จริงๆแล้วอันนี้เป็นความเรียงที่เขียนสำหรับการสอบปลายภาควิชา “พัฒนาการสังคมสมัยใหม่” ของเมื่อวันศุกร์ ซึ่งก็เป็นการสอบที่ไม่เข้าท่าอยู่หลายประการล่ะ ในเมื่อออกโจทย์ล่วงหน้าสามวัน ให้เด็กเขียนไปก่อนได้ แล้วก็เอาเข้าห้องสอบได้ทุกอย่างตราบใดที่มันไม่ได้ทำงานด้วยไฟฟ้า ทำไมไม่ให้พิมพ์ส่งไปก่อนเลยนะ! จะได้อ่านง่ายๆ พิลึกๆจริงๆ ต้องมานั่งลอกมือหงิกหมดเวลาไปเกือบสองชั่วโมง แล้วยังเหลือเอกสารอีกสามชุดที่ต้องอ่านแล้วเขียนอภิปรายอีก ไม่มีใครออกก่อนเวลาเลยสักคนเดียว
ตอนที่ลงมือลอกเนี่ยคอฟฟี่ย่อแหลกเลย เพื่อเห็นแก่เวลาและมือตัวเอง แต่ที่พิมพ์เต็มๆเอาไว้มันก็น่าเสียดาย เลยเอามาลงในนี้แหละ เผื่อจะมีใครนึกอยากอ่าน (ไม่คิดว่าจะมีหรอกนะ) มันเป็นความเรียงเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนไปในเทอมนี้ หลักๆก็คือความเลวร้ายของทุนนิยมกับประกาศของพรรคคอมมิวนิสม์ ซึ่งเป็นประกาศที่ติดจะฝันเฟื่องทีเดียว ถ้าไม่ใช่ว่าต้องใช้สอบก็คงไม่อ่านหรอก!
โรงงานทอผ้าในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลอย่างไรต่อพัฒนาการแบ่งเขาแบ่งเราของมนุษย์ การแบ่งนั้นมีอิทธิพล เหมือน หรือแตกต่างอย่างไรกับในยุคปัจจุบัน และเครื่องทอผ้าในสมัยนั้นเล่นบทเหมือนหรือแตกต่างกับโทรศัพท์มือถือในสมัยนี้อย่างไร
การแบ่งเขาแบ่งเราดูจะเป็นความถนัดของมนุษยชาติ เป็นงานที่สำคัญอันดับต้นๆรองก็แต่เพียงการหาอาหาร เป็นประดิษฐกรรมที่ยืนยงมายาวนานจะสำคัญน้อยกว่าก็แต่เพียงการเกษตรเท่านั้น ไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเรา แม้มีทุน มีรัฐ ก็ทำสงครามไม่ได้
การแบ่งก็มีมากมายตั้งแต่ระดับง่ายสุดอย่าง ชาย-หญิง เด็ก-ผู้ใหญ่ แข็งแรง-อ่อนแอ ฯลฯ แต่ที่เราจะให้ความสนใจในความเรียงนี้คือการแบ่งใหม่สดที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเครื่องทอผ้าอันสมัยที่มาพร้อมกันนั่นเอง
ในสมัยกลางเราไม่อาจแบ่งแยก รวย-จน ได้มากนัก เงินตรายังไม่แพร่หลาย ผู้คนใช้ชีวิตเป็นทาสติดที่ดินก็มีความคิดง่ายๆว่าท่านผู้อยู่ในปราสาทนั้นเป็นเจ้า ส่วนผองเรานั้นเป็นขี้ข้า เจ้าอาจเป็นขุนนางหรืออัศวินมีหลายระดับ อาจอยู่ปราสาททำจากไม้หรือหินอลังการ ครองที่ดินเล็ก-ใหญ่ต่างกัน แต่สำหรับผู้ใต้ปกครอง เจ้าก็ยังคงเป็นเจ้าอยู่นั่นเอง ไม่จำเป็นต้องมีการแบ่งแยกประเภทในหมู่เจ้า จะสำคัญอะไรว่าปราสาทที่เจ้าอยู่นั้นสร้างจากอะไรหากเจ้าตวัดดาบแล้วขี้ข้าหัวหลุดเหมือนๆกัน
แม้เมื่อการค้าเริ่มเฟื่องฟูและโลหะมีค่าเริ่มมีบทบาทก็เป็นเพียงการค้าที่ผูกขาดโดยรัฐเท่านั้นดังเช่นการขยายยุโรปในต้นศตวรรษที่ ๑๖ ของสเปนและโปรตุเกส การที่ชนชั้นปกครองรวยขึ้นนั้นไม่ได้ทำให้การแบ่งเขาแบ่งเราแตกต่างไปจากเดิมแต่อย่างใด เขายังเป็นเจ้า รวยไม่รวยก็ยังเป็นเจ้า และขี้ข้าก็เป็นขี้ข้าอยู่วันยังค่ำ แต่เมื่อพลังทุนนิยมโชติช่วงชัชวาลขึ้นมาหลังนักปฏิวัติฝรั่งเศสนิยมใช้กิโยตินในหมู่กันและกันและการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เริ่มขึ้นในอังกฤษ การแบ่งเขาแบ่งเราก็เริ่มขึ้นทันที เจ้าที่ดินซึ่งเป็นเจ้าแต่เดิมหากไม่ผันตัวเป็นนายทุนก็ต้องเน่าไป ขี้ข้าซึ่งมีฝีมืออยู่บ้างที่สุดก็สามารถตั้งตัวเป็นนายทุนน้อยๆ บ้างก็ร่วมมือกับรัฐ บ้างก็ร่วมมือกับเจ้าที่ดิน เถลิงชนชั้นขึ้นเป็นกระฎุมพีอุตสาหกรรมผู้มีทรัพย์ ผู้มองการณ์ไกลถึงประโยชน์อันมหาศาลจากเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่สามารถทำงานได้ทั้งวันทั้งคืน นายทุนเจ้าของโรงงานเหล่านี้เองที่เป็นพลังสำคัญในการล้มอำนาจของชนชั้นเจ้าแต่เดิม พวกเขายกเลิกระบบทาส ทุกคนเป็นเสรีชนสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้ สู่การกำเนิดกรรมาชีพ ซึ่งน่าจะหมายถึงอาชีพที่มี(อกุศล)กรรมเสียล่ะมาก
นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทุนนิยมทำการแบ่งอันซับซ้อน แต่เดิมมาความสัมพันธ์เจ้า-ทาสนั้นเรียบง่ายและไม่มีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจมากมายนัก (ไม่ทำ ตาย!) แต่เมื่อทุนนิยมก้าวเข้ามา เสรีชนดูจะกลายเป็นทาสมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ ทาสโดยแท้ถึงอย่างไรนายก็เลี้ยงข้าว แต่ทาสในคราบเสรีชนต้องทำงานแทบตายเพื่อให้พอยาไส้ เหตุผลที่นายทุนผลักดันการล้มทาสก็เพราะผลประโยชน์ตรงนี้นั่นเอง การกดค่าแรงให้ต่ำไว้นั้นคุ้มกว่าการเลี้ยงทาสมากมายนัก ในอังกฤษซึ่งเป็นที่แรกที่ทุนนิยมและการปฏิวัติอุตสาหกรรมเบิกบานนั้นชัดเจนยิ่ง ชาวนาเสรีและหัตถกรทั้งหลายหากไม่กลายเป็นนายทุนไปก่อนด้วยความสามารถสักอย่างหรือบุญกรรมแต่ปางก่อนก็พบว่าตัวเองเข้าแถวตอกบัตรอยู่หน้าโรงทอผ้าของพวกแรกนั่นเอง
จากการแบ่งเจ้า-ทาสอันเรียบง่ายกลายเป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอันซับซ้อน อย่างน้อยก็ในสายตาของฝ่ายซึ่งประกาศตนว่าอยู่ข้างกรรมาชีพ มาร์กซ์อาจจะพูดว่าชนชั้นทางสังคมถล่มทลายเหลือแค่สองชนชั้นก็จริง กระนั้นตัวศาสดาแห่งลัทธิเองก็ไม่อาจหยุดแบ่งเขาแบ่งเราได้ แบ่งเขานั้นไม่ได้หมายถึงการแยกนายทุนไปอีกฝ่ายหนึ่ง และกรรมาชีพซึ่งมาร์กซ์ถือตนว่าเป็นเราไปอีกฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เราต้องแบ่ง “เขา” ออกมาด้วยว่าเขามีพวกไหนบ้าง แม้แต่ “เรา” เองก็ต้องซอยถี่ยิบ ต้องมี รวย จน บน ล่าง กลาง สูง ซ้าย ขวา หน้า หลัง นำหน้าชื่อชนชั้นที่ดูจะยืนยันกันเสียเหลือเกินว่ามีแค่สอง เจ้า-ทาสกลายเป็นนายทุน-กรรมาชีพนั้นอาจจะใช่แต่ไม่มีครั้งใดในประวัติศาสตร์โลกที่สามารถแบ่งชนชั้นได้มากมายขนาดนี้เลย การที่มาร์กซ์กล่าวว่านายทุนต่อต้านการปฏิวัติเพื่ออนุรักษ์ผลประโยชน์แต่ดั้งเดิมนั้นอาจจริงก็ได้ เพราะนายทุนยังคงมองสังคมเรียบง่ายแบบเจ้า-ทาสเช่นเดิม ตนเป็นเจ้า กรรมาชีพเป็นทาส คนงานก็แค่คนงาน จะเด็ก สตรี หรือคนชรา ถ้าทำงานได้ก็คือคนงาน มิหนำซ้ำเด็ก (และถ้าจะให้ดี ต้องผู้หญิงด้วย) ยังเอาค่าแรงต่ำกว่าอีกด้วย
หลังจากจัดการแบ่งชนชั้นในประเทศได้ลงตัวและนายทุนเริ่มอู้ฟู่ได้สักพัก ก็ถึงเวลาที่อุตสาหกรรมเล็กๆจำนวนมากจะเติบโตเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ยักษ์ (แบ่งอีกล่ะ เขาเล็ก เราใหญ่ กำไรอื้อซ่า สมัยก่อนไม่สำคัญนักหรอกนาเล็กนาใหญ่ ผลิตข้าวพอเป็นใช้ได้ นามันก็นา แค่ทุ่งปลูกข้าว แบ่งขนาดตึกกับจำนวนขี้ข้าในโรงงานง่ายกว่าเยอะ) การรวมทุนเริ่มต้นขึ้น อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งครองตลาดเกือบทั้งหมด เจ้าของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เหล่านี้มักจะร่วมมือกัน ตั้งเป็นกงสี ทรัสต์ หรืออาจควบรวมกิจการกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแข่งกันเอง (ยังใช้กันจนทุกวันนี้ บางอย่างของสมัยใหม่ก็ไม่ได้ล้าสมัยไปในทันที) กดต้นทุนต่ำๆแล้วขายราคาต่ำๆเพื่อไล่บี้พวกอุตสาหกรรมขนาดมดปลวก นี่แหละที่เรียกว่าการค้าเสรี ซึ่งตามที่เลนินได้อรรถาธิบายไว้ การค้าเสรีทำให้เกิดการกระจุกตัวในการผลิตที่โรงงานไม่กี่แห่ง และนำไปสู่การผูกขาด (อาจเป็นเพราะนายทุนไม่ต้องการแบ่งเขาแบ่งเราในหมู่นายทุนกระมัง จึงรวมกันแบบที่เลนินว่าไว้ แต่ที่แน่นอนคือ ไม่ต้องการแบ่งกำไรให้กรรมาชีพอย่างแน่นอน เพราะถ้ามีการแบ่งเขาแบ่งเราในเรื่องกำไรไม่ใช่แค่ชนชั้นล่ะก็ มาร์กซ์คงไม่มีอะไรเขียนเป็นแน่)
เล็กๆนายทุนไม่ ใหญ่ๆนายทุนทำ! โรงงานทอผ้าอันทันสมัยของนายทุนกระเป๋าหนักย่อมต้องการวัตถุดิบจำนวนมาก เพราะเครื่องจักรแม้จะทันสมัยอย่างไรก็เสกวัตถุดิบขึ้นมาเองไม่ได้ (คงมีแต่เครื่องมือของหุ่นยนต์แมวจากศตวรรษที่ยี่สิบสองเท่านั้นที่ทำเช่นนั้นได้ ลองเปิดหาดูในลิ้นชัก) และเงินที่ได้มาจากการกดขี่กรรมาชีพจะเอากองไว้เฉยๆก็ดูไม่เข้าที ชื่อระบบก็บอกอยู่แล้วว่าทุนนิยม เรานิยมทุน มันต้องเอาไปทำทุน! นายทุนใช้เงินซื้อสินค้า (ทั้งวัตถุดิบและแรงงานกรรมาชีพล้วนเป็นสินค้า) เพื่อที่พวกกรรมาชีพทั้งหลายในโรงงานนั่นจะได้ทำงาน เพื่อนายทุนจะได้เงินกลับมาเป็นผลกำไรยิ่งๆขึ้นไปเอาทุนมาต่อให้เจ้าของโรงงานซื้อสินค้ามาทำกำไรต่อไปอีก แต่ด้วยทรัพยากรจำกัดทางออกสำหรับดินแดนอัตคัดอย่างยุโรปคือการขยายตัวออกไป แบ่งเขาแบ่งเราอีกล่ะ นั่นตะวันออก นั่นตะวันตก นั่นเอเชีย นั่นแอฟริกา นั่นพัฒนา นั่นป่าเถื่อน นั่นเราสมควรยึด นั่นเราไม่สมควรยึด
มีจักรวรรดิการค้าและอาณานิคมอยู่บ้างแล้วตั้งแต่หลังสมัยกลาง แต่ก็เทียบไม่ได้เลยกับจักรวรรดินิยมอันโอฬารในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อบริษัทการค้าอย่าง VOC ล่มสลายและ EIC ต้องมลายสิ้น รัฐก็เข้ามาล่าอาณานิคมโดยไม่ต้องทำเป็นมีบริษัทเอกชนบังหน้ายึดครองด้วยสัญญาการค้ากับเจ้าพื้นเมืองอีกต่อไป เกิดการแบ่งเขาแบ่งเราแบบมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ โลกถูกแบ่งออกเป็นจักรวรรดิ ประเทศถูกแบ่งออกเป็นประเทศแม่ของจักรวรรดิ ประเทศที่ถูกจักรวรรดิยึด และประเทศที่ยังไม่ถูกยึดโดยจักรวรรดิ ศูนย์กลางจักรวรรดิดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนในการขูดรีดทรัพยากรจากดินแดนข้าทาส (“เขา” เป็นพวกด้อยพัฒนา “เรา” จะนำความเจริญไปให้ ปลูกฝ้ายเยอะๆนะ) ขนกลับไปขูดรีดการผลิตจากกรรมาชีพ (“เขา” เป็นลูกจ้างที่ “เรา” จ้าง ไม่ชอบงานหรือ ก็ออกไปซี) ผลิตออกมาเป็นสินค้ามากมายล้นตลาด เพื่อไม่ให้ราคาตก ก็ขนกลับไปโก่งราคากับดินแดนในอาณัตินั่นแหละ (“เขา” ต้องได้รับความเจริญ เสื้อผ้าทอด้วยฝ้ายที่เขาปลูกเองที่ “เรา” บรรจงทอมาขายนี่แหละความเจริญล่ะ)
นั่นเป็นการแบ่งชนชั้นและแบ่งโลกของพวกยุโรป โดยมีต้นกำเนิดมาจากเจ้าเครื่องทอผ้าที่ไม่อาจแก้ตัวได้ ได้แต่รับใช้นายทุนผู้สร้างและทนการใช้งานของกรรมาชีพไร้ทักษะไปวันๆเท่านั้น เรามาดูทางเอเชียบ้าง (นี่ก็เป็นการแบ่งด้วยทิศอีกเช่นกัน แม้ชาวยุโรปยุคนั้นไม่น้อยรู้สึกว่าสถานที่เกิดก็มากพอจะแบ่งเขาแบ่งเราเป็นชนชั้นได้แล้ว มียุโรปอยู่สูงสุด เอเชียตรงกลาง และแอฟริกาต่ำสุด) ท่านประธานเหมาดำเนินการแบ่งเขาแบ่งเราด้วยหลักการง่ายๆตรงประเด็นทีเดียว ใครคือมิตร? ใครคือศัตรู? แต่แม้จะเปลี่ยนจากกรรมาชีพในโรงงานทอผ้ามาเป็นเกษตรกรปลูกฝ้ายเหมาก็แทบไม่ต่างกับมาร์กซ์ เพราะท้ายสุด แม้จะแบ่งคนออกเป็นชนชั้นนายทุน (รวมกับเจ้าที่ดิน) กับกรรมาชีพ เหมาก็ยังแบ่งพวกในแต่ละชนชั้นอยู่ดี รวย จน บน ล่าง กลาง สูง ซ้าย ขวา หน้า หลัง นำหน้าชื่อชนชั้น การมีสองชนชั้นแต่มี ๑.๑, ๑.๒, ๑.๓, ๑.๓.๑, ๑.๓.๒ เช่นนี้ มีนายทุน นายทุนน้อย นายทุนน้อยรวย มันซับซ้อนกว่าชนชั้นทั้งห้าของขงจื๊อเสียอีก เพราะอย่างน้อยที่สุด ขงจื๊อก็แบ่งเพื่อบอกว่าชนชั้นนี้ทำอันนี้แล้วดีนะ ไม่เหมือนเหมาที่บอกว่าชนชั้นนี้เป็นชนชั้นมิตร แต่ชนชั้นย่อยในชนชั้นมิตรนี่ไว้ใจไม่ค่อยได้นะ แถมยังพอมีหวังกับชนชั้นย่อยของชนชั้นย่อยในชนชั้นศัตรูด้วยซ้ำไป
การแบ่งชนชั้นในลักษณะนายทุน-กรรมาชีพเช่นนี้ยังคงมีอิทธิพลและมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบันซึ่งทุนนิยมเถลิงความเป็นเจ้าเหนือทุกแนวคิดไปเรียบร้อยแล้ว จะเรียกว่าส่งอิทธิพลก็ไม่ถูกนักเพราะมันยังไม่ได้จากไปไหนให้มีอะไรมาแทนที่ มันยังอยู่เหมือนเดิม! แม้จะด้วยเล่ห์เหลี่ยมที่แพรวพราวยิ่งขึ้นนายทุนยังคงอยู่เหมือนครั้งกระโน้น ร่ำรวยและพรั่งพร้อมด้วยความทันสมัยยิ่งกว่าเดิม กรรมาชีพก็ยังคงอยู่ ยากจนและพรุ่งพร้อมด้วยสินค้าอันทันสมัยที่ผลิตออกมาล่อตาล่อใจแต่ไม่มีปัญญาซื้อเหมือนตอกย้ำความต่ำชั้นยิ่งขึ้นไปอีก กระนั้น โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ได้แบ่งชนชั้นเป็นสองฝั่งอย่างทื่อๆอย่างในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั่น เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่าชนชั้นกลางนั้นมีอยู่ อาจจะวัดลำบากหน่อย แต่มีอยู่แน่ๆ ไม่ใช่ติ่งๆในสองชนชั้นประเภทนายทุนจนหรือกรรมาชีพมีทุนอย่างที่มาร์กซ์กับเหมา “เหมา” รวมเข้าไป นายทุนออกทุนผลิต กรรมาชีพผลิตสินค้า ใครเล่าจะบริโภค จักรวรรดิทางการเมืองอาจล่มสลายไปแล้วแต่จักรวรรดิทุนนิยมยังอยู่ และมันสร้างชนชั้นกลางผู้มีทรัพย์ขึ้นมาบริโภค ทุนนิยมไม่อาจอยู่ได้แค่ทุนในการผลิต (อันหมายถึงทุนของนายทุน และกรรมาชีพ ซึ่งก็เป็นทุนเช่นกัน) ใครสักคนข้างนอกโรงงานต้องมีทุนไว้ซื้อ และนั่นคือการแบ่งชนชั้นนายทุนออกมานิด แยกชนชั้นกรรมาชีพออกมาหน่อย สถาปนาขึ้นเป็นชนชั้นกลางนั่นเอง แต่ก็เช่นเดียวกับการแบ่งแยกละเอียดยิบที่ดูจะติดเป็นนิสัยเสียแล้ว นายทุน ชนชั้นกลาง กรรมาชีพ ซึ่งเรียกง่ายๆตามพีระมิดชนชั้นว่าสูงกลางต่ำก็มีคำคุณศัพท์สูงกลางต่ำนำหน้าอีก เป็นสูงกลาง กลางสูง ต่ำต่ำ แบ่งแยกตามกำลังทรัพย์ อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ หลากหลายวิธีแล้วแต่ว่า “เรา” เป็นใคร และมอง “เขา” อย่างไร
ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนยิ่งคือเทคโนโลยีอันทันสมัยมีบทบาทมากกว่าการเป็นเครื่องทอผ้าแยกนายทุน-กรรมาชีพออกจากกัน เทคโนโลยีมีผลผลิตที่มากกว่าการเป็นทุนของนายทุน มันเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ เป็นฐานความคิด เป็นมือไม้ให้คนทั่วไปไม่ใช่แต่เครื่องจักรผลิตสินค้าที่กรรมาชีพในโรงงานตะบี้ตะบันใช้งาน ความยิ่งใหญ่ของมันทำให้การแบ่งเขาแบ่งเราในยุคปัจจุบันแตกต่างจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคนั้นเทคโนโลยียังไม่สำคัญนัก แม้ประเทศหนึ่งจะมีเครื่องทอผ้าที่ทันสมัยกว่าแต่ในยุคขยายจักรวรรดิอย่างบ้าคลั่งแบบนั้นจำนวนเรือปืนสำคัญกว่าเยอะ แต่ในทุกวันนี้ เราแบ่งเขาแบ่งเราจากเทคโนโลยีไม่ใช่กำลังทหารเสียแล้ว หากเขามีเทคโนโลยีก้าวหน้า แยกเขาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หากพอมีบ้าง แยกเขาเป็นกำลังพัฒนา แล้วหากเราไม่มีล่ะ เขาก็แยกเราเป็นพวกด้อยพัฒนา
ยิ่งเทคโนโลยีนำมาซึ่งโลกาภิวัตน์ (Globalization อ่านออกเสียงว่า ก่อบรรลัยใส่ฉัน หากท่านออกเสียงแบบผู้ดีอังกฤษ ท่านจะได้รับการจำแนกเป็นคนพัฒนาแล้ว) การรวมโลกเป็นหนึ่งยิ่งเป็นการแบ่งแยกเขาเราขึ้นไปอีก การมีชนชั้นมากๆ มีการแบ่งแยกกลุ่มในหมู่มนุษย์มากๆ การเป็นพวกที่แปลกสักหน่อยในกลุ่มนับร้อยนับพันย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การแปลกแยกออกมาในโลกที่รวมเป็นหนึ่งเดียวนั้นคอขาดบาดตายนัก เขาจะว่าเรานั้นด้อยพัฒนาบ้าง ล้าหลังบ้าง พัฒนาจึงเป็นคำมหัศจรรย์เพื่อจะตามโลกาภิวัตน์ให้ทัน ไม่มีใครอยากถูกแบ่งแยกอยู่ข้างหลังอย่างโดดเดี่ยว ทุกคนจึงต้องตามๆกันไปแม้จะถูกกดขี่อย่างไรก็ยอม ขอ “เขา” อย่าแบ่ง “เรา” ออกไปเลย นี่เรียกว่า “โลกานุวัตร” (ประพฤติตามโลก) อย่างไร้สติ
โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารอภินิหารที่จะเชื่อมท่านกับโลกทั้งใบจึงเป็นของวิเศษ มันจะทำให้ท่านไม่แปลกแยกโดดเดี่ยว มันจะหลอมรวมปัจเจกชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลก โลกทั้งใบ! ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ จะไม่มีการแบ่งเขาแบ่งเราอีกต่อไป เราทั้งผองจะเป็นส่วนหนึ่งของโลก โลกหนึ่งสองสามที่พัฒนาสูงต่ำต่างกันจะไม่สำคัญ เมื่อเราถูกโยงเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียวด้วยเสาสัญญาณไร้สายที่ยังเถียงกันอยู่นั่นว่าจะทำคนเป็นมะเร็งสมองหรือไม่
นั่นล่ะคือปัญหา หากคุณไม่เชื่อมต่อกับโลก คุณก็ถูกแยกออกไปนอกโลก หากเทคโนโลยีสามัญที่แม้แต่ประเทศด้อยพัฒนาที่สุดยังถือครองได้เชื่อมต่อพวกเขาเข้าด้วยกัน แล้วถ้า “เรา” ไม่เชื่อมต่อล่ะ เราจะทำอะไรได้นอกจากนั่งพิศวงว่ายังมีอะไรต่ำไปกว่าการเป็นโลกที่สามด้อยพัฒนาได้อีกหรือ นำมาสู่การแบ่งแยกเขาเราอีกล่ะ “โลกที่สี่” ท่านอยากไปอยู่โลกที่สี่กระนั้นหรือ? โลกหนึ่งสองสามเขารวมกันแล้วนะ ใช้มือถือวันทูคอลนี่ซี ง่ายยิ่งกว่านับ(โลก)หนึ่งสองสาม!
เทคโนโลยีพัฒนา ศาสตร์แห่งการแบ่งเขาแบ่งเราก็พัฒนาไปด้วย
เครื่องจักรทอผ้าในครั้งกระโน้นเป็นเครื่องมือกดขี่ของนายทุน กรรมาชีพที่ไม่มีทางเลือกก็ต้องทนใช้เจ้าเครื่องไร้ชีวิตจิตใจนี่หากต้องการเศษเงินไว้ยาไส้ “เรา” ต้องเข้าหา “เขา” เพราะเราไม่มีทางเลือก เราจะอดตาย เราต้องเข้าไปแม้จะรู้ว่าการเดินเข้าโรงงานนรกนั่นเป็นการเข้าสู่ระบบทุนนิยมที่ไม่มีวันหวนกลับ เป็นการแบ่งแยกเราออกจากเขาด้วยทุนเป็นเกณฑ์ แต่เจ้าโทรศัพท์มือถือแห่งโลกาภิวัตน์นี่กลับกัน การเข้าหา “เขา” ไม่ใช่การแบ่งแยก “เรา” ต้องเข้าหาเขาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งกับเขา ไม่งั้นก็ถูกแบ่งแยกออกไป เทคโนโลยีทั้งสองจึงต่างกันตรงนี้ แม้จะเป็นเครื่องมือนายทุนในการแบ่งแยกเหมือนกัน เล่นบนความจำเป็นของคนเหมือนกัน แต่บทบาทนั้นกลับกันโดยสิ้นเชิง เครื่องทอผ้าบังคับให้คนเข้ามาถูกแบ่งแยกเป็นนายทุน-กรรมาชีพเพื่อความอยู่รอด แต่โทรศัพท์มือถือบังคับให้คนเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกับโลกาภิวัตน์เพื่อจะได้ไม่ถูกแบ่งแยกออกไป หากมาร์กซ์เกิดในยุคไฟเบอร์ออพติกส์และไมโครชิพส์ของเรานี้ ท่านผู้มีเคราคงปวดหัวกับการแบ่งชนชั้นเมื่อเห็นกรรมาชีพทำงานแทบตายเพื่อจะซื้อโทรศัพท์มือถือของนายทุนจะได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก ซึ่งก็ปกครองด้วยนายทุนอีกล่ะ แต่อย่างน้อย ด้วยการแบ่งเขาแบ่งเราที่ไม่เปลี่ยนไปมากเท่าเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือสามารถเล่นบทบาทใหม่อันยิ่งใหญ่อย่างที่เครื่องทอผ้าทำไม่ได้ มันยิ่งใหญ่จนน่าจะเพิ่มเข้าไปคู่กับค้อนเคียวด้วยซ้ำ แม้แต่มาร์กซ์ก็น่าจะพอใจในระดับหนึ่ง ในยุคของเขา กรรมาชีพทุกประเทศที่ยืนอยู่หน้าเครื่องทอผ้าไม่สามารถสามัคคีรวมเป็นหนึ่งได้ด้วยกองเหล็กนั่น แต่ตอนนี้ ด้วยโทรศัพท์มือถือในมือและการจัดการอย่างถูกต้อง กรรมาชีพทุกประเทศก็สามารถรวมกันได้สมเจตนารมณ์ท่านศาสดาด้วยเครื่องมือทันสมัยของนายทุนชิ้นนี้นี่เอง กรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!
ความคิดเห็น