087_kikoeru
ดู Blog ทั้งหมด

ชนุ่นบ่นบ่น – FAQ ของนักเขียนหน้าใหม่

เขียนโดย 087_kikoeru

ชนุ่นบ่นบ่น – FAQ ของนักเขียนหน้าใหม่

 

          ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา (นี่จะปีที่ห้าแล้ว งานเขียนยังไม่พัฒนาไปไหนเลยจ้ะ)  ในบอร์ดนักเขียนเด็กดี https://www.dek-d.com/board/writer/ นั้นมักจะมีคำถามที่ “ย้ำตอบย้ำถามบ่อยๆ”  บางคนอาจจะไม่รู้สึกว่าการต้องมาเจอกระทู้ที่ถามซ้ำๆ หรือการต้องไปตอบคำถามซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ นั้นเป็นเรื่องน่าเบื่อ  แต่สำหรับผม ซึ่งเป็นคนย้ำคิดย้ำทำแต่ไม่ชอบกระทำซ้ำในงานบางประเภท (ย้อนแย้งสุดๆ) ก็ขอถือโอกาสนี้นำคำตอบที่ผมตอบในกระทู้เดิมๆ นี้เพื่อจะได้เอาไป reuse ตอบในกระทู้ที่ซ้ำๆ นี้ต่อไป  และเพื่อให้นักเขียนหน้าใหม่ที่หลงเข้ามาอ่านได้อ่านและได้รับคำแนะนำที่ตรงกับคำถามคาใจของตัวเองไปด้วยเลย

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรจึงจะเขียนได้ดี? อยากเป็นนักเขียนต้องทำอย่างไร?

วิสัชนา:         คำถามยอดฮิตแบบนี้พบเจอได้บ่อยมากถึงมากที่สุด  ซึ่งสิ่งที่ผมจะแนะนำนั้น นักเขียนระดับเซียนบางคนก็มักจะแนะนำแบบนี้ด้วยเหมือนกัน ฉะนั้นอย่าไปน้อยใจที่ทำไมคำตอบมันถึงเหมือนกันไปหมด  เพราะเราก็เริ่มมาแบบนี้เหมือนกันครับ

1.      อ่านให้เยอะๆ และอ่านให้หลากหลาย  แล้วซึมซับการใช้ภาษา การออกแบบโครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก และการสร้างความน่าสนใจ  เพื่อนำส่วนที่ดีๆ มาใช้ในงานเขียน

2.      หาให้เจอว่าตัวเองชอบเขียนแนวไหน  การเขียนสิ่งที่เรารู้และสิ่งที่เราสนใจ จะทำให้เราเขียนได้โดยไม่ฝืน ลื่นไหลไม่มีสะดุด  และต้องหาเอกลักษณ์ จุดเด่นในงานเขียนของเราให้เจอ  เพื่อให้ได้ผลงานที่น่าสนใจ และเป็นเสมือนลายเซ็นประจำตัวเรา

3.      วางแผนก่อนการเขียน  วางโครงเรื่องหลัก โครงเรื่องย่อย หาข้อมูล ความรู้ที่เราต้องการใช้ในเรื่อง  เพื่อให้เรื่องมีความสมจริง และดำเนินเรื่องไปอย่างสมเหตุสมผล ไม่ออกทะเล ไม่มีช่องโหว่

4.      มีวินัยในการเขียน  เขียนให้สม่ำเสมอ พยายามหาเวลาที่เราเขียนได้ดีและเขียนให้ได้มากที่สุด  หากตันเขียนไม่ออก ไม่รู้จะเขียนอะไรต่อ  หรือไม่มีสมาธิในการเขียนก็พักไว้ก่อน

5.      ค้นหาไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ  งานเขียนเป็นงานที่ต้องมีแนวคิด ดังนั้นแนวคิดที่สดใหม่ ไม่ซ้ำใครจะดึงดูดผู้อ่านให้ติดตามได้ และเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้งานเขียนของเรา

6.      มีการตรวจทานอยู่เสมอ  เมื่อเขียนจบเรื่อง ก็ให้ทิ้งงานไว้ก่อนเพื่อนำกลับมาอ่านในฐานะนักอ่าน หากเจอข้อผิดพลาด เช่น คำผิด พิมพ์ตก บรรยายไม่ลื่นไหล เรื่องไม่สมเหตุสมผล ฯลฯ  ให้ทำการแก้ทันที

7.      เปิดรับคำติชมและวิจารณ์  เพื่อนที่ดีที่สุดของนักเขียนคือนักอ่าน ลองเอาผลงานไปให้เพื่อนที่รู้จักอ่านแล้วให้เขาติชม หรือรับฝากในกระทู้ที่รับวิจารณ์นิยาย (ปีหนึ่งๆ ผมจะเปิดรอบให้วิจารณ์ 1-2 ครั้งถ้าเป็นไปได้) หรือโปรโมทนิยายของตนเองให้คนเข้ามาอ่านและวิจารณ์  เปิดใจรับฟังข้อคิดเห็น คำวิจารณ์ และเลือกรับเอาไปปรับปรุงแก้ไข

8.      มั่นใจในสิ่งที่เราเขียน อย่าตามใจคนอ่านมากจนเกินไป  บางครั้งคนอ่านก็อยากอ่านสิ่งที่ตัวเองต้องการหรือสนใจ และหากมันไม่เหมาะกับเนื้อเรื่องของเรา  ก็อย่าฝืนแต่งเลย  ถึงกระนั้นก็จงมั่นใจในตัวเอง คิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำดีอยู่แล้ว  แต่ก็อย่างที่บอกในข้อ 7. ให้รับฟังคนอื่นอยู่  อย่าติดในอีโก้ตัวเองมากไป

9.      ติดตามข่าวสารในวงการ  เพื่อที่เราจะได้ดูว่ามีงานเขียนประเภทใดที่กำลังดัง จะได้เข้าไปอ่าน  หรือลองอ่านบทความสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ (ในเด็กดีก็มีสัมภาษณ์นักเขียนนะ) เพื่อจะได้มีแรงบันดาลใจต่อไป

10.  อย่าหยุดเพียงเท่านี้  อ่านให้เยอะๆ เขียนให้เยอะๆ สัมผัสประสบการณ์ต่างๆ เช่นการประกวดเรื่องสั้น แต่งเรื่องชิงรางวัล ส่งงานเขียนให้แก่สำนักพิมพ์  รู้ซึ้งถึงรสชาติหวานขมเสียบ้าง เราจะได้อยู่ได้ และมีความรู้เพิ่มขึ้นด้วย (หัวเราะ)

 

ปุจฉา:             จะแต่งเรื่องอะไรดี?

วิสัชนา:         หาตัวเองให้เจอครับว่าชอบอ่าน ชอบเขียนแนวไหน  ย้อนกลับไปที่คำถามแรกครับ

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรจึงจะมีคนมาอ่านนิยายของเราเยอะๆ?

วิสัชนา:         ถ้าภาษาเราดี เรื่องเราสนุก หรือมาฐานแฟนคลับอยู่แล้วก็มิยากอะไรดอกครับ  แต่ถ้าอยากให้มีคนมาอ่าน เราก็ต้องเขียนให้ดีและสนุก และอัพเดตอยู่สม่ำเสมอ  อาจจะใช้การโปรโมทหรือไปฝากในกระทู้ต่างๆ ก็ได้  นอกจากนี้ตัวคนเขียนเองก็ไม่ควรปิดกั้น ไม่รับนักอ่านเงา (นักอ่านที่อ่านแต่ไม่เม้นต์) หรือบังคับให้คอมเม้นต์ดีกว่าครับ  จากกระทู้ในรอบหลายปีก็ไม่ค่อยมีใครชอบนักเขียนประเภทนี้อยู่แล้ว

 

ปุจฉา:             คิดชื่อเรื่อง/พล็อต/ชื่อตัวละครให้หน่อย

วิสัชนา:         อันนี้ผมว่าทางที่ดี ลองเสนอชื่อเรื่องหรือตัวละคร หรือระบุเงื่อนไขมาให้นักเขียนท่านอื่นช่วยๆ กันแชร์คำตอบดูนะครับ  เช่นอยากได้ชื่อตัวละครที่แสดงถึงความเข้มแข็ง อะไรประมาณนี้  สำหรับพล็อต  ทางที่ดีคือลองบอกมาก่อนว่าพล็อตเป็นอย่างไร แล้วมันโอเคไหม มีจุดที่แปลกๆ ไหม ให้นักเขียนท่านอื่นแนะนำจะดีกว่าการแบมือขอแหละครับ

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรดี? วิวน้อย/คอมเม้นต์น้อย

วิสัชนา:         ขอตอบว่าย้อนไปดูที่การโปรโมท หรือการเขียนของเราดีกว่าครับว่าดีหรือไม่แล้วปรับปรุงในส่วนนั้น  หรือไม่อย่างนั้นก็รอครับ นิยายเด็กดีมีอยู่เป็นแสนๆ เรื่องก็ภาวนาให้มีสักคนมาเห็นเรื่องของคุณนะครับ

 

ปุจฉา:             ตัน/อาร์ทบล็อก/เขียนไม่ออก ทำอย่างไรดี?

วิสัชนา:         แนะนำว่าให้พักครับ พักผ่อนให้สบายใจ ระหว่างนั้นก็หาไอเดียมาเรื่อยๆ  แล้วเมื่อเริ่มอยากเขียนเมื่อไหร่ก็เขียนครับ  อย่าฝืนดีกว่า  หรือกระทำการจุดไฟให้ตัวเองอยากเขียนขึ้นมาอีกครั้งก็ดีครับ

 

ปุจฉา:             เขียนเรื่องหนึ่งแล้วเกิดมีพล็อตอีกเรื่องออกมา ทำให้ไม่อยากเขียนเรื่องเดิม ทำอย่างไรดี?

วิสัชนา:         ตั้งใจว่าเรื่องนี้เสร็จแล้วค่อยเขียนอีกเรื่องดีกว่าครับ  เขียนสองเรื่องพร้อมกันอาจจะทำให้เกิดการสับสนได้  ทางที่ดีก็จดพล็อตของอีกเรื่องไว้สักที่ แล้วตั้งใจว่าเขียนเรื่องนี้เสร็จก็จะเขียนอีกเรื่องทันที  ตั้งใจในสักเรื่องดีกว่าครับ เคยโดนมาแล้ว สรุปต้องลบทิ้งสองเรื่องเลยเพราะสำนวนผสมกันไปหมด

 

ปุจฉา:             อยากลองเขียนเรื่องแนวๆ นี้ คิดว่าจะมีคนอ่านไหม?

วิสัชนา:         คิดว่าดีก็แต่งเลยครับ ทำให้เต็มที่เลย  ถ้าดีจริงเดี๋ยวก็มีคนอ่านเอง

 

ปุจฉา:             บรรยายไม่ลื่นไหล/ใช้คำไม่ถูก/จะบรรยายอย่างไรดี? คำนี้ผิดไหม/เขียนอย่างไร?

วิสัชนา:         ส่งมาให้ดูเลยครับ ถ้าผิดตรงไหนนักเขียนท่านอื่นจะช่วยเสริมๆ ให้  ส่วนคำที่ไม่แน่ใจว่าเขียนถูกไหมก็เช่นกันครับ เดี๋ยวนักเขียนท่านอื่นจะมาตอบให้เช่นกัน

 

ปุจฉา:             ฉากแบบนี้ลงได้ไหม?

วิสัชนา:         อ่านกฎของเว็บแต่ละเว็บให้ดีนะครับ  หากฉากที่มีอยู่ไม่สามารถลงได้ก็แก้ไข หรือไม่เช่นนั้นก็นำไปลงที่อื่นดีกว่าครับ

 

ปุจฉา:             เขียนแบบนี้ถูกไหม/ตัวละครทำแบบนี้ถูกไหม?

วิสัชนา:         เหมือนข้อบรรยายไม่ลื่นไหลทำอย่างไรดีนั่นแหละครับ ส่งมาแล้วเดี๋ยวรอคอมเม้นต์

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรถึงจะมีคนอ่านเยอะๆ/มีแฟนคลับเยอะๆ?

วิสัชนา:         เหมือนข้อทำอย่างไรดีเพราะวิวน้อยนั่นแหละครับ งานดี มีโปรโมท ก็มีคนมาเห็นและอ่านครับ

 

ปุจฉา:             อะไรที่ทำให้คนอ่านสนใจนิยายของเรา?

วิสัชนา:         ชื่อเรื่อง คำโปรย เนื้อเรื่อง การบรรยาย ตัวละคร ฉาก แก่นเรื่อง และความชอบของผู้อ่านครับ  ถ้าทำได้อย่างสอดคล้องลงตัวก็ทำให้คนอ่านวนใจและติดตามนั่นแหละครับ  เหมือนขนมที่อร่อยทำให้เราอยากกินอีกเรื่อยๆ

 

ปุจฉา:             ลืมพล็อต!

วิสัชนา:         จดไว้ที่ไหนบ้างครับ ถ้าไม่ได้จดก็ต้องคิดใหม่ล่ะนะ โดยอาศัยการอ่านในช่วงต้นๆ ที่เราแต่งครับ

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรให้ได้พล็อตที่น่าสนใจ

วิสัชนา:         อ่านหนังสือให้มากและหลากหลายครับ  และอย่าอยู่แต่ในกรอบ อย่าตามกระแสนิยายมากเกินไปนัก  ลองแหวกๆ ฉีกๆ ออกมาบ้าง  พยายามทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำกัน หรือคิดให้ล้ำๆ ไปเลยครับ

 

ปุจฉา:             จะหาแรงบันดาลใจ/ไอเดียได้จากที่ไหน?

วิสัชนา:         นอกจากการอ่านแล้ว รอบๆ ตัวเราก็มีได้หมดครับ --- ลองสังเกตลูกโป่งที่ล่องลอยบนท้องฟ้า แล้วคิดไปต่างๆ ว่าลูกโป่งมาจากไหน...บางทีอาจจะเป้นของผู้ชายที่กำลังจะเอาไปให้แฟนของเขา แต่มันก็หลุดจากมือ ล่องลอยในอากาศก็ได้นะ  แค่นี้ก็ได้ไอเดียแล้วครับ สัมผัสสิ่งต่างๆ แล้วคิดว่ามันน่าจะเอามาแต่งได้หมดครับ

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรดี? ตัวละครรองเด่นกว่าตัวละครหลัก

วิสัชนา:         ปัญหานี้ผมเพิ่งไปตอบเมื่อไม่นานมานี้  ก็ขอตอบว่าควรทบทวนตั้งแต่โครงเรื่องแล้วครับว่าคุณได้วางไว้ดีแค่ไหน  ถ้าเป็นบทย้อนอดีตอาจจะไม่มีปัญหา แต่หากเด่นเกินไป มีบทจนดูเหมือนเป็นตัวเอก หรือเราบรรยายให้ตัวละครรองเด่นเกินตัวเอกก็ลองแก้ไปตามสภาพครับ

 

ปุจฉา:             ทำอย่างไรดี? ออกทะเล

วิสัชนา:         วางพล็อตให้ดีครับ แล้วเราจะไม่หลงแน่นอน

 

ปุจฉา:             วางแผนว่าจะแต่งไว้หลายภาค แต่ก็ไม่รู้จะต่ออย่างไรดี?

วิสัชนา:         พล็อตโดยมากที่สามารถแยกเป็นภาคอื่นๆ ต่อไปได้มักจะมีการโฟกัสที่ตัวละครหลักตัวใดตัวหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีโครงเรื่องที่พอจะยืดออกไปได้เรื่อยๆ  หากจะแยกภาคต่อก็ต้องทำให้ประเด็นในพล็อตกว้าง ทิ้งปริศนาที่สำคัญๆ ในแต่ละภาคไว้แล้วให้ภาคต่อๆ ไปเป็นการไขปริศนาที่ผ่านมา  แต่กระนั้นก็ต้องทบทวนเรื่องของเราด้วยว่าสมควรจะต้องยืดหรือทำภาคต่อหรือไม่  มีภาคแยกนิดหน่อยได้ แต่หากยืดออกไปเรื่อยๆ แล้วมันเริ่มไม่มีแก่นสาร  หรือทุกอย่างเคลียร์จบในเรื่องแล้วก็อย่างไปยืดเลยครับ เดี๋ยวเรื่องมันจะเสีย

          โดยมากการที่เรื่องถูกยืด/ทำภาคต่อ/ทำภาคเสริมมักจะมาจากคนอ่านเป็นหลัก เพราะยิ่งคนอ่านชอบ เราก็ต้องเขียนให้เยอะขึ้นเพื่อตอบสนองคนอ่าน หรือเพื่อรายได้ในการซื้อ  แต่อย่าลืมว่าจงมั่นใจในตัวเอง อะไรที่เราคิดว่าดีแล้วก็ทำต่อไปเถิด

 

          ที่นำคำถามมานั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น  หากท่านคิดว่าคำถามใดมีการถามเข้ามาบ่อยๆ แล้วอยากรู้ก็บอกกันได้นะครับ  สวัสดีครับ

 

ชนุ่น. 04/25/17

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น