ค่าน้ำนม คอลัมน์ For a Song ท่องโลกผ่านเพลง โดย ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช มติชน 12 ส.ค.2555
รู้ไหมว่าใครเป็นคนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด "วันแม่แห่งชาติ" ขึ้นในประเทศไทย?"
นักเพลงรุ่น "สงครามโลก (ครั้งที่ ๒)" ถามหลานๆ และเหลนๆ ซึ่งพากันกูเกิ้ลนิ้วเป็นระวิงก่อนจะช่วยกันตอบว่า
"จอมพล ป."
เพราะ เห็นว่าวันแม่แห่งชาติเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2493 ซึ่งเป็นยุคที่จอมพล ป. เป็นนายกฯ (ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นวันที่ 12 สิงหาคม ในปี พ.ศ. 2519 ส่วนที่จัดมาบ้างก่อน พ.ศ. 2493 ไม่ใช่วัน "แห่งชาติ" )
พอเจ้าของคำถามส่ายหน้า หลานที่เป็นผู้หญิงเลยเดาต่อว่า คงเป็น
"ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม"
เพราะท่านผู้หญิงคงสนใจจะให้มีวันแม่มากกว่าท่านผู้ชาย
เฮ่อ...
เดายังไงก็ผิด
คนสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิด "วันแม่แห่งชาติ" ขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่ท่านผู้หญิง ท่านผู้ชายที่ไหน แต่เป็นนักแต่งเพลงชั้นครู
ครูไพบูลย์ บุตรขัน คนที่แต่งเพลง "ค่าน้ำนม" นั่นยังไงล่ะ
ครูไพบูลย์แต่ง "ค่าน้ำนม" ขึ้นร่วมหนึ่งปีก่อนที่รัฐบาลจะจัดให้มีวันแม่แห่งชาติ
ว่า กันว่า "ค่าน้ำนม" ของครูฮิตเหลือเกิน จับใจแฟนเพลงสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่ารากหญ้าหรือศักดินาล้วนซาบซึ้งกับ "ค่าน้ำนม" ไม่น้อยหน้ากัน
ซาบ ซึ้งมากกว่าสมัยนี้แยะ เพราะเป็นยุคที่เด็กไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มกินนมผงของฝรั่ง เกือบร้อยทั้งร้อยยังอาศัยนมจากเต้าของแม่ทั้งนั้น
แผ่นเสียง "ค่าน้ำนม" ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนต้องขึ้นราคาเพราะปั๊มแผ่นไม่ทัน สถานีวิทยุ (ซึ่งมีไม่กี่แห่ง) และโรงภาพยนตร์ (มีไม่กี่แห่งเหมือนกัน) หรือร้านค้า เปิดเพลง "ค่าน้ำนม" กันไม่รู้เบื่อ ด้วยแฟนเพลงเรียกร้อง
เปิดมากๆ แผ่นก็สึก เริ่มตกร่อง?
"แม่นี้มีบุญคุณอันใหญ่หลวง
ที่เฝ้าหวงห่วงลูกแต่หลัง
เมื่อยังนอนเปล?
นอนเปล?
นอนเปล?
นอนเปล?"
ว่ากันว่า คนฟังในโรงหนังหัวเราะกันเกรียว เห็นภาพแม่ไกวเปลจนลูกเวียนหัว
สมัย นั้นแผ่นเสียงยังทำจากครั่งสีดำ (ซึ่งฝรั่งเรียกสั้นๆ ว่าแว็กซ์แทนที่จะเรียกเชลแล็ก) ทั้งหนาและหนัก เพราะมีขนาดกว้าง 10 นิ้ว คือประมาณจานข้าว แผ่นครั่งนี้จะหมุนด้วยสปีด 78 คือ 78 รอบต่อนาที บรรจุหน้าละเพลง แผ่นหนึ่งจึงมีแค่สองเพลง
นอกจากจะหนาและหนักแล้ว แผ่นครั่งยังเก็บยากด้วย ร้อนไปก็งอ ตกก็แตกง่าย กระแทกนิดก็บิ่น
เครื่องเล่นแผ่นเสียงมีเข็มที่ครูดไปตามร่องบนแผ่น เล่นมากๆ ร่องจะสึก เกิดอาการตกร่องอย่างที่เล่าไปแล้ว
พอแผ่นเสียก็ต้องไปซื้อใหม่ จำเป็นต้องมีไว้เปิดเอาใจแฟนเพลง หากแผ่นขาดตลาด ร้านขายแผ่นเสียงก็จะโก่งราคาขึ้นแพงกว่าปกติ
ความ นิยมของประชาชนมีมากจนมีข้าราชการหัวใสเสนอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมือง พิจารณาจัดงาน "วันแม่แห่งชาติ" ขึ้นในวันที่ 15 เมษายน 2493 อย่างที่เล่าไปข้างต้น
ท่านผู้ใหญ่เหล่านั้นคงนึกไม่ถึงว่า วันข้างหน้า ท่านจะต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากับครูไพบูลย์ บุตรขัน เพราะครูจะแต่งเพลงบรรยายชีวิตและความทุกข์ยากของชนชั้นแรงงาน จนท่านผู้ใหญ่ระคายหู เรียกเพลงของครูว่าเป็นเพลงคอมมิวนิสต์
ยิ่ง เพลงที่วิจารณ์การโกงกินของข้าราชการหรือของนักการเมือง ยิ่ง "ฟังไม่ได้" หลายเพลงถูกห้ามเปิด ห้ามขาย ห้ามบรรเลงเพราะเกรงจะทำให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ
ทางการ อยากให้ประชาชนรู้สึกว่า เมืองไทยเรานี้แสนดีนักหนา ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวไปทุกแห่งหน และหากประชาชนว่าง่าย ไม่ดื้อ ไม่ซน แค่ "ตามผู้นำ" ชาติก็จะเจริญ
สมัยที่ครูเริ่มเป็นที่รู้จัก เพลงไทยสากลยังไม่ได้แบ่งประเภทเป็นลูกทุ่ง-ลูกกรุง แต่สมัยนี้จะจัดเพลงส่วนใหญ่ของครูไพบูลย์ไปอยู่ในประเภทลูกทุ่ง อย่างเพลง กลิ่นโคลนสาบควาย น้ำค้างเดือนหก ชายสามโบสถ์ ยมบาลเจ้าขา หรือ โลกนี้คือละคร ที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้วในคอลัมน์นี้
ชีวิตของครูไพบูลย์มีขึ้นอย่างสูงสุด แต่งเพลงอะไรก็ฮิตไปหมด เหมือนไร่นาที่อุดมสมบูรณ์ ปลูกอะไรก็ให้ดอกผลมากมาย อยู่หลายปี
แล้ว พลันก็เกิดภัยแล้ง น้ำเหือด นาแห้ง ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น?ครูแต่งเพลงอะไรออกมาก็ไม่เป็นที่นิยม นักร้อง บริษัทแผ่นเสียง วงดนตรีที่เคยเก็บดอกผลจากสมองอันอุดมสมบูรณ์ด้วยคำร้องและทำนองของครูก็ เริ่มถอยห่าง ตีจากไป
เป็นช่วงที่ครู "ดวงตก" อย่างที่สุด
นอกจากนี้ครูไพบูลย์ยังมีโรคเรื้อนเป็นโรคร้ายประจำตัว ในสมัยที่การแพทย์ยังไม่เจริญ การเงินก็ขัดสน ทำให้โรคมีแต่รุนแรงขึ้น
เล่า กันว่า ส่วนใหญ่ครูเก็บตัวอยู่ในบ้าน ไม่พยายามออกไปให้ใครพบเห็น คนรู้จักส่วนใหญ่ก็ตีตัวออกห่าง มีแม่คนเดียวเท่านั้นที่อยู่ดูแลใกล้ชิดตราบจนวันสุดท้ายของชีวิตแม่
แม่ ที่ "มีบุญคุณอันใหญ่หลวง" ของครูไพบูลย์ เป็นแม่แสนประเสริฐ จนไม่น่าแปลกใจที่ครูจะประพันธ์เพลงยกย่องแม่ได้กินใจนักฟังทุกรุ่น ทุกวัย
จากวันนั้นถึงวันนี้ "ค่าน้ำนม" เป็นเพลงยอดนิยมของคนไทยมากว่า 60 ปีแล้ว
นานกว่าที่เมืองไทยมี "วันแม่แห่งชาติ" มาเสียอีก
ที่มา http://forums.goosiam.com/html/0025518.html
ความคิดเห็น