wullopp
ดู Blog ทั้งหมด

ไข้หวัดใหญ่...ผู้หญิงผู้ชายใครตายก่อน

เขียนโดย wullopp
 

...

ผู้ชายมีแนวโน้มจะเป็นหวัด ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้หญิง ตรงกันข้ามผู้หญิงมีแนวโน้มจะปวดหัว เช่น ไมเกรน ฯลฯ ปวดท้องน้อย หรือนอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย

เรื่องนี้ทำให้มีคำกล่าวว่า "ถ้าไข้หวัดใหญ่ระบาดละก็... ผู้ชายจะจามก่อน ไอก่อน และตายก่อนด้วย" ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า 'man flu' = ไข้หวัดใหญ่ผู้ชาย

... 

อ.ดร.มายา ซาเลห์ (Maya Saleh) และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (McGill) แคนาดา ทำการศึกษาพบว่า

ฮอร์โมนเพศหญิง (estrogen = เอสโทรเจน) มีส่วนทำให้ภูมิต้านทานโรคผู้หญิงแข็งแรงกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงทนทานต่อโรคติดเชื้อมากกว่า มีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่า หายเร็วกว่า และโอกาสรอดตายมากกว่า 

...

การศึกษานี้ทำการศึกษาในน้ำย่อยหรือเอนไซม์ที่ชื่อ 'แคสเพส12 (caspase-12)' ซึ่งทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่าย โดยไปยับยั้งการอักเสบหรือธาตุไฟ (inflammation; inflam- = ไฟ; inflammation = การอักเสบ ธาตุไฟกำเริบ)

ปกติร่างกายคนเราจะทำให้มีการอักเสบเฉพาะที่ หรือเร่งธาตุไฟเฉพาะที่ ซึ่งอาจเห็นได้ด้วยอาการบวม แดง ร้อน เนื่องจากหลอดเลือดจะขยายตัว เรียกเม็ดเลือดขาวมารุมโจมตีเชื้อโรค และช่วยกันฆ่าเชื้อโรค

...

ผลการศึกษาพบว่า หนูตัวเมียมีภูมิต้านทานโรคแข็งแรงกว่าหนูตัวผู้จริง คือ ภูมิต้านทานโรคทำให้เกิดการอักเสบเฉพาะที่ได้ดีกว่า

และเรื่องนี้นำไปสู่ความเป็นไปได้ที่ว่า ต่อไปอาจมีการใช้ฮอร์โมนเพศหญิงมาช่วยรักษาผู้ชายที่ชอกช้ำ (= ติดเชื้อ โปรดอย่าคิดมาก)

...

การสำรวจพบว่า เมื่อเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ระบาด... ผู้ชายจะติดโรคมากจนถึง 30%; ส่วนผู้หญิงติดโรคมากจนถึง 22% (up to = มากได้จนถึงระดับหนึ่ง ไม่มากกกว่านั้น)

การศึกษาหลายรายงานพบว่า ผู้ชายติดเชื้อง่ายกว่าผู้หญิง

... 

ผู้ชายมีโอกาสติดโรคติดเชื้อมากกว่า... 

ไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรีย (นี่อาจอธิบายได้ว่า ทำไมผู้ชายใน ICU มักจะรอดน้อยกว่าผู้หญิง) ไวรัส (เช่น หวัด ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ) เชื้อรา (นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลาก เกลื้อน สังคังพบมากในผู้ชาย) หรือพยาธิ (นี่อาจจะอธิบายได้ว่า ทำไมผู้ชายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีจากพยาธิใบไม้ในตับเวลากินปลาดิบมากกว่าผู้หญิง)

...

กลไกทางด้านวิวัฒนาการที่เป็นไปได้คือ ธรรมชาติต้องการรักษาผู้หญิงจำนวนมากไว้สืบทอดเผ่าพันธุ์

ส่วนผู้ชายนั้นไม่จำเป็นต้องมีหลายคนก็พอจะสืบทอดเผ่าพันธุ์ได้ (ตามธรรมชาติ) ตายเสียบ้างก็ไม่เสียหายอะไรมากมาย ขอเพียงให้เหลือ "พ่อพันธุ์" ไว้บางคนก็พอ

...

การศึกษาก่อนหน้านี้มีเรื่องน่าสนใจอีกคือ เรื่อง "ความเจ็บปวด (pain)" ซึ่งพบว่า คนเราจะปวดมากปวดน้อยนั้น "อยู่ที่ใจ" โดยเฉพาะเรื่องปวดหัว

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐฯ พบว่า ใจนี่ละสำคัญแท้...

...

ความเจ็บปวดจะมากหรือน้อยอยู่ที่ใจ... ถ้าทำใจได้ อะไรๆ ก็จะทุเลาลง การฝึกให้มีจิตใจเข้มแข็ง อดทน ฮึดสู้ตั้งแต่เด็กมีความสำคัญมากต่อชีวิตของทุกคน

แม้แต่เป็นมะเร็ง... ยานั้นช่วยแก้ปวดได้สัก 80-90% ที่เหลืออีก 10-20% จะทุเลาหรือไม่ อยู่ที่การ "ทำใจ"

...

"เข้มแข็งไว้ก่อน พ่อสอนไว้" ยังคงใช้ได้ดีเสมอ

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ

...

 > Thank [ MailOnline ]

ที่มา                                                     

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >   > 13 พฤษภาคม 2552.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น