ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #41 : รู้หรือไม่ "จิตรกรขรัวอินโข่งเป็นใคร"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 3.83K
      0
      3 ก.ย. 51

                                                            
     

    เปิดปูมจิตรกรเอก"ขรัวอินโข่ง"

    ขรัวอินโข่งเป็นพระภิกษุผู้ถือเพศบรรพชิตตลอดชีวิต อยู่ที่วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ กรุงเทพฯ

    นามเดิม"อิน"เป็นชาวต.บางจาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี แหล่งช่างฝีมือของประเทศไทย

    เล่ากันว่า เดินทางเข้ามาบวชเป็นสามเณรที่กรุงเทพฯ อายุเกินก็ยังไม่บวชพระจนถูกล้อเป็นเณรโค่ง ก่อนจะบวชเป็นพระที่วัดราชบูรณะ ชื่ออินโข่ง สันนิษฐานว่ามาจากการถูกเรียกล้อว่า "อินโค่ง" ก่อนเพี้ยนเป็น "โข่ง" ส่วนคำว่า "ขรัว"เกิดขึ้นหลังจากพรรษามากขึ้น มีความรู้มากขึ้น ได้รับความยอมรับนับถือ จึงเรียก"ขรัว"อันเป็นคำที่เจ้านายสมัยนั้นนิยมเรียกพระภิกษุ

    เป็นพระภิกษุที่ถือสมถะ แต่สร้างผลงานไว้มากมายตามวัดสำคัญต่างๆ น่าเสียดายว่าประวัติอย่างละเอียดของขรัวอินโข่งไม่มีการบันทึกไว้

    ได้รับการยกย่องเป็นจิตรกรเอกประจำรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศิลปินไทยคนแรกที่ใช้เทคนิคการเขียนภาพแบบตะวันตกที่แสดงปริมาตรใกล้ไกล กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงยกย่องว่า เป็นช่างเขียนไม่มีตัวสู้ในสมัยนั้น

    ผลงานสร้างชื่อเสียงคือภาพปริศนาธรรมที่ฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศและวัดบรมนิวาส จิตรกรรมฝาผนังในหอพระราชกรมานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานครสารบัญ

    อิทธิพลและวิชาการความรู้ตะวันตก หลั่งไหลเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ขรัวอินโข่งรับเทคนิคแบบตะวันตกมาประยุกต์ด้วยตนเอง และยังนิยมใช้สีหม่น ๆ เช่น สีน้ำเงินปนเขียว ซึ่งถ้าไม่มีฝีมือดีจริงก็ยากที่จะทำให้ภาพออกมางดงาม

    เป็นจิตรกรไทยคนแรกที่เขียนภาพคนเหมือนแบบตะวันตก หรือภาพพอร์เทรต-Portrait โดยเขียนภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันภาพนี้ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

    ชีวิตบั้นปลายของขรัวอินโข่ง จนถึงวันเดือนปีที่มรณภภาพ ไม่มีการบันทึกไว้ แต่ฝีมือของขรัวอินโข่งได้รับการสืบทอดต่อมา ศิษย์คนหนึ่งที่เป็นจิตรกรมีชื่อเสียงต่อมา ได้แก่ พระครูกสิณสังวร วัดทองนพคุณ 



    “ขรัวอินโข่ง”...ช่างเขียนไทยยุคนิยมฝรั่ง

    “ช่างเขียน” หรือจิตรกรไทยในยุคต้นรัตนโกสินทร์มีทั้งที่เป็นฆราวาสและที่อยู่ในเพศบรรพชิต “ขรัวอินโข่ง” คือพระภิกษุรูปหนึ่งที่จัดว่าเป็นศิลปินชั้นครูในงานจิตรกรรมไทย ท่านถือเพศบรรพชิตตลอดชีวิตโดยบวชเป็นพระอยู่ที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) กรุงเทพฯ

    เดิม “ขรัวอินโข่ง” เป็นชาวบ้านบางจาน จ.เพชรบุรี มีชื่อเดิมว่า “อิน” ส่วนนาม “ขรัวอินโข่ง” นั้นเป็นฉายาที่เสริมคุณสมบัติของท่านให้ชัดเจนขึ้น ที่มาของคำว่า “ขรัว” และ โข่ง” ซึ่งนำหน้าและต่อท้ายจากชื่อ “อิน” ของท่านมีความหมายตามพจนุกรม ดังนี้

    “ขรัว” เป็นคำเรียกภิกษุที่มีอายุมากหรือบวชเมื่อแก่ นอกจากนี้ยังเป็นคำที่ใช้กับผู้ที่คร่ำเคร่งบางสิ่งบางอย่าง ถ้าเป็นพระชราหรือหัวเก่าจะมีคำว่า “ขรัว” นำหน้า ส่วนคำว่า “โข่ง” สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงอธิบายไว้ว่า

    “...ขรัวอินโข่ง (ช่างเขียน) เคยไต่สวนกันทำไมถึงฉายาว่าโข่ง เขาบอกว่าเป็นเณรอยู่เกินกาล จึงเรียกว่า “อินโข่ง” ทำให้เข้าใจไปว่าเขียนผิด อ่านผิด แต่เดี๋ยวนี้มานึกขึ้นได้ว่าไม่ผิด หอยโข่งมีเป็นอย่างอยู่เช่น หอยโข่ง เณรโข่ง ก็เณรใหญ่โค่งหรือโข่ง เป็นคำเดียวกัน ความหมายว่าใหญ่เหมือนกัน...”

    ในความเป็นจริงชื่อ “ขรัวอินโข่ง” คงจะเป็นชื่อสามัญที่นิยมกันในหมู่ประชาชนคนรู้จักทั่วๆ ไป ส่วนชื่อที่เรียกอย่างเป็นทางการของขรัวอินโข่งก็คือ “พระอาจารย์เดิม” ขรัวอินโข่งเป็นช่างเขียนที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมากในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจยอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยถือเป็นช่างเขียนที่รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาโดยตลอด ความใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 4 นั้นคงเริ่มตั้งแต่ครั้งที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ แม้แต่ต่อมารัชกาลที่ 4 จะได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ก็ยังคงรับสั่งเรียกหาขรัวอินโข่งอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทรงมีพระราชประสงค์สร้างหรือปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งใดก็มักทรงโปรดฯให้ขรัวอินโข่งวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับโบสถ์และวิหารเหล่านั้นเสมอ

    เล่ากันว่า “ขรัวอินโข่ง” มีบุคลิกลักษณะนิสัยที่แปลกคล้ายศิลปินทั่วๆ ไปที่มักมีโลกส่วนตัว ขรัวอินโข่งไม่ชอบรับแขก ชอบอยู่คนเดียวเงียบๆ ในกุฏิ เพราะเหตุนี้กุฏิของท่านจึงมักปิดประตูใส่กุญแจข้างนอกตลอดเวลา คงเกรงว่าหากมีคนมาหามากๆ จะเป็นการทำลายสมาธิในการทำงานส่วนเวลาที่ท่านจะออกนอกกุฏิก็จะใช้วิธีปีนออกทางหน้าต่าง

    ภาพ "สงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา แห่งเมืองหงสาวดี" โดย ขรัวอินโข่ง เป็นจิตรกรรมฝาผนัง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งอยู่ในหอพระราชกรมานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

    การเขียนภาพจิตรกรรมในยุค “ขรัวอินโข่ง” ในช่วงรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นยุคที่นิยมฝรั่ง ประเทศไทยขณะนั้นกำลังพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน เพื่อให้มีความเจริญทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ “ขรัวอินโข่ง” จึงเป็นจิตรกรช่างเขียนไทยคนแรกที่เขียนภาพทิวทัศน์ผู้คนแบบประเทศตะวันตกบนผนังโบสถ์ ใช้ตัวละครและสถานที่แบบฝรั่ง และยังเป็นคนแรกที่ริเริ่มวาดภาพแบบ 3 มิติ คือเป็นภาพที่มีความลึก เน้นที่แสงและเงา ใช้สีไม่ฉูดฉาดแบบภาพเขียนทางยุโรปซึ่งต่างจากภาพเขียนไทยในอดีต

    ภาพเขียนของ “ขรัวอินโข่ง” ได้อาศัยเค้าโครงจากภาพพิมพ์ที่แพร่เข้ามาเมืองไทยจากกลุ่มมิชชันนารี เป็นภาพที่ส่งเข้ามาจำหน่ายในบางกอกขณะนั้น ด้วยอัจฉริยภาพในด้านจิตรกรรมของขรัวอินโข่งท่านสามารถสร้างจินตนาการเขียนภาพจิตรกรรมไทยที่มีกลิ่นอายของบรรยากาศฝรั่งไดอย่างงดงามและน่าทึ่ง ผลงานบางภาพแม้จะเป็นบรรยากาศฝรั่งแต่เรื่องราวของภาพกลับเป็นปริศนาธรรมที่แสดงออกได้อย่างดีเยี่ยม นอกจากนี้ผลงานของท่านยังแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมไทยขณะนั้นที่ดำเนินชีวิตตามคตินิยมทางพุทธศาสนา เช่นภาพวาดภายในพระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จ.เพชรบุรี ซึ่งบอกเล่าถึงการไปนมัสการพระพุทธบาทที่ท่านเขียนให้เห็นถึงบรรยากาศต่างๆ ได้อย่างละเอียด ชัดเจน

    ผลงานของ “ขรัวอินโข่ง” ที่ยังมีหลักฐานอยู่ในปัจจุบันมีอาทิ

    สมุดภาพร่างเป็นภาพเขียนแบบไทยเดิมเช่นวาดเส้นภาพหน้าคน หน้าลิง ปัจจุบันอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ

    ภาพเขียนสุภาษิตที่บานแผละหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วาดเป็นรูปตัวละครไทย

    ภาพวาดสีฝุ่นเรื่อง “ทศชาติ” จำนวน 5 ภาพ แต่ละภาพมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1.50 เมตร ภาพดังกล่าวยังวาดไม่สมบูรณ์เป็นภาพธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา มีภาพบุคคลเป็นเพียงส่วนประกอบเล็กๆ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า

    ภาพวาดพระราชพงศาวดารในหอราชกรมานุสรและหอราชพงศานุสรวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์เกี่ยวกับการรบระหว่างไทยพม่า และการรบพุ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    ภาพวาดภายในพระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จ.เพชรบุรี เป็นภาพที่แสดงถึงการไปนมัสการพระพุทธบาท จ.สระบุรี นับเป็นงานชิ้นเดียวที่เขียนขึ้นในจังหวัดอันเป็นบ้านเกิดของท่าน

    ภาพวาดที่มณฑปพระพุทธบาท วัดพระงาม จ.พระนครศรีอยุธยา ลักษณะเป็นภาพไทยผสมกับเทคนิคการเขียนธรรมชาติแบบยุโรป

    ภาพวาดภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ เป็นภาพปริศนาธรรมที่มีบรรยากาศและตัวละครทั้งหมดเป็นแบบฝรั่งตะวันตก

    ภาพวาดภายในพระอุโบสถวัดบรมนิวาสเป็นภาพปริศนาธรรมลักษณะคล้ายกับวัดบวรนิเวศวิหารมาก เพียงต่างกันในรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น

    นอกจากนั้นเชื่อกันว่า “ขรัวอินโข่ง” เป็นจิตรกรท่านแรกของไทยที่เป็นผู้เขียนภาพคนเหมือน ภาพที่น่าเชื่อว่าเป็นภาพเหมือนภาพแรกคือ ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันภาพดังกล่าวประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ตามหลังฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้เชื่อว่าพระบรมรูปชิ้นนี้เป็นงานพอร์ตเทรตชิ้นแรกของเมืองไทย

    ผลงานของ “ขรัวอินโข่ง” จัดว่าเป็นมรดกทางศิลปกรรมชั้นเยี่ยมที่ทรงคุณค่าที่สุดในบรรดาจิตรกรสมัยรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นเอกอัจฉริยะจิตรกรต้นแบบที่มีพรสวรรค์ในด้านการใช้สี การวางภาพและริเริ่มการเขียนภาพที่มีมิติ จนกล่าวได้ว่า “ขรัวอินโข่ง” เป็นศิลปินช่างเขียนชั้นบรมครูที่ฝากผงงานด้านจิตรกรรมไว้มากมายจนได้รับการยกย่องมาจนถึงปัจจุบัน




    ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด, rakbankerd.com
    ภาพประกอบจาก http://staff2.kmutt.ac.th/~techfair/images/art/art3.jpg
                                http://www.prachatai.com/05web/upload/HilightNews/library/200706/24_120839_62.jpg

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×