทำเส้นบุกแล้ว ของที่ระลึกที่ได้จากที่นี่ คือ ข้าวเหนียวหัวควาย  ซึ่งเป็นข้าวเหนียวที่ห่อคล้ายลักษณะหัวควาย

 
   
           สำหรับ ที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวไทลื้อนั้นก็มีวิถีชีวิตการเป็นอยู่ที่เรียบง่าย คล้ายกับบ้านต่างจังหวัดทั่วๆไป  ที่นี่มีการห้ามเผาป่าทุกกรณีในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ – เมษายนด้วย นับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะนอกจากจะได้อนุรักษ์ป่าไม้แล้ว  ยังเป็นช่วงให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตอีกด้วย  เพราะการเผาป่าไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม นอกจากจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังส่งผลเสียต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอีกด้วย


 

                การมาเยี่ยมเยียนชาวไทลื้อในครั้งนี้ ทำให้ฉันได้มีโอกาสสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทย-ภูเขาอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรม  ถึงแม้ว่าเส้นทางการเดินทางอาจจะอยู่ลึก หรือเดินทางลำบากเสียหน่อย แต่ก็คุ้มที่ได้มีโอกาสล่องแม่น้ำกก...และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวไทลื้อด้วย ตัวเอง

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น