ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เรื่องรอบ ๆ ตัวแบบนี้ "คุณรู้หรือไม่"

    ลำดับตอนที่ #84 : รู้หรือไม่ "5 การละเล่นโบราณ ที่ใช้สานสามัคคีของเด็กไทยมีอะไรบ้าง"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.03K
      2
      23 พ.ย. 51

    5 การละเล่นโบราณ สานสามัคคีเด็กไทย
    โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
    มอญซ่อนผ้า ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์คลังปัญญาไทย
           อาจเป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่บ้างที่ปัจจุบัน เด็ก ๆ แทบไม่มีโอกาสได้เล่นสนุกกับเพื่อน ๆ กลุ่มใหญ่ได้เหมือนเช่นในอดีต ด้วยรูปแบบและวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไป การละเล่นไทยโบราณบางชนิดจึงค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ เด็กยุคใหม่บางคนได้รู้จักการละเล่นไทยแต่เก่าก่อนจากงานนิทรรศการ หรือคำบอกเล่า แต่ไม่มีโอกาสได้ลงไปสัมผัสจริงมากนัก ดังนั้น เมื่อเอ่ยชื่อการละเล่นของไทยในอดีต เช่น "มอญซ่อนผ้า-หมากเก็บ-เป่ากบ-โพงพาง-แข่งเรือบก" เด็ก ๆ บางคนก็อาจนึกภาพความสนุกของการละเล่นเหล่านี้ไม่ออกก็เป็นได้
           
                  
           1. มอญซ่อนผ้า
           
           มอญซ่อนผ้าเป็นการละเล่นที่ไม่จำกัดจำนวนผู้เล่น ยิ่งมากเท่าไร ความสนุกครึกครื้นก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อุปกรณ์ที่ใช้คือผ้าเช็ดหน้าหนึ่งผืน และลานหรือสนามหญ้ากว้าง ๆ ก็พอค่ะ
           
           การเล่นก็คือให้เป่ายิงฉุบ หรือจับไม้สั้นไม้ยาว เลือก "มอญ" ขึ้นมา 1 คน ส่วนคนที่เหลือก็จะนั่งลงเป็นวงกลม คนที่เป็นมอญจะถือผ้าเช็ดหน้าเอาไว้ และเดินไปรอบ ๆ วง ระหว่างที่มอญเดิน คนในวงก็จะร้องเพลงไปด้วย เพื่อความสนุกสนาน ระหว่างนี้มอญอาจจะหย่อนผ้าเช็ดหน้าผืนนั้นลงที่ข้างหลังใครคนใดคนหนึ่งในวง โดยต้องพยายามไม่ให้คน ๆ นั้นรู้ตัว
           
           จากนั้น ก็ให้รีบวิ่งเลยค่ะ วิ่ง ๆ ๆ ให้กลับมายังที่ที่เราวางผ้าทิ้งไว้ให้ได้ ถ้าเรากลับมาถึงโดยที่คน ๆ นั้นยังไม่รู้ตัวก็ให้เอาผ้าผืนนั้นฟาด (เบา ๆ) ที่ตัวเขาเป็นอันว่าจบเกม คนเป็นมอญจะได้ลงไปนั่งในวงแทน และเขาคนนั้นก็จะลุกขึ้นมาเป็นมอญค่ะ
           
           แต่ถ้าตอนที่มอญหย่อนผ้า ถ้าเกิดคน ๆ นั้นรู้สึกตัวขึ้นมาเสียก่อน เขาก็จะรีบคว้าผ้าเช็ดหน้าผืนนั้นและออกวิ่งไล่เพื่อจะตีมอญให้ได้ ก็ให้มอญรีบวิ่งหนี ถ้าวิ่งมาจนครบรอบ และนั่งลงในที่ ๆ ว่างทัน ก็เท่ากับว่ารอดค่ะ แต่ถ้าวิ่งหนีไม่ทัน โดนตีเข้าเสียก่อน ก็เป็นอันว่าต้องเป็นมอญต่อไปค่ะ
           
           การเล่นมอญซ่อนผ้า นอกจากจะฝึกให้ผู้เล่นเป็นคนคล่องแคล่วว่องไว และมีปฏิภาณไหวพริบสามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้แล้ว ยังได้เสียงหัวเราะ ได้รู้จักเพื่อน ๆ เพิ่ม เด็ก ๆ จะสามารถสร้างความสนิทสนมคุ้นเคย และรู้จักปรับตัวเข้าหากันได้มากขึ้นค่ะ
           
           2. หมากเก็บ การละเล่นนี้อาจเป็นที่ชื่นชอบของคุณแม่หลายคนในสมัยเด็กค่ะ เพราะส่วนมากแล้ว จะเป็นเด็กผู้หญิงที่ชอบเล่นมากกว่าเด็กผู้ชาย ถ้าเป็นสมัยก่อน อุปกรณ์ที่ใช้อาจเป็นก้อนหิน 5 ก้อน แต่ยุคต่อมาก็เริ่มมีการทำหมากเก็บพลาสติก ที่มีลักษณะเป็นโซ่คล้องต่อเข้าด้วยกัน บางคนซื้อมากถุงหน่อยก็ได้หมากเก็บพวงโต ่ช่วยให้เล่นได้ง่ายขึ้น หมากเก็บมีทั้งหมด 5 ระดับ หรือที่เราเรียกกันว่า หมาก 1 หมาก 2 หมาก 3 หมาก 4 และหมาก 5 (สำหรับผู้เขียนเองคิดว่าหมาก 4 ยากสุดนะคะ)
           
           การเล่นหมากเก็บ เริ่มดังนี้ค่ะ
           ตัวผู้เล่นนั่งล้อมกันเป็นวง (มีกี่คนก็ได้) ผู้เล่นคนแรกถือหมากเก็บทั้ง 5 ก้อนไว้ในมือ ก่อนจะปาเบา ๆ ลงที่พื้้น แล้วก็เก็บขึ้นมาหนึ่งก้อน โยนขึ้นไปในอากาศ ในระหว่างนั้นก็เก็บหมากตัวที่อยู่บนพื้น 1 ตัวแล้วรีบรับหมาก ตัวที่โยนขึ้นไปในอากาศให้ได้ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนเก็บหมากได้หมด (เท่ากับว่าต้องเก็บ 4 ครั้ง)
           
           หมาก 2 ก็เช่นกันค่ะ ปาหมากทั้ง 5 ตัวลงบนพื้น จากนั้นก็เก็บขึ้นมาหนึ่งก้อน โยนขึ้นไปในอากาศ ในระหว่างนั้นก็เก็บหมากตัวที่อยู่บนพื้น 2 ตัวแล้วรีบรับหมากตัวที่โยนขึ้นไปในอากาศให้ได้ เก็บหมากได้หมดก็ผ่านเกม (ต้องเก็บทั้งหมด 2 ครั้ง)
           
           พอมาถึงหมาก 3 จะเริ่มยากขึ้นอีกนิด เพราะเมื่อปาหมากทั้ง 5 ตัวลงพื้น เมื่อเก็บขึ้นมาหนึ่งก้อนและกำลังโยนขึ้นไปในอากาศนั้น เราจะต้องเก็บหมากที่อยู่บนพื้นให้ได้ 3 ตัว และรีบรับหมากตัวที่โยนขึ้นไปในอากาศให้ได้ ตาต่อไปก็โยนหมาก 1 ตัวขึ้นไปแล้วเก็บหมากอีกตัวบนพื้นให้ได้ เป็นอันจบ (ต้องเก็บทั้งหมด 2 ครั้ง)
           
           หมาก 4 คราวนี้ยากมากกว่าเดิม โดยจะปาหมาก 5 ตัวลงบนพื้น เก็บขึ้นมาหนึ่งก้อนและโยนขึ้นไปในอากาศ จากนั้นต้องอาศัยความว่องไว เก็บหมากที่อยู่บนพื้นให้ได้ทั้งหมด และรีบรับหมากตัวที่โยนขึ้นไปในอากาศ (ต้องเก็บทั้งหมดภายในครั้งเดียว)
           
           สุดท้าย หมาก 5 ให้ผู้เล่นกำหมากทั้ง 5 ก้อนไว้ในฝ่ามือ หงายมือขึ้น โยนก้อนหินขึ้นไป และรีบคว่ำฝ่ามืออย่างรวดเร็ว ใช้หลังมือรับหมากที่โยนขึ้นไป รับได้เท่าไรก็ได้คะแนนเท่านั้น
           
           ในแต่ละด่านที่เด็ก ๆ ต้องฝ่านี้ หากใครเก็บหมากบนพื้นแล้วรับหมากที่โยนขึ้นไปในอากาศไม่ทัน หรือมือไปโดนหมากตัวอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการจะเก็บ หรือเก็บหมากได้ไม่ครบตามกติกา ก็ต้องเปลี่ยนตัวให้คนอื่นได้เล่นบ้าง เด็กบางคนที่กะจังหวะการปาหมากได้ไม่แม่น ก็อาจทำให้หมากกระจัดกระจาย เก็บยาก หรือบางคนปาเบาเกินไปก็ทำให้หมากกระจุกตัว เก็บยากอีกเช่นกัน เด็กที่เล่นจึงได้ประโยชน์จากการเล่นฝึกทักษะเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กับการฝึกมนุษยสัมพันธ์ รู้จักอดทนรอ เวลาที่ตัวเองไม่ได้เล่น อีกทั้งยังได้ฝึกการใช้นิ้ว สายตา อีกด้วย

    เป่ากบ ขอบคุณภาพประกอบจากเว็บไซต์คลังปัญญาไทย
           3. เป่ากบ เอ่ยชื่อนี้หลายคนคงพอนึกภาพออกถึงการเล่นที่มีผู้เล่น 2 คน อยู่คนละข้าง หรืออาจแบ่งเป็นทีมก็ได้ อุปกรณ์การเล่นเป็นหนังยาง โดยให้วางหนังยางลงบนพื้นคนละ 1 เส้น ห่างกันประมาณ 1 ฟุต จากนั้นผู้เล่นจะผลัดกันเป่ายางของตนให้ไปข้างหน้า จนยางทั้งสองเส้นมาอยู่ใกล้ๆ กัน ฝ่ายใดสามารถเป่ายางของตนเองให้ไปทับยางของฝั่งตรงข้ามได้ก่อนก็เป็นผู้ชนะ รางวัลของผู้ชนะอาจเป็นหนังยางจากผู้แพ้ เป็นต้น
           
           ประโยชน์ของการเป่ากบ หนีไม่พ้นเรื่องการฝึกปอดให้แข็งแรง และทำให้เด็ก ๆ รู้จักคิด ว่าจะเป่าหนังยางตรงจุดไหนดีเพื่อให้ยางไปทับฝั่งตรงข้ามได้
           
           4. โพงพาง
           
           "โพงพางเอย โพงพางตาบอด ลอดเข้าลอดออก โพงพางตาบอดปล่อยลูกช้างเข้าในวง" การเล่นโพงพางเล่นได้ไม่จำกัดจำนวนคน แต่ก่อนอื่น ต้องเลือกคนที่่จะเป็นโพงพางก่อน จากนั้นให้เอาผ้าปิดตา ไม่ให้มองเห็น คนที่เหลือล้อมวงรอบโพงพาง ร้องเพลงและจับมือเดินเป็นวงกลมรอบสัก 1 - 2 รอบ จากนั้นให้ผู้เล่นนั่งลง และอยู่อย่างเงียบที่สุด
           
           คนที่เป็นโพงพางจะเริ่มเดินออกมาหา หากเจอใครก็จะใช้มือคลำใบหน้า ถ้าโพงพางสามารถบอกชื่อของคนที่ตนเองคลำได้ถูก จะด้วยการจับลักษณะบางอย่างของใบหน้า หรือจำเสียงหัวเราะได้ก็ตาม คน ๆ นั้นก็จะต้องออกมาเป็นโพงพางแทน แต่ถ้าบอกชื่อผิด เขาก็ต้องเป็นโพงพางต่อไป
           
           เด็ก ๆ ที่เล่นโพงพาง หลายคนสนุกและอดหัวเราะไม่ได้เมื่อเพื่อนพยายามคลำตามใบหน้า คนที่เป็นโพงพางก็จะได้ฝึกการสังเกตสิ่งรอบตัวโดยใช้ประสาทสัมผัสอื่น ๆ เช่น หู มือ จมูก ด้วยค่ะ
           
           5. สุดท้ายกับการละเล่นที่เราขอนำมาแนะนำกันวันนี้ นั่นก็คือการ "แข่งเรือบก" ซึ่งจะต้องเตรียมอุปกรณ์กันสักนิดนึงค่ะ ได้แก่ ไม้กระดานสองแผ่น (ต่อหนึ่งทีม) และเชือกสำหรับรัดเท้าติดกับกระดาน โดยให้รัดเท้าของผู้เล่นเข้ากับไม้กระดาน เท้าซ้ายแผ่นหนึ่ง เท้าขวาแผ่นหนึ่ง
           
           การเล่นอาจใช้ลานกว้าง ๆ มีหลายทีมแข่งขันกัน และกำหนดจุดเส้นชัยเอาไว้ ทีมใดไปถึงเส้นชัยได้ก่อนก็ชนะ ซึ่งผู้เล่นจะต้องอาศัยความพร้อมเพรียงและสามัคคี ก้าวเท้าไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน นอกจากจะได้ฝึกความแข็งแรงของขาแล้ว ยังได้ฝึกการทำงานเป็นหมู่คณะด้วยค่ะ
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×