sagime
ดู Blog ทั้งหมด

'สังคมก้มหน้า' แนะปรับพฤติกรรมก่อนสาย

เขียนโดย sagime

 



ปัจจุบันไม่ว่าจะเดินทางไปไหนมาไหนกับครอบครัว เพื่อน พี่น้อง หรือว่ามองไปที่คนรอบข้างมักจะเห็นแต่ละคนต่างนั่งก้มหน้าอยู่กับหน้าจออุปกรณ์สื่อสารของตัวเองกันแทบทั้งสิ้น จึงทำให้เกิดศัพท์บัญญัติใหม่ในโลกออนไลน์ชื่อ 'สังคมก้มหน้า" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่มีผลกระทบอยู่ไม่น้อย หากเรายังปล่อยปละละเลยให้สังคมเป็นเช่นนี้ต่อไป

พญ.พรรณพิมล วิปุลากรรองอธิบดี กรมสุขภาพจิต ให้ความรู้ว่า สถานการณ์ที่เราเห็นร่วมกันในขณะนี้ความจริงแล้วมีการคาดการณ์กันมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่เริ่มมีเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเข้ามาว่าพอไปถึงจุดหนึ่งคนจะอยู่กับเทคโนโลยีที่ตอบสนองตัวเราเองมากขึ้นและสามารถทำอะไรได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการติดต่อสื่อสาร ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้ดึงความสนใจให้เราไปอยู่ที่หน้าจอโทรศัพท์ และตามมาด้วยคำที่ใช้กันว่า 'สังคมก้มหน้า" เพราะว่าตัวหน้าจอโทรศัพท์ทำให้เราต้องก้มลงไปดูอย่างไม่มีทางเลือก

พฤติกรรมแบบนี้หากไปดูในหลายประเทศอาจจะเคยเห็นสิ่งนี้มาก่อน อย่างเช่น ในประ เทศญี่ปุ่นเพราะไม่อนุญาตให้เปิดเสียงโทรศัพท์เวลาอยู่ในรถสาธารณะ จึงเห็นว่าคนญี่ปุ่นเวลาขึ้นรถไฟสาธารณะหรือรถรางต่างๆ จะเปลี่ยนมาใช้เป็นระบบแชตในการสื่อสารแทน ทำให้ไม่มีเสียงโทรศัพท์และไม่มีการรับโทรศัพท์บนรถสาธารณะ ภาพคนญี่ปุ่นก้มหน้าอยู่กับอุปกรณ์สื่อสารของตัวเองจึงมีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ส่วนในประเทศไทยยังมีผสมกันอยู่ทั้งรับสายโทรศัพท์และก้มหน้าอยู่กับหน้าจอมือถือในพื้นที่สาธารณะ

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยส่วนมากสามารถเห็นปรากฏการณ์สังคมก้มหน้าได้บนรถไฟฟ้า แต่ปัจจุบันสามารถเห็นได้ในที่สาธารณะทุกแห่ง เช่น ร้านอาหาร จะเห็นว่าเมื่อสั่งอาหารเสร็จแล้วต่างคนก็ต่างก้มหน้าอยู่บนจอมือถือของตัวเองอย่างอัตโนมัติ ซึ่งหากมองในแง่ดีก็มี เช่น ประเทศญี่ปุ่นสาเหตุที่ไม่ให้ใช้โทรศัพท์บนรถไฟเพราะจะได้ไม่มีเสียงที่รบกวนออกมา หรืออีกข้อดีระบบที่สื่อสารกันเป็นระหว่างคน 2 คน ไม่เหมือนการพูดคุยโทรศัพท์ในที่สาธารณะที่คนอื่นจะได้ยินว่าเราคุยอะไรกัน นอกจากนี้ยังเป็นการสื่อสารที่ทำให้คนเราเริ่มค้นพบมุมที่เป็นความสนใจของตัวเองที่เมื่อก่อนอาจจะไม่มีพื้นที่มาก แต่ตอนนี้เริ่มเห็นมีการรวมตัวกัน เช่น คนที่ชอบภาพสีน้ำเหมือนกันก็มีการส่งความสนใจให้กันและกันและขยายวงกว้างมากขึ้น

โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่นจะเห็นการสร้างผลงานของวัยรุ่นและเยาวชน เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เราเห็นเรื่องดีๆ เช่น วัยรุ่นคนหนึ่งระดมเพื่อทำให้เกิดเงินทุนเข้ามา เหมือนกับน้องคนหนึ่งที่ทำให้กับตำรวจตระเวนชายแดน ถามว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงทำได้ไม่ง่าย แต่ว่าตอนนี้คนที่ก้มหน้าอยู่บนจอโทรศัพท์มือถือทำให้ช่วงเวลาสั้น ๆ มีการ กระจายหรือขยายสิ่งที่คนเรามีความสนใจบางอย่างได้อย่างรวดเร็วและเข้าไปถึงสิ่งสนใจได้ในวงกว้างมากขึ้น

ถ้ามองในมุมนี้จะเห็นว่าหากเด็กและเยาวชนรู้จักใช้เพื่อการเรียนรู้ ซึ่งพบว่าอุปกรณ์เหล่านี้บางทีเป็นการส่งเสริมสร้างการเรียนรู้บางอย่าง เพราะการเรียนบนกระดานดำอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบโจทย์ของตัววัยรุ่นเอง แต่สิ่งนี้อาจจะใช้เป็นการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขณะเดียวกันก็สร้างความเป็นตัวตนของวัยรุ่น เช่น ความสนใจ ความชอบ และผลงานที่ทำถูกส่งต่อและมีผู้คนรับรู้จึงตอบโจทย์วัยรุ่นทางจิตวิทยาได้ดีว่ามีกลุ่มคนที่สนใจ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรา แต่ยังมีคนอื่น ๆ ที่ชื่นชมในความสามารถและมีการรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน

ผลบวกทั้งหมดที่กล่าวมามีประเด็น 2 ส่วนที่เป็นผลทำให้มีผลกระทบทันที คือ 1. เรื่องการใช้เวลากับสิ่งเหล่านี้ แม้สิ่งที่เราทำจะเป็นประโยชน์ ถ้าก้มหน้าได้อย่างเดียวแต่เงยหน้าขึ้นมาไม่ได้เลย 

ในแง่การใช้เวลากับมันมากเกินไปจนเริ่มรบกวนสิ่งที่เรียกว่า การทำหน้าที่ปกติ เช่น ถึงเวลาต้องรับประทานอาหาร แต่รู้สึกว่าไม่กินก็ได้ หรือถึงเวลาต้องนอนก็ไม่นอน ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ได้

อีกอย่างต้องยอมรับว่าการสื่อสารผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ทดแทนการพูดคุยแบบเผชิญหน้ากัน ไม่ใช่แปลว่าเรามีเพื่อนมากมายอยู่ใน Facebook หรือใน Line แต่ในความเป็นจริงหากเราไปไหนแล้วไม่มีคนคุยด้วยหรือคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ไม่มีเพื่อนในสังคมจริง ไม่ได้แปลว่าคุณมีเพื่อน เพราะว่าทักษะทางสังคมที่เรียกว่า "Face to face" การมองหน้าหรือสบตากัน การมีจังหวะในการพูดคุย บางคนเสียไปเลย เช่น เวลาจะพูดกับคนอื่นรู้สึกประหม่า หรือว่าไม่เข้าหาคนอื่น หรือวางตัวไม่ถูก หรือว่าภาษาเป็นปัญหา เพราะภาษาที่ใช้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ค่อยปกติ  ยิ่งถึงเวลาเป็นเรื่องของทางการมักเริ่มมีปัญหาว่าจะพูดภาษาที่เป็นทางการอย่างไร

2. โทรศัพท์มือถือนับเป็นของเล่นอย่างหนึ่งเพื่อผ่อนคลาย ถ้าใช้มันเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อการเรียนรู้อื่นใดเลย มันจะเริ่มเสียของเพราะระบบช่วยให้เราสื่อสารเพื่อความเข้าใจกันได้ แต่ถ้าในนั้นมีแต่เรื่องไม่เป็นสาระ จึงทำให้หมดเวลาไปมากและไม่ได้เกิดการเรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์เลย หรือยิ่งเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เหมาะก็อาจทำให้เรากลายเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะมีคนเข้ามาเพื่อพยายามใช้ประโยชน์หรือทำอะไรที่ไม่ดี เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับคนที่ไม่รู้จักวัตถุประสงค์เข้ามาและกลุ่มเหล่านี้มักจะมีทักษะของการที่จะจับได้ว่าเรามีอารมณ์อย่างไรเพื่อแทรกเข้ามาตรงอารมณ์ที่อ่อนไหวและหาประโยชน์ ทำให้มีผลทางลบบางอย่างตามมา

 

การสังเกตว่าตัวเราหรือคนรอบข้างติดอุปกรณ์เหล่านี้ หลักๆ กลุ่มที่ 1 อาจดูจากเรื่องของการจัดการเวลาว่า หากถึงเวลาที่ต้องทำอะไรสามารถทำได้ตามปกติหรือไม่ ไม่มีภาวะอารมณ์เข้ามา ซึ่งบางคนรู้สึกหงุดหงิด หรืออีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องสมาธิที่สังเกตตัวเองง่าย ๆ ว่าถึงเวลาที่ต้องทำกิจวัตรประจำวันอย่างอื่นรู้สึกเสียสมาธิหรือไม่ เช่น วางอุปกรณ์ไปได้สักพักรู้สึกสิ่งที่กำลังทำอยู่ตรงหน้าเริ่มเสียสมาธิ เพราะอยากจะกลับมาเล่นอุปกรณ์สื่อสารต่อ อาการแบบนี้เป็นสัญญาณเตือน ของคนกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งเริ่มเป็นหรือยังเป็น น้อยอยู่

กลุ่มที่ 2 คือไม่อยากทำอย่างอื่น ไม่อยากออกไปมีปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่อยากสนใจอะไรทั้งนั้น เริ่มกระทบต่อการทำหน้าที่ของตัวเอง เช่น ต้องกินก็ไม่สนใจกิน หรือกินไปเล่นไป หรือรีบ ๆ กินเพื่อจะได้ไปเล่น หรือเคยไปเล่นกีฬาก็ไม่อยากไป เพราะคิดว่าเสียเวลา ผลกระทบเริ่มรุนแรงขึ้นถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ กลุ่มที่ 3 ถ้าเริ่มมีอารมณ์เสีย หงุดหงิดเวลาไม่ได้เล่น ใครมาขัดคอ เพราะเริ่มโมโหที่มีคนมาขัดขวาง ซึ่งกลุ่มนี้มักมีกลุ่มคนอาการติดเกมรวมอยู่ด้วย หากมีแค่การเล่นแอพพลิเคชั่น Line อาจจะไม่ถึงขนาดนั้น

 



หากใครที่เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีอาการตั้งแต่กลุ่มที่ 1-3 ต้องลดการใช้โทรศัพท์มือถือลง เช่น บางคนที่ไม่ได้มีอะไรเร่งด่วนอยู่ในบ้านควรวางโทรศัพท์มือถือลงบ้าง อย่าไปจ้องดูมันมาก หรือในต่างประเทศเองเริ่มมีโปรแกรมท่องเที่ยวที่มีการนัดกันไปพักผ่อนแบบครอบครัวและไม่พกพาอุปกรณ์สื่อสารไปด้วย หรือปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ต แต่ว่าเรายังสามารถรับสายได้ และเริ่มมีคำแนะนำว่าในช่วงเวลากลางคืนให้ปิดโทรศัพท์ เพราะดีต่อสุขภาพ บางคนตื่นเช้ามาค่อยเปิดโทรศัพท์ ซึ่งถ้าเราหยุดบ้างก็จะดีต่อสุขภาพและเริ่มมีความคุ้นชินใหม่ ๆ ว่าไม่ใช้โทรศัพท์มือถือบ้างก็มีเรื่องอื่น ๆ ให้ทำเหมือนกัน

สำหรับใครที่มีการติดรุนแรงมาก แนะนำว่าต้องจัดเวลาตัวเองใหม่ จำกัดเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือลงและกำหนดให้ชัดเจนว่าในช่วงนี้ของวันจะเป็นช่วงที่ไม่จำเป็นไม่ต้องเข้าเล่นเกมหรือแชต รวมทั้งดึงความสนใจของตัวเองออกไปให้มีกิจกรรมอื่นเข้ามา เพราะไม่เช่นนั้นจะรู้สึกว่าเกมเป็นแหล่งเดียวที่ให้ความเพลิดเพลินและอยากกลับไปเล่นอีก จึงต้องมีกิจกรรมอย่างอื่นเข้ามาทดแทนที่ทำให้เรารู้ว่ามันก็ให้ความเพลิด เพลินเหมือนกันไม่จำเป็นต้องผ่อนคลายตัวเองกับการเล่นเกมเพียงอย่างเดียว

ส่วนในประเทศเกาหลีมีปัญหาในสังคมผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ซึ่งประเทศไทยเราก็กำลังจะค่อยเริ่มเป็น ดังนั้นครอบครัวต้องระวังมากหน่อย ถ้าลูกติดเล่นพ่อก็ติดด้วยแถมสนับสนุนลูกอีก เวลาแม่จะห้ามลูกพ่อก็ขัดขวาง หรือบางครอบครัวแม่ก็ติดเล่นสลับกัน ซึ่งประเทศไทยเรามีโอกาสจะเกิดภาพนี้ได้ หากบ้านไหนที่ยังไม่เป็นหรือกำลังจะก้าวไปสู่จุดนั้นซึ่งไม่จำเป็นเฉพาะเด็ก ผู้ใหญ่ก็อาจติดก้มหน้าจนละเลยในเรื่องอื่น ๆ ไปโดยเฉพาะเรื่องในครอบครัว ให้ลองสังเกตตัวเองถึงสัญญาณเตือนต่าง ๆ ที่แนะนำไปข้างต้น และเริ่มกำหนดตัวเองและครอบครัว เช่น ตกลงกันไว้ว่าในช่วงเช้าวันอาทิตย์จะทำกิจกรรมร่วมกันและปิดมือถือของทุกคนเพื่อให้มีพื้นที่ของครอบครัว หรือจะตกลงกันว่าถ้าออกไปกินข้าวนอกบ้านต้องไม่เอาโทรศัพท์มือถือไป เพราะมันจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงเวลาของครอบครัว

 



การพูดคุยแบบเผชิญหน้ากันในครอบครัวนับเป็นเรื่องสำคัญ หากปล่อยไปแสดงว่ายอมให้เวลาของครอบครัวถูกแทรก แซง เพราะเวลานั้นเราไม่ได้คุยกับคนในครอบครัวแต่กำลังคุยกับคนอื่น ซึ่งเวลาครอบครัวก็ไม่ได้มีมากอยู่แล้วในชีวิตปัจจุบัน ฉะนั้นการที่ไปกินข้าวร่วมกันหรือการทำกิจกรรมที่เป็นเวลาของครอบครัว ต้องระมัด ระวังโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ต้องตั้งหลักให้ได้ก่อน หรือถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งในสมาชิกติดต้องช่วยกัน

และขอแนะนำว่าอย่าใช้วิธีหงุดหงิดใส่กัน เพราะวิธีนี้เป็นวิธีที่พบว่าเป็นทางลบมากที่สุดและมักแก้ปัญหาไม่ได้ควรจะพูดคุยกัน และดึงออกมาจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้มามีเวลาอย่างอื่นที่รู้สึกว่าผ่อนคลายลง เหมือนกับการเตือนกันนิด ๆ หากจำเป็นก็ควรหาที่ปรึกษาเพื่อทำให้เราไม่เครียดมากเกินไป ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิตหมายเลข 1323 ที่บริการ 24 ชั่วโมงทั่วประเทศ

โทรศัพท์มือถือเป็นการเรียนรู้ที่เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตของคนไปตามช่วงเวลา ทุกอย่างที่เปลี่ยนแปลงมีทั้งด้านที่เป็นประโยชน์และด้านที่อาจจะส่งผลกระทบ จึงต้องระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ การดูแลหรือควบคุมตัวเองได้ถือว่าดีที่สุดไม่ต้องให้ใครมากำกับหรือออกกฎระเบียบ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องใช้เพื่อพัฒนาทักษะ เพราะต่อไปต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้จึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้งานและควบคุมมันให้ได้อย่าให้เทคโนโลยีมาควบคุมเรา...!!

สิ่งสำคัญ 2 ประการที่พ่อแม่ควรคำนึงถึง

ข้อที่ 1 การที่เด็กเล่นอุปกรณ์สื่อสารเพราะพ่อแม่ซื้อให้ อาจเป็นความจำเป็นบางอย่างที่ต้องซื้อให้ เช่น เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารกัน ซึ่งการเลือกซื้อโทรศัพท์ให้ลูกไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นราคาแพง หรือไม่ได้อยู่ที่กระเป๋าเงินของพ่อแม่ แต่อยู่ที่ว่าเราจะฝึกลูกอย่างไร ซึ่งมีการแนะนำว่าให้เด็กเห็นจากด้านที่เป็นประโยชน์ก่อนเสมอว่าใช้เพื่อการสื่อสารกันก่อน เช่น เพื่อนัดเจอกัน และการเล่นเกมในเครื่องจริง ๆ แล้วมีกลุ่มเกมที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เราเองควรมีส่วนร่วมกับลูกด้วย ซึ่งจะทำให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไม่ได้เข้าไปห้ามอย่างเด็ดขาด เพราะมีทั้งส่วนที่ส่งเสริมถ้าลูกใช้มันเพื่อการเรียนรู้อย่างพอเหมาะพอดี ก็จะไม่ตึงมากเกินไป ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยไม่ทำอะไรจนกระทั่งมีปัญหาพ่อแม่ลุกขึ้นมาอาละวาดซึ่งเป็นปัญหาที่พบบ่อย แต่ไม่เป็นการแก้ปัญหา

ข้อที่ 2 บางทีเด็กก็เพลินมากเกินไปซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เช่น ติดงอมแงม พ่อแม่ต้องรีบเข้าไปดูแล แต่อย่าดุด่าจนทะเลาะกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้เด็กหลบไปแอบเล่นไม่ให้เห็น แต่ขอให้ตั้งต้นด้วยการคุยกันหรือกำกับ เพราะเด็กก็มีบางทีที่จะเผลอไปบ้าง ถ้าเราเข้าไปด้วยท่าทีที่บอกให้ลูกรู้ว่ามันเริ่มกระทบกับเรื่องอื่นแล้ว พ่อแม่จึงต้องเข้ามาเตือนถ้าลูกกลับไปดูแลตัวเองได้ดีพ่อแม่ก็จะไม่เข้าไปวุ่นวาย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญจะทำให้เด็กไม่ข้ามไปจุดที่เราเรียกว่าเป็นการติด อาจจะเล่นเยอะไปบ้างเป็นบางช่วง แต่เด็กก็จะสามารถกลับมาปฏิบัติตัวเองได้ดีแบบสบาย ๆ เล่นก็ได้ไม่เล่นก็ได้ ดังนั้นอย่าปล่อยไปจนถึงขั้นติด เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้อารมณ์เด็กเริ่มมีปัญหาและจะพูดคุยกันยากขึ้น

ที่มา http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/article/36397

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น