Pat_Patsanun
ดู Blog ทั้งหมด

เปิดหู...เปิดตากับสิ่งที่คุณไม่เคยรู้ ณ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)

เขียนโดย Pat_Patsanun
                  
           เมื่อประตูเข้ามาภายในพิพิธภัณฑ์ จะเจอลานกลางบ้านที่ต้อนรับทุกคนเข้ามา เจ้าหน้าที่บอกว่าสังเกตพื้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้มีการขัดมันให้เงางาม หรือปูกระเบื้อง เนื่องจากต้องการให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายของชาวบ้าน โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิต หรือ Living Sight Museum ซึ่ง ไม่เฉพาะในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น  เราก็สามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมในชุมชนได้ ภายในแบ่งออกเป็นทั้งหมด 5 ห้อง ดังนี้
            1.ห้องเกริ่นนำ บอกเล่านิยาม และความเฉพาะตัวของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ที่ต้องการให้การเรียนรู้ไม่ถูกจำกัดไว้แค่ภายในตัวอาคาร
                ห้องแรก คือ ห้องชีวิตชายขอบ ได้จำลองมาจากสถานทูตจีน ซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านยางแห่งนี้ ในระยะแรกชาวจีนยูนนานนิยมสร้างบ้านที่มีระเบียบของฝาผนัง ซึ่งเป็นประเพณีวัฒนธรรมของชาวจีน ส่วนวัตถุที่จัดแสดงอยู่นั้นก็มาจากประเทศจีน เช่น อานม้า อานล่อ ถูกนำเข้ามาเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว , กา 4 ใบเป็นภาชนะสำหรับชาวมุสลิม ไว้สำหรับชำระร่างกายก่อนละหมาด รวมไปถึงไหไว้สำหรับหมักดอง และกระทะทองเหลืองโบราณด้วย
                                                 
                2.ลานอเนกประสงค์ พื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม  การแสดง  หรือนิทรรศการกลางแจ้ง  ซึ่งจัดให้มีหมุนเวียนสลับกันไปตลอดทั้งปี
 
                                                               
                3.กำเนิดโครงการหลวง แสดงพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการพัฒนาภาคเหนืออย่างยั่งยืน และเรื่องราวของโครงการหลวง ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีที่นานาชาติยกย่อง
                ในส่วนนี้จะเริ่มบอกเล่าถึงความเป็นมาของโครงการหลวง เริ่มตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เสด็จเยือน ณ หมู่บ้านของชาวเขา พร้อมกับร่วมรับประทานอาหารกับชาวไทย – ภูเขา เพื่อให้พวกเขาวางใจในพระองค์ท่านเสียก่อน หลังจากนั้นมีผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งชวนพระองค์ไปเที่ยวที่บ้าน พร้อมกับรินเหล้าถวายพระองค์ แต่ใช้แก้วค่อนข้างจะมีคราบสกปรก หม่อมเจ้าภีศเดช รัศนีทรงเป็นห่วงและให้พระองค์ทรงแกล้งดื่ม แต่เหล้าจริงหม่อมเจ้าภีศเดชจะดื่มเอง แต่สุดท้ายแล้วพระเจ้าอยู่หัวก็เสวยด้วยพระองค์เอง พร้อมกับตรัสกับหม่อมเจ้าภีศเดชว่า ไม่เป็นไร เพราะแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้เชื้อโรคตายหมด ซึ่งเป็นเรื่องเล่าจากหม่อมเจ้าภีศเดช หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงสำรวจพื้นที่ด้วยพระองค์เองจนไปเจอท้อพันธุ์พื้นเมือง และนำท้อจากต่างประเทศมาปลูก และทรงริเริ่มนำพืชเมืองหนาวมาปลูกแทนฝิ่น รวมถึงการปลูกถั่วเหลืองด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชทานสัตว์เลี้ยง เช่น หมู แกะ ไก่ ฯลฯ ซึ่งต้องพระราชทานเป็นคู่ เพื่อให้ขยายพันธุ์เป็นอาหารให้แก่ชาวไทย – ภูเขาต่อไป ส่วนหมูนั้นมีความสำคัญกับชาวไทย – ภูเขาอย่างมากในยุคนั้น เพราะเขาใช้หมูสำหรับการเซ่นไหว้ และใช้สำหรับขอสาวในการแต่งงานด้วย และนอกจากนี้ยังจัดแสดงถึงการพระราชทานความช่วยเหลือในด้านคุณภาพชีวิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม และภายในนิทรรศการยังแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาแบบรอบด้าน และยั่งยืนด้วย 

                                          
                รวมถึงการสรุปความจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนีที่ว่า ‘ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก’ ช่วยชาวเขา หมายถึง ช่วยชาวเขาให้เลิกจากการปลูกฝิ่น และไม่ตัดไม้ทำลายป่า ช่วยชาวเราหมายถึง เมื่อชาวเขาไม่ตัดไม้ทำลายป่า ชาวเราก็มีต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ช่วยชาวโลก     หมายถึง เมื่อชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น ไม่มีปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากยาเสพติด  จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทรงเริ่มจาการช่วยชนกลุ่มน้อย และผลที่ได้รับ คือ ชาวเรา และชาวโลกนั่นเอง
                นอกจากนี้ภายในห้องจัดแสดงยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมชาวไทย – ภูเขาอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นจุดกำเนิดของโครงการหลวง
 
                4.กำเนิดโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) แสดงวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ในการต่อยอดโครงการหลวง ด้วยการตั้งโรงงานหลวงฯ ที่ ๑ (ฝาง) ทั้งทรงให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรและงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน 
            ภายในห้องจัดแสดงนี้ได้จำลองโรงงานชั่วคราวผ่านกรรมวิธีการแปรรูป และกระบวนการผลิตโดยชาวจีนยูนนานผ่านการแสดงโปรเจ็คเตอร์ ซึ่งเป็นการแสดงเงาของตัวละคร ที่สร้างขึ้นภายในห้องจำลองโรงงานขนาดเล็กเพื่อให้ผู้เข้าชมได้เห็นภาพการทำงานอย่างชัดเจน 
            นอกจากนี้มีการจัดแสดงรถโฟล์ค รถยนต์พระราชทานเมื่อครั้งก่อตั้งโรงงานหลวงสำเร็จรูปที่๑ ซึ่งไว้ใช้ในการส่งของ ปัจจุบันรถคันนี้ก็ยังสามารถใช้ได้อยู่ แต่เก็บรักษาไว้เป็นอนุสรณ์
            จากนั้นเข้าสู่ห้องจำลองโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ การผลิตอาหารกระป๋องในยุคแรกนั้น คือ การผลิต ลูกท้อลอยแก้วบรรจุกระป๋อง ซึ่งมีรูปแบบผลิตภัณฑ์จัดแสดง รวมถึงเครื่องลำเลียงผลิตภัณฑ์จัดแสดง

                                      
                   
            รวมทั้งมีการจัดแสดงภาพเหตุการณ์น้ำป่าเมื่อปี 2549  ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อโรงงานอันนำมาสู่โรงงานในปัจจุบันรวมถึงการจัดแสดงภาพถ่ายชุมชนบ้านยาง และชาวไทยภูเขาอีกด้วยและที่เป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ ภาพวาดสีน้ำฝีมือนายสือสง แซ่ย่าง ชาวจีนยูนนานวัย  94  ปีซึ่งท่านรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้พวกเขาได้อาศัยอยู่บนพื้นที่แห่งนี้ จึงวาดภาพผ่านปลายพู่กันจีน มีความหมายถึง นกที่อยู่ในภาพ หมายถึง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ส่วนขุนเขา หมายถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  นกและขุนเขาคู่กัน  หมายถึง ความสงบสุขและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน  ในวันเปิดพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)  เมื่อวันที่  19  มกราคม  2552
 
            5.บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เล่าประวัติและบทบาททางสังคมของบริษัทฯ โดยจัดแสดงอยู่ภายในร้านจำหน่ายสินค้าดอยคำ อีกทั้งยังมีพื้นที่สำหรับผู้สนใจศึกษาข้อมูลและงานวิจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิพิธภัณฑ์ฯ โรงงานฯ และชุมชนโดยรอบ ที่บริเวณชั้นลอยของห้องอีกด้วย
            ..เน้นช่วยเหลือเกษตรกรโดยไม่หวังผลกำไร ดังพระราชดำรัส  “ขาดทุนของเรา คือกำไรของเรา”

ความคิดเห็น

tamroyporluang
tamroyporluang 26 มี.ค. 54 / 16:03

สามารถเข้าไปชมภาพสวยๆเพิ่มเติมได้ที่

http://www.facebook.com/TamroyporluangbyPatsanun ค่ะ :))