apinitta
ดู Blog ทั้งหมด

ประเภทของนวนิยาย (นิยาย)

เขียนโดย apinitta

ประเภทของนวนิยาย

กลวิธีการเขียนนวนิยาย เป็นเรื่องอธิบายหลักการเขียนได้ยาก เพราะหลายครั้งผู้เขียนมีการทดลองและผสมผสานเรื่องราวให้ดูมีความหลากหลาย รวมไปถึงไม่ได้มีสูตรแน่นอนตายตัวและไม่ได้มีโรงเรียนสอนหลักสูตรนี้ นักเขียนแต่ละคนล้วนแต่คลำหาเส้นทางนั้นเอง ในงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดประเภทงานเขียนนวนิยายต่างๆขึ้นมา หากจะกล่าวถึง ประเภทของนวนิยายเท่าที่มีอยู่ เรื่องนี้พอจะพูดได้โดยภาพรวม แต่เรื่องของการแบ่งประเภท ก็เกือบจะเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลเช่นกัน

การแบ่งประเภทของนวนิยาย มีความแตกต่างกันออกไป ในที่นี้ผมได้รวบรวมออกมาจากหนังเรื่องเขียนของ พิมาน แจ่มจรัส ซึ่งได้ข้อมูลชุดนี้มาจาก พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย ได้จำแนกประเภทของนวนิยายไว้ดังนี้(ซึ่งเยอะทีเดียว)

ประเภทของนวนิยาย

1.นวนิยายจินตนิมิต(Fantasy Novel) การใช้โลกที่ไม่มีอยู่จริง เช่น แดนสวรรค์ เป็นฉากในงานเขียนที่เหลือเชื่อ อย่างเช่น The Lord of the ring ของ จอร์น ทอลคีน, ทวิภพ ของ ทมยันตี

2.นวนิยายรัก (Romantic Novel) เน้นความรักเป็นแก่นหรือสาระสำคัญของเรื่อง ใช้ความรักเป็นเหตุจูงใจให้เกิดเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง 

Romantic Comedy –นวนิยายรักสุข นำไปสู่ตอนจบที่มีความสุข เช่น As you like it ของ เช็คสเปียร์ 

Romantic Tragedy - นวนิยายรักโศก เช่น Streetcar Named Desire ของ เทนเนสซี วิลเลียมส์

คู่กรรม ของ ทมยันตี 
Tragic-Comedy – นวนิยายเบาสมอง เช่น นางแมวป่า ของ อรวรรณ ,นางไพร ของ รพีพร


3.นวนิยายจดหมาย (Letters Novel) เป็นงานเขียนโต้ตอบในรูปจดหมาย ระหว่างเพื่อน คนในครอบครัว คนมีชื่อเสียง เช่น Humphrey Clinker ของ โทมัส ยอร์ช สมอลเล็ตต์ , Daddy Long Leg-คุณพ่อขายาว ของ Jean Webter
ทางรัก ของ ทมยันตี ,ในฝัน ของ โรสลาเลน

4.นวนิยายชีวิตเสเพล(Picaresque Novel) เสนอเรื่องเสเพลของตัวละคร โดยเล่าประสบการณ์ทำนองเสียดสีสังคมของตน และการเอาตัวรอดอย่างฉิวเฉียด มักเล่าเป็นตอนๆ ไม่มีโครงเรื่องที่แน่นอน เช่น Jonathan Wild ของ เฮนรี ฟีลลิง ,พันธุ์หมาบ้า ของ ชาติ กอบจิตติ ,เด็กเสเพล ของ พนมเทียน

5.นวนิยายสยองขวัญ(Gothic หรือ Terror Novel) เรื่องเกี่ยวกับความลึกลับ และความน่าสะพรึงกลัว เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ อาจจะมีฉากเป็นบ้านผีสิง คุกใต้ดิน เคราะห์กรรม ความเศร้าโศกและสิ้นหวัง บรรยากาศของความหายนะ เช่น Great Expectations ของ ชาร์ล ดิกเกนส์ ,โรงแรมผี ของ อ.อรรถจินดา

6.นวนิยายนักสืบ(Detective Story) บางทีเรียกว่า อาชญนิยาย (Crime Story)ได้แด่เรื่องลึกลับ โดยมากเกี่ยวกับฆาตกรรม การคลี่คลายคดี เช่น Davinci’s Code ของ Dan Brown ,Sherlock Holmes ของ เซอร์ อาร์เธออร์ โคแนน ดอยด์

7.นวนิยายเพ้อฝัน(Utopia) พรรณนาโลกอุดมคติในจินตนาการ เช่น Utopia ของโทมัส มัวร์, New Atlantis ของ เซอร์ ฟรานซิส เบคอน

8.นวนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) สร้างจากข้อเท็จจริง ข้อสันนิษฐาน หรือสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ ไอแซ็ค อาซิมอฟ กล่าวว่า นวนิยายวิทยาศาสตร์จะมีสามแบบ คือ

What if อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า...
If only เพียงแต่ถ้า 
If this goes on ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนชัยวัฒน์ คุประตกุล อธิบายว่า นวนิยายวิทยาศาสตร์อาศัยวิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง หรือเป็นฉาก หรือแสดงผลกระทบของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อมนุษยชาติ

นวนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น The time Machine ของ เอช จี เวลส์ หรือหนังสือของ อาร์เธอร์ ซี คล้าก เรื่อง 2001 : Space Odyssey

นวนิยายวิทยาศาตร์ของไทยเรื่องแรกๆ คือ หน้าผี ของ หลวงสารานุประพันธ์ และ การทดลองของศาสตราจารย์ ของ ครูเทพ

9.นวนิยายจิตวิทยา (Psychological Novel) เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับจิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณของตัวละคร เช่น Lord jim ของ โจเซฟ คอนราด,Woman in Love ของ ดี เอช ลอเรนซ์, จันดารา ของ อุษณา, เงาราหู ของ โสภาค สุวรรณ

10.นวนิยายกระแสสำนึก (Stream of Consciousness Novel) เป็นศัพท์ที่ วิลเลียม เจมส์ สร้างขึ้นใช้ใน Principles of Psychology แสดงถึง การไหลของประสบการณ์ภายใน บางทีเรียก บทพูดเดี่ยวในใจ เช่น Ulysses ของ เจมส์ จอยซ์, To the Lighthouse ของ เวอร์จีเนีย วูลฟ์


11.สัจนวนิยายแนวสังคมนิยม(Socialist Realism Novel) พัฒนาอยู่ในรุสเซีย ถือว่าศิลปินไม่ว่าแขนงใดย่อมรับใช้รัฐ นักเขียนที่เด่นๆ ได้แก่ อเล็กซัง ฟาเดเยฟ,มีฮาอิล โชโลคอฟ นักเขียนรัสเซียที่ไม่ยอมใช้สัจนิยม แนวสังคมนิยมและได้รางวัลโนเบลได้แก่ บอริส แพสเตอร์แน็ก ผู้เขียน Dr.Zhiago 

หนังสืออื่นๆในหมวดนี้ ได้แก่ สงครามชีวิต ของ ศรีบูรพา ,ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงษ์ พสุธาที่ข้ารัก ของ ศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์

12.นวนิยายหลีกหนี(Escape Novel) บางทีเรียกว่า นวนิยายข้อคิด (Novel of Ideas) มุ่งแต่ความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสนอโลกที่ผิดไปจากธรรมดา หรือการผจญภัยที่ลึกลับ ตื่นเต้น บางครั้งก็เกี่ยวกับการหลบหนี เช่น Cage-Bird ของ เอช อี เฮอร์วีย์ , Wooden Horse ของ เอริก วิลเลียมส์ม,แดงรวี ของ รงค์ วงษ์สวรรค์, เวลา ของ ชาติ กอบจิตติ ,พิลาปแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก

13. นวนิยายศีลธรรม(Moral Novel)นวนิยายที่มุ่งแสดงให้เห็นว่า ความซื่อสัตย์และความดีงาม จะเอาชนะความชั่วร้ายได้ เช่น Uncle Tom’s Cobin ของ มาร์ค ทเวน และ Sense and Sensibility ของ เจน ออสเตน

14.นวนิยายจินตนิยม(imagination Novel) หมายถึง นวนิยายจากจิต หรือข้อคิดจากการอ่านงานเขียนชิ้นหนึ่ง โดยเฉพาะบทกวี หรือการพรรณนา ซึ่งเร้าประสาทสัมผัสและสร้างภาพในจิต หรือภาพพจน์ชนิดหนึ่ง คืออุปมาอุปมัยเชิงเปรียบเทียบ หรือสัญลักษณ์ที่แทนสิ่งหนึ่งสิ่งใด เช่น The Old Man and The Sea ของ เออร์นส เฮมิงเวย์ ผู้อ่านและนักวิจารณ์ส่วนใหญ่กล่าวว่า ทะเลคือ โลก ชายชรา คือ เฮมิงเวย์ ปลายักษ์คือ ผลงาน ปลาฉลามคือ นักวิจารณ์ แต่เฮมิงเวย์ ปฏิเสธว่าไม่ใช่ ปลาก็คือปลา ทะเลก็คือทะเล (อันนี้ก็เป็นประเด็นที่จะถกเถียงกันได้ต่อไปอีกครับ ว่ามันขึ้นอยู่กับผู้ตีความด้วยรึเปล่า) ของไทยเช่น ไผ่แดง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

15.นวนิยายแนวสัจนิยม(Realism Novel) ถือว่าจุดประสงค์ของศิลปะ คือการแสดงภาพของชีวิตอย่างตรงไปตรงมา และ ไม่มีความคิดเห็นส่วนตัว เช่น Robnson Crusoe ของ แดเนียล ดีโฟ ,แผ่นดินของเรา โดย แม่อนงค์ และมรสุมแห่งชีวิต ของ หลวงวิจิตรวาทการ

16.นวนิยายธรรมชาตินิยม(Naturalism Novel) หมายถึงนวนิยายที่เกิดขึ้นโดยเชื่อว่า ทุกสิ่งทุกที่มีอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ อธิบายได้ด้วยธรรมชาติ มิใช่สาเหตุเหนือธรรมชาติ จิตวิทยา หรือเรื่องเหนือปกติ เช่น Germinal ของ เอมิล โซลา ,Lower Depths ของ แม็กซิม กอร์กี้ และ สวัสดีข้างถนน ของชไมพร แสงกระจ่าง


17.นวนิยายคติธรรม(Sub-Conscious) คตินิยมทางศิลปะ มุ่งแสดงความรู้สึกภายในของมนุษย์ อันเป็นเรื่องของจิตใต้สำนึก นักเขียนส่วนใหญ่ในสายนี้เป็นของฝรั่งเศส เช่น อองโตแนง อาร์โต,นาตาลี ซาโรต ของไทยเช่น กาเหว่าที่บางเพลง ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กองทัพธรรม ของ สุชีพ บุญญานุภาพ

18.นวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติ (Semi-Autobiography Novel) เรื่องราวกึ่งชีวิตที่เจ้าของประวัติเขียนเอง เช่น A diary of Anne Frank ของ แอนน์ แฟรงค์ เรื่องชุดมหาลัยเหมือนแร่ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์

19.นวนิยายแฝงจริง (Key Novel) เสนอเรื่องราวของบุคคลจริง โดยใช้ชื่อสมมติ เช่น Venetia ของ เบนจามิน ดิสเรลลี ,ผิวเหลืองผิวขาว ของ ม.จ.อากาศดำเกิง


ดังที่ได้เสนอไปข้างต้นคือการแบ่งประเภทของนวนิยายที่ค่อนข้างครอบคลุม การที่เรารู้ประเภทของนวนิยาย อาจจะไม่ได้ทำให้เราเขียนนิยายได้ดี ดังที่เราดื่มโคล่าได้โดยไม่รู้ส่วนประกอบของโคล่า รับเพียงความสดชื่น ฉ่ำใจ
แต่เมื่อใดที่เรารู้ส่วนประกอบ เราย่อมมองโคล่าขวดเดิมด้วยสายตาที่ต่างออกไป

การรู้ประเภทนิยาย อาจจะทำให้คุณมองนิยายเล่มโปรดด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปก็ได้
แม้กระทั่งเล่มที่คุณเขียนอยู่..


ที่มา: หนังสือ : เขียน” :พิมาน แจ่มจรัส :2550:สำนักพิมพ์แสงดาว

ความคิดเห็น

ยังไม่มีความคิดเห็น