รายงานในนิตยสาร "ฉลาดซื้อ" ฉบับล่าสุด อาจทำให้หลายคนต้องคิดใหม่
จากการทำงานของโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และพื้นที่ดำเนินการ 7 จังหวัด
ออกเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ และลูกชิ้นปลา ในตลาดสด ร้านค้าปลีก ห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อตรวจหาสารกันบูด 4 ประเภท
คือ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิค ไนเตต และไนเตรต ตลอดจนน้ำประสานทอง หรือบอแรกซ์
รายงานสรุปว่า ตัวอย่าง (ลูกชิ้นหมู 22 ตัวอย่าง) จากพื้นที่สำรวจเกือบทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบส่วนใหญ่ใช้สารกันบูด โดยเฉพาะเบนโซอิค
แม้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุญาตให้ใช้ก็ตาม
แต่ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเทียบมาตรฐานสากล
"สำหรับคนที่ชอบกินลูกชิ้น เห็นตัวเลขสารกันบูดจากผลการทดสอบครั้งนี้แล้วอาจตกใจ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า สารกันบูดสามารถใส่ลงในลูกชิ้นได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องรู้จักเลือกที่จะรับประทาน
คือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงข้อมูลส่วนผสมต่างๆ ชัดเจน แสดงแหล่งที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ"
ล่าสุด อย.ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ผลิตลูกชิ้นติดฉลากแสดงข้อมูลสำคัญลงบนสินค้า
ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อ
ลูกชิ้นปิ้งต้มนึ่ง หอมหวานอร่อยยั่วยวนชวนกินก็จริง
แต่ก็ควรตระหนักถึงสารแปลกปลอมด้วย
ที่มา ข่าวสดออนไลน์
ความคิดเห็น