sagime
ดู Blog ทั้งหมด

'สื่อออนไลน์' ทำเด็ก-สตรี ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงง่ายขึ้น

เขียนโดย sagime


กระทรวงสาธารณสุข ขยายบริการศูนย์พึ่งได้ ลงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 9,750 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นช่องทางรับแจ้งเหตุ และให้การดูแลช่วยเหลือเบื้องต้น แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และการกระทำรุนแรงในเด็กและสตรี ด้าน รมว.สธ. ห่วงภัยเงียบบนสื่อสังคมออนไลน์ ชักจูงเด็ก สตรี เป็นเหยื่อความรุนแรงง่ายขึ้น แนะผู้ปกครอง ครู ดูแลใกล้ชิด

วันที่ 25 พ.ย. 56 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้เป็น "วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล" และประเทศไทยได้กำหนดให้เดือนนี้ เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 เพื่อป้องกัน แก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ต้องยอมรับว่าขณะนี้ ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบทั้งการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิต และเกิดบาดแผลทางใจ เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในจิตใจ ต้องเยียวยาเป็นเวลานาน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ขณะนี้ ได้เปิดบริการชื่อว่า ศูนย์พึ่งได้ ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน ทุกแห่งทั่วประเทศ จากการวิเคราะห์สถิติในรอบ 7 ปี มีเด็กและสตรี ที่ถูกทำร้ายมารับบริการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 11,542 ราย เฉลี่ยวันละ 32 รายในปี 2548 เพิ่มเป็น 22,565 ราย เฉลี่ยวันละ 62 รายในปี 255

ในการพัฒนาระบบการช่วยเหลือผู้ที่ถูกกระทำรุนแรง ในปี 2557 นี้ กระทรวงสาธารณสุข จะขยายบริการศูนย์พึ่งได้ ให้ครอบคลุมประชาชนที่ประสบปัญหา 4 กลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ ปัญหาท้องไม่พร้อม การค้ามนุษย์ การใช้แรงงานเด็ก และการกระทำรุนแรงในเด็กและสตรี รวมทั้งปัญหาอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ติดเกม ติดพนันบอล เป็นต้น ตามนโยบาย OSCC ศูนย์ช่วยเหลือสังคม พร้อมทั้งกระจายบริการลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลซึ่งมี 9,750 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นช่องทางรับแจ้งเหตุ หรือทำการคัดกรองช่วยเหลือเบื้องต้น ทำงานเชื่อมโยงแบบสหวิชาชีพ และบูรณาการส่งต่อผู้ประสบปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยทางด้านนิติเวช ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ในการพิสูจน์หาหลักฐานความรุนแรงต่างๆ สนับสนุนบริการของศูนย์ช่วยเหลือสังคม และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

"ในช่วงปีหลังมานี้ คนไทยใช้สื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้น เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น จำนวนมากกว่า 10 ล้านคน แนวโน้มปัญหาการล่อลวงทางสื่อเหล่านี้ จะมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทั้งในกลุ่มเด็กและผู้หญิง เนื่องจากใช้ง่าย ใช้วิธีสื่อสารผ่านทางตัวหนังสือแทนการพูดคุย โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกันมาก่อน หรือไม่ต้องเผชิญหน้า เป็นเรื่องที่น่าห่วงว่าจะชักจูงเด็กและสตรีออกนอกบ้าน เป็นเหยื่อความรุนแรงง่ายขึ้น ดังนั้น จึงขอให้ผู้ปกครองหรือครู เพิ่มการดูแลเด็ก และสอนให้รู้จักวิธีใช้สื่ออย่างเหมาะสม ส่วนผู้ใช้สื่อขอให้ระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และอย่าหลงเชื่อการชักจูงต่างๆ ควรปรึกษาผู้ปกครองหรือผู้ที่ไว้วางใจ เพื่อป้องกันการนำภัยมาสู่ตัวเอง" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ด้าน นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาทางสังคมที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งไทยพบค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน และปัญหาการใช้แรงงานเด็ก รวมทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งอยู่ในการติดตามของประเทศคู่ค้า หากไม่เร่งแก้ไข อาจมีผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งพัฒนาระบบข้อมูลบริการสุขภาพ เชื่อมโยงกับศูนย์ช่วยเหลือสังคมของรัฐบาล ให้เป็นฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ และนำไปใช้ในการวางแผนเพื่อการป้องกันปัญหาและให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรง 4 กลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัญหาความรุนแรงในกลุ่มเด็กที่พบสูงเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันทุกปี คือ ถูกกระทำทางเพศ พบมากถึงร้อยละ 74 ของเด็กที่มารับบริการ รองลงมาคือ ถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 21 ส่วนที่เหลือเป็นการถูกทำร้ายจิตใจ ถูกทอดทิ้ง และถูกล่อลวง บังคับแสวงหาผลประโยชน์ เช่น ให้ขอทาน เป็นต้น โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เช่น แฟน เพื่อน รองลงมาคือคนที่ไม่รู้จัก ญาติ พี่น้อง ต้นเหตุของการกระทำรุนแรงอันดับ 1 มาจากการรับสื่อลามกต่างๆ ความใกล้ชิด และโอกาสเอื้ออำนวย รองลงมาคือการดื่มเหล้า ใช้สารเสพติด และการทะเลาะ หึงหวง เป็นต้น

ส่วนในกลุ่มผู้หญิง ปัญหาที่พบมากอันดับ 1 คือ ถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 79 รองลงมาคือ ถูกกระทำทางเพศ ส่วนที่เหลือถูกทำร้ายจิตใจ ถูกทอดทิ้ง และถูกล่อลวง บังคับแสวงหาผลประโยชน์ เช่น บังคับให้ขายบริการทางเพศ เป็นต้น ผู้กระทำรุนแรงกว่าครึ่ง เป็นสามีและแฟน สาเหตุหลักมาจาก การนอกใจ ทะเลาะ หึงหวง รองลงมาคือ การใช้สารเสพติด สารกระตุ้น และสื่อลามก หรือความใกล้ชิดต่างๆ

ที่มา 
http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/37797

 

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น