sagime
ดู Blog ทั้งหมด

`ลิฟต์ค้าง`รับมืออย่างมีสติ

เขียนโดย sagime


ปัจจุบันอาคารสูงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราต้องหันมาใช้ลิฟต์กันมากขึ้น แม้อันตรายที่เกิดขึ้นจากลิฟต์จะเกิดไม่บ่อย แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็น ลิฟต์ค้าง ประตูลิฟต์หนีบหรือลิฟต์ตก 

สิ่งแรกต้องทำเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินคือตั้งสติ และอย่าพยายามงัดประตูลิฟต์โดยพลการเด็ดขาด กรณี 'ลิฟต์ค้าง' มักไม่ค่อยมีอันตราย เนื่องจากลิฟต์มีพัดลมที่สามารถระบายอากาศได้เพียงพอ แต่หากไฟฟ้าดับและพัดลมระบายอากาศหยุดทำงานคนที่ติดอยู่ในลิฟต์ส่วนใหญ่ มักจะประสบกับภาวะการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ คือ จะมีอาการมึนงง สับสน ปากเริ่มมีสีคล้ำ ให้รีบคลายเสื้อของผู้ป่วยให้หลวม ไม่ควรจับนอนหรือนั่ง แต่ควรประคองให้ยืนไว้ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หนักกว่าอากาศ ฉะนั้น บริเวณพื้นจึงมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก

จากนั้นเมื่อนำผู้ป่วยออกมาได้แล้ว ให้รีบพาไปอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก อย่ามุง หรือหากมีออกซิเจนให้รีบให้ในทันที และโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทาง การแพทย์ แต่หากหัวใจหยุดเต้นควรรีบช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ คือ ความเครียดจากการกลัวที่แคบ (Agoraphobia) ทำให้หายใจเร็ว ซึ่งจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดถูกขับออกมากับลมหายใจมาก ส่งผลให้เลือดมีความเป็นกรดลดลงจึงเกิดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายตะคริวหรือที่เรียกว่าอาการมือจีบ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือ ให้นำถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ เจาะรูเล็กๆ มาครอบปากและจมูกให้ผู้ป่วยหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ที่หายใจออกมามากให้ย้อนกลับเข้าไป โดยต้องเปิดให้หายใจ ในอากาศปกติเป็นระยะ และที่สำคัญคือต้องทำให้ผู้ป่วยผ่อนคลายด้วย แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการบ่อยๆ ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาจากสาเหตุที่แท้จริง

หากต้องเผชิญอันตรายกับ "ลิฟต์ตก" ซึ่งสมาคมลิฟต์แห่งประเทศไทยระบุว่า โอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก เนื่องจากลิฟต์รุ่นใหม่ๆ จะมีระบบล็อค แต่หากเกิดขึ้นให้ผู้ประสบเหตุกดปุ่มให้ลิฟต์จอดทุกชั้น เพราะเมื่อไฟฟ้าสำรองทำงานจะหยุดลิฟต์จากการร่วงลงมา และให้หาที่จับให้แน่น พิงหลังและศีรษะเข้ากับผนังให้เป็นเส้นตรง เพื่อช่วยป้องกันหลังและกระดูก และควรงอเข่า

สิ่งสำคัญคือ ควรปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันอันตราย เช่น ไม่ขึ้นลิฟต์เกินจำนวนคนที่ระบุไว้, อย่าพิงประตูลิฟต์ ขณะยืนรอ เนื่องจากประตูลิฟต์ไม่ได้แข็งแรงและไม่ได้ออกแบบมารับน้ำหนักคนพิงจึงอาจ พังได้, ประตูลิฟต์อาจหนีบผู้โดยสารได้หากระบบเซนเซอร์เสีย และหากไฟไหม้ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาดเพราะอาจสำลักควันในปล่องลิฟต์ หรือลิฟต์ไปเปิดในชั้นที่ไฟกำลังไหม้ทำให้คนในลิฟต์เสียชีวิตทันทีได้

ห้ามใช้ลิฟต์เมื่อ...

- ฟ้าผ่าหรือพายุฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว เพราะอาจไฟดับ (โดยเฉพาะลิฟต์รุ่นเก่าๆ ที่ไม่มีไฟฟ้าฉุกเฉินสำรอง) ควรรอจนกว่าฝนฟ้าสงบแล้วจึงค่อยใช้ลิฟต์

- ไฟไหม้

- ระหว่างการปรับปรุงซ่อมแซม

- ผู้โดยสารหนาแน่นอย่าเบียดเข้า ควรรอรอบต่อไป

- อย่าใช้ถ้าระดับชั้นการจอดของลิฟต์ผิดเพี้ยน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ อย่าฝืนเข้าหรือพยายามปีนออกมา - สำหรับนักเรียนหญิงและผู้หญิงให้รีบออกจากลิฟต์ทันที หากมีผู้ชายท่าทางไม่น่าไว้ใจทำท่าจะร่วมโดยสารด้วย

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  โดย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
Credit 
http://www.thaihealth.or.th/Content/
29805-'ลิฟต์ค้าง'รับมืออย่างมีสติ.html

 

ความคิดเห็น

ดาร์เลีย เดอ อันฟลาคัส
โอ้โห!!! ดีมากๆเลยค่ะ ขอบคุณสำหรับคำแนะนำนะคะ