ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    'บริหารธุรกิจ' เขาเรียนอะไรกัน

    ลำดับตอนที่ #4 : 1. ฟังก์ชันธุรกิจ

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 10.35K
      10
      3 ม.ค. 50

                    ถ้าพี่เอ่ยชื่อฟังก์ชันธุรกิจแต่ละอย่างแล้ว รับรองว่าน้องต้องคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดีแน่นอน เพราะฟังก์ชันธุรกิจเป็นสาขาวิชาที่เปิดสอนในคณะบริหารธุรกิจอยู่โดยทั่วไป ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการดำเนินธุรกิจ เป็นเรื่องหลักของผู้ที่เรียนบริหารธุรกิจจะต้องศึกษา ธุรกิจใด ๆ ก็ตามล้วนแต่ต้องดำเนินธุรกิจไปตามฟังก์ชันธุรกิจแทบทั้งสิ้น ถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้และต้องได้เรียนอย่างแน่นอน

    การจัดการ(Management)

                    การจัดการถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการจัดการนี้จะศึกษาตามหน้าที่ทางการจัดการ อันได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การชี้นำ และ การควบคุม (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 2547: 69)

    การบริหารทรัพยากรมนุษย์(Human Resource Management)

                    อันที่จริงแล้ว การบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการ เพียงแต่ว่าสาขาวิชานี้ค่อนข้างมีความสำคัญมากในโลกธุรกิจ ดังนั้นในหลาย ๆ มหาวิทยาลัยจึงเปิดสอนเป็นอีกสาขาวิชาหนึ่ง

                    ปัจจุบันวงการธุรกิจประสบปัญหาการขาดแคลนนักบริหารทรัพยากรมนุษย์มืออาชีพที่มีความลึกซึ้งในวิชาชีพและเข้าใจการดำเนินงานขององค์การธุรกิจเป็นอย่างมาก สาขาวิชาการบริหารทรัพยากรมนุษย์จึงมุ่งเสริมสร้างทักษะในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ซึ่งถือว่ามีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จขององค์การ ตั้งแต่การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร การปฐมนิเทศ ฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การประเมินผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนการบริหารค่าตอบแทนและแรงงานสัมพันธ์

                    ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถปฏิบัติงานในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผน เจ้าหน้าที่วางแผนทรัพยากรมนุษย์ เจ้าหน้าที่สรรหาและคัดเลือกบุคลากร เจ้าหน้าที่บริหารค่าตอบแทน เจ้าหน้าที่บริหารแรงงานสัมพันธ์ รวมทั้งมีโอกาสเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์หรือฝ่ายบุคคลและผู้บริหารระดับสูงได้ทั้งในองค์กรของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจและธุรกิจภาคเอกชน

    การตลาด(Marketing)

                    การตลาดถือเป็นฟังก์ชันนำของธุรกิจ เปรียบเสมือนกองหน้าของกิจการ การตลาดเป็นวิชาที่คล้าย ๆ กับการขาย แต่จะต่างกันตรงที่การตลาดจะใช้กลยุทธ์ที่เหนือชั้นกว่าการขาย และการขายก็เป็นส่วนหนึ่งของการตลาดด้วย นอกจากนี้การตลาดก็พัฒนามาจากการขายนั้นเอง

                    ปัจจุบันวิชาด้านการตลาดเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก เนื่องจากสภาพการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่พลักดันให้ธุรกิจต้องพยายามปรับตัวเองให้สามารถอยู่รอดได้และบางธุรกิจต้องการการเติบโตเป็นผู้นำด้วย งานด้านการตลาดจึงมีความสำคัญ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดส่วนใหญ่จึงมักได้รับเลือกให้ไปทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงของกิจการหรือจะกล่าวได้ว่าผู้บริหารระดับสูงของกิจการจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการตลาด

                    สาขาวิชาการตลาดจะศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคอันเป็นพื้นฐานทางการตลาดที่สำคัญ ศึกษากลยุทธ์ทางการตลาด เช่น กลยุทธ์การบริหารผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์การกำหนดราคา กลยุทธ์ช่องทางการจำหน่าย/การจัดการด้านการกระจายสินค้า กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบบูรณาการ(การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ การส่งเสริมการตลาด การบริหารงานขาย และ การตลาดทางตรง) ศึกษาเครื่องมือทางการตลาด เช่น การวิจัยตลาด เทคโนโลยีทางการตลาด รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การตลาดระหว่างประเทศ การตลาดสำหรับธุรกิจบางประเภทเป็นต้น

                    ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถทำงานได้อย่างกว้างขวาง เช่น งานทางด้านวิจัยตลาดและวิจัยธุรกิจ ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้จัดการฝ่ายการตลาด นักโฆษณา ผู้จัดการฝ่ายวางแผนสื่อโฆษณา ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ นักวิเคราะห์และวางแผนการตลาด หน่วยงานที่สามารถประกอบอาชีพได้ ได้แก่ บริษัทตัวแทนจำหน่าย บริษัทการค้าระหว่างประเทศ บริษัทผู้ผลิต บริษัทวิจัย บริษัทโฆษณา โรงงานอุตสาหกรรม บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ สถานศึกษา หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนเป็นเจ้าของกิจการของตนเอง

    การบัญชี(Accounting)

                    การบัญชีเปรียบเสมือนภาษาของโลกธุรกิจ(Business Language) ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุกด้านจะต้องเรียนรู้และเข้าใจ

                    สาขาวิชาการบัญชีถือเป็นฟังก์ชันหนึ่งของธุรกิจ แต่เนื่องจากว่าการบัญชีเป็นวิชาชีพเฉพาะ ดังนั้นน้อง ๆ อาจจะพบว่าในบางมหาวิทยาลัยเปิดสอนแยกเป็น "คณะบัญชี" และในแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะให้วุฒิการศึกษาแตกต่าง กล่าวคือ บางมหาวิทยาลัยอาจจะให้วุฒิการศึกษาเป็น บัญชีบัณฑิต (บช.บ.) บางมหาวิทยาลัยอาจจะให้วุฒิการศึกษาเป็นบริหารธุรกิจบัณฑิต(การบัญชี) (บธ.บ.(การบัญชี)) ไม่ว่าน้องจะได้รับปริญญาใดก็ตามน้องก็สามารถทำงานในสายอาชีพนี้ได้เท่าเทียมกันทุกประการครับ

                    สาขาวิชาการบัญชีจะศึกษาถึงความสำคัญและบทบาทของการบัญชีในการให้ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ แนวคิดในการจดบันทึก(ศึกษาถึงหลักการบัญชีคู่ที่ใช้ในการลงบัญชี) รวบรวมวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลทางการเงินที่เกิดขึ้นในองค์กร(นำเสนอในรูปแบบงบการเงิน เช่น เงินดุล งบกำไรขาดทุน งบกำไรสะสม)ให้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยใช้คอมพิวเตอร์ในการประมวลผลข้อมูล ศึกษาทั้งการบัญชีการเงิน การบัญชีบริหาร(การบัญชีต้นทุน) การสอบบัญชี การภาษีอากร ระบบสารสนเทศทางการบัญชี เพื่อให้พร้อมที่จะนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจจริง

                    ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านภาครัฐและเอกชน เช่น นักบัญชี สมุห์บัญชี ผู้ตรวจสอบภายใน ผู้ช่วยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต นักบัญชีต้นทุน ที่ปรึกษาด้านการวางแผนภาษีอากร/ด้านการลงทุน หรือประกอบอาชีพอิสระของตน เช่น สำนักงานรับทำบัญชี ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต นอกจากนี้ยังสามารถเลื่อนไปรับตำแหน่งในฝ่ายอื่น ๆ ได้เกือบทุกสายงาน เช่น การเงิน การตลาด การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การจัดระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดการ

    การเงิน(Finance)

                    การเงินถือเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างราบรื่น สาขาวิชาการเงินจะศึกษาทั้งการบริหารการเงิน การลงทุน และตลาดเงินตลาดทุน(น้องอาจจะยังไม่เข้าใจคำว่าตลาดเงินตลาดทุน แต่ถ้าพี่ยกตัวอย่างให้ดูอาจจะพอเห็นภาพคร่าว ๆ บ้าง ตัวอย่างของตลาดเงิน เช่น การธนาคาร สถาบันการเงิน และตัวอย่างของตลาดทุน เช่น ตลาดหลักทรัพย์) เสริมสร้างทักษะทางแนวคิดและหลักการที่ดี ทักษะทางการวิเคราะห์ทีรอบคอบและแตกฉาน และทักษะในการประยุกต์ มีความรู้ในการแก้ปัญหาทางการเงินของธุรกิจได้อย่างเหมาะสมและทันต่อเหตุการณ์

                    ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถวิเคราะห์ คาดคะเน และตัดสินใจ ทำให้มองเห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างกว้างไกล งานในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงท้าทายความสามารถ วิชาการเงินสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานในสถาบันการเงินต่าง ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย ตลาดอนุพันธ์ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า ตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน นักวิเคราะห์เพื่อการลงทุนและโครงการต่าง ๆ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม สถาบันการเงินพิเศษเฉพาะ องค์กรธุรกิจต่าง ๆ

    การผลิต/การบริหารอุตสาหกรรมและการดำเนินงาน(Industrial and Operations Management)

                    สาขาวิชานี้จะศึกษาเกี่ยวกับการจัดการกิจกรรมของธุรกิจ ลักษณะกระบวนการและเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม กิจการบริหารประเภทต่าง ๆ เทคนิควิธีการเชิงปริมาณสำหรับใช้วิเคราะห์ปัญหาและในการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ การวางแผนควบคุมการผลิตและการดำเนินงานในเชิงคุณภาพและปริมาณ กำหนดเวลาและต้นทุนค่าใช้จ่าย การบริหารการผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนบริหารโครงการเพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพและได้ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ ตรงเวลาหรือทันสถานการณ์ และมีต้นทุนที่เหมาะสม

                    ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสามารถเข้าทำงานได้ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิตและกิจกรรมทุกประเภทที่ให้บริการหรือดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องทำการบริหารคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต การประหยัดต้นทุน และการส่งงานตรงเวลา เช่น งานธนาคาร กิจการขนส่ง ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ตลาดกลางขายสินค้า ห้างสรรพสินค้า กิจการจัดจำหน่าย กิจการก่อสร้าง และบริษัทที่ปรึกษา โดยเริ่มทำงานในตำแหน่งวางแผน งานควบคุมการผลิตและดำเนินงานวิเคราะห์ระบบ/วิธีการ งานสินค้าคงคลัง งานจัดซื้อ เมื่อมีประสบการณ์เพียงพอก็อาจจะเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้จัดการฝ่ายดำเนินงาน และผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่อไป (CUAS info 2549ข)

                    ไม่ว่าจะเลือกเรียนสาขาวิชาใดก็ตาม โดยพื้นฐานแล้วน้องจะต้องได้เรียนฟังก์ชันธุรกิจอื่นบ้างตามสมควรนะครับ เพราะว่าแต่ละฟังก์ชันธุรกิจนั้นมีความสัมพันธ์กัน ต้องประสานงานร่วมกัน และในการดำเนินธุรกิจบางครั้งก็ต้องอาศัยความรู้จากหลาย ๆ ฟังก์ชันธุรกิจมาประกอบการตัดสินใจ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×