ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #180 : รู้หรือไม่ "ซิป มีประวัติความเป็นมาอย่างไร"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 698
      0
      8 ส.ค. 52


          คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก  'ซิป'  เพราะใช้กันอยู่ทุกวี่วัน  แต่ที่แปลกคือไม่เคยได้ยินใครเรียก 'ซิป'  ด้วยคำภาษาไทยหรือพูดถึงความเป็นมาของซิปกันเท่าไรนัก

         ซิปมีชื่อเต็มตามภาษาอังกฤษว่า  ซิปเปอร์ (Zipper)  เรื่องของซิปไม่ขลังด้วยความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของการใช้ความอดทนอย่างสูงกว่าที่คนทั่วไปจะยอมรับ คือใช้เวลากว่า ๒๐ ปี ในการจูงใจให้คนใช้ ซ้ำแรกเริ่มที่ประดิษฐ์ขึ้นมาก็ไม่ได้สำหรับใช้กับเสื้อผ้า  แทนกระดุมอย่างทุกวันนี้ แต่ใช้กับรองเท้าบู๊ต แทนเชือกรองเท้าบู๊ตแสนยาวที่กว่าจะสอดสลับรัดรองเท้าให้เข้ารูปได้ก็กินเวลานานเสียจนน่ารำคาญ

         เดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. ๑๘๙๓ วิศวกรช่างกลผู้หนึ่งในชิคาโกชื่อ วิตคอมบ์ จั๊ดสัน ได้จดทะเบียนสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นขึ้นและเรียกว่า 'แคลสพ์-ล็อคเกอร์ (clasp-locker) ในช่วงเวลานั้นไม่มีใครขอจดทะเบียนประดิษฐกรรมทำนองนี้เลยสักคน  แคลสพ์-ล็อคเกอร์สองอันแรกของโลกใช้กับรองเท้าบู๊ตของจั๊ดสันและลุยส์วอล์คเกอร์  หุ้นส่วนธุรกิจของเขานั่นเอง

         แม้จั๊ดสันจะประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงจากสิ่งประดิษฐ์นับสิบอย่างของเขาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องยนต์และที่ห้ามล้อรถไฟ  แต่ของเล็ก  ๆ  อย่าง  'ซิป'  กลับไม่มีใครสนใจ  อาจเป็นเพราะสิ่งประดิษฐ์นี้ประกอบด้วยห่วงและตะขอต่อเนื่องกันเป็นแถวดูคล้ายเครื่องทรมานเสียมากกว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์อันทันสมัยที่ช่วยประหยัดเวลาได้

         จั๊ดสันพยายามทำให้คนสนใจสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ของเขา  โดยนำออกแสดงในงานแสดงสินค้านานาชาติที่ชิคาโก  ประจำปี ๑๘๙๓  แต่ผู้เข้าชมงาน ๒๑ ล้านคน  กลับสนใจแต่รถไฟฟ้าของเฟอริ  ซึ่งนับเป็นรถไฟฟ้าคันแรกของโลก  และมัวตื่นเต้นกับระบำอวดพุงที่แสดงในงาน   ซิปอันแรกของโลกจึงไร้คนสนใจ

         แต่บริษัทยูนิเวอร์ซัล  ฟาสเทนเนอร์ของจั๊ดสัน  และวอล์คเกอร์ก็ได้รับใบสั่งสินค้าอยู่บ้างเหมือนกัน  เป็นถุงไปรษณีย์ติดซิปจำนวน ๒๐ ใบ แต่ซิปเหล่านี้มักจะติดขัดจนต้องเลิกใช้

         แม้จั๊ดสันจะพยายามปรับปรุงแก้ไข  แต่ผู้ที่ทำสำเร็จกลับเป็นนักประดิษฐ์คนอื่น  คือวิศวกรเชื้อสายสวีเดนและอเมริกา  ชื่อกิเดียน  ซันแบค  ในปี  ๑๙๑๓  เขาประดิษฐ์ซิปขนาดเล็กกว่า  เบากว่า และเชื่อถือได้มากกว่าขึ้นมา ได้รับใบสั่งชื้อใบแรกจากกองทัพอเมริกาเพื่อใช้กับเสื้อผ้าละข้าวของเครื่องใช้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑

         สำหรับคนทั่วไปจะใช้ซิปกับรองเท้าบู๊ต  เข็มขัดใส่เงินและซองใส่ยาสูบ จนปี ๑๙๒๐ จึงจะเริ่มใช้กับเสื้อผ้าบ้างแต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเพราะทำจากเหล็ก สนิมขึ้นง่าย  ขณะที่เสื้อผ้าต้องชักบ่อย ๆ นอกจากนี้คนยังคุ้นเคยกับการเอากระดุมใส่รังดุมมากกว่าจะรูดซิป  เสื้อผ้าที่ใช้ซิปในสมัยนั้นจึงต้องแถมคู่มือเล็ก ๆ สำหรับการใช้และรักษาซิป

         ปี ๑๙๓๒ บริษัท บี เอฟ กู๊ดริช เสนอสินค้าใหม่  คือรองเท้าบู๊ตทำด้วยยางติด  'ซิปไร้ขอ' และเรียกซิปแบบนี้ว่า ซิปเปอร์ซึ่งได้มาจากการเลียนเสียง “ซ...ซ....ซิป” ที่เกิดขึ้นขณะรูดซิปที่รองเท้าบู๊ต  เมื่อมีชื่อแปลก ๆ มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและยังไม่เป็นสนิม  ซิปจึงเป็นที่นิยมทั่วไป

         ซิปเริ่มเข้ามาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเสื้อผ้าอาภรณ์อย่างเห็นได้ชัดในปลายศตวรรษที่ ๒๐ นี้เอง  คือในปี ๑๙๓๕ เอลสา เชีย-ปาเรลลิ  นักออกแบบเสื้อผ้าที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งเสนอแบบเสื้อผ้าสำหรับฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งได้มีการผลิตซิปติดกับแถบผ้าโดยมีขนาดและสีสันต่าง ๆ

         ปัจจุบันเราใช้ชิปกันอย่างแพร่หลายและกับสิ่งของหลากชนิดแม้กระทั่งชุดนักบินอวกาศก็ใช้ แต่น่าสงสารวิตคอมบ์ จั๊ดสันผู้ริเริ่มประดิษฐ์ซิป เขาเสียชีวิตในปี ๑๙๐๙ ในขณะที่เขาปลงแล้วว่าสิ่งประดิษฐ์ของเขาคงเป็นได้แค่ของตั้งไว้ดูเท่านั้นเอง  หารู้ไม่ว่าเดี๋ยวนี้มันได้ร่วมเดินทางไปอวกาศมาแล้ว

    “ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี” 
    Credt www.sanook.com
    ภาพประกอบจาก http://www.nsm.or.th/nsm2008/images/zipper.jpg

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×