รอยเลื่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว 3 แบบ (ซ้ายไปขวา) รอยเลื่อนปกติ, รอยเลื่อนย้อน ซึ่งทำให้เกิดแผ่นดินไหวเช่นเมื่อปี 2547 จนเกิดสึนามิที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 140,000 คน, รอยเลื่อนตามแนวระนาบ ซึ่งรอยเลื่อนส่วนใหญ่ในไทยเป็นรอยเลื่อนแบบนี้ และรอยเลื่อนเช่นนี้ทำให้เกิดแผ่นไหวเช่นเมื่อวันที่ 11 เม.ย.เหนือเกาะสุมาตรา และเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ จ.ภูเก็ต (ภาพประกอบจากวิชาการธรณีไทย geothai.net)
หลังเหตุแผ่นดินที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ภูเก็ตหลายคนอาจเชื่อมโยงว่าเป็นผลจากแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกาะสุมาตรา แต่นักธรณีมหิดลกล่าวว่ายังไม่สามารถเชื่อมโยงได้ชัดเจน พร้อมระบุประเทศไทยมี 15 แนวรอยเลื่อนมีพลังที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวได้เช่นกัน แต่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเหตุการณ์เช่นนี้ให้ได้และอย่าตื่นตระหนก
เมื่อวันที่ 16 เม.ย.55 ที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นับเป็นแผ่นดินไหวใหญ่ที่มีศูนย์กลางอยู่ในเมืองไทยซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ทราบหรือไม่ว่าประเทศไทยนั้งมีแนวรอยเลื่อนมีพลังถึง 15 รอยเลื่อน
รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ นักธรณีฟิสิกส์และหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลังถึง 15 รอยเลื่อน โดยส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ทางซีกตะวันตกของประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงภาคใต้ และรอยเลื่อนเหล่านี้ก็มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวเช่นที่เกิดขึ้นใน จ.ภูเก็ต แต่ยังไม่พบว่ามีรอยเลื่อนมีพลังพลาดผ่านตัวเมืองใหญ่ หากมีบริเวณพาดผ่านพื้นที่ชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่
นักธรณีฟิสิกส์จากมหิดลระบุว่ารอยเลื่อนมีพลังในไทยส่วนใหญ่เป็นรอยเลื่อนแนวระนาบ หรือรอยเลื่อนผ่านกันในแนวระนาบ และมีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราเมื่อวันที่ 11 เม.ย.55 และที่ จ.ภูเก็ตเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจากข้อมูลที่มีการบันทึกกันนั้นประเทศไทยเคยมีแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ที่ จ.กาญจนบุรี และเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในเมืองไทยเมื่อหลายพันปีก่อน แต่ไม่สามารถวัดได้ด้วยเครื่องมือ เนื่องจากมีเพียงร่องรอยทางธรณีวิทยา ซึ่งอาจต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
สำหรับ จ.ภูเก็ตนั้น รศ.ดร.วีระชัยกล่าวว่า มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวตลอดเวลาอยู่แล้วและมีโอกาสไหวอีก โดยครั้งนี้เกิดแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งถือว่าใหญ่พอสมควร แต่จากนี้ก็จะเกิดแผ่นดินไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อกขนาดเล็กกว่า ส่วนโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่านั้นเป็นไปได้แต่มีโอกาสน้อย ซึ่งคนในพื้นที่ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเหตุการณ์เช่นนี้ให้ได้
“ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเพราะแผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่อยากให้ผูกโยงว่าเพราะก่อนหน้านี้เคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่จึงเกิดแผ่นดินไหวนี้ขึ้น แต่เราตั้งสมมุติฐานได้ว่าเป็นไปได้ที่จะเป็นเช่นนั้น เพราะในทางวิทยาศาสตร์เราต้องศึกษาให้ชัดเจนก่อนจะสรุปเช่นนั้น” รศ.ดร.วีระชัยกล่าว
ภาพประกอบจากวิชาการไทย แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหวขนาดต่างๆ โดยเทียบความแรงกับระเบิดนิวเคลียร์ (ภาพประกอบจากวิชาการธรณีไทย)
แผนที่แสดงแนวรอยเลื่อนมีพลังในบริเวณต่างๆ ของประเทศไทย (กรมทรัพยากรธรณี)
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณีระบุรอยเลื่อนมีพลัง 15 รอยเลื่อน ได้แก่
1. รอยเลื่อนแม่จัน
2. รอยเลื่อนแม่อิง
3.รอยเลื่อนปัว
4.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
5.รอยเลื่อนแม่ทา
6.รอยเลื่อนพะเยา
7.รอยเลื่อนแม่ยม
8.รอยเลื่อนเถิน
9.รอยเลือนอุตรดิตถ์
10.รอยเลื่อนท่าแขก
11.รอยเลื่อนแม่เมย
12.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
13.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
14.รอยเลื่อนระนอง
15.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย
ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000047713
ความคิดเห็น