sagime
ดู Blog ทั้งหมด

สัญญาณบอกเหตุโรคฮิต “BB Thumb”

เขียนโดย sagime
ก็ทุกวันนี้ สารพัดเครื่องมือสื่อสารที่ต้องใช้นิ้วจิ้ม-กด เพื่อพิมพ์แชท (Chat) หรือเล่นเกมกันให้สนุกสนาน หรรษา มันช่างฮิตเสียเหลือเกิน เรียกได้ว่าเดินไปไหนมาไหน เป็นเห็นหนุ่มสาวหน้าใส ทั้งวัยทำงาน วัยรุ่น หรือแม้แต่วัยกระเตาะ ควักสารพัดอุปกรณ์ไอที มากดเล่นกันให้มันส์มือ
       
       
แต่ของดีๆ หากใช้เยอะไปก็เกิดโทษได้ค่ะ เหมือนโรคชื่อแปลกหู อย่าง “บีบี ทัมธ์” (BB Thumb) ว่ากันว่า เป็นโรคที่เกิดจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป หลายคงฟังแล้วอาจยัง ‘งง’ โรคนี้คืออะไรกันแน่ เกิดจากการใช้โทรศัพท์จริงหรือ? ไม่ให้เสียเวลาค่ะ

  
      แพทย์หญิงธนพร ภาลรัตนากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาล BNH มาให้ข้อมูลอย่างกระจ่าง ทั้งความหมายของโรค, สาเหตุการเกิด, วิธีป้องกัน        
       
โรคบีบี ทัมธ์ คืออะไร เกิดขึ้นได้ไง
       
       
คุณหมอหน้าใส อธิบายความหมายให้ฟังแบบเข้าใจง่ายว่า แท้จริงแล้ว “โรคบีบี ทัมธ์” คือ โรคเอ็น หรือข้อที่เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณนิ้วหัวแม่มือนั่นเอง ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการใช้นิ้วหัวแม่มือกดไปยังปุ่มเล็กๆ บนอุปกรณ์ไอที ขนาดพกพามากเกินไป ทว่าแม้โรคนี้จะเกิดได้จากการใช้อุปกรณ์ไอทีหลากหลายชนิด แต่ด้วยความฮิตของเจ้าแบล็กเบอร์รี่ (Blackberry) หรือ ‘BB’ ‘บีบี’ นี่แหละ ที่เด่นดังเกินหน้าใคร จนถูกจับมาตั้งเป็นชื่อโรคให้เก๋ไก๋ ทันสมัย (แต่ไม่มีใครอยากเป็น)
       
       
“คำว่า ‘บีบี ทัมธ์’ เป็นคำที่เรียกตามชื่ออุปกรณ์ที่ฮิตขึ้นมา แต่จริงๆ แล้ว ‘บีบี ทัมธ์’ แปลว่าโรคของเอ็น หรือข้อที่เกิดการอักเสบขึ้นบริเวณนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งจะครอบคลุมได้หลายโรคเลย อันที่หนึ่งคือ เอ็นอักเสบบริเวณนิ้วหัวแม่มือ อันที่สองคือ โรคนิ้วล็อก นอกจากนี้ยังเกี่ยวโยงในคนที่มีอาการชาร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการมีพังผืดที่ข้อมือ แล้วก็มีอาการชามาที่นิ้ว หลักๆ ก็คือ 3 โรคนี้
       
       
ส่วนสาเหตุของ ‘บีบี ทัมธ์’ นั้น หลักๆ เกิดจากการใช้เยอะ คำว่า ‘ใช้เยอะ’ ก็หมายถึงใช้นิ้วหัวแม่มือเยอะกว่าปกติ เพราะนิ้วหัวแม่มือของคนเราสร้างมาเพื่อใช้ร่วมกับนิ้วอื่นๆ เช่น กำเพื่อหยิบของ แต่เดี๋ยวนี้มีการนำมาใช้กดบนอุปกรณ์ ทั้งมือถือ, PDA (Personal Digital Assistant-อุปกรณ์คอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก) อาจจะไม่ใช่แค่แบล็กเบอร์รี่ อาจจะเป็นไอโฟน หรือโทรศัพท์รุ่นไหนก็ได้ที่เราใช้นิ้วหัวแม่มือกดเยอะๆ อาจจะเกิน 1 ชั่วโมงขึ้นไป อย่างนี้ก็เรียกว่านานจนสามารถกระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้

  
       อันที่สองคือ ใช้ผิดท่า ปกติท่าทางการทำงาน กับอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกดโทรศัพท์ หรือใช้งานคอมพิวเตอร์ ควรจะเป็นท่านั่งตรง ส่วนการวางโทรศัพท์ก็ควรจะวางให้อยู่แนวราบ เช่น นำหมอนเล็กๆ มารองไว้ที่ตัก จะถือว่าดีที่สุด แต่ส่วนมากคนใช้บีบี หรือมือถือพิมพ์แชทกัน มักยกมือขึ้นมาแล้วกด ตามความเคยชิน ซึ่งถือเป็นท่าทางการใช้ที่ผิด”
       
       
นอกจากใช้เยอะ และใช้ผิดท่าแล้ว คุณหมอหน้าละอ่อนบอกด้วยว่า ในคนที่มีอายุเยอะ และใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นประจำ ก็ถือเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยง ที่สามารถเกิดโรคนี้ได้ง่ายขึ้นค่ะ
       
       
“สำหรับคนบางกลุ่ม จะมีความเสี่ยงในโรคนี้มากขึ้น เช่น คนที่มีอายุเยอะ ก็เป็นง่ายกว่าเด็กๆ เช่น 40 ปีขึ้นไป ก็มักจะมีปัญหาเรื่องของโรคข้อเสื่อมเริ่มต้นอยู่แล้ว ถ้ายิ่งไปใช้งานหัวแม่มือหนักๆ อีก ก็อาจจะเกิดอักเสบได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ในคนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำงานอยู่แล้วก็อักเสบได้ง่ายกว่าคนอื่น คือ เป็นปัจจัยกระตุ้น ซึ่งปัจจัยกระตุ้นนี้ไม่จำเป็นต้องใช้มือถือเยอะอย่างเดียว อาจจะเป็นไปในลักษณะพิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์เยอะๆ ข้อมือและเอ็นก็ใช้งานหนักอยู่แล้ว พอมาใช้ มือถือเพื่อพิมพ์แชทนานๆ อีก ก็ถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดโรคมากขึ้นไปอีก”
       
       
อาการใดคือ สัญญาณบอกเหตุ
       
       
คุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูอธิบายต่อ ให้เราได้โล่งอกว่า โรคบีบี ทัมธ์ นี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงค่ะ และปัจจุบันก็มีคนเป็นโรคนี้ไม่มาก ที่สำคัญหากคุณๆ รู้สึกถึงสัญญาณเตือนเบื้องต้นของการเป็นโรคแล้ว ปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่อไปนี้ ก็สามารถหายจากโรคได้เองโดยไม่ถึงกับต้องไปพบแพทย์เลยค่ะ
       
       
“ต้องอธิบายว่า ถ้าทางการแพทย์ จริงๆ แล้ว โรคนี้ก็ไม่ใช่โรคที่อันตราย ไม่ได้มีคนไข้เยอะมาก ก็คือมีเรื่อยๆ แต่ไม่ถึงกับเป็นโรคขึ้นมาหนักๆ เพราะว่าคนที่ใช้ บีบี หรือพวกเครื่องไอทีเล็กๆ ส่วนใหญ่ก็อายุยังไม่เยอะมาก อาจจะไม่ถึง 40 ปี คือยังเป็นวัยรุ่น หรือคนทำงานอยู่ เมื่อใช้แล้วมีอาการปวด แต่พอพักการใช้ แล้วอาการปวดหายไป ก็ไม่ต้องพบแพทย์
       
       
สำหรับอาการเบื้องต้นสามารถแบ่งได้ 4 ระดับคือ
       
       หลังใช้งาน ปวดนิ้วนิดหน่อย แต่ไม่เกินหนึ่งชั่วโมง อาการแรกๆ ปวดตอนใช้งาน ขณะกำลังเล่นอยู่เลย ใช้เสร็จ หรือกดเสร็จแล้ว อาการยังเจ็บยังมีอยู่นิดหน่อย ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงก็หายไป นี่คือ อาการแรก ปวดแต่ปวดไม่นาน
       
       
หลังหยุดใช้แล้ว ปวดนิ้วเกินหนึ่งชั่วโมง-เช้าอีกวันยังระบม เป็นอาการที่ปวดมากขึ้น และนานขึ้นอีก แปลว่าเมื่อหยุดใช้งานแล้ว ก็ยังปวดอยู่ อาจจะหลังหนึ่งชั่วโมงไปแล้วยังปวดอยู่ หรือว่าวันรุ่งขึ้นตื่นมายังรู้สึกระบมๆ อยู่ นี้คืออาการปวดขั้นที่สองนะคะ
       
       
นิ้วอ่อนแรง-นิ้วล็อกตอนเช้า ถ้าเป็นเยอะขึ้นมาอีกหน่อย อาจจะมีรู้สึกเหมือนนิ้วล็อก ก็คือตื่นเช้ามา ขยับนิ้วแล้วมันไม่สามารถที่จะงอ หรือว่าเหยียดได้ถนัด มากกว่านั้นก็คือ รู้สึกชา ซึ่งอาการชาก็อาจจะไม่ใช่แค่นิ้วเดียว อาจจะเป็นชาปลายนิ้วอื่นๆ ด้วย นอกจากนี้ยังรู้สึกอ่อนแรง ซึ่งอ่อนแรงก็อาจจะไม่ใช่ อ่อนแรงถึงขั้นนิ้วตก หรือขยับนิ้วไม่ได้ แต่แค่เวลาใช้นิ้วแล้วรู้สึกว่ามันใช้งานได้ไม่เหมือนปกติ เช่น กดแล้วไม่ค่อยมีแรง หรือแรงน้อยลง
       
       
หลังหยุดใช้แล้ว มีอาการบวมแดงอุ่นๆ อาการนี้มักเกิดในคนที่ใช้เยอะ และหนักจริงๆ เช่น เล่นเกมต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานมากๆ ก็อาจจะมีอาการบวมแดง อุ่นๆ นิดหน่อยตรงบริเวณนิ้วหัวแม่มือ”

  
       เมื่อพูดถึงระดับอาการแล้ว คุณหมอธนพร ก็ให้คำแนะนำในปฏิบัติตัวเบื้องต้นเมื่อเริ่มรู้สึกได้ถึงการปวดนิ้วหัวแม่มือ อันเป็นสัญญาณอันตรายของโรค บีบี ทัมธ์ มาด้วยค่ะ
       
       
“หากมีอาการปวด เจ็บ บวม หรือสงสัยว่าเราจะเป็นบีบี ทัมธ์ ข้อแรก ต้องพัก คำว่า ‘พัก’ ก็คือ ใช้ไม่เกินหนึ่งชั่วโมงแล้วหยุด อาจจะไม่ได้หยุดเล่นทั้งวัน เพราะบางคนอาจทำไม่ได้ แต่ที่แนะนำก็คือ พอเล่นครบหนึ่งชั่วโมงแล้ว ให้หยุดพักก่อน แล้วก็ค่อยกลับมาเล่นใหม่
       
       
ข้อสอง ถ้าเป็นเยอะมากถึงระดับที่สอง หรือสาม นั่นคือ แม้จะหยุดใช้เกินหนึ่งชั่วโมงแล้วยังไม่หาย ก็ขอให้หยุดยาวขึ้น หลีกเลี่ยงการใช้ไปสักพักหนึ่ง อาจจะหนึ่งวันเต็มๆ แต่ในกรณีคนที่ปวดแล้วบวมแดง อุ่นๆ ก็สามารถใช้การประคบเย็นช่วยได้เล็กน้อย อาจใช้เป็นคูลแพ็ค (Cool Pack) หรือนำน้ำแข็งห่อผ้ามาประคบ อันนี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่ช่วยได้ และข้อต่อมาถ้ายังไม่หายปวดอีก ก็สามารถซื้อยาแก้ปวดตามท้องตลาดทั่วไปทานก็ช่วยได้ ถ้ากินประมาณ 1-2 วันดีขึ้น ก็แสดงว่าไม่เป็นอะไรมาก แต่ถ้าดูแลตัวเองเบื้องต้นอย่างที่บอกมาแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรมาพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าตกลงสาเหตุของอาการเจ็บมันมาจากอะไรกันแน่”
       
       
หากรักษาเบื้องต้นด้วยตัวเองแล้วยังไม่หาย จะต้องถึงขั้นต้องผ่าตัดด้วยมั้ยคะ?
       
       
“เมื่อมาพบแพทย์ แพทย์จะวินิจฉัยว่า หากเป็นโรคนี้จริง ไม่ได้มีอย่างอื่น เช่น ไม่ได้เกี่ยวกับเส้นประสาทการควบคุมที่มาจากสมอง เป็นเอ็นอักเสบเฉยๆ ก็จะแนะนำให้พักอีก และรับประทานยาก่อน ซึ่งยาก็จะเป็นยากลุ่มลดการอักเสบ ให้กินต่อเนื่องกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ และในคนที่มีความจำเป็นต้องใช้งานตลอด เช่น ทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แพทย์อาจจะสั่งให้ใส่ที่พยุงนิ้วหัวแม่มือไว้ช่วยทุเลาอาการ แต่ตามหลักการจริงๆ นั้น การพักการใช้งานจะดีที่สุด
       
       
ถัดมา หากอาการยังไม่ดีขึ้นอีก ก็ต้องทำกายภาพบำบัด หมายถึง วิธีการที่ใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ มาลดการอักเสบเฉพาะจุด และท้ายที่สุดถ้าทำกายภาพบำบัดแล้วยังไม่ดีขึ้นอีก ถึงจะเป็นขั้นที่คุณหมอกระดูกอาจจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัด แต่พบไม่เยอะ ถ้าเกิดมาพบแพทย์เร็ว หรือเราไม่ได้ปล่อยให้ปวดเรื้อรัง ส่วนการผ่าตัด ถ้าเป็นโรค บีบี ทัมธ์ การผ่าตัดก็จะผ่าตัดขนาดเล็ก เพื่อสลายพังผืดออก ซึ่งผ่าตัดเล็กนี้ บางคนไม่ต้องอยู่โรงพยาบาลเลย ผ่าตัดเสร็จก็ออกไปพักที่บ้านได้” คุณหมอสาวอธิบายไขข้อข้องใจ

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น