sagime
ดู Blog ทั้งหมด

เรื่องสกปรก ที่เราทำให้สะอาดได้

เขียนโดย sagime

เรื่องสกปรก ที่เราทำให้สะอาดได้

 



เรื่องสกปรกที่เราทำให้สะอาดได้ (Lisa)

          ได้เวลารู้จักกับสิ่งรอบตัวของเราในระดับจุลชีวะกันแล้ว บางคนอาจจะขยะแขยง แต่เรามีวิธีจัดการให้สะอาดเอี่ยมมาบอกกัน

 ผ้าปูที่นอน : เพื่อนนอนมีมากหลาย

          เวลาที่กลิ้งตัวลงบนที่นอน ก็เหมือนกับกลิ้งอยู่บนสิ่งปฏิกูลจากร่างกายของเราเอง ผ้าปูที่นอนอาจมีของเสียต่าง ๆ เชื้อแชลโมเนลลา และเชื้ออีโคไล (ทั้งสองชนิดคือแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร) ได้ถึง 0.1 กรัม หลังผ่านไปเพียงแค่หนึ่งคืน ซึ่งหมายความว่าผ้าปูที่นอนสามารถสะสมจุลชีวะได้ถึงหนึ่งหมื่นล้านตัว

          Clean It Up! ซักผ้าปูที่นอนสัปดาห์ละครั้ง อย่าลืมใช้น้ำร้อนซักด้วยนะ เพราะเชื้อโรคสามารถอยู่ได้ในน้ำเย็นหรือน้ำอุ่น สำหรับปั่นแห้งหรือเครื่องอบผ้าก็ไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่นักถึงแม้เชื้ออีโคไลจะทนไม่ไหว แต่เชื้อแซลโมเนลลากับไมโคแบคทีเรียมก็ยังอึดอยู่ ทางที่ดีคือซักด้วยน้ำร้อน จากนั้น ก็หลับสบายได้แล้วค่ะ

 ผ้าขนหนู : มิได้ซับแค่น้ำ

          ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ หรือผ้าขี้ริ้ว เซลล์ผิวหนังบนร่างกายของเราจะหลุดไปอยู่บนเนื้อผ้า และกลายเป็นอาหารให้แก่เหล่าแบคทีเรียทั้งหลาย นอกจากนี้แบคทีเรียยังชอบนักแลที่จะอยู่ในที่ขึ้น ๆ และเป็นขน เมื่อเราใช้ครั้งหนึ่ง แขวนไว้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ แบคทีเรียเหล่านี้ก็จะย้ายกลับมาอยู่บนร่างกายเราเช่นกันและทำให้ผิวหนังติดเชื้อ (อี๋ ๆ ) ยิ่งถ้าเรามีบาดแผลละก็ เราอาจทำให้แผลนั้นติดเชื้อซะเอง จากการใช้ผ้าขนหนูซ้ำ ๆ ได้

          Clean It Up! ซักผ้าขนหนูทุกสัปดาห์เป็นอย่างต่ำ (ถ้าเราเป็นคนเดียวที่ใช้ผ้าผืนนั้น) สำหรับผ้าขี้ริ้วที่เปียกยิ่งต้องซักทุกครั้งที่ใช้ ส่วนผ้าขนหนูที่ใช้ร่วมกับคนอื่น คงไม่ต้องบอกนะจ๊ะว่าต้องซักทุกวัน คนอื่นเขาเจออะไรมาเราไม่อาจรู้...

 พรม : ฟาร์มเชื้อโรค

          ในหนึ่งตารางนิ้ว พรมอาจมีแบคทีเรียถึง 200,000 ตัว ซึ่งมากกว่าฝารองซักโครกถึง 4,000 เท่าที่มันเป็นฟาร์มได้อย่างนี้ก็เพร่าโดยเฉลี่ยแล้ว คนเราจะผลัดเซลล์ผิวประมาณ 1.5 ล้านเซลล์ทุกหนึ่งชั่วโมง และเซลล์เหล่านี้ก็กลายเป็นอาหารของแบคทีเรียอีกนั่นแหละค่ะ ซึ่งเครื่องดูดฝุ่น มักดูดไม่ถึงโคนของพรมเหล่านี้ ดังนั้น ใต้เท้าของเราจึงมักเต็มไปด้วยเชื้ออีโคไล แซลโมเนลลา สตาฟิลโลค็อกคัส และเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ถ้านี่ยังไม่น่ากลัวพอ...ทุกๆ ย่างก้าวที่เราเดินบนพรมแบคทีเรียเหล่านี้ก็จะขึ้นมาจ๊ะเอ๋ที่ปลายขนพรมอีกด้วยนะ

          Clean It Up! ถ้ารู้ว่าส่วนไหนของบ้านที่เดินกันขวักไขว่ ลงทุนปูพรมแบบซักเครื่องได้เลยดีกว่า หรือจ้างบริษัททำความสะอาดให้มาทำ "Deep Steam Cleaning" ปีละครั้งก็คุ้มค่ากับบ้าน ที่ปลอดเชื้อโรคเหมือนกันค่ะ

 น้ำขวด : แบคทีเรียฉบับพกพา

          ตรงกับคอนเซ็ปต์ลดโลกร้อนอีกแล้ว แต่รู้มั้ยว่าร้อยละ 9 ของขวดน้ำเหล่านี้มีแบคทีเรียจำพวกโคลิฟอร์มอยู่จำนวนมาก อาจเป็นเพราะว่าเด็กๆ เปิดขวดน้ำด้วยมือสกปรก ทำให้แบคทีเรียต่างๆ เข้าไปในขวด และเมื่อน้ำหมด ขวดนั้นก็จะกลายเป็นที่อับชื้นอุ่นๆ เหมาะสำหรับแบคทีเรียเสียนี่กระไร

          Clean It Up! เนื่องจากน้ำส่วนใหญ่จะมีคอยขวดแคบจึงล้างได้ไม่ทั่วถึงนัก หากต้องใช้ขวดน้ำอีกครั้งจึงควรใช้น้ำร้อนและแปรงสำหรับขวดเลยจะดีกว่า ทั้งนี้ เชิญใช้ขวดซ้ำ ๆ ได้ตามสบาย หากว่าเราลางและเป่าทุกครั้งให้ทั้งขวดและฝาแห้งสนิทค่ะ

 แก้วกาแฟที่เราใช้ในออฟฟิศ : สระว่ายน้ำของเหล่าเชื้อโรค

          จริงอยู่...การนำแก้วกาแฟของตัวเองมาใช้ในที่ทำงานถือเป็นการลดโลกร้อนจากแก้วกระดาษไปอีกแบบ แต่เดี๋ยวก่อน! ร้อยละ 20 ของแก้วกาแฟจะมีแบคทีเรียที่พบได้ในระบบทางเดินอาหาร และร้อยละ 90 จะมีเชื้อโรคชนิดอื่นๆ มากมาย ยิ่งเวลาที่เราใช้ฟองน้ำล้างแก้ว แบคทีเรียก็จะกระโดดไปมาและสามารถอยู่ในแก้วนั้นได้กว่า 3 วันเชียวนะ

          Clean It Up! ไม่จำเป็นต้องกระดกกาแฟร้อนๆ ให้หมดภายใน 30 วินาที แต่ก็ไม่ควรวางแก้วไว้เฉยๆ นานกว่าหนึ่งชั่วโมง เพราะถ้าวางไว้เฉยๆ หลังจากที่ใช้แล้ว แบคทีเรียจะขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว อย่าลืมพกแก้วส่วนตัวกลับบ้าน ล้างด้วยน้ำร้อนและเช็ดให้แห้งด้วยนะจ๊ะ

 รีโมต : ช่องไหน ๆ ก็มีแต่เชื้อโรค

          เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเลิกใช้รีโมต เมื่อนั้นเราจะสุขภาพดีขึ้นอีกเยอะเลย เพราะงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐเวอร์จิเนียเปิดเผยว่า ร้อยละ 50 ของรีโมตโทรทัศน์จะมีไรโนไวรัส (กลุ่มไวรัสที่ทำให้เป็นโรคหวัด) ซึ่งสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายวัน รวมถึงเชื้ออื่นๆ ซึ่งอาจอยู่บนรีโมตได้นานหลายเดือน โดยเชื้อโรคมักจะช่องสุมบริเวณร่องตรงปุ่มยาง นอกจากนี้ ใครก็ตามที่ชอบกินมันฝรั่งทอดหรือป๊อปคอร์นในระหว่างที่ดูหนังจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าเชื้อโรค เนื่องจากน้ำมันจากมือจะไปติดอยู่บนรีโมตกลายเป็นเกราะป้องกันให้เชื้อโรคอีกชั้น

          Clean It Up! น้ำยาฆ่าเชื้อมักจะใช้ไม่ได้ผล เพราะรีโมตมีร่องต่างๆ ที่เข้าไม่ถึง ดังนั้น เริ่มป้องกันเชื้อโรคด้วยการใช้พลาสติกห่อรีโมตเสียเลยดีกว่า (ถ้าต้องเดินทางไปไหนแล้วกลัวเชื้อโรคจากรีโมตในที่พัก จะพกซองพลาสติกไปใส่รีโมตด้วยก็ไม่ว่ากัน

 หวีกับกางเกงยีนส์...สะอาดนะจ๊ะ!

          ในส่วนของหวี ถ้าคุณรำคาญก็ควรจะเอาเศษผมหรือล้างเอาเศษเจลแต่งผมออกบ้าง สำหรับกางเกงยีนส์ที่เราไม่ค่อยซักกันนั้น ยังไม่เคยมีการศึกษาที่ชี้ว่าการใส่เสื้อผ้าซ้ำๆ จะทำให้เราติดเชื้อ ยกเว้นชุดชั้นใน ที่หลังจากใส่แล้วจะมีสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ (ซึ่งได้แก่เศษจากอุจจาระนั่นเอง) จึงต้องซักทุกครั้งหลังใส่ มิเช่นนั้น จะ "อี๋" ไปตาม ๆ กันเลยทีเดียวค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

หนังสือLisa Vol.11 No.15 21 เมษายน 2553
Credit Kapook.com

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น