ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    รวมสัตว์โลก และสัตว์ในตำนาน

    ลำดับตอนที่ #25 : ปักษาวายุภักษ์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 17.66K
      3
      23 ส.ค. 51

    ..ปักษาวายุภักษ์..   
    หรือ  นกการเวก   
    [Bird of Paradise]
     


    นกการเวกนั้นมีอยู่ 2 จำพวก จำพวกหนึ่งเป็นนกในจินตนาการไม่มีตัวจริงๆ ในธรรมชาติ ส่วนอีกจำพวกหนึ่งเป็นนกที่มีตัวจริงๆ ในธรรมชาติ แต่เป็นนกต่างประเทศ มิได้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย แต่เราอาจหาตัวดูกันได้ตามสวนสัตว์บางแห่ง รวมทั้งสวนสัตว์ดุสิต เขาดินด้วย 






    ลักษณะของปักษาวายุภักษ์  
    (ในตำนานของไทย)




          ปักษาวายุภักษ์นั้นวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ได้อธิบายถึง  อสูรวายุภักษ์ รูปร่างเป็นนกอินทรี ตัวและหน้าเป็นยักษ์ มีปีก มีหาง มีเท้าเหมือนครุฑ แต่หางมีแววเหมือนนกยูง



    บางตำนานก็ว่า  ปักษาวายุภักษ์หรือ นกการเวกนี้  เป็นสัตว์หิมพานต์ บินสูงเหนือเมฆ จึงไม่ใคร่มีใครเห็นตัว กินลมเป็นอาหาร มีเสียงหวานไพเราะมาก ใครได้ยินเสียงร้องจะหยุดชะงักด้วยความจับใจในเสียงร้องนั้น นกการเวกเป็นนกที่มีขนงาม    ขนนกการเวกเป็นของวิเศษ ผู้ที่ต้องการขนนกการเวกจะต้องทำร้านไว้บนยอดไม้ เอาขันใส่น้ำไปวางไว้ นกการเวกจะมาอาบน้ำในขันแล้วสลัดขนไว้ให้ ขนนั้นเก็บไว้ก็จะกลายเป็นทอง
     








    พระยาอนุมานราชธน ได้อธิบายว่า นกการเวก มีภาพวาดอยู่ในสมุดภาพสัตว์หิมพานต์ ที่หอสมุดวชิรญาณ ว่าเป็นนกที่มีหัว มือ และเท้าเหมือนครุฑ ปีกอยู่ที่สองข้างตะโพก ขนหางยาวอย่างขนนกยูง ลักษณะขนหางคล้ายใบมะขาม แต่บางแห่งวาดเป็นนกคอยาว หัวเหมือนนกกระทุง ขนหางเป็นพวงเหมือนไก่ ขายาวเหมือนนกกระเรียน...






    ลักษณะที่ต่างกันไปก็แล้วแต่ว่าจิตรกรผู้วาดรูปนกจะจินตนาการไปอย่างไร และมีคำอธิบายในคัมภีร์ปัญจสูทนี ภาค ๓ ว่านกการเวก กินมะม่วงสุกชนิดที่มีรสหวานเป็นอาหาร โดยใช้จะงอยปากเจาะจิบน้ำให้ไหลออกมา นกการเวกถ้าอยู่ลำพังตัวเดียวจะไม่ร้อง ต่อเมื่อเห็นพวกพ้องจึงจะส่งเสียงร้องที่ไพเราะ ขนนกการเวกซึ่งใช้เสียบพระมาลาพระมหากษัตริย์ไทยนั้น 




    สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงกล่าวว่า “เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้ตัวจริงเป็นนกยัดไส้ มีขนติดบริบูรณ์เข้ามาคือ Paradise Bird นั่นเอง” Paradise Bird หรือ Bird of Paradise เป็นนกในตระกูล Paradiseidae มีถิ่นกำเนิดที่นิวกินี ขนมีสีสันงดงามมาก







    ตำนานของปักษาวายุภักษ์ 
     

     


     

    ตามประวัติในเรื่องรามเกียรติ์ว่า วายุภักษ์มีพ่อเป็นอสูรผู้ครองกรุงวิเชียร ซึ่งอยู่ที่เชิงเขาจักรวาลเป็นยักษ์ที่มีฤทธิ์มาก จึงมักจะเที่ยวข่มเหงรังแกเทวดาและฤาษีชีไพรอยู่เสมอ เมื่อพระรามพระลักษมณ์ออกเดินดงครั้งที่ ๒ อสูรวายุภักษ์บินผ่านมาพบเข้าจึงโฉบลงมาจับพระราม พระลักษณ์จะนำไปกินเป็นอาหาร 






    หนุมาน สุครีพ และไพร่พลลิงก็รีบตามไปช่วย และได้เข้าต่อตีกับอสูรวายุภักษ์ ในที่สุดก็ช่วยพระราม พระลักษมณ์ไว้ได้ และองคตกับนิลพัทก็ได้ฆ่าอสูรวายุภักษ์ตาย รูปนกวายุภักษ์ เดิมเป็นตราตำแหน่งพระยาราชภักดี ผู้มีหน้าที่เป็นหัวหน้าทำการคลังมาก่อน คณะเสนาบดีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้กำหนดให้นำตรานกวายุภักษ์มาใช้เป็นตรากระทรวงพระคลัง และใช้เป็นตรากระทรวงการคลังติดต่อกันเรื่อยมา โดย สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงใช้รูปนกการเวกเป็นแบบการเขียนตราวายุภักษ์





    นอกจากนี้ในพระบาลีระบุว่าเสียงของพระพุทธเจ้านั้นเหมือนเสียงพรหม แจ่มใสชัดเจน อ่อนหวาน สำเนียงเสนาะ ไม่แตก ลึกซึ้ง มีกังวาลไพเราะและเหมือนเสียงนกการเวก ส่วนอาหารของนกการเวกนั้น มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ปัญจสุทนีว่า นกการเวก กินน้ำมะม่วงสุกเป็นอาหาร แต่โดยที่นกชนิดนี้หายากหลงเข้าใจกันแต่ว่าอยู่บนท้องฟ้ากินลมเป็นอาหารจึงตั้งชื่อว่า วายุภักษ์ ก็มีเช่นกัน ตามวรรณคดีไตรภูมิพระร่วงนั้น กล่าวว่าขนนกการเวกนั้นเป็นที่ต้องการเพราะกลายเป็นทองคำได้








    ตราปักษาวายุภักษ์

     




    ในพระธรรมนูญใช้ตรากล่าวว่าตราปักษาวายุภักษ์ เป็นตราของพระยาราชภักดีฯ เจ้ากรมพระจำนวน ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร ต่อมาเมื่อโปรดให้ตั้งกระทรวงพระคลังฯและใช้ตราพระสุริยมณฑลแล้ว ตราปักษาวายุภักษ์ก็เลิกใช้ แต่นำเอามาใช้เป็นเครื่องหมายกระทรวงการคลัง







    นกวายุภักษ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ตรัสอธิบายไว้ดังนี้ "ถ้าแปลตามคำก็ว่า นกกินลม ข้อยากในนกนี้เกิดขึ้นในที่ประชุมเสนาบดี สั่งให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงเขียนผูกตรากระทรวงต่างๆเป็นลายข้อมือเสื้อเครื่องแบบ หากเป็นตราเก่าซึ่งมีตราประจำกระทรวงอยู่แล้ว จะเอามาใช้ได้ให้ใช้ตราเก่า ที่เป็นกระทรวงใหม่ไม่มีตรามาแต่เดิมจึงคิดผูกขึ้นใหม่









              โดยคำสั่งอย่างนี้กระทรวงใดก็ไม่ยากเท่ากระทรวงคลัง ซึ่งเดิมพระยาราชภักดีฯทำการในหน้าที่ เสนาบดีกระทรวงพระคลัง คือตรานกวายุภักษ์ รูปนกวายุภักษ์ในตรานั้นก็เป็นนกแบบสัตว์หิมพานต์ เหมือนกับนกอินทรีย์ ฉะนั้นไม่ทรงเชื่อว่าถูก จึงได้ทรงรำลึกต่อไป ก็ทรงรำลึกได้ว่า มี ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีความว่าทรงพระมาลาปักขนนกวายุภักษ์ ก็ทรงค้นหาพบในหมายท้ายหนังสือพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนริทรเทวี 










              เมื่อมีคำปรากฏเช่นนั้น นกวายุภักษ์ก็คือ นกการเวก เพราะพระมาลาทุกชนิดที่ปักขนนก ย่อมใช้ขนนกการเวกอย่างเดียวเป็นปกติ เมื่อทรงดำริปรับนกวายุภักษ์กับนกการเวกเข้ากัน ก็เห็นลงกันได้โดยมีทางเราพูดกันว่า นกการเวกนั้นมีปกติอยู่ในเมฆบนฟ้า กินลมเป็นภักษาหารตามที่ว่าพิสดารเช่นนั้น ก็เพราะนกชนิดนั้นในเมืองเราไม่มีและที่ว่ากินลมก็เพราะในเมฆไม่มีอะไร 





              นอกจากลมจึงให้กินลมเป็นอาหาร แต่เมื่อปกติของมันอยู่ในเมฆแล้วก็ไฉนเล่ามนุษย์จึงได้ขนมันมาปักหมวก เชื่อว่าเพราะเหตุที่น่าสงสัยเช่นนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตรัสสั่งไปต่างประเทศที่ส่งขนนกชนิดนั้นเข้ามา ให้ส่งตัวนกเข้ามาถวาย จึงได้ตัวจริงเป็นนกยัดไส้มีขนติดบริบูรณ์เข้ามา ก็เป็นนกที่เรียกตามภาษาอังกฤษ Paradise Bird ซึ่งที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษเช่นนี้ นึกว่าแปลมาจากภาษาแขก ความก็ว่าเป็นนกฟ้าเราคงได้ฟังแขกเขาว่า จึงละเมอตามไป










              เมื่อได้นกยัดไส้เข้ามาแล้วจึงทรงจัดเอาขึ้นเกาะคอนมีด้าม ให้เด็กถือนำพระยานุมาศในงานสมเด็จเจ้าฟ้าโสกันต์ ตามที่ได้พยานมาว่าเป็นนกอยู่ในแผ่นดิน ไม่ใช่นกอยู่ในฟ้าเช่นนั้น ใครจะเชื่อกันหรือไม่ก็หาทราบไม่ แม้ราชสีห์เมื่อได้ตัวจริงมาบอกใครว่า นี่แหละราชสีห์ก็ไม่มีใครเชื่อด้วยไม่เหมือนกับที่เราปั้นเขียนกัน ตามที่เราปั้น เขียนกันนั้น ขาดสิ่งสำคัญที่ไม่มีสร้อยคอ อันจะพึงสมชื่อว่า ไกรสร หรือ ไกรสรสีห์ หรือ ไกรสรราชสีห์










    ปักษาวายุกับวรรณกรรมไทย   


    รำพันพิลาป 




    สดับคำฉ่ำชื่นจะยื่นแก้ว
    แล้วคลาดแคล้วคลับคล้ายเคลิ้มหายเสียง
    ทรงปักษาการเวกแฝงเมฆเมียง
    จึ่งหมายเสี่ยงวาสนาอุตส่าห์คอย
    เหมือนบุปผาปาริกชาติชื่น
    สุดจะยื่นหยิบได้มีไม้สอย
    ด้วยเดชะพระกุศลให้หล่นลอย
    ลงมาหน่อยหนึ่งเถิดนะจะประคอง
    มิให้เคืยงเปลื้องปลดเสียยศศักดิ์
    สนอมรักร้อยปีไม่มีหมอง
    แม้นมั่งมีพี่จะจ้างพวกช่างทอง
    หล่อจำลองรูปวางไว้ข้างเตียง
     




    นกการเวกที่ถูกเอ่ยถึงใน รำพันพิลาป และในวรรณคดีไทยเรื่องอื่นๆ นั้น เป็นนกในจินตนาการทั้งสิ้น ไม่มีตัวจริงๆ ในธรรมชาติ ในนิยานปรัมปราบอกว่า นกการเวกอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ บินสูงเหนือเมฆ กินลมเป็นอาหาร ในเวลาเกาะจะเกาะอยู่บนก้อนเมฆ และมีเสียงร้องไพเราะมาก จนสัตว์ทั้งหลายที่ได้ยินจะต้องหยุดชะงักไปชั่วครู่ นอกจากนี้ นกการเวกยังเป็นพาหนะของนางมณีเมฆขลา นางฟ้าที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาท้องทะเลและมหาสมุทรอีกด้วย 










    ในวรรณคดีไทยบางเรื่อง อาจเรียก นกการเวก ว่า นกการวิก ก็ได้ เช่น “ การวิกระวังวนกุณาล “ ใน สมุทรโฆษคำฉันท์ หรือบางทีก็เรียกว่า นกกรวิก เช่น ใน ไตรภูมิพระร่วง







    ใน รำพันพิลาป สุนทรภู่ได้พรรณนาว่า ในขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดเทพธิดาที่กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพอุปถัมภ์อยู่ ได้ฝันไปว่า นางมณีเมฆขลาซึ่งทรงนกการเวกเป็นพาหนะแฝงอยู่ในก้อนเมฆ ทำท่าจะยื่นแก้วมณีให้ แต่ท่านเอื้อมมือไปรับไว้ไม่ได้ ซึ่งนักวรรณคดีต่างตีความว่า สุนทรภู่แสดงเงื่อนงำว่าใฝ่รักกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพแต่ไม่สมหวัง ประกอบกับมีศัตรูเป็นเสี้ยนหนามอีกด้วย จึงคิดจะย้ายจากวัดเทพธิดาไปอยู่ที่วัดอื่น 






    คดไข่นกการเวก





    คดไข่นกการเวกนั้นเกิดขึ้นจากนกการเวกคาบไข่แล้วเกิดพลัดตกหล่นลงมา จากเขาไกรลาสเมืองกึ่งกลางระหว่างสวรรค์กับโลกมนุษย์เมื่อตกลงมาแล้วได้กลาย









    สภาพเป็นหินที่มีลักษณะยาวเป็นรูปวงรี ด้านข้างจะมองเห็นเป็นรูปตัวนกขดตัวอยู่ทั้งสองด้าน เป็นของวิเศษที่หาได้ยากยิ่งเป็นของคู่บุญเฉพาะคน

             




     อานุภาพนั้นตามตำนานโบราณกาลได้กล่าวถึงนกการเวกว่า เป็นนกสวรรค์ที่มีเสียงร้องไพเราะจับใจ ไม่ว่าเทวดา นางฟ้า หรือเหล่านักสิทธิ์วิทยาธร คนธรรพ์ และบรรดาสัตว์ในป่าหิมพาน เมื่อได้ยินเสียงร้องของนกการเวกจะตกอยู่ในภวังค์เคลิบเคลิ้มดั่งต้องมนต์สะกดแม้แต่พระฤษีที่เข้าญาณสมาบัติอยู่ยังต้องลืมตาขึ้นมามองและฟังเสียง 







    คดไข่นกการเวกนั้นจึงมีอิทธิคุณเลิศล้ำทางด้านมหาละลวยจังงังเมตา มหาเสน่ห์ โชคลาภ  เจริญรุ่งเรือง  ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ เป็นของกายสิทธิ์ประเภทหนึ่งเดียวในปฐพีที่หาได้ยากดั่งงมหาเข็มในมหาสมุทร  ซึ่งน้อยคนนักจะมีวาสนาได้พบเจอ............... 
     

     


     

    นกการเวก 
    Bird of  Paradise





    ทำไมคนไทยจึงเรียก   Bird  of  Paradise   ว่านกการเวก



    นกการเวกอีกจำพวกหนึ่ง ราชบัณฑิตยสถานบอกไว้ว่า เป็นนกที่ชาวผิวขาวเรียกกันว่า Bird of Paradise นั่นเอง แต่ไม่ได้บอกว่า เพราะเหตุใดคนไทยจึงเรียกนกจำพวกนี้ว่า นกการเวก แต่จากข้อมูลในหนังสือ ธรรมชาติของนานาสัตว์ ชุดที่ 2 ของ นายแพทย์ บุญส่ง เลขะกุล ได้บอกว่า เคยได้อ่านหนังสือ ตำนานพระราชลัญจกร ซึ่งเป็นตำนานตราของในหลวง ที่รวบรวมไว้โดย พระยาราชอนุมาน 





    ในหนังสือนั้นบอกไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงรับสั่งให้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ออกแบบตรา นกวายุภักษ์ เพื่อใช้ในวงราชการใหม่ แต่ในกรมเองไม่เคยเห็นนกชนิดนี้มาก่อนเลย แต่ทรงนึกไปนึกมา จึงนึกถึงขนนกการเวกที่ใช้ปักพระมาลาขึ้นมาได้ เลยทรงคิดเอาเองว่า นกวายุภักษ์ นั้น คงจะเป็น นกการเวก นั่นเอง 









    ต่อมา ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงให้ห้างที่เคยส่งขนนกการเวกมาขายสำหรับปักพระมาลานั้น เอานกชนิดนั้นทั้งตัวสตัฟฟ์ส่งเข้ามาถวาย 2 ตัว ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดปรานนกการเวกสตัฟฟ์ 2 ตัวนี้มาก ใน บางครั้งถึงกับทรงให้มหาดเล็กถือนกการเวกสตัฟฟ์นี้นำหน้าภาณุมาศในขบวนแห่โสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้า หลังจากนั้น นกการเวกสตัฟฟ์ 2 ตัวนี้ได้ปักอยู่ที่พระแท่นในวังหลวง








    จากนกการเวกสตัฟฟ์ 2 ตัวนี่เอง กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ จึงได้ทรงใช้เป็นแบบในการออกแบบตรานกวายุภักษ์ให้กับกรมสรรพสามิต ดังที่ปรากฏให้เห็นกันอยู่ทุกวันนี้บนฝาจุกขวดสุราและปากซองบุหรี่ ซึ่งแสดงว่า ได้เสียภาษีสรรพากรแล้ว 




    จาก ตำนานพระราชลัญจกร นี่เองทำให้เราทราบว่า คนไทยเรียก Bird of Paradise ว่า นกการเวก แต่มิได้บอกไว้ว่า เพราะเหตุใดเหมือนกัน







    ลักษณะของนกการเวก  Bird  of  Paradise










    นกการเวกที่เอ่ยถึงนี้ ในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จัดไว้ในวงศ์ย่อย และวงศ์เดียวกับอีกา คือ วงศ์อีกา (Family Corvidae) แต่แยกไว้ในเหล่านกการเวก (Tribe Paradisaeini ) เพราะมันเป็นนกที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกับอีกามาก เนื่องจากวิวัฒนาการมาจากอีกานั่นเอง แต่มีสีสันและวิธีการเกี้ยวพาราสีแตกต่างกันมาก 





    ในโลกนี้มีนกการเวกอยู่ทั้งสิ้น 45 ชนิด แพร่กระจายอยู่ในปาปัวนิวกีนีและเกาะเล็กๆ ใกล้เคียง แต่พบทางตอนเหนือของทวีปออสเตรเลียด้วย 4 ชนิด แต่ชนิดที่มนุษย์รู้จักกันดีที่สุด และเป็นชนิดแรกที่มนุษย์ได้รู้จักด้วย คือ นกการเวกใหญ่ (Greater Bird of Paradise; Paradisaea apoda) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับนกที่ถูกสตัฟฟ์ส่งเข้ามาถวายในหลวง รัชกาลที่ 5 ด้วย 







    นกการเวกใหญ่นี้มีขนาดพอๆ กับอีกา นกตัวผู้มีสีสันสวยสดงดงามมาก เพราะมีสีสันแต่งแต้มตัดกันหลายสี และมีขนบริเวณสีข้างยาวมากเป็นพิเศษ หนาแน่น ฟู และพริ้วไปกับสายลม โดยเฉพาะในเวลาที่มันเกาะห้อยหัวเพื่อแผ่ขนที่สีข้างออกอวดนกตัวเมีย เพื่อเกี้ยวพาราสีนั้น เป็นภาพที่น่าดูยิ่งนัก 









    ส่วนชื่อชนิดของนกการเวกใหญ่ คือ apoda นั้น มาจากคำในภาษากรีก 2 คำ คือ a ซึ่งแปลว่า ไม่มี และ podos ซึ่งแปลว่า เท้า รวมความแล้วจึงแปลว่า ไม่มีเท้า เพราะนกการเวกใหญ่นี้ ชาวผิวขาวได้เห็นครั้งแรกจากนกสตัฟฟ์ที่ไม่มีขานั่นเอง
     







    เนื่องจากลักษณะเด่นของนกการเวกใหญ่ คือ ขนบริเวณสีข้างที่ยาวฟูมากเป็นพิเศษและพริ้วไปกับสายลม ซึ่งดูเผินๆ อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นขนหางของมัน จึงทำให้นกชนิดอื่นอีกหลายชนิดที่มีขนหางยาวมากเป็นพิเศษได้ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ หรือทั้งชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ที่มีคำซึ่งมีความหมายว่า สวรรค์ รวมอยู่ในชื่อด้วย เช่น นกแซวสวรรค์ (Asian Paradise-flycatcher; Terpsiphone paradisi) นกพาราไดซ์ไวดาห์ (Paradise Whydah; Vidua paradisaea) และนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo; Dicrurus paradiseus) 







    แม้กระทั่งปลาน้ำจืดบางชนิดยังได้ชื่อทำนองนี้ไปด้วย เพราะมีมีครีบยาวนั่นเอง เช่น ปลาหนวดพราหมณ์ (Paradise Threadfin; Polynemus paradiseus) ในวงศ์ Polynemidae ซึ่งมีครีบอกแตกออกเป็นเส้นๆ หลายเส้น ซึ่งยาวมากจนเลยปลายหางออกไป 




    ยิ่งกว่านั้น ขนตะโพกที่ยาวฟูของนกการเวกใหญ่ยังให้กำเนิดชื่อ ปักษาสวรรค์ (Bird-of-paradise flower) พรรณไม้ในวงศ์ Strelitziaceae ที่มีเชื้อสายใกล้ชิดกับกล้วย (banana) ในวงศ์ Musaceae อีกด้วย เพราะช่อดอกของพรรณไม้ในวงศ์นี้มีกลีบประดับที่ยาวรีและปลายแหลม ยามเมื่อคลี่แย้มบาน มองดูเผินๆ ทำให้ชาวผิวขาวนึกถึงขนตะโพกที่ยาวฟูของนกการเวกใหญ่นั่นเอง 






    ตำนานของ  Bird  of  Paradise  (ปักษาสวรรค์)








    เมื่อเรือ Vittoria ของราชนาวีสเปนเดินทางกลับถึงท่าที่เมือง Seville ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2065 (รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2) ผู้คนที่มาต้อนรับต่างก็รู้สึกตระหนกตกใจมากที่เห็นเสากระโดงเรือหัก เห็นสภาพเรือโทรมและเห็นกะลาสีเรืออยู่ในสภาพใกล้ตายเพราะขาดอาหาร จากเรือที่เคยโอ่อ่าเมื่อ 3 ปีก่อน ภายใต้การนำของ Ferdinand Magellan ที่มุ่งหวังจะเดินทางรอบโลกเป็นครั้งแรก โดยมีกะลาสีเรือ 239 คน แต่เมื่อ Vittoria เทียบท่า ก็ปรากฏว่า มีผู้รอดชีวิตเพียง 18 คนเท่านั้นเอง และเมื่อผู้คนเชื่อว่าในการเดินทางไกลทุกครั้ง เวลากะลาสีเดินทางกลับมักนำโรคระบาดกลับมาด้วย ดังนั้น ผู้คนที่มาต้อนรับจึงรู้สึกตัวสั่นระรัว










           
           ความจริงก็มีว่า Vittoria มิได้นำความอัปรีย์หรืออัปมงคลใดๆ มาสู่มาตุภูมิ แต่กลับนำทรัพยากรที่มีค่าเช่น เครื่องเทศ สัตว์ป่าและต้นไม้แปลกๆ มากมายมาให้สเปน และหนึ่งในบรรดาทรัพย์สมบัติที่ลูกเรือนำกลับมา คือซากนกปักษาสวรรค์ (bird of paradise) ที่มีหางเป็นพุ่มงาม และมีสีสวย


           






           ซากนกนี้เป็นของขวัญที่สุลต่านแห่งเกาะ Batjan หรือที่ทุกวันนี้เรียกเกาะ Labuha ได้มอบให้แก่ Magellan และได้บอก Magellan ว่าพระองค์ทรงจับนกนี้ได้จากเกาะนิวกินี


          
           การมีสีสดใสและหางเป็นพุ่มสวย ทำให้ใครก็ตามที่เห็นนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต จะรู้สึกตื่นเต้นและชื่นชมในตัวนกมาก ชาวนิวกินีเองก็ถือว่า นกชนิดนี้เป็นนกศักดิ์สิทธิ์ที่หายาก และขนของมันสามารถใช้แทนเงินได้ แต่เวลาจับนกนี้ได้ชาวพื้นเมืองนิยมตัดขาทั้งสองของมันทิ้ง ดังนั้น คนยุโรปที่เห็นซากนกในระยะแรกๆ จึงคิดว่านกนี้ไม่มีเท้าเดิน ดังนั้น มันต้องบินลงมาสู่โลกจากสวรรค์


    ในปี พ.ศ. 2093 Pierre Belon นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสได้รายงานการเห็นหมวกของผู้พิพากษาในตุรกีว่า มีขนนกสวยประดับ การเห็นขนที่ยาวเป็นพุ่มสวยทำให้เขาคิดว่า มันเป็นขนของนก phoenix ซึ่งเป็นนกที่มีชีวิตนิจนิรันดรในนวนิยาย และในปี พ.ศ. 2141 John van Lonschoten ได้เรียกนกที่คนเนเธอร์แลนด์นำมาจากเมืองจีนว่า avis paradiseus ซึ่งแปลว่า bird of paradise เพราะมันเป็นนกที่สวยงามมาก จนคนคิดว่ามันมาจากสวรรค์ 





    มันอาศัยอยู่ในเมฆ และไม่ลงมาเกาะดินเดิน และเวลาบินมันจะบินมุ่งหน้าสู่ดวงอาทิตย์ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงเวลาตาย มันจะบินลงมาตายบนดิน ชาวบ้านยังเชื่ออีกว่า มันกินน้ำค้างในอากาศ และตัวเมียวางไข่บนหลังของตัวผู้ และสำหรับประเด็นไม่มีเท้านั้น ในปี พ.ศ. 2325 John Latham ผู้เป็นนักชีววิทยาชาวอังกฤษได้รายงานว่า เพราะชาวนิวกินีเวลาจับนกได้ และต้องการเก็บซากนก เขาจะตัดขาทั้งสองทิ้ง จึงเป็นว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกคนก็รู้ว่านกชนิดนี้มีเท้า และอาศัยอยู่บนต้นไม้







    ในอดีตนักท่องเที่ยวที่มาเผชิญภัยบนเกาะนิวกินีชอบจับนกชนิดนี้เพื่อนำกลับยุโรป แต่พบว่าหลังจากที่ถูกขังในกรงได้นานเพียง 2-3 วัน นกทุกตัวจะเสียชีวิตลง ดังนั้น ชาวยุโรปจึงไม่เคยเห็นนกนี้เป็นๆ เลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2367 เมื่อ Rene Lesson นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เห็นมันจะจะเป็นครั้งแรกกำลังกระโดดไปมาบนกิ่งไม้ในป่า เขาได้อุปมาความประทับใจครั้งนั้นว่า เปรียบเสมือนได้เห็นก้อนอุกกาบาตที่สุกใสพุ่งตัดอากาศไปในป่าเป็นทางยาว
           




           การติดตามศึกษาธรรมชาติของนกอย่างใกล้ชิด ทำให้ Lesson รู้ว่าปักษาสวรรค์ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง และนกตัวเมียมีรูปร่างอัปลักษณ์กว่านกตัวผู้ ถึงกระนั้นเมื่อถึงฤดูสืบพันธุ์แทนที่ตัวเมียที่รูปร่างไม่สวยจะจีบตัวผู้ กลับเป็นว่า นกตัวผู้จะวาดลวดลายกรีดกรายร่ายรำ เพื่อยั่วยวนตัวเมียให้สนใจ และถ้าลีลาของตัวผู้เป็นที่ต้องใจ และถูกใจตัวเมียหลายๆ ตัว เหล่านกตัวเมียก็จะยืนเรียงคิวให้ตัวผู้นั้นมาผสมพันธุ์
          

           ในอดีตเมื่อ 150 ปีก่อน Alfred Russel Wallace นักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ The Malay Archipelago และตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึงลีลาการเต้นเกี้ยวพาราสีของนกปักษาสวรรค์ (Paradisaea Apoda) ว่า เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ นกจะจับกลุ่มรวมกันเป็นฝูงใหญ่ในป่าบนเกาะ Aru ที่มีต้นไม้หนาทึบ 






    ส่วนชาวบ้านที่ต้องการดูเหตุการณ์ก็จะสร้างเพิงบนต้นไม้สูงที่อยู่ไกลออกไป และก็ได้เห็นว่านกตัวผู้ที่มีจำนวนตั้งแต่ 12-20 ตัว จะยกปีกและหางพร้อมกับยืดคอออก และขยับตัวสั่นไหวตลอดเวลา จากนั้นก็จะบินจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และส่งเสียงร้องก้องป่าไปในขณะเดียวกันด้วย จนตัวเมียเห็นใจหรือตัวผู้เหนื่อย ซึ่งก็อาจนานเป็นชั่วโมง






    Wallace ยังได้กล่าวถึงวิธียิงนกว่า ชาวบ้านใช้ธนูที่ปลายเป็นศรแหลมยิง และจะฆ่ามันทันที โดยไม่ให้มีบาดแผลขนาดใหญ่ เพื่อรักษาราคาซากของมัน และเวลาต้องการจับมันเป็นๆ ชาวบ้านจะใช้ตาข่ายจับ ในปี พ.ศ. 2405 Wallace ได้มีโอกาสนำนกปักษาสวรรค์เป็นๆ ไปยุโรปเป็นครั้งแรก และตั้งแต่นั้นมา ชาวยุโรปก็พากันนิยมชมชอบขนนกชนิดนี้โดยเฉพาะสตรียุโรปชอบใช้ขนนกปักษาสวรรค์แซมหมวกมาก ทำให้นกถูกฆ่ามากถึง 50,000 ตัว/ปี เพราะสังคมได้พบว่า นอกจากใช้ขนทำเครื่องประดับแล้ว ตัวของนกเองเวลาทำให้แห้งสามารถนำไปวางโชว์ในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย
           





           ถึงแม้นักชีววิทยาจะรู้จักนกปักษาสวรรค์มานานร่วม 400 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็มีนักชีววิทยาเพียงคนเดียวที่เคยศึกษาชีวิตนกชนิดนี้อย่างละเอียด เขาชื่อ Erwin Strese mann การทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์แห่งกรุง Berlin ในประเทศเยอรมนีทำให้เขามีโอกาสศึกษาซากของนกปักษาสวรรค์ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วยุโรป จนรู้ว่านกชนิดนี้มี 43 ชนิด


     ส่วน Errol Fuller นั้นเป็นจิตรกรชาวอังกฤษที่มีความสามารถในการวาดภาพนกมาก เขาเคยแสดงฝีมือวาดภาพนก dodo และนก auk ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว มาบัดนี้เขารู้สึกสนใจนกปักษาสวรรค์จึงได้วาดภาพของนกที่ถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์ การเป็นคนช่างสังเกต และละเอียดทำให้ Fuller รู้ว่าความรู้ที่ Strese mann แถลงไว้นั้นผิด นกปักษาสวรรค์มีมากกว่า 43 ชนิด เพราะนกที่ Strese mann คิดว่าเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์จริงๆ แล้วเป็นพันธุ์ผสม ส่วนที่คิดว่าเป็นพันธุ์ผสมนั้น จริงๆ แล้วเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์
          








           และนั่นก็หมายความว่า นกปักษาสวรรค์ก็เช่นเดียวกับคน เมื่อถึงเวลาจะผสมพันธุ์มันไม่เลือกเชื้อชาติฉันใด คนเราก็เช่นกันฉันนั้น และในความเป็นจริงนั้น เวลานักชีววิทยาจะแยกความแตกต่างระหว่างชนิดของสัตว์ เขาไม่พิจารณาเฉพาะหน้าตา หรือ DNA เท่านั้น แต่เขาจะพิจารณาวิธีสืบพันธุ์ด้วย

           






           ณ วันนี้นกปักษาสวรรค์เป็นนกต้องห้าม ล่า ยิง จับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2456 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลยุโรปหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามการซื้อขายนกชนิดนี้ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีก็ตาม และนั่นก็แสดงว่า ปักษาพาณิชนกชนิดนี้ไม่มี (โดยหลักการ) แต่สำหรับชาวบ้านบนเกาะนิวกินีเอง การลอบล่าคงมีครับ


    ที่มาของข้อมูล 

    :   สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
    :   
    http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9470000086136
    http://pipatkayasith.igetweb.com/index.php?mo=3&art=166331
    http://www.himmapan.com/thai/himmapan_bird_nokgarawake.html
    :   http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2666&stissueid=2570&stcolcatid=2&stauthorid=19
    : นกตะวัน @ http://board.dserver.org/n/noktawan/00000097.html



    credit for  Pictures

    : (http://www.himmapan.com/thai/himmapan_bird_nokgarawake.html)
    :  (http://www.rd.go.th/accessibility/3449.0.html)
    : (http://www.panyathai.or.th/)
    :  (www.borderland-tours.com/v2/content/view/53/75/)
    : (http://www.natureartists.com/artists/artist_artwork.asp?ArtworkID=8792)
    :  (www.hawaiianphotos.net/detail.aspx?ID=99)

    >
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×