sagime
ดู Blog ทั้งหมด

"อยู่อย่างพอเพียง" ก็เป็นสุข

เขียนโดย sagime

          เมื่อข้าวของแพงขึ้น จน "รายรับ" ที่หาได้ไม่พอใช้ แล้วยังไม่รู้จะเริ่มต้นแก้ปัญหาอย่างไร อาจกล่าวได้ว่า การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้ได้ตามหลัก "เศรษฐกิจพอเพียง" นั้น นับเป็นสิ่งสำคัญมาก ...


แล้ว เศรษฐกิจพอเพียง จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร ดร.สุทิน ลี้ปิยะชาติ รองประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารสังคม อธิบายว่า 'เศรษฐกิจพอเพียง' เป็นปรัญญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประทานให้แก่พสกนิกรชาวไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ซึ่งประกอบด้วย ความพอเพียงทางสายกลาง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยนอกเหนือจากองค์ประกอบดังกล่าวแล้ว ยังจะต้องมีความรู้คุณธรรมเป็นพื้นฐาน ซึ่งเมื่อนำหลักการณ์ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้ จะช่วยทำให้ชีวิตเกิดความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

โดยเราสามารถนำหลักเศรษฐพอเพียงมา "ประยุกต์ใช้" ในช่วงค่าครองชีพสูงได้ ด้วยหลัก 6 ประการ ดังนี้

1. มีความพอประมาณ

พื้นฐานสำคัญสำหรับการสร้างเศรษฐกิจอย่างพอเพียงก็คือ ต้องรู้จักพอประมาณ ไม่มากไป น้อยเกินไป และไม่เบียดเบียนตนเองหรือผู้อื่น 

2. ใช้เงินในสิ่งที่มีประโยชน์เป็นรูปธรรมเท่านั้น

ทันทีที่อยากจะซื้อหาสิ่งที่ไม่ก่อประโยชน์เป็นรูปธรรม ก็ให้เอาเงินส่วนนั้นหยอดกระปุกไว้ แล้วดูว่าปีหนึ่งคุณจะได้เท่าไร จากนั้นค่อยรวบรวมไปซื้อหาสิ่งที่อยากได้ เป็นรูปธรรม หรือมีมูลค่าในอนาคตจะดีกว่า

3.  รู้จักลงทุนในสิ่งที่เป็นประโยชน์และได้ความรู้

การรู้จักลงทุนในด้านต่างๆ ที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของเรา อันจะนำไปสู่การวางแผนชีวิตในอนาคตอย่างไม่ประมาท

4.  ส่งเสริมการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ

นอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าแล้ว ยังช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจด้วย

5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้จ่ายเงินไปกับยารักษาโรคหรือค่าพยาบาลต่าง ๆ เป็นค่าใช้จ่าย "ส่วนเกิน" ที่เราป้องกันได้ แต่หลายคนไม่เคร่งครัดกับมันมากพอ ดังนั้นเราจึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรงทั้งกายและใจอยู่เสมอ

6. การทำรายรับรายจ่ายครัวเรือน

"บันทึกรายรับรายจ่าย" ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนเกี่ยวกับการใช้จ่ายและความสามารถในการหาเงินซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ข้อมูลที่ได้จากการบันทึกจะเป็นตัวบ่งชี้อดีตปัจจุบันและอนาคตของชีวิตเรา เราสามารถนำข้อมูลอดีตมาบอกปัจจุบันและอนาคตของเราได้ ข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ จะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ในชีวิต

นอกจากนี้ “การออม” ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ หากเราตั้งใจแน่วแน่ที่จะกำหนดเป้าหมายการเก็บออมว่า ในแต่ละเดือน แต่ละปี จะมีเงินออมเท่าไหร่ จากนั้นกำหนดเป้าหมาย การใช้จ่ายในแต่ละวันไว้ด้วย

หรือหากต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ก็ควรจะประหยัด "รายจ่าย" ด้วยการจ่าย "น้อยกว่า" หรือเท่ากับเป้าหมายการใช้จ่าย (ยอดเงินที่ตั้งใจใช้ในแต่ละเดือน/วัน) เพื่อให้มีเงินเหลือมากขึ้น และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรก่อหนี้เมื่อโดยจำเป็น หรือเกินกำลัง ซึ่งไม่ได้แปลว่ามี "หนี้" ไม่ได้ แต่ให้เตือนตัวเองเสมอว่า "หนี้มีได้" แต่ต้อง "ไม่เกินกำลัง"

วิธีการออมแบบพอเพียงมี 3 แบบ

ออมทุกวัน คือ ออมได้ทุกวันจะมากจะน้อยก็อยู่ตามกำลังฐานะ

ออมเงินแบบลบ คือ เมื่อเราหาเงินมาได้เท่าไหร่ให้หักไว้เป็นเงินออม ก่อนที่จะเอาไปใช้จ่ายทันที 10% ของเงินที่หามาได้ เช่น รับเงินเดือน 10,000 ก็หักไว้เป็นเงินออมก่อนเลย 1,000 บาท การออมเงินแบบนี้เหมาะสำหรับคนที่มีวินัยทางการเงินค่อนข้างดี

ออมเงินแบบบวก คือ ถ้าเราใช้เงินไปเท่าไหร่ ต้องเก็บเงินเพิ่มให้ได้ 10% ของเงินที่ใช้ไป เช่น ซื้อของ 1,000 บาท ก็ต้องออมเงินเพิ่ม 100 บาทไปพร้อมๆ กัน วิธีนี้เหมาะกับคนที่มีนิสัยชอบจับจ่ายใช้สอย เพราะจะช่วยเตือนความจำให้เราเก็บเงินทุกครั้งไป

“หากเราสามารถเอาชนะความอยากได้ คือ รู้จักประมาณในการบริโภค ย่อมสามารถกินดีอยู่ดี หรือรู้จักคำว่าพอดี ความพอดี ความเป็นสายกลางในกิจกรรมต่างๆ คงพออยู่ไปได้ในยุคนี้” รองประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารสังคม กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้น การใช้ชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ได้แปลว่าซื้อของแพงไม่ได้ แต่หมายถึงว่าเราต้อง "รู้จักตัวเอง" ว่า เมื่อจ่ายไปแล้วมีเงิน "เหลือพอ" ที่จะใช้ในชีวิตประจำวันด้วยหรือไม่นั่นเอง


ที่มา http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/36448

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น