sagime
ดู Blog ทั้งหมด

ไขข้อสงสัยทำไมกรรมการชอบลำเอียง

เขียนโดย sagime
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
 
ปีเตอร์ เคราช์ ศูนย์หน้าทีมชาติอังกฤษ ได้ใบเหลืองระหว่างแมตช์แข่งกับปารากวัยเมื่อสี่ปีที่แล้ว
       เดลิเมล์ – ผลศึกษาใหม่พบกรรมการมีแนวโน้มตัดสินให้ผู้เล่นตัวสูงกว่าเป็นฝ่ายผิด กรณีที่มีการทำฟาวล์ที่คลุมเครือ
       
       นักวิจัยจากรอตเตอร์ดัม สกูล ออฟ แมเนจเมนท์ มหาวิทยาลัยอิราสมุส เนเธอร์แลนด์ ต้องการรู้ว่าสามารถนำความเข้าใจในกระบวนการตัดสินใจเรื่องธุรกิจมาใช้ในสนามแข่งขันกีฬาได้หรือไม่ โดยเลือกกีฬาฟุตบอล เนื่องจากบ่อยครั้งที่กรรมการต้องพึ่งสัญชาตญาณของตัวเองเพื่อการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
       
       ดร.นีลส์ แวน ควอควิเบค และดร.สเตฟเฟน กิสเนอร์ ศึกษากรณีการฟาวล์ 123,844 กรณีในการแข่งขันแชมเปี้ยนส์ลีกและบุนเดสลีการวม 7 ฤดูกาล กับฟุตบอลโลกอีกสามครั้ง
       
       “เราพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้เล่นที่ทำฟาวล์จะสูงกว่าคนที่ถูกทำฟาวล์” ดร.กิสเนอร์กล่าว
       
       เพื่อสนับสนุนการค้นพบเบื้องต้น นักวิจัยจึงทำการทดลองเพิ่มเติมด้วยการนำภาพผู้เล่นสองคนที่กำลังยื้อยุดกันอยู่ โดยที่คนหนึ่งสูงกว่าอีกคน มาให้แฟนบอลตัดสินว่าผู้เล่นคนไหนเป็นคนทำฟาวล์ ซึ่งผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างเลือกผู้เล่นที่ตัวสูง
       
       นักวิจัยเชื่อว่าเหตุผลสำหรับอคตินี้ฝังรากอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์
       
       “มนุษย์ผ่านวิวัฒนาการที่ทำให้จำเป็นต้องกลัวสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เพราะปกติแล้วสัตว์เหล่านั้นจะทำอันตรายเรา” ดร.แวน ควาควิเบคกล่าว
       
       กระนั้น ความสูงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของกรรมการ งานวิจัยก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่า แม้แต่สีชุดของผู้เล่นสามารถส่งผลเช่นเดียวกัน
       
       “เราเป็นมนุษย์ ไม่ได้เป็นเครื่องประมวลผลข้อมูลที่ยุติธรรม แต่มักโน้มเอียงเข้าข้างตัวเอง โดยเฉพาะถ้าเราไม่มีข้อมูลทั้งหมด เราจะพยายามเดาให้ดีที่สุด”
       
       แม้ผลการค้นพบนี้อาจสนับสนุนแนวทางการรีเพลย์วิดีโอเพื่อช่วยในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ แต่นักวิจัยเห็นด้วยว่าการดูภาพซ้ำจะทำให้การแข่งขันช้าลง และทำให้พฤติกรรมมนุษย์หมดบทบาทในเรื่องนี้
       
       ทางที่ดี ควรมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้กรรมการสามารถเอาชนะการตัดสินใจแบบมีอคติได้
       
       อนึ่ง งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์อยู่ในเจอร์นัล ออฟ สปอร์ต แอนด์ เอ็กเซอร์ไซส์ ไซโคโลจี้ฉบับเดือนกุมภาพันธ์

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น