A Rai Naa >>>
ดู Blog ทั้งหมด

การกระทำโดยไม่เจตนา

เขียนโดย A Rai Naa >>>

การกระทำโดยไม่เจตนา

ไม่เจตนา คือ การกระทำที่ผู้กระทำไม่ทิ้งประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำเท่านั้น แต่บังเอิญเกิดผลอื่นตามมา หรือการกระทำที่ผู้กระทำตั้งใจทำเพื่อให้เกิดผลอย่างหนึ่ง แต่ผลเกิดขึ้นมากกว่าที่ตั้งใจไว้ เมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ว่าการกระทำในลักษณะเช่นนั้นต้องรับผลร้ายผู้กระทำก็ต้องรับผิดด้วย

ตัวอย่าง

ฎีกา 447/2510 จำเลยโต้เถียงกับภริยา แล้วจำเลยใช้ไม้ไผ่ขนาดโตกว่าหัวแม่มือนิดหน่อยตีภริยา แต่ตีหนักมือไปทำให้พลาดไปถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตาย เมื่อภริยาจำเลยหนีไปแล้วจำเลยก็มิได้ตีผู้เสียหายซ้ำอีก ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมิได้ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลว่าผู้เสียหายอาจถึงแก่ความตายเพราะการกระทำของจำเลยได้ จำเลยมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา

ในการปฏิบัติงานของพยาบาลอาจเกิดปัญหาการกระทำความผิดอาญาโดยไม่เจตนาได้ เช่น การผูกมัดผู้ป่วยหรือการใช้กำลังเข้าควบคุมผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะไม่อาจควบคุมตนเองได้ จากการผูกมัดหรือการใช้กำลังเข้าควบคุมทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บหรือได้รับอันตราย เป็นต้น

การกระทำโดยงดเว้น

ความผิดทางอาญาที่เกี่ยวกับการงดเว้นการกระทำ ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา คือ

มาตรา 59 วรรคท้าย

“การกระทำ ให้หมายความรวมถึง การให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”

บทบัญญัติของกฎหมายนี้ถือว่าการที่บุคคลใดมีหน้าที่ที่จะต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันผลร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ต้องถือว่าบุคคลผู้มีหน้าที่นั้นเป็นผู้กระทำให้เกิดผลร้ายนั้นเอง

หน้าที่จักต้องกระทำอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ

1.โดยกฎหมายบัญญัติ เช่น บิดา มารดา มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร ผู้เยาว์ หรือผู้ทุพลภาพที่หาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีภรรยาต้องช่วยเหลือ อุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เป็นต้น

2.โดยการกระทำของผู้กระทำผิดเอง เช่น รับจ้างเป็นพยาบาลมีหน้าที่ดูแลให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย แต่งดเว้นไม่ปฎิบัติหน้าที่ของตน หลับเวรปล่อยให้ออกซิเจนหมด ผู้ป่วยถึงแก่กรรมหรือไมเข้าไปดูแลผู้ป่วยเมื่อถูกตาม หากผู้ป่วยถึงแก่กรรมถือว่าเป็นการกระทำโดยงดเว้นการกระทำโดยเจตนาหรือประมาทก็ได้

พยาบาลกับการกระทำผิดกฎหมายอาญา

การประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ อาจเกิดเป็นความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาขึ้นได้  หากผู้ประกอบวิชาชีพมิได้ใช้ความระมัดระวังหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และมักเป็นคดีอาญาที่เกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้

การไม่ช่วยเหลือหรือปฏิเสธการประกอบวิชาชีพ

..มาตรา 374

“ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่คนหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”

องค์ประกอบของความผิด ได้แก่

1.       เห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต

2.       ตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนหรือผู้อื่น

3.       ไม่ช่วยตามความจำเป็น

ความผิดตามมาตรานี้ได้แก่ การปฏิเสธไม่ช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล การอ้างกฎระเบียบของโรงพยาบาลหรือข้ออ้างว่าอาการหนักเกินกว่าจะรับไว้รักษาได้หรือเตียงเต็ม และไม่ให้การช่วยเหลือใดๆกับผู้ป่วย ย่อมครบองค์ประกอบของความคิด ข้ออ้างดังกล่าวมิใช่เหตุยกเว้นโทษตามกฎหมาย และความช่วยเหลือตามความจำเป็นตามภาวะอาการ และตามขอบเขตอำนาจและความสามารถของพยาบาลที่จะกระทำได้เท่านั้น

ทำการพยาบาลโดยผู้ป่วยไม่ยินยอม

..มาตรา 309

“ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่นหรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือ จำยอมต่อสิ่งนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบของความผิด

1.       ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำ หรือไม่กระทำ หรือจำยอมต้องกระทำ

2.       ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน

3.       หน่วงเหนี่ยวกักขัง

4.       ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ

..มาตรา 310

“ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยว ถูกกักขังต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัสผู้กระทำต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 (อาจมีโทษฐานทำร้ายร่างกายอีกกระทงหนึ่ง)

ความผิดตามมาตรานี้ได้แก่การบังคับข่มขืนใจผู้ป่วยหรือทำการรักษาพยาบาลโดยผู้ป่วยไม่ยินยอม กักขัง หรือหน่วงเหนี่ยวผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล หรือการหลอกลวงผู้ป่วยในการทำการรักษาพยาบาลแม้ความยินยอมของผู้ป่วยที่แสดงออกโดยการเซ็นแบบฟอร์มยินยอมการรักษา แต่ความยินยอมดังกล่าวก็ต้องได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ซึ่งรายละเอียดของความยินยอมได้กล่าวไว้แล้วในหัวข้อ “ผู้เสียหายยอมให้กระทำ”

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น