ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #56 : รู้หรือไม่ "ทำไมเรียกโรงพยาบาลโรคจิตว่า หลังคาแดง"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.68K
      0
      10 ก.ย. 51

           ประเทศไทยในยุคโบราณเชื่อกันว่า  การเจ็บป่วยทางจิตเกิดจากการกระทำของอำนาจเหนือธรรมชาติ อาทิ  ผีสางเทวดา  บางภาคเรียกผู้ป่วยทางจิตว่า  ผีบ้า  เพราะเชื่อว่าผีเข้าสิงทำให้เกิดอาการ จากความเชื่อเช่นนี้ ทำให้ผู้ป่วยถูกนำตัวไปรักษาตามวัดหรือรับการเสกเป่าจากพ่อมดหมอผีต่าง ๆ  แทนที่จะนำตัวไปรับการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ดีความเชื่อเช่นนี้ก็ทำให้เกิดผลดีประการหนึ่งกับผู้ป่วย คือ เมื่อผู้ป่วยหายจากอาการแล้วชาวบ้านก็จะไม่รังเกียจ เพราะถือว่าผีออกแล้ว ทำให้ผู้ป่วยยังสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติ

           โรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิตในประเทศไทย เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ อันเป็นยุคเดียวกับการจัดตั้งโรงพยาบาลอื่น สถานที่เดิมตั้งอยู่ปากคลองสานฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเก๋งเก่าพระยาภักดีภัทรากร  มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า  “โรงพยาบาลคนเสียจริตเปิดดำเนินการ  เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๓๒

           ในยุคแรกนั้นไม่มีความมุ่งหมายอื่น นอกจากจะนำคนเสียจริตมาฝากขัง การดูแลจึงมีแต่ขังไว้  ในบางคราวก็มีการรักษาบ้าง เป็นประเภทยาต้ม ยาหม้อ ยาระบาย และยาที่เข้าระย่อม*  ทำให้ผู้ป่วยง่วงซึม  ที่วุ่นวายนักก็เป่าด้วยยานัตถุ์  ถ้าไม่ทุเลาลงก็ถึงขั้นทรมานทุบถองหนัก ๆ หรือไม่ก็ให้อดอาหาร บางทีก็ถึงขั้นกอกเลือด ซึ่งหมายถึง การดูดเลือดออกโดยใช้เขาควายหรือไม่ก็ใช้ปลิงดูด  มีเวทมนตร์คาถาบ้างตามความรู้ของแพทย์สมัยนั้น

           ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๔๘ แม้งานฝ่ายแพทย์ได้เจริญขึ้น แต่ก็ยังล้าหลังและบกพร่องอย่างมาก จากรายงานของนายแพทย์ไฮเอด หัวหน้ากองแพทย์สุขาภิบาล  กล่าวว่า “...ในจำนวนคนไข้ทั้งหมดนั้นเป็นชาย ๒๖๔ หญิง ๓๒ คน  มีอาการคลั่งรุนแรงอาจทำอันตรายต่าง ๆ ได้ ๕๔ คน ต้องแยกขังไว้ต่างหาก แต่ห้องแยกมีน้อย จึงต้องขังรวมคนอื่นซึ่งยัดเยียดทำร้ายกันเสมอ ห้องหลายห้องชำรุดและรักษาความสะอาดไม่ได้   จนมีผู้ป่วยเป็นโรคลำไส้มาก โรงพยาบาลนี้ชำรุดและน่าอับอายอย่างยิ่ง ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลควรกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งลงไปให้ดีขึ้น  ข้าพเจ้าเองไม่สามารถสรรหาคำพูดใดที่แรงพอเพื่อแสดงว่าน่าอับอายและขยะแขยงเพียงใด

           ในที่สุด รัฐบาลก็อนุญาตให้สร้างโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นใหม่ ณ ที่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาขณะนี้  เปิดรับคนไข้ได้เมื่อเดือนกันยายน ๒๔๕๕        โรงพยาบาลแห่งใหม่นี้มีลักษณะเป็นโรงพยาบาลแบบตะวันตก เปลี่ยนแปลงวิธีการดูแลจากการคุมขังและการรักษาแผนโบราณมาเป็นการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน มีการเลี้ยงดูอาหาร  การหลับนอนต่าง ๆ ให้บริบูรณ์ขึ้น เลิกการล่ามโซ่อย่างแต่ก่อน  และพยายามให้เป็นรูปแบบโรงพยาบาลจริง ๆ ถึงแม้เรือนไม้หลายหลังยังกั้นห้องด้วยลูกกรงและคนไข้ยังต้องนอนกับพื้นอยู่ก็ตาม

           โรงพยาบาลคนเสียจริตยุคปรับปรุงนี้อยู่ในความดูแลของนายแพทย์  เอ็ม. คาร์ทิว แพทย์ชาวอังกฤษ  งานชิ้นสำคัญของท่านนอกจากการวางผังป่าอันสวยงามร่มรื่น  โดยถือหลักว่า ป่าเป็นเครื่องหมายของการระบายทุกข์และความสงบแห่งจิตแล้วท่านยังเป็นผู้ที่ทำให้เกิดศัพท์แสลง  "หลังคาแดง"  อันลือลั่นจากการไปเหมาซื้อสีแดงค้างสต็อกราคาถูกคุณภาพดีมาผสมน้ำมันเข้า แล้วทาหลังคาอาคารสังกะสีทุกหลังเพื่อกันสนิมหลังคาโรงพยาบาลจึงเป็นสีแดงเพลิงสะดุดตาคนทั่วไป เป็นที่มาของสมญาหลังคาแดงที่เรียกกันติดปากมาจนปัจจุบัน

           ล่วงเข้าปี พ.ศ. ๒๔๖๗ โรงพยาบาลจึงได้มีนายแพทย์ผู้อำนวยการเป็นคนไทยคนแรก คือ หลวงวิเชียรแพทยาคม ท่านนับเป็นคนไทยคนแรกที่ได้เดินทางไปศึกษาวิชาโรคจิตโดยเฉพาะ     สหรัฐอเมริกา และเมื่อท่านกลับจากการศึกษาได้สองสามปีชื่อโรงพยาบาลคนเสียจริตปากคลองสาน  ก็เปลี่ยนเป็น  โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี

           แม้ในยุคตั้งแต่  ดร.  คาร์ทิว  จนถึงหลวงวิเชียรแพทยาคมเป็นต้นมานี้จะถือได้ว่าเป็นยุคบุกเบิก  สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลร่มรื่นสวยงาม  แต่การบำบัดเยียวยาผู้ป่วยยังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงนั่งหรือยืนอยู่หลังแนวลูกกรงเหล็ก  เป็นดุจที่เก็บคนไข้โรคจิต เนื่องจากยังไม่มีวิธีการใด ๆ ที่จะรักษาผู้ป่วย นอกจากยานอนหลับและการอุตสาหกรรมบำบัด  ซึ่งหมายถึงงานอาชีพ  เช่น  ช่างหรือเกษตรกรรมที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนมีคุณค่า  ได้รับความเพลิดเพลินไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย

           มาในปี พ.ศ. ๒๔๘๔  จึงได้มาถึงยุคของ  ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน  แสงสิงแก้ว  ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น  “ผู้วางรากฐานวิชาจิตเวชศาสตร์และสุขภาพจิตสมัยใหม่และได้ชื่อว่าเป็น  "บิดาแห่งวงการจิตเวชและสุขภาพจิต”  ของเมืองไทย

           ในช่วง ๑๐ ปีแรก (พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๔๙๕) โรงพยาบาลยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงนัก จนเมื่อมีโครงการห้าปีของกรมการแพทย์ (พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๔๙๙) โรงพยาบาลจิตเวชต่าง ๆ จึงได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทั้งด้านอาคารต่าง ๆ กำลังคนและงบประมาณ สภาพภายในโรงพยาบาลและกระบวนการรักษามีลักษณะเป็นโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์ ไม่มีภาพของสถานที่กักขังหรือลูกกรงเหล็กแบบเดิมเหลืออยู่อีกต่อไป

           ถึงกระนั้นภาพเก่า ๆ ที่ค่อนข้างน่ากลัวก็ยังอยู่ในความรู้สึกของคนส่วนมาก เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าอาการบ้าเป็นโรค จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อโรงพยาบาลทั้งหมดอีกครั้ง

           โรงพยาบาลโรคจิตธนบุรี เปลี่ยนเป็น  โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา  
          
    โรงพยาบาลโรคจิตภาคกลาง (นนทบุรี) เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลศรีธัญญา  
          
    โรงพยาบาลโรคจิตภาคใต้  เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ 
          
    โรงพยาบาลโรคจิตภาคเหนือ  เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลสวนปรุง 
          
    และโรงพยาบาลโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปลี่ยนเป็น โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์

    ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×