sagime
ดู Blog ทั้งหมด

คิดก่อนทิ้ง : 10 สิ่งใกล้ตัวที่นำกลับมาใช้ใหม่ (ได้ด้วย)

เขียนโดย sagime
คำว่า “รีไซเคิล” ฟังดูคุ้นหูมานานนับทศวรรษ สิ่งของบางอย่างก็ไม่น่าจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ก็น่าสนใจไม่น้อยทั้งการส่งต่อให้แบบมือสองอย่าง ยกทรง หรือ ถ้วยรางวัล และการแยกวัสดุเพื่อไปทำสิ่งอื่นๆ อย่าง เศษสีเทียนกลายเป็นแท่งใหม่ เส้นใยจากผ้ากลายเป็นฉนวน หรือยางจากรองเท้ากีฬากลายเป็นสนามกีฬา แม้แต่เซ็กซ์ทอยของที่ต้องแอบทิ้ง ก็ยังแยกย่อยใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง
       
       เพื่อต้อนรับ “วันคุ้มครองโลก” หรือ “เอิร์ธเดย์” (Earth Day 2012)
ไซแอนทิฟิกอเมริกันมีตัวอย่างการ “นำกลับมาใช้ใหม่” (รีไซเคิล) ในสหรัฐอเมริกา ด้วยการนำภาพสิ่งของที่เราสามารถนำไปรีไซเคิลได้ และเกิดประโยชน์แบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งบางกิจกรรมได้กลายเป็นบริษัทเพิ่มมูลค่ากันขึ้นมาได้เลย
       
       เศษสีเทียน แค่เปลี่ยนรูปก็ได้ของใหม่

 
เชื่อได้เลยว่า แทบทุกคนอยากสนุกกับสีเทียน เมื่อเห็นลูกหลานก้มหน้าก้มตาละเลงสีเทียนลงกระดาษบางครั้งพ่อแม่และผู้ใหญ่อย่างเรา ก็อดไม่ได้ที่จะแจม สีเทียนเป็นที่นิยมอย่างไม่ขาดสายใครๆ ก็มีติดบ้าน ทำให้เกิดผลิตมากมาย เฉพาะที่บริษัทเครยอลา (Crayola company) เพียงแห่งเดียวก็ผลิตสีเทียนมากกว่าวันละ 12 ล้านแท่ง
       
       เพราะสีเทียนมีเกลื่อนขนาดนี้ ลูแอน ฟอตี (LuAnn Foty) ในมลรัฐโคโลราโด สหรัฐฯ จึงเกิดความคิดที่จะให้ลูกๆ ของเธอได้ทำกิจกรรมงานฝีมือ โดยละลายสีเทียนที่เก่าแล้ว และนำกลับมาหลอมเป็นแท่งใหม่
       
       เมื่อไอเดียนี้เดินหน้าไปได้ด้วยดี ไม่แต่เฉพาะในบ้านของเธอ ฟอตี จึงได้ก่อตั้ง “เครซี แครยอนส์” (Crazy Crayons, LLC) ขึ้นในปี 1993 โดยมีเหล่าอาสาสมัครที่ช่วยรวบรวมสีเทียนที่ไม่ใช้แล้วจัดส่งมาให้ทางไปรษณีย์ ซึ่งปัจจุบันเธอสามารถสร้างสีเทียนได้มากถึง 2-3 ตัน อันเป็นงานแฮนด์เมดล้วนๆ
       
       ฟอตี เปิดโรงงานเล็กๆ อยู่ที่หลังบ้านของเธอ พร้อมกับผลิตสีเทียนมือสอง โดยละลายและนำมาหล่อในแม่พิมพ์คล้ายๆ การทำลูกอมออกมาเป็นทั้งรูปดาว ไดโนเสาร์ และคอลเลกชันล่าสุดเธอกำลังจะทำสีเทียนเป็นรูปคนในแบบต่างๆ
       
       ฟอตี บอกว่า ยังมีกล่องรับสีเทียนใช้แล้วตั้งไว้ตามจุดต่างๆ อีกมาก ซึ่งเธอเชื่อว่าจะรวบรวมได้ถึง 35,000 กิโลกรัมในเร็วๆ นี้ และที่เธอหันมาง่วนอยู่กับการทำสีเทียนมือสองนี้ เพราะต้องการให้ความรู้แก่เด็กๆ ในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งฟอตีเห็นว่า ถ้าเราสามารถปลูกฝังเด็กๆ ได้ เด็กๆ ก็จะไปบอกหรือสอนพ่อแม่ของพวกเขาต่อๆ ไปเอง
       
       เสิร์ฟแล้วเก็บด้วย : ลูกเทนนิสเหมือนใหม่เสมอ 

 
 ในระหว่างการแข่งขันเทนนิสแต่ละแมตช์ ดูเหมือนว่า ลูกเทนนิสสีเหลืองสะท้อนแสงจะหลุดหายออกไปนอกคอร์ตอย่างรวดเร็ว และรวมถึงเมื่อเราโยนลูกเทนนิสให้น้องหมาได้คาบเล่น ก็อันตราธานไปบ่อยมาก
       
       ข้อมูลจาก รีบองเซซ (reBounces) ระบุว่า แต่ละปีมีการผลิตลูกเทนนิสมากถึง 300 ล้านลูก นั่นหมายความว่า โลกเราได้รับขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกปีละ 17,000 ลูกบาศก์ตัน
       
       “รีบองเซซ” เป็นโครงการที่ช่วยรีไซเคิลลูกเทนนิสตั้งแต่ปี 2008 ด้วยเครื่องกรีนเทนนิสแมชีน (Green Tennis Machine) ซึ่งสร้างสภาวะแรงดันสูงให้เกิดขึ้นภายในเครื่อง ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับผสมก๊าซยิงเข้าสู่แกนของลูกเทนนิสเก่า ที่ไม่มีแรงดันภายในจนเด้งไม่ได้แล้ว
       
       จากนั้นทีมงานก็จัดส่งลูกเทนนิสเก่าที่เด้งดึ๋งเหมือนใหม่ ไปตามสมาคมกีฬาและโรงเรียนฝึกเทนนิสทั่วสหรัฐฯ พวกเขาส่งลูกเทนนิสไปกว่า 5 แสนลูกแล้ว ซึ่งแคนนอน เฟลตเชอร์ (Cannon Fletcher) ผู้ร่วมก่อตั้งรีบองเซซ บอกว่า ลูกบอลสามารถกระเด้งกลับ (rebounced) ได้หลายครั้ง ซึ่งเจ้าเครื่องกรีนเทนนิสแมชีนนี้ สามารถช่วยให้ใช้ลูกบอลเก่าได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
       
       เราสว่าง โลกเบาใจด้วย “ไฟกะพริบ” ประหยัดพลังงาน


 
หลังจากหลอดไฟแอลอีดี (LEDs) ซึ่งประหยัดพลังงานได้มากกว่า เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย พวกเราก็เริ่มประดับประดาอาคารบ้านเรือนและท้องถนนในยามเฉลิมฉลองด้วยไฟกะพริบสารพัดรูปแบบจากเทคโนโลยีส่องสว่างล่าสุด
       
       ทว่า ยังมีผู้คนจำนวนมากที่ใช้หลอดไฟแบบเก่าอยู่ “ฮอลิเดย์แอลอีดีดอตคอม” (HolidayLEDS.com ) จึงออกแผนรณรงค์เพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยให้ผู้ที่สนใจ ส่งหลอดไฟแบบเก่ามาทางไปรษณีย์ แล้วพวกเขาจะได้รับส่วนลด 25% เพื่อนำไปซื้อชุดไฟกะพริบหลอดแอลอีดี
       
       โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา ซึ่งฟิลิป เคอร์ติส (Philip Curtis) ประธานฮอลิเดย์แอลอีดีส์ดอตคอม ในแจ็กสัน มลรัฐมิชิแกน สหรัฐฯ เผยว่า เขาได้รับไฟและอุปกรณ์ปีละ 13,500 กิโลกรัม ทั้งชิ้นเล็กชิ้นน้อย และที่เป็นวัตถุดิบของไฟกะพริบ ทั้งพลาสติกพีวีซี แก้ว และสายไฟลวดทองแดง
       
       อีกทั้งหลายองค์กรก็เริ่มนำเสนอโครงการรีไซเคิลเหล่าดวงไฟที่ประดับประดากันในวันหยุด ซึ่งเคอร์ติสเห็นว่าเป็นการรณรงค์ที่เดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วกว่าที่คิดไว้
       
       ผ้าฝ้ายกลายเป็นฉนวนกันความร้อน


 
 เสื้อผ้าที่เราสวมใส่ส่วนใหญ่ แม้ว่าจะประหยัด ซ่อม ปะ แก้แล้วขนาดไหน ท้ายที่สุดก็ต้องทิ้ง ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency) ระบุว่า ในแต่ละปีชาวอเมริกันทิ้งเสื้อผ้าเฉลี่ย 32 กิโลกรัม จึงทำให้เกิดโครงการ “คอตตอน ฟร์อม บลูทูกรีน” (Cotton. From Blue to Green) เป็นการนำชุดผ้าฝ้ายโดยเฉพาะผ้ายีนส์ (ซึ่งแทนด้วยสีน้ำเงิน) มารีไซเคิลเป็นฉนวนกันความร้อน โดยนำเส้นใยของชุดผ้าฝ้ายมาใช้ในการผลิต
       
       คอตตอน อิงค์ (Cotton, Inc.) รับหน้าที่ประสานงานร่วมกับอีกหลายบริษัท โดยอ้างว่า เส้นใยฝ้ายที่ทำเป็นฉนวนนั้น ใช้เทคโนโลยี “อัลตราทัช” (UltraTouch) มีสมรรถนะควบคุมความร้อนได้ดีเหมือนกับไฟเบอร์กลาส และซับเสียงได้ดีกว่า 30%
       
       ตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา เสื้อผ้าฝ้ายมากกว่า 5 แสนชิ้น ได้รับการรวบรวม และกลายเป็นเส้นใยฉนวนพื้นที่ 140,000 ตารางเมตร และยังได้เส้นใยบางส่วนทำที่หุ้มฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์เครื่องเขียน
       
       บราเก่าเราไม่ใช้ ส่งต่อให้คนไร้บ้าน 


 
 การนำเสื้อยกทรง (บรา) ของคุณผู้หญิงกลับมาใช้ใหม่นั้น ดูเป็นเรื่องที่น่าประหลาด จนอีเลียน เบิร์คส์ มิตเชลล์ (Elaine Birks-Mitchell) ผู้ก่อตั้ง “บราส์” (Bras) ตั้งแต่ปี 2008 ต้องตอบคำถามอย่างละเอียดหลายครั้งว่างานของเธอคืออะไรกันแน่  
       
       “มันเป็นสิ่งที่คนคิดว่าไม่จำเป็นต้องรีไซเคิล แต่เมื่อเรามีโครงการออกไป เราก็ได้รับบราที่ใช้แล้ว และยังไม่ได้ใช้เป็นร้อยๆ ตัว” มิตเซลล์ เล่า จากนั้นเธอก็ได้นำบรามือสองที่ได้รับบริจาค ส่งต่อไปยังคนไร้บ้านและบ้านพักฉุกเฉินทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก
       
       นอกจากนี้ บราที่ไม่สามารถใช้งานต่อได้ ก็ถูกส่งต่อไปเพื่อสกัดเส้นใยออกมาทำเป็นฉนวนหรือพรม ซึ่ง มิตเซลล์ บอกว่า เธอได้รับจดหมายขอบคุณกลับมาอยู่ตลอดเวลา เพราะเสื้อยกทรงนั้นแม้จะเป็นเสื้อผ้าประจำตัวของผู้หญิงที่ดูธรรมดา แต่มันก็มีความหมายมากสำหรับคนที่ไม่มีเงินจะซื้อใส่
       
       ชัยชนะไม่ใช่การครอบครอง : ถ้วยรางวัลแบ่งๆ กันไป



 
 ความสามารถของใครที่มีมากมายล้นตู้จนเกินจะเก็บไหวไปบ้างหรือเปล่า ทั้งถ้วย โล่ เหรียญ ทอง เงิน ทองแดง ไม้ แก้ว และอีกสารพัดวัสดุ ที่ได้มาตั้งแต่วัยเยาว์ แล้วเราก็ต้องพากเพียรขัดให้เงาวับกันอยู่บ่อยๆ ความสำเร็จแบบนี้ ใครๆ ก็อยากเก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่ถ้ามันเยอะนักขอแนะนำให้เป็นสมบัติผลัดกันชมดีกว่า
       
       ที่สหรัฐฯ มีหลายบริษัทที่ให้บริการจัดเก็บถ้วยรางวัลนำไปรีไซเคิลแยกวัสดุต่างๆ แต่ที่โททอล อะวอร์ดส์ แอนด์ โพรโมชันส์ อิงค์ (Total Awards & Promotions, Inc.) ซึ่งตั้งมา 23 ปีแล้ว ได้มีแนวคิดที่แตกต่างออกไป โดย ดอนนา เกรย์ (Donna Gray) ประธานบริษัท ได้นำถ้วยรางวัลที่ไม่ใช้แล้วไปบริจาคให้กับองค์กรต่างๆ
       
       เมื่อได้รับถ้วยหรือเหรียญรางวัลเก่ามา พนักงานและอาสาสมัครจะช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งให้สวยงามเหมือนใหม่ แล้วจัดส่งให้องค์กรไม่หวังผลกำไร อย่าง ฮาบิแทต ฟอร์ ฮิวแมนิตี (Habitat for Humanity) และ สเปเชียล โอลิมปิกส์ (Special Olympics)
       
       ตลอดเวลากว่า 23 ปี ที่เกรย์เปิดบริษัททำกิจกรรมนี้ ปัจจุบันมีถ้วยรางวัลในคลังพร้อมส่งให้หน่วยงานต่างๆ กว่า 5,000 ชิ้น โดยมีผู้ส่งถ้วยและเหรียญรางวัลผ่านทางไปรษณีย์ ทั้งจากสหรัฐฯ แคนาดา และเปอร์โตริโก เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
       
       จุกคอร์กไม่ใช้ อย่าปล่อยเหงาในลิ้นชัก

 

 เมื่อเราเปิดขวดไวน์แล้ว ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยโยนจุกไม่คอร์กทิ้ง แต่มักเก็บจะเก็บไว้ตามลิ้นชักหรือสะสมไว้ในโหล เพื่อนับจำนวนไวน์ที่เราดื่มๆ ไป
       
       แต่ แพทริก สเปนเซอร์ (Patrick Spencer) ผู้อำนวยการคอร์ก ฟอเรสต์ คอนเซอร์เวชัน อะไลแอนซ์ (Cork Forest Conservation Alliance) เห็นว่าจุกไม้คอร์กมีประโยชน์มากกว่าจะนอนอยู่เฉยๆ เขาจึงจัดโครงการ “คอร์ก รีฮาร์เวสต์” (Cork ReHarvest) ขึ้นในปี 2008 โดยจัดที่ทิ้งจุกไม้คอร์กตามร้านอาหาร โรงแรม ร้านไวน์ สถานที่จัดแสดงงานต่างๆ จนปี 2011 มีจุกไม้คอร์กในโครงการถึง 27 ลูกบาศก์เมตร หรือจุกไม้ 6 ล้านชิ้น
       
       จุกไม้ที่ได้รับบริจาคทั้งหมดนี้ ทางโครงการได้ส่งต่อให้ไปเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบในการผลิตแผ่นกระเบื้องปูพื้น ฟอร์นิเจอร์ ถาดรองแก้ว และอื่นๆ อีกมากมาย
       
       “เซ็กซ์ทอย” ใช้แบบผู้ใหญ่ก็ต้องทิ้งแบบผู้ใหญ่

  

   แม้ว่าการรีไซเคิลพวกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เวสต์ (e-waste) จะเป็นที่นิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ แต่ของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ อย่างเครื่องสั่นก็ยังคงตรงลงถังขยะอย่างไม่ใยดีต่อการนำกลับมาใช้ใหม่
       
       วิคกิ ครีนเออร์ (Vicki Kriner) สมาชิกผู้ก่อตั้ง “สการ์เล็ต เกิร์ล” (Scarlet Girl) บริษัทผลิตอุปกรณ์เพิ่มความหฤหรรษ์สำหรับผู้ใหญ่ เห็นว่า เซ็กซ์ทอย เฉพาะที่อยู่ตามห้องนอนของชาวอเมริกันน่าจะมีมากกว่าล้านชิ้น ถ้าไม่ใช้แล้ว พวกเขาก็ทิ้งมันลงถังขยะ จึงได้ตั้งโครงการ “เซ็กซ์สเตนอะบิลิตี” (Sexstainability) ขึ้น
       
       โครงการนี้ชี้ให้ลูกค้าที่ซื้ออุปกรณ์เซ็กซ์ทอย เห็นว่า การทิ้งของเหล่านี้ก็เหมือนการทิ้งโทรศัพท์มือถือ ที่ต้องแยกพิเศษเฉพาะ เพราะมีทั้งพลาสติก ซิลิโคน แผ่นชิป และอุปกรณ์อื่นๆ ที่แยกวัสดุนำไปรีไซเคิลได้
       
       ทางโครงการได้แนะนำให้ผู้ที่ซื้อเซ็กซ์ทอยไป สามารถส่งไปรษณีย์กลับคืนมาที่บริษัท (แต่ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อน) อุปกรณ์ส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี และพวกเขาก็จะได้ส่วนลด 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับการซื้อเซ็กซ์ทอยออนไลน์ครั้งต่อไป
       
       รองเท้ากีฬาสร้างสนามกีฬา


 
 ไนกี้ (Nike) พยายามหาวิธีไม่ให้รองเท้า 25 ล้านคู่ ต้องกลายเป็นขยะที่ถูกฝังกลบ จึงได้ตั้งโครงการ “รียูซ-อะ-ชู” (Reuse-A-Shoe) ขึ้นในปี 1993
       
       รองเท้าของไนกี้ประกอบขึ้นด้วยวัสดุหลัก 3 ชนิดด้วยกัน คือ ยาง โฟม และสิ่งทอ เมื่อแยกวัสดุต่างๆ ออกแล้วก็นำส่งไปเป็นวัสดุสำหรับสร้างสิ่งสนับสนุนการกีฬา
       
       ยางบดใช้ราดเป็นพื้นผิวของลู่วิ่ง หรือสนามเด็กเล่น โฟมเป็นส่วนประกอบก่อสร้างคอร์ตสังเคราะห์สำหรับบาสเกตบอล เทนนิส และฟุตบอล ส่วนสิ่งทอส่งไปประกอบเป็นวัสดุพื้นผิวต่างๆ สำหรับกีฬาขี่ม้า และทำเป็นที่รองนั่งในสนามบาสเกตบอล
       
       ไนกี้ทำที่ทิ้งรองเท้าไว้ตามร้านขายอุปกรณ์กีฬาต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ และในบางประเทศ
       
       ฝาขวดทำลายยาก แค่ช่วยแยกส่งโรงย่อย

 

 ฝาขวดน้ำ ฝากระปุกต่างๆ นานาซึ่งทำจาก โพลีโพรไพลีน (Polypropylene : PP) ซึ่งได้รับการจำแนกเป็นพลาสติกหมายเลข 5 (Resin Identification Code 5) นั้นสร้างความลำบากในการรีไซเคิลในระดับท้องถิ่นอยู่พอสมควร
       
       พอลิเมอร์สังเคราะห์ชนิดนี้ ถูกนำไปขึ้นรูปเป็นกล่องเครื่องมือ กระเป๋า กล่องและตลับเครื่องสำอาง เครื่องใช้ในครัวเรือน ซึ่งการสกัดเรซินในส่วนประกอบกลับมาใช้ใหม่นั้น มีข้อจำกัดอยู่ ทั้งมูลค่าทางการตลาดต่ำ และโดยเฉพาะพวกฝาขวดที่แข็งมากจนอาจสร้างปัญหาให้แก่อุปกรณ์รีไซเคิลของท้องถิ่น ท้ายที่สุดจึงจบที่การฝังกลบ
       
       อเวดา (Aveda) บริษัทผลิตเครื่องสำอาง ได้คิดที่จะช่วยให้เกิดการรีไซเคิลฝาขวดพลาสติกมากกว่าการปล่อยให้ถูกฝังตามหลุมขยะที่อีกหลายร้อยปีกว่าจะได้นย่อยสลาย จึงได้เริ่มโครงการในปี 2008 ทำหน้าที่รวบรวมสิ่งเหล่านี้จากท้องถิ่น ส่งต่อให้ที่ที่มีอุปกรณ์และศักยภาพเพียงพอในการรีไซเคิล
       
       ปัจจุบันมีโรงเรียนกว่า 1,700 แห่ง พร้อมทั้งองค์กรต่างๆ อีกหลายสิบแห่งลงนามร่วมส่งฝาขวดเข้าร่วมโครงการ ซึ่งอเวดาสามารถจัดส่งฝาขวดกว่า 100 ล้านชิ้น ซึ่งเป็นพลาสติกหนักประมาณ 385,500 กิโลกรัม สู่บริษัทรีไซเคิลในมลรัฐแอลาบามา ซึ่งมีความสามารถจัดการกับพลาสติกหมายเลข 5 ได้เป็นอย่างดี
       
       ชัค เบนเน็ตต์ (Chuck Bennett) รองประธานฝ่ายห่วงใยโลกและชุมชม ของอเวดา บอกว่า ตอนนี้ในระดับท้องถิ่นหลายแห่งเริ่มมีอุปกรณ์ในการรีไซเคิลพลาสติกหมายเลข 5 เป็นการเฉพาะแล้ว นี่น่าจะทำให้เกิดกิจกรรมทำนองนี้มากขึ้น อย่างที่อเวดาได้เริ่มทำ

       หลายสิ่งหลายอย่างเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ก่อนลงถึงถังขยะก็กลายเป็นไอเดียที่น่าสนใจ หากเราไม่มีศักยภาพในการแยกวัสดุ ก็สามารถทำเป็นของมือสองส่งต่อให้ผู้ที่ต้องการ หรือมีส่วนร่วมรวบรวมส่งของเหลือใช้ถึงมือผู้ที่มีความสามารถแปรรูป เพียงเท่านี้ก็ช่วยลดขยะ และเกิดการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดภาระให้แก่โลกที่เราอยู่

ที่มา
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9550000049780

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น