ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    >>เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเกาหลี<<

    ลำดับตอนที่ #159 : เทศกาลโคมบัว ฉลองวันวิสาขะบูชาที่กรุงโซล (กลับมาอีกแล้ว)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.56K
      1
      25 เม.ย. 51

    เทศกาลโคมบัว ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวันวิสาขะบูชา หรือ วันประสูติของพระพุทธเจ้า ที่ได้สืบทอดมา ตั้งแต่สมัยไตรอาณาจักรของเกาหลีเมื่อสองพันกว่าปีก่อน    ในช่วงราชวงศ์โกเรียว (คศ.918-1392)เมื่อศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จะมีการห้อยโคมไฟดอกบัวหลากสีสัน พร้อมการจัดเทศกาลรื่นเริงทั่วประเทศ ตั้งแต่ในพระราชวัง ไปจนถึงหมู่บ้านเล็ก ๆ  ปัจจุบัน เทศกาลโคมบัวได้กลายเป็นงานประเพณีประจำปีไปแล้ว โดยเฉพาะในใจกลางกรุงโซล

    จุดเด่น หรือ ไฮไล้ท์ ของงาน คือ ขบวนพาเหรดโคมไฟ ในใจกลางกรุงโซล ซึ่งในปีนี้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม 2551 โดยเริ่มขบวนตั้งแต่ สนามกีฬาทงเดมุน ใกล้บริเวณวัดพงอึนซา ไปจนถึง วัดโชเกซา ในย่านจงโน เส้นทางของขบวนประมาณ 5 ก.ม. แสงสีของโคมที่งดงาม น่าตื่นตาตื่นใจ ตรึงผู้คน 6-7 แสนคนทั้งพุทธศาสนิกชนชาวต่างชาติ และเกาหลี และประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักท่องเที่ยว มาร่วม ในงานนี้ทุกปี  โดยมีโคมไฟ ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สัตว์ต่าง ๆ เช่น มังกร เสือ หรือ ช้าง ซึ่งเกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนา  และมีขบวนพาเหรดของประเทศต่าง ๆ ที่ผู้คนนับถือศาสนาพุทธ เช่นอินเดีย จีน ศรีลังกา เนปาล รวมทั้งจากประเทศไทยด้วย ซึ่งได้จัดแต่งเป็นราชรถพร้อมแสงสีงดงาม ได้รับการชื่นชมจากผู้ร่วมงานถ้วนหน้ามาตลอดทุกปี

    ผู้ร่วมงานยังสามารถเดินชมนิทรรศการเกี่ยวกับศาสนาพุทธตลอดแนวถนน และกิจกรรมทางด้านบันเทิง และพุทธสาระ ตลอดจนการทำโคมบัวด้วยตัวเองเพื่อร่วมขบวน ซึ่งมีอุปกรณ์ และผู้สอนฟรี การทำสมาธิ  และการร่ายรำ พร้อมการเล่นพื้นเมืองของประเทศต่าง ๆ

    ผู้ที่สนใจดูรายละเอียด และภาพของงาน ขบวนพาเหรด เทศกาลโคมบัว ฉลองเทศกาลวิสาขะบูชาที่เกาหลีในแต่ละปีที่ผ่านมา สามารถเข้าไปได้ที่ www.llf.or.kr



    เทศกาลประทีปโคมบัว 2551

    ทุก ๆ ปี ตามปฏิทินจันทรคติ ที่ประเทศเกาหลี จะมีการจัดงานเทศกาลประทีปโคมบัว ซึ่งนับว่าเป็นงานประเพณีประจำปี ที่ยิ่งใหญ่รายการหนี่ง เพื่อเป็นการร่วมฉลองและรำลึกถึงวันประสูติของพระพุทธเจ้า   ซึ่งเกาหลีเรียกว่า “ยอนดึง” หมายถึงการจุดไฟโคมประทีปรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ชาวพุทธเกาหลีได้ปฏิบัติสืบทอดมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิลลา (คศ.866) อันเป็นช่วงที่ศาสนาพุทธได้รับการเผยแผ่มายังเกาหลีเป็นครั้งแรก   ประเพณี “ยอนดึง” มีประวัติอันยาวนาน ที่ชาวพุทธในเกาหลี รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้รักษา และปฏิบัติสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้   จัดว่าเป็นเทศกาลแห่งขนบประเพณี และเป็นวันหยุดที่สำคัญของเกาหลี เช่นเดียวกับการขอพรเพื่อสันติสุข   ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1966 ได้มีการเพิ่มรายการ และกิจกรรมหลากหลาย เข้าไปใน “เทศกาลประทีปโคมบัว” รวมทั้งการจัดขบวนพาเหรดโคมบัว และรายการเกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณีของชาวพุทธร่วมอยู่ด้วย สอดแทรกเข้าไปเพื่อให้เป็นเทศกาลที่จะให้ชาวโลกได้ร่วมเฉลิมฉลองด้วย

    สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้วัฒนธรรมศาสนาพุทธในเกาหลีเพิ่มยิ่งขึ่น ก็ต้องเข้าร่วมในเทศกาลตั้งแต่เช้าตรู่ ไปจนยันค่ำ ซึ่งสามารถเข้าร่วมในขบวนพาเหรด และรายการทางวัฒนธรรมของพุทธศาสนาอันหลากหลาย ตลอดสองฝั่งถนน  ผู้คนจะสนุกกับการการถ่ายภาพโดยมี ขบวนประทีปโคมบัวเป็นฉากหลัง

    การจุดประทีปโคมบัว และ “ยอนดึง นอริ”
     สัญลักษณ์ ประทีปโคมบัว ซึ่งตั้งไว้ที่ จตุรัสกรุงโซล ใจกลางเมือง หน้า ศาลาว่าการนครโซล  เปรียบเหมือนเป็นสัญญลักษณ์ของการเชื้อเชิญสู่งาน เทศกาลประทีปโคมบัว  และยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการประสูติของพระพุทธเจ้า  ประทีปโคมบัว ขนาดยักษ์ที่ตั้งไว้นี้จะจุดไว้จนสิ้นสุดเทศกาล โดยจะมีการทำพิธีทางพุทธศาสนาด้วย     ในช่วงก่อนถึงเทศกาล จะมีการเดินขบวนพาเหรดประทีปโคมบัวบนท้องถนน ย่าน อินซาดอง ไปจนถึงวัด โชเกซา รวมทั้ง “ยอนดึง นอริ” การแสดงการร่ายรำในรูปแบบต่าง และการแสดงดนตรีของพระภิกษุ  ต่อด้วยขบวนพาเหรด  ผู้ร่วมขบวน และผู้ชมร่วมอยู่ในขบวน จนแยกไม่ออก กลายเป็นหนึ่ง พร้อมกับร่วมร่ายรำไปกับขบวนพาเหรด

    นิทรรศการ และการแสดงโคมประทีปประเพณี
    โคมประทีปตามประเพณีจะประดิษฐ์เป็นรูปผลไม้ สัตว์ และเรื่องราวตามพระไตรปิฏก ซึ่งมีกว่า 40 โคมประทีปหลากหลายรูปแบบ วัตถุดิบที่ใช้ก็มีตั้งแต่กระดาษ ไปจนถึง ผ้าไหม แม้ว่าโคมต่าง ๆ จะดูคล้าย ๆ กัน แต่ก็มีความแตกต่างกันไปตามบรรยากาศที่ประดิษฐ์ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ด้วย โคมประทีปมีสัญลักษณ์ความหมายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบ และลวดลาย ส่วนใหญ่จะแสดงนัย ของสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว และความอุดมสมบูรณ์จากการเพาะปลูก ระหว่าง เทศกาลประทีปโคมบัว ที่วัดพงอึนซา ใกล้สถานีรถไฟใต้ดินซัมซุง จะจัดแสดง โคมประทีปตามประเพณีเกาหลีจำนวนมาก ที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยความประณีต และมนต์ขลัง โคมตามประเพณีเกาหลีมีหลากสีสันทำจากกระดาษฮันจิ หรือกระดาษสาของเกาหลี ด้วยลวดลายตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี

    ขบวนโคมประทีป
    ถือว่าเป็นรายการสำคัญของเทศกาล เป็นขบวนพาเหรดยาวมาจากสนามกีฬาทงเดมุนไปจนถึงวัดโชเกซา ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง โคมประทีปขบวนยาว มีหลากหลายรูปแบบ และขนาด รวมทั้ง มังกร, ช้าง, ดอกบัว, และสัญลักษณ์ในแบบต่าง ๆ โคมบัวนับแสนโคม สว่างไสวไปทั่ว ประกอบบรรยากาศกับดนตรีเกาหลีพื้นเมืองดั้งเดิม สองข้างทางจะอัดแน่นไปด้วยผู้คน แต่ที่สวนสาธารณะ “ทับกล” จะจัด อัฒจรรย์ ที่นั่งให้ผู้ชมได้รับความสะดวก ขบวนพาเหรดโคมประทีป จะให้บรรยากาศอันสนุกสนานเพลิดเพลิน ก่อนเริ่มขบวน ผู้ร่วมขบวนจะร้องเล่นเต้นรำเฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน ในช่วงจบรายการพอขบวนทั้งหมดถึงวัด โชเกซา ผู้ร่วมขบวน และผู้ชม ต่างจะประสานมือกันเป็นวงกลมขนาดใหญ่ ร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน พร้อมกับกระดาษสีชมพูระยิบระยับโปรยปรายลงมาราวสายฝน และยังมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมกับปล่อยโคมอธิษฐานนับแสนดวงสู่ทองฟ้า

    พิธีกรรมทางพุทธศาสนา
    ในวันประสูติของพระพุทธเจ้า หรือ วันวิสาขะบูชา ซึ่งที่เกาหลี เมื่อนับตามจันทรคติจะก่อนวันวิสาขะบูชาของไทย 7 วัน คือในปีนี้ที่เกาหลีจะตรงกับวันที่ 12 พฤษภาคม โดยวัดทั่วเกาหลี จะเคาะระฆัง 28 ครั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงวันประสูติของพระพุทธเจ้า มีพิธีสรงน้ำพระพุททรูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางปฐมวัย ตามด้วยผู้คนทยอยกันสรงน้ำพระพุทธรูป สมัยก่อนเชื่อว่า น้ำที่สรงแล้วนี้ จะกลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ ผู้คนจะนำน้ำกลับบ้าน และดื่มกินเพื่อความโชคดี

    เทศกาลถนนวิถีพุทธ
    บนท้องถนนสองฝั่งทาง จะรายเรียงไปด้วย ซุ้มกิจกรรมทางประเพณีของเกาหลี และ กิจกรรมด้านพุทธประเพณี และวัฒนธรรม ที่จะให้ผู้ร่วมงานได้หาประสบการณ์ ตลอดจน การเล่นพื้นเมืองของเกาหลี เช่น ยุทนอริ, นอลทวิกิ, ทูโฮ, ลูกข่าง, และเกมส์อื่น ๆ ที่สร้างความสนุกสนานแก่ผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ ยังมี ซุ้มของประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย พม่า เวียตนาม ลาว เขมร รวมทั้งประเทศที่มีผู้คนนับถือศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เนปาล ศรีลังกา ซึ่งจะมีกิจกรรม ทางด้านวัฒนธรรม และประเพณีพื้นเมืองของชาติตนมาแสดงในเทศกาล ตลอดจนผู้คนจะได้ลิ้มรสอาหาร จากประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย ที่สำคัญ ผู้มาเยือนจะได้ฝึกหัดทำโคมบัวของตนเองด้วย และเข้าร่วมขบวนพาเหรดประทีปโคมบัวพร้อมกับโคมบัวที่ตนเองได้ประดิษฐ์ขึ้นเองด้วย นอกจากนี้ ยังมีอาหารพระ ให้ได้ลิ้มลองซึ่งจัดว่าเป็นอาหารแห่งสุขภาพ ที่ผู้สนใจ และห่วงใยในสุขภาพมักจะชื่นชอบและนำไปลองปรุงรับประทานเอง

    เกร็ดความรู้เกี่ยวกับประทีปโคมบัว
    โคมแต่ละดวงจะมีสัญลักษณ์ และแฝงความหมายอันมีนัย คำสอน และความเชื่อแห่งพุทธศาสนาเอาไว้ โคมขนาดใหญ่หมายถึงความยุติธรรม ส่วนลวดลายมังกร และเครื่องหมาย “หยิน” และ “หยาง” ที่วาดบนโคม หมายถึงการเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบุรณ์ และสัจจธรรม ตามลำดับ ถ้าเป็นรูปผลไม้ที่มีเมล็ด เช่นแตงโม หมายถึง การเจริญงอกงาม และความอุดมสมบูรณ์ และยังหมายถึงความยั่งยืนเนื่องจากแตงโมเป็นไม้ที่มีเถา มีกอมาก ความหมายสำหรับการมีอายุยืนยาวนาน ยังรวมถึง กระเทียม, แตงต่าง ๆ และองุ่นป่า ส่วนรูปสัตว์ก็นิยมนำมาออกแบบกับโคมต่าง ๆ ซึ่งนกกระเรียนจะเป็นสัญลักษณ์ของ สุขภาพสมบูรณ์ อายุยืนยาว ส่วนมังกรคือสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์แห่งพืชพันธ์ เนื่องจากเป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ ซึ่งมีสำคัญต่อเกษตรกร ส่วนปลาคาร์พ เป็นสัญลักษณ์ของเกียรติยศ ความมั่งคั่ง และชีวิตยืนยาว

    กิจกรรมวันเวลาสถานที่
    ===============
    พิธีจุดโคมประทีปจันทร์ 21 เม.ย.จตุรัสกรุงโซล ด้านหน้า
    ศาลากลางมหานครโซล
    นิทรรศการโคมศุกร์ 2-จันทร์ 12 พ.ค.วัดพงอึนซา ย่าน ซัมเซิงดง
    ยอนดึง นอริ
    พิธีฉลองก่อนเทศกาล
    เสาร์ 3 พ.ค.
    19.00-21.00 น.
    วัดโชเกซา ย่านอินซาดอง
    เทศกาลถนนวิถีพุทธอาทิตย์ 4 พ.ค.
    12.00-19.00 น.
    ย่านวัดโชเกซา(จากวัดโชเกซา ถึง
    โพชินกัก และสถานโรตารีอันกุก)
    พิธีเปิดขบวนพาเหรดโคมบัวอาทิตย์ 4 พ.ค. 15.00 น.สนามกีฬาทงเดมุน สเตเดี้ยม
    ขบวนพาเหรดประทีปโคมบัวอาทิตย์ 4 พ.ค.
    19.00-21.30
    จากสนามกีฬาทงเดมุน
    ตามถนนชงโนไปวัดโชเกซา
    พิธีฉลองแทดองอาทิตย์ 4 พ.ค.
    21.30-23.00 น.
    บริเวณสี่แยก ชองกัก (จากวัดโชเกไปยัง
    โพชินกัก และสถานโรตารี่อันกุก
    วันวิสาขะบุชาจันทร์ 12 พ.ค. 10.00 น.วัดโชเกซา และวัดทั่วเกาหลี
    (การจุดโคมบัวเริ่ม 18.00 น.)
    สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับเทศกาลโคมบัว สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.llf.or.kr



    เครดิต       KTO
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×