ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    The World War 1 สงครามโลกครั้งที่ 1

    ลำดับตอนที่ #8 : เส้นทางของสงคราม [เขตสงครามใต้]

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 42
      0
      16 ธ.ค. 58

    เขตสงครามใต้

     

    บอลข่าน

    ทหารออสเตรียประหารชีวิตชาวเซอร์เบียที่ถูกจับเป็นเชลยใน ค.ศ. 1917 เซอร์เบียสูญเสียประชากรราว 850,000 คน หนึ่งในสี่ของประชากรก่อนสงคราม และทรัพยากรครึ่งหนึ่งก่อนสงคราม

    เมื่อต้องเผชิญหน้ากับรัสเซีย ออสเตรีย-ฮังการีจึงสามารถแบ่งกองทัพโจมตีเซอร์เบียได้เพียงหนึ่งในสาม หลังประสบความสูญเสียอย่างหนัก ออสเตรียก็สามารถยึดครองเมืองหลวงเบลเกรดของเซอร์เบียได้ช่วงหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การตีโต้ตอบของเซอร์เบียในยุทธการคอลูบารา ได้ขับออสเตรียออกจากประเทศเมื่อถึงปลาย ค.ศ. 1914 ในช่วงสิบเดือนแรกของ ค.ศ. 1915 ออสเตรีย-ฮังการีใช้ทหารกองหนุนส่วนใหญ่สู้รบกับอิตาลี แต่ทูตเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีสามารถชักชวนให้บัลแกเรียเข้าร่วมโจมตีเซอร์เบีย จังหวัดสโลวีเนีย โครเอเชียและบอสเนียของออสเตรีย-ฮังการีเป็นพื้นที่จัดเตรียมทหารให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งรุกรานเซอร์เบียเช่นเดียวกับสู้รบกับรัสเซียและอิตาลี มอนเตเนโกรวางตัวเป็นพันธมิตรกับเซอร์เบีย

    เซอร์เบียถูกยึดครองนานกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย เมื่อฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มโจมตีทางเหนือตั้งแต่เดือนตุลาคม อีกสี่วันถัดมา บัลแกเรียร่วมโจมตีจากทางตะวันออก กองทัพเซอร์เบีย ซึ่งสู้รบบนสองแนวรบและแน่นอนว่าต้องเผชิญหน้ากับความพ่ายแพ้ ได้ถอยทัพไปยังอัลเบเนีย และหยุดยั้งเพียงครั้งเดียวเพื่อป้องกันการโจมตีของบัลแกเรีย ชาวเซิร์บประสบความพ่ายแพ้ในยุทธการโคโซโว มอนเตเนโกรช่วยคุ้มกันการล่าถอยของเซอร์เบียไปยังชายฝั่งเอเดรียติกในยุทธการมอยคอแวทส เมื่อวันที่ 6-7 มกราคม ค.ศ. 1916 แต่สุดท้ายก็ส่งผลให้ออสเตรียยึดครองมอนเตเนโกรเช่นเดียวกัน กองทัพเซอร์เบียถูกอพยพทางเรือไปยังกรีซ

    ปลาย ค.ศ. 1915 กองทัพฝรั่งเศส-อังกฤษยกพลขึ้นบกที่ซาโลนิกาของกรีซ เพื่อเสนอความช่วยเหลือและกดดันให้รัฐบาลกรีซประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง โชคไม่เข้าข้างฝ่ายสัมพันธมิตร เมื่อพระมหากษัตริย์กรีกผู้ทรงนิยมเยอรมนี พระเจ้าคอนแสตนตินที่ 1 ทรงปลดรัฐบาลนิยมสัมพันธมิตรของเอเลฟเทริออส เวนิเซลอสพ้นจากตำแหน่ง ก่อนที่กองทัพรบนอกประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรจะมาถึง ความร้าวฉานระหว่างพระมหากษัตริย์กรีซและฝ่ายสัมพันธมิตรพอกพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้กรีซถูกแบ่งแยกเป็นภูมิภาคซึ่งยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลเฉพาะกาลใหม่ของเวนิเซลอสในซาโลนิกา หลังการเจรจาทางการทูตอย่างเข้มข้นและการเผชิญหน้าด้วยอาวุธในกรุงเอเธนส์ระหว่างกองทัพสัมพันธมิตรและฝ่ายนิยมกษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์กรีซต้องสละราชสมบัติ และพระราชโอรสพระองค์ที่สอง อเล็กซานเดอร์ เสด็จขึ้นครองราชย์แทน เวนิเซลอสเดินทางกลับมายังกรุงเอเธนส์เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 และกรีซ ซึ่งรวมเป็นหนึ่งอีกครั้ง เข้าร่วมสงครามอย่างเป็นทางการโดยอยู่ฝ่ายเดียวกับฝ่ายสัมพันธมิตร กองทัพกรีซทั้งหมดถูกระดมและเริ่มเข้าร่วมในปฏิบัติการทางทหารต่อฝ่ายมหาอำนาจกลางบนแนวรบมาซิโดเนีย

    หลังจากถูกยึดครอง เซอร์เบียถูกแบ่งออกระหว่างออสเตรีย-ฮังการีและบัลแกเรีย ใน ค.ศ. 1917 ชาวเซิร์บได้ก่อการกำเริบโทพลิคาขึ้น และส่งผลให้พื้นที่ระหว่างเทือกเขาโกบาโอนิคและแม่น้ำเซาท์โมราวาถูกปลดปล่อยชั่วคราว แต่การก่อการกำเริบดังกล่าวถูกบดขยี้โดยกองทัพร่วมบัลแกเรียและออสเตรียเมื่อปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917

    แนวรบมาซิโดเนียส่วนใหญ่ไม่มีพัฒนาการ กองทัพเซอร์เบียยึดคืนบางส่วนของมาซิโดเนียโดยยึดบิโตลาคืนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1916 และเฉพาะเมื่อสงครามใกล้ยุติลงแล้วเท่านั้นที่ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถโจมตีผ่านได้ หลังกองทัพเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีส่วนใหญ่ถอนกำลังออกไปแล้ว กองทัพบัลแกเรียประสบความพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวในสงครามที่ยุทธการโดโบรโพล แต่อีกไม่กี่วันให้หลัง บัลแกเรียก็สามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษและกรีกได้อย่างเด็ดขาดที่ยุทธการดอเรียน แต่เพื่อป้องกันการถูกยึดครอง บัลแกเรียได้ลงนามการสงบศึกเมื่อวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1918 ฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟสรุปว่าสมดุลทางยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเอียงไปข้างฝ่ายสัมพันธมิตรแล้วอย่างไม่มีข้อสงสัย และหนึ่งวันหลังบัลแกเรียออกจากสงคราม ระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยืนยันให้มีการเจรจาสันติภาพในทันที

    การหายไปของแนวรบมาซิโดเนียหมายความว่าถนนสู่บูดาเปสต์และเวียนนาเปิดกว้างสำหรับกองทัพขนาดกำลังพล 670,000 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเอกเฟรนเช เดเปเร เมื่อบัลแกเรียยอมจำนน ทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลางสูญเสียทหารราบ 278 กองพัน และปืนใหญ่ 1,500 กระบอก ซึ่งเทียบเท่ากับกองพลของเยอรมนีราว 25 ถึง 30 กองพล ซึ่งเคยยึดแนวดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ กองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีตัดสินใจส่ง 7 กองพลทหารราบ และ 1 กองพลทหารม้าไปยังแนวหน้า แต่กำลังเหล่านี้ไม่เพียงพอจะสถาปนาแนวรบขึ้นมาใหม่ได้อีก


    จักรวรรดิออตโตมัน

    จักรวรรดิออตโตมันเข้าร่วมกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยได้ลงนามเป็นพันธมิตรออตโตมัน-เยอรมันอย่างลับ ๆ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งได้ภัยคุกคามต่อดินแดนคอเคซัสของรัสเซีย และการติดต่อคมนาคมของอังกฤษกับอินเดียผ่านทางคลองสุเอซอังกฤษและฝรั่งเศสได้เปิดแนวรบโพ้นทะเลด้วยการทัพกัลลิโปลีและการทัพเมโสโปเตเมีย ที่กัลลิโปลี จักรวรรดิออตโตมันสามารถขับไล่กองทัพอังกฤษ ฝรั่งเศสและเหล่ากองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ แต่การณ์กลับตรงกันข้ามในเมโสโปเตเมีย ซึ่งจักรวรรดิออตโตมันพ่ายแพ้อย่างหายนะจากการล้อมคุท (ค.ศ. 1915-16) กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรวบรวมทัพใหม่และสามารถยึดกรุงแบกแดดได้ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1917

    ห่างไปทางตะวันตก คลองสุเอซได้รับการป้องกันอย่างเป็นผลจากการโจมตีของออตโตมันใน ค.ศ. 1915 และ 1916 ในเดือนสิงหาคม กองทัพเยอรมันและออตโตมันพ่ายแพ้ที่ยุทธการโรมานี หลังชัยชนะนี้ กองทัพจักรวรรดิอังกฤษรุกคืบข้ามคาบสมุทรไซนาย ผลักดันกองทัพออตโตมันให้ถอยกลับไปในยุทธการแมกดาบา (Magdhaba) ในเดือนธันวาคมและยุทธการราฟาตรงชายแดนระหว่างไซนายของอียิปต์และปาเลสไตน์ของออตโตมันในเดือนมกราคม ค.ศ. 1917 ในเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ยุทธการกาซาครั้งแรกและครั้งที่สอง กองทัพเยอรมันและออตโตมันหยุดการรุกคืบ แต่ในปลายเดือนตุลาคม การทัพไซนายและปาเลสไตน์ดำเนินต่อ เมื่อกองทัพรบนอกประเทศอียิปต์ของอัลเลนบีชนะยุทธการเบียร์เชบา สองกองทัพออตโตมันพ่ายแพ้อีกไม่กี่สัปดาห์ให้หลังที่ยุทธการสันเขามักอาร์ (Maghar Ridge) และต้นเดือนธันวาคม เยรูซาเลมถูกยึดได้หลังกองทัพออตโตมันอีกกองทัพหนึ่งพ่ายแพ้ที่ยุทธการเยรูซาเล็ม พอถึงช่วงนี้ ฟรีดริช ไฟรแฮร์ เครสส์ ฟอน เครสเซนสไตน์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพที่ 8 และแทนที่ด้วย Cevat Çobanlı และอีกไม่กี่เดือนให้หลัง ผู้บัญชาการกองทัพออตโตมันในปาเลสไตน์ อีริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ ถูกแทนที่ด้วยออทโท ลีมัน ฟอน ซันเดอร์ส

    สนามเพลาะป่ารัสเซียในซาริคามิส

    โดยปกติแล้วกองทัพรัสเซียด้านคอเคซัสเป็นกองทัพที่ดีที่สุด เอนเวอร์ ปาชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออตโตมัน มีความทะเยอทะยานและใฝ่ฝันจะยึดครองเอเชียกลางอีกครั้ง และดินแดนที่เคยเสียให้แก่รัสเซียในอดีต แต่เขาเป็นผู้บัญชาการที่ไม่มีความสามารถ[64]เขาออกคำสั่งโจมตีรัสเซียในคอเคซัสในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1914 โดยมีกำลังพล 100,000 นาย เขายืนกรานการโจมตีทางด้านหน้าต่อที่ตั้งของรัสเซียที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาในฤดูหนาว ซึ่งทำให้สูญเสียกำลังพลไปถึง 86% ในยุทธการซาริคามิส[65]

    ผู้บัญชาการรัสเซียระหว่าง ค.ศ. 1915-1916 พลเอกนิโคไล ยูเดนนิช สามารถขับไล่พวกเติร์กให้ออกไปจากเขตเทือกเขาคอเคซัสตอนใต้ส่วนใหญ่โดยได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง ใน ค.ศ. 1917 แกรนด์ดยุกนิโคลัสเข้าบัญชาการกองทัพรัสเซียแนวรบคอเคซัส[65] เขาวางแผนสร้างทางรถไฟจากจอร์เจียไปยังดินแดนยึดครอง เพื่อที่ว่ากองทัพรัสเซียจะมีเสบียงเพียงพอในการรุกครั้งใหม่ใน ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ตาม เดือนมีนาคม ค.ศ. 1917 พระเจ้าซาร์ถูกโค่นล้มหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ และกองทัพรัสเซียคอเคซัสเริ่มแตกออกจากกัน

    ด้วยการยุยงของสำนักอาหรับของสำนักงานต่างประเทศและเครือจักรภพของอังกฤษ การปฏิวัติอาหรับจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยความช่วยเหลือของอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 ด้วย ยุทธการเมกกะ โดย ชารีฟ ฮัสเซน แห่งเมกกะ และจบลงด้วยการยอมจำนนของจักรวรรดิออตโตมันที่ดามัสกัส ฟาครี ปาชา ผู้บัญชาการออตโตมันที่เมดินะ ทำการรบต้านทานเป็นเวลากว่าสองปีครึ่งระหว่างการล้อมเมดินะ[66]

    ตามพรมแดนลิเบียของอิตาลีและอียิปต์ของอังกฤษ ชนเผ่าเซนุสซี ซึ่งได้รับการปลุกปั่นยุยงและติดอาวุธโดยพวกเติร์ก ทำสงครามกองโจรขนาดเล็กต่อกองทัพสัมพันธมิตร ฝ่ายอังกฤษถูกบีบให้ต้องแบ่งทหาร 12,000 นายมาต่อสู้ในการทัพเซนุสซี จนกระทั่งกบฏเหล่านี้ถูกบดขยี้ในที่สุดเมื่อกลาง ค.ศ. 1916[67]

     

    การเข้าร่วมของอิตาลี

    อิตาลีเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีตั้งแต่ ค.ศ. 1882 โดยเป็นภาคีของไตรพันธมิตร อย่างไรก็ตาม อิตาลีนั้นมีเจตนาของตนบนพื้นที่ของออสเตรียในเตรนตีโน อิสเตรียและดัลมาเทีย อิตาลีได้แอบทำสนธิสัญญาอย่างลับ ๆ กับฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1902 ซึ่งเป็นการลบล้างพันธมิตรเก่าอย่างสิ้นเชิง ในตอนต้นของสงคราม อิตาลีปฏิเสธที่จะส่งทำเข้าร่วมรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยให้เหตุผลว่าไตรพันธมิตรเป็นพันธมิตรป้องกัน แต่จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีกลับเป็นผู้เปิดฉากสงครามก่อนเสียเอง รัฐบาลออสเตรีย-ฮังการีเริ่มเจรจาเพื่อพยายามจะให้อิตาลีวางตัวเป็นกลางในสงคราม โดยเสนออาณานิคมตูนิเซียของฝรั่งเศสให้เป็นการตอบแทน ซึ่งทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยื่นข้อเสนอซ้อนโดยสัญญาว่าจะอิตาลีจะได้ไทรอลใต้ จูเลียนมาร์ช และดินแดนบนชายฝั่งดัลมาเทียหลังออสเตรีย-ฮังการีพ่ายแพ้ ข้อเสนอดังกล่าวทำให้เป็นทางการในสนธิสัญญาลอนดอน หลังถูกกระตุ้นจากการรุกรานตุรกีของฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1915 อิตาลีเข้าร่วมกับไตรภาคีและประกาศสงครามต่อออสเตรีย-ฮังการีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และประกาศสงครามต่อเยอรมนีอีกสิบห้าเดือนให้หลัง

    แม้ว่าในทางการทหาร อิตาลีจะมีความเหนือกว่าด้านกำลังพลก็ตาม แต่ข้อได้เปรียบดังกล่าวเสียไป ไม่เพียงแต่มีสาเหตุจากลักษณะภูมิประเทศสลับซับซ้อนที่เกิดการสู้รบขึ้นเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่ใช้ด้วย จอมพลลุยจิ คาดอร์นา ผู้เสนอการโจมตีทางด้านหน้าไม่เปลี่ยนแปลง ใฝ่ฝันว่าจะตีเข้าไปสู่ที่ราบสูงสโลวีเนีย ตีเมืองลูบลิยานา และคุกคามกรุงเวียนนา มันเป็นแผนการสมัยนโปเลียน ซึ่งไม่มีโอกาสสำเร็จแท้จริงเลยในยุคของลวดหนาม ปืนกลและการยิงปืนใหญ่ทางอ้อม ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นเนินและภูเขา

    บนแนวรบเตรนติโน ออสเตรีย-ฮังการีใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแบบภูเขา ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายตั้งรับ หลังจากการล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในช่วงแรก ส่วนใหญ่แนวรบก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอีกเลย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายสู้รบในระยะประชิดตัวอันขมขื่นตลอดฤดูร้อน ออสเตรีย-ฮังการีตีโต้ตอบที่อัสซิอาโก มุ่งหน้าไปยังเวโรนาและปาดัว ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1916 แต่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย

    เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1915 กองทัพอิตาลีภายใต้การบังคับบัญชาของคาดอร์นา ได้โจมตีประมาณสิบเอ็ดครั้งบนแนวไอซอนโซตามแนวของแม่น้ำชื่อเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของตรีเอสเต ซึ่งการโจมตีทั้งหมดก็ถูกขับไล่โดยกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งยึดภูมิประเทศที่สูงกว่า ในฤดูร้อน ค.ศ. 1916 กองทัพอิตาลีสามารถตีเมืองกอร์ริซเซียได้ หากหลังจากชัยชนะย่อยครั้งนี้ แนวรบนี้ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี แม้อิตาลีจะโจมตีอีกหลายครั้ง เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. 1917 ทหารออสเตรีย-ฮังการีได้รับกำลังเสริมขนาดใหญ่จากเยอรมนี ฝ่ายมหาอำนาจกลางเริ่มการรุกเด็ดขาดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1917 โดยมีทหารเยอรมันเป็นหัวหอก ฝ่ายมหาอำนาจกลางได้รับชัยชนะที่คาปอร์เรตโต กองทัพอิตาลีแตกพ่ายและล่าถอยเป็นระยะทางมากกว่า 100 กิโลเมตร จึงสามารถจัดระเบียบใหม่ได้ และยึดแนวที่แม่น้ำเปียเว และเนื่องจากอิตาลีสูญเสียอย่างหนักในยุทธการคาปอร์เรตโต รัฐบาลอิตาลีจึงสั่งให้ชายอายุต่ำกว่า 18 ปีทุกคนเข้าประจำการ ใน ค.ศ. 1918 ออสเตรีย-ฮังการีไม่สามารถตีผ่านแนวดังกล่าวได้ ในยุทธการหลายครั้งตามแม่น้ำเปียเว และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ราบคาบในยุทธการวิตโตริโอ วีนีโตในเดือนตุลาคมปีนั้น ออสเตรีย-ฮังการียอมจำนนในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918[68][69][70]

     

     

    การเข้าร่วมของโรมาเนีย

    โรมาเนียได้เป็นพันธมิตรกับฝ่ายมหาอำนาจกลางตั้งแต่ ค.ศ. 1882 อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเริ่มต้น โรมาเนียได้ประกาศตนเป็นกลาง โดยให้เหตุผลว่าออสเตรีย-ฮังการีเองที่เป็นฝ่ายประกาศสงครามต่อเซอร์เบีย และโรมาเนียไม่มีข้อผูกมัดที่จะต้องเข้าสู่สงคราม เมื่อฝ่ายไตรภาคีให้สัญญาว่าจะยกดินแดนขนาดใหญ่ทางตะวันออกของฮังการี (ทรานซิลเวเนียและบานัท) ซึ่งมีประชากรโรมาเนียขนาดใหญ่อาศัยอยู่ ให้แก่โรมาเนีย แลกเปลี่ยนกับที่โรมาเนียต้องประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง รัฐบาลโรมาเนียจึงสละความเป็นกลาง และวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1916 กองทัพโรมาเนียได้เปิดฉากโจมตีออสเตรีย-ฮังการี โดยได้รับการสนับสนุนส่วนหนึ่งจากรัสเซีย การรุกของโรมาเนียประสบความสำเร็จในช่วงต้น โดยสามารถผลักดันทหารออสเตรีย-ฮังการีในทรานซิลเวเนียออกไปได้ แต่การตีโต้ตอบของฝ่ายมหาอำนาจกลางขับกองทัพรัสเซีย-โรมาเนีย และเสียกรุงบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1916 การสู้รบในมอลโดวาดำเนินต่อไปใน ค.ศ. 1917 ซึ่งจบลงด้วยการคุมเชิงกันที่มีราคาแพงสำหรับฝ่ายมหาอำนาจกลาง[71][72] เมื่อรัสเซียถอนตัวจากสงครามในปลาย ค.ศ. 1917 จากผลของการปฏิวัติเดือนตุลาคม โรมาเนียถูกบีบให้ลงนามในการสงบศึกกับฝ่ายมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1917

    ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1918 กองทัพโรมาเนียสถาปนาการควบคุมเหนือเบสซาราเบีย เมื่อกองทัพรัสเซียละทิ้งดินแดนดังกล่าว แม้ว่าสนธิสัญญาถูกลงนามโดยรัฐบาลโรมาเนียและบอลเชวิครัสเซียหลังการประชุมระหว่างวันที่ 5-9 มีนาคม ค.ศ. 1918 ที่ให้กองทัพโรมาเนียถอนกำลังออกจากเบสซาราเบียภายในสองเดือน วันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 1918 โรมาเนียผนวกเบสซาราเบียเข้าเป็นดินแดนของตน โดยอาศัยอำนาจอย่างเป็นทางการของมติที่ผ่านโดยสภานิติบัญญัติท้องถิ่นของดินแดนในการรวมเข้ากับโรมาเนีย

    โรมาเนียยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางอย่างเป็นทางการโดยการลงนามในสนธิสัญญาบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 1918 ภายใต้สนธิสัญญาดังกล่าว โรมาเนียมีข้อผูกมัดจะยุติสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางและยกดินแดนบางส่วนให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ยุติการควบคุมช่องเขาบางแห่งในเทือกเขาคาร์พาเธียนและยกสัมปทานน้ำมันแก่เยอรมนี ในการแลกเปลี่ยน ฝ่ายมหาอำนาจกลางจะรับรองเอกราชของโรมาเนียเหนือเบสซาราเบีย สนธิสัญญาดังกล่าวถูกละทิ้งในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1918 และโรมาเนียเข้าสู่สงครามอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 วันรุ่งขึ้น สนธิสัญญาบูคาเรสต์ถูกทำให้เป็นโมฆะตามเงื่อนไขของการสงบศึกที่คองเปียญ[73][74] มีการประเมินว่าชาวโรมาเนียทั้งทหารและพลเรือนที่เสียชีวิตระหว่าง ค.ศ. 1914 และ 1918 ภายในพรมแดนปัจจุบัน มีถึง 748,000 คน[75]

     

    บทบาทของอินเดีย

    สงครามเริ่มต้นโดยสหราชอาณาจักรได้รับความจงรักภักดีและความปรารถนาดีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากภายในเหล่าผู้นำทางการเมืองกระแสหลัก ตรงข้ามกับอังกฤษซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติของชาวอินเดีย[76][77] อันที่จริงแล้วกองทัพอินเดียมีกำลังพลเหนือกว่ากองทัพอังกฤษเมื่อสงครามเริ่มต้นใหม่ ๆ อินเดียภายใต้การปกครองของอังกฤษสนับสนุนความพยายามของสงครามของอังกฤษอย่างมากโดยการจัดหากำลังคนและทรัพยากร รัฐสภาอินเดียปฏิบัติเช่นนั้นด้วยหวังว่าจะได้รับสิทธิ์ปกครองตนเอง ขณะที่อินเดียยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอยู่มาก สหราชอาณาจักรทำให้ชาวอินเดียผิดหวังโดยไม่ให้การปกครองตนเอง นำไปสู่ยุคคานธีในประวัติศาสตร์อินเดีย ทหารและแรงงานอินเดียกว่า 1.3 ล้านคนถูกส่งไปปฏิบัติในยุโรป แอฟริกาและตะวันออกกลาง ขณะที่ทั้งรัฐบาลอินเดียและเจ้าชายส่งเสบียงอาหาร เงินและเครื่องกระสุนให้เป็นปริมาณมาก จากทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในแนวรบด้านตะวันตก 140,000 นาย และอีกเกือบ 700,000 นายในตะวันออกกลาง ทหารอินเดียเสียชีวิต 47,476 นาย และได้รับบาดเจ็บ 65,126 นายระหว่างสงคราม[78]

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×