หวานใจพี่รหัส

โดย ริเศรษฐ์

เมื่อเพื่อนตัวดีอยากได้เพื่อนซี้เป็นพี่สะใภ้ การวางแผนจับคู่เพื่อนรักให้มาเป็นหวานใจพี่ชายจึงเริ่มขึ้น และคอยกีดกันหนุ่มหน้าไหนที่จะเข้ามาจีบเพื่อนของเธอ

อ่านนิยาย

รีวิวจากนักอ่าน

รีวิว

เป็นนิยายรักวัยรุ่นมีกลิ่นไอความใสออกมาจากเรื่องเลยทีเดียว

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 12

เยี่ยมมาก

แนะนำตัวนะคะ แม่มดแห่งสลิธีริน ร้านวิจารณ์นิยายสไตล์ RED (จัดเต็ม)

พล็อตไม่ถึงกับใหม่แหวกแนวตลาด แต่อ่านแล้วเพลิน จุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟ คว้ามือผิดคนกลายมาเป็นรักใสๆวัยรุ่นชอบ เรื่องราวการกลับมาพบกันของพี่ยนตร์และปาร มีวีรกรรมด้วยกันมามากมายในสมัยเด็ก โตมามีความน่ารักน่าชัง อ่านได้เรื่อยๆ มีกลิ่นไอความใสออกมาจากเรื่องเลยทีเดียว

เนื้อเรื่องลื่นไหล ไม่ได้ซับซ้อน หวือหวาจึงตัดเรื่องความไม่สมจริงไปได้เลย เป็นการดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย รัก งอน ง้อกันน่ารักๆ ปลาเค็มเจนั้นทำยากแค่ไหน? การเอาเต้าหู้หลอดไปแช่แข็ง ควรแช่จนแข็งจริงๆถึงข้างใน ถ้าแข็งไม่พอเวลาตัดเต้าหู้จะเละ ควรแช่อย่างน้อย 12 ชั่วโมง หรือ1วันขึ้นไป ไม่ถึงกับหนึ่งอาทิตย์ ไม่ควรหลอกคนอ่าน จริงๆถ้าผู้เขียนต้องการสื่อถึงความตั้งใจของสาวน้อย ตัวเรื่องมันน่ารักใสๆอยู่แล้วค่ะ เพราะสนิทกันมาเป็นต้นทุน เพื่อนปาน สภามีบทบาทในเรื่องไม่น้อย ตอนมาเป็นคู่กัดกับนรินทร์ เพิ่มรสชาติให้สองคู่นี้ไม่หวานเลี่ยนเกิน คนหนึ่งใสๆ อีกคนกัดกัน

สังเกตว่าปารเป็นเด็กสาวที่มีความน่ารักแบบวัยรุ่นมาสนับสนุนให้จุดประสงค์ของนิยายเรื่องนี้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก นิสัยในตอนส่งขนมไปง้อหนุ่มของสาวน้อยปารทำให้คนอ่านยิ้มตามได้ อารมณ์ของตัวละครแต่ละตัวมีเอกลักษณ์ของตัวเอง ตอนกลัวว่าพี่ยนตร์จะไม่หายโกรธก็น่ารัก อารมณ์ตอนจะเข้าไปช่วยพ่อ แทนที่จะรอหน่วยกู้ภัยนี้เป็นวัยรุ่นใจร้อน เป็นนิสัยของคนในช่วงอายุนั้น

การบรรยายเริ่มเรื่องมาก็น่าสนใจแล้ว วิธีการเล่าเรื่องของผู้เขียนบอกได้เลยว่ากำลังจะเขียนนิยายประเภทไหน แต่มีการใช้คำซ้ำค่อนข้างเยอะ อาจต้องมีการเรียบเรียงประโยคเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ลมเย็นของฤดูร้อน... พาชุดนักศึกษาตัวใหม่พลิ้วลม ชุดของใคร เธอมีลักษณะอย่างไร ควรบรรยายให้เต็มก่อนเติมด้วยบรรยากาศให้คนอ่านได้เข้าถึงความรู้สึกต่อ เพื่อความต่อเนื่อง ไม่ต้องถึงกับละเอียดหรือจะละเอียด เล่าอะไรย้อนความไปอย่างไร แล้วแต่วิจารณญาณของผู้เขียนค่ะ คนอ่านจะรู้จักตัวละครมากขึ้นจากในช่วงเริ่มเรื่อง แล้วอยากอ่านต่อ

การใช้คำซ้ำซาก ความรู้สึกที่คุ้นเคยกันมานาน แม้ว่าสองตัวละครอาจมีความรู้สึกเหมือนกัน ตรงนี้อาจเปลี่ยนเทคนิคให้นิยายดูน่าสนใจ แว่นสีชา อาจหลายรอบไปหน่อย จริงๆไม่ผิด แต่ถ้าให้ดี อาจเพิ่มเติมว่าทำไมเขาถึงชอบใส่ แว่นอะไร เขาถึงได้ใส่มันตลอด แล้วจบตรงนั้นไปเลย คนอ่านในบทต่อไปก็จะรู้แล้วว่าต้องเป็นพระเอกแน่นอน หน้าจอแมวคิตตี้นี่เห็นภาพแมววนไปมาในหัวเลย เอาเป็นว่าทุกอย่างเป็นเจ้าแมวสีชมพูขี้อ้อน น่ารัก อะไรก็ว่าไป ไม่ควรย้ำบ่อย หรือเพราะเขาไม่เคยรู้สึกมาก่อน ไม่เคยจูงมือกับใครมาก่อนเลย.. เกิดมาแล้ว ยังไงไม่รู้ เขา..รึเปล่า คือสั้นๆว่าตัวละครกำลังสับสน ไม่ควรเขียนวกวน

เรื่องการใช้อัศเจรีย์ ! ควรใช้ตัวเดียว ในประโยคที่มีการแสดงความตกใจ บ้า!!! พี่ยนต์บ้า!! หลายตัวไป เครื่องหมายปรัศนี ? ปารจะไปไหน?! ซ้อนอัศเจรีย์ได้ไม่ผิดหลัก แต่ใช้ตัวเดียวค่ะ มีอะไรหรือคะ? วาดให้พี่บ้างได้มั้ย? ควรใส่ต และจุดไข่ปลาไม่ต้องยาวมาก ถ้าต้องการใส่ความรู้สึกลองบรรยายลงไปดูค่ะหลังคำว่า พ่อ... ไม่ควร.............. !!!! แง้...........! ค่ะ มันดรอปความรู้สึกของตัวละครลงไป แม้ว่าจะเป็นแนวใสๆไม่ดราม่า แต่เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงนิยาย การใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องสำคัญ เพราะตอนพิสูจน์อักษร เขาต้องแก้ใหม่อยู่ดี อาจไม่ถึงกับหมด มันยังมีคำละเว้นได้บาง แต่ไม่ควรผิดเยอะ ในส่วนของคำที่พิมพ์ผิดเกือบไม่มีเลยนะคะ เป็นคนใส่ใจรายละเอียดดีมากๆเลย การรวบประโยคให้คนอ่านเห็นภาพตาม นับว่าบรรยายออกมาได้ดี หลังเครื่องหมายคำพูดในกรณีที่คนอ่านรู้อยู่แล้วว่าใครพูด ไม่จำเป็นต้องใส่ย้ำทุกอัน มันจะไม่ขาดตอนในการอ่านจะลื่นไหลมากกว่า

เรื่องราวในวัยเยาว์ปรากฏในห้วงนึก แล้วย้อนฉากไป มันเกี่ยวอะไรกับทุกเรียนด้วยฟะ! มันเกี่ยวอะไรกับทุเรียนเนี่ย! น่าจะดูเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าตามคาแรคเตอร์นาง ปารเป็นเด็กสาวใสๆ กลอนที่แต่งจากปาร เป็นแนวๆวัยรุ่น จะว่าเป็นกลอน 7 8 9 10 ก็ไม่ใช่แต่มีสัมผัสนอก สัมผัสใน เพลินๆ ฟังเป็นเพลงได้เลย หนุนเรื่องให้ฟินเข้าไปอีก ชื่อเรื่อง กลัวเธอจะเปลี่ยนไป บอกความใสๆได้เข้ากับตัวเรื่อง ชื่อตอนน่าอ่าน ตัวอักษรไม่รกตา ตัวเล็กไปนิด เว้นบรรทัดเยอะไปหน่อย

สุดท้ายนี้ขอ เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนได้พัฒนาฝีมือยิ่งขึ้นไปอีก ให้นิยายตีพิมพ์เป็นรูปเล่มผิดถูกอย่างไรขออภัยค่ะ ร้านจัดเต็มเราทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักเขียนให้ได้สร้างผลงานในวงการนิยายไทยอย่างเต็มความสามารถ

อ่านแล้ว Feel Good แต่หิวชะมัด

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 6

เยี่ยมมาก

นิยายเรื่องนี้ถ้าดูจากข้อมูลต้นเรื่อง จะดูว่าพล็อตไม่ใหม่ แต่มันมีข้อดีของมันอยู่ คือเราอ่านมันได้เรื่อย ๆ ไม่รู้สึกเบื่อ คนเขียนดำเนินเรื่องโดยใช้ชีวิตประจำวันของตัวละครเป็นหลัก ไม่มีเหตุการณ์ที่ "ประดิษฐ์" ขึ้นมา เมื่ออ่านแล้ว รู้ได้ทันทีว่าคนเขียนเป็นนักอ่านนิยายตัวยง เพราะการใช้ภาษาดีกว่ามาตรฐาน เนื้อเรื่องสละสลวย การบรรยายอารมณ์ไหลลื่น บทพูดสมจริง ตัวละครที่บอกว่าน่ารักก็น่ารักจริง ไม่ใช่บรรยายว่าน่ารัก แต่การกระทำไม่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าน่ารัก นี่คือความสามารถของคนเขียนในการคุมบทบาทของตัวละคร คนเขียนเป็นผู้กำกับและนักเขียนบทที่ดีค่ะ

เรื่องที่เราคิดว่า คนเขียนทำได้ดีกว่านี้อีกคือ

1. การใช้ตัวอักษรให้เหมาะสมกับข้อความ

บทบรรรยายที่มาจากความนึกคิด การย้อนเวลาคิด หรือเวลากดไลน์อ่านข้อความ คนเขียนใช้ตัวอักษรเดียวกัน ขนาดเดียวกันหมด มันทำให้ไม่รู้สึกถึงความต่าง ยิ่งงานเขียนเป็นแบบเรียบ ๆ ไม่หวือหวา ยิ่งทำให้มันดูเรียบเกินไป ไม่ใช่ว่าความเรียบนั้นไม่ดี ความเรียบดูดีได้ แต่ต้องไม่เรียบจนเกินไป

2. การบรรยายซ้ำแบบเดิมในสิ่งที่รู้แล้ว เช่น แว่นสีชาของพี่ยนตร์ อ่านบทแรกก็รู้ได้แล้วว่าพี่ยนตร์ใส่แว่นสีชา แต่ในการกล่าวถึงแว่นพี่ยนตร์ในบทหลัง ๆ ก็ยังเจอการขยายความว่าเป็น "แว่นสีชา" อยู่เสมอ ตรงนี้ไม่จำเป็น ใช้คำว่าแว่นเฉย ๆ ก็พอ

ยกตัวอย่างเพิ่ม พี่นรินทร์รูปหล่อ ในบทเดียวกันที่เปิดตัวพี่นรินทร์ เราจะเห็นแค่คำว่า ชายหนุ่มผิวขาวหน้าตาดี ชายหนุ่มหน้าขาว ฝ่ามือขาว ๆ อันใหญ่โต มือขาว ๆ ของชายหนุ่ม เพื่อนหน้าหล่อ ซึ่งทุกตัวนี้หมายถึงพี่นรินทร์ มันเป็นการเน้นย้ำที่มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพี่ยนตร์เองต้องอยู่กับพี่นรินทร์ พี่ยนตร์ก็คิดถึงเพื่อนคนนี้ในฐานะ เพื่อนหน้าหล่อ อยู่แทบตลอดเวลา คือพี่นรินทร์มาทีไร มันต้องมีคำว่าหล่อตามมา อย่างนี้เป็นต้นค่ะที่เราพูดถึงการบรรยายซ้ำโดยไม่จำเป็น

3. การเรียงถ้อยคำ เราว่าคนเขียนเป็นนักเรียงถ้อยคำที่เก่งคนนึงเลย สามารถใช้ประโยคยาว ๆ ได้อย่างมีจังหวะ เช่น เธอค่อย ๆ ดูดกาแฟเย็นคาปูชิโน่รสเข้มจากแก้วกระดาษทรงสูงที่ห่อด้วยทิชชูกันเปื้อน คนที่เขียนได้อ่านรู้เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีเยอะนะคะ นักเขียนส่วนใหญ่ตกม้าตายกับการบรรยายประโยคยาว เพราะใส่คำไม่ถูก แต่ผู้เขียนทำได้ดีมาก แต่ทีนี้ เมื่อทำได้ดีแล้ว บางครั้งด้วยความละเอียดของผู้เขียน ก็ทำให้ผู้เขียนใส่คำเข้ามามากเกินไปได้เช่นกัน เช่น สภาเดินถือถาดจานข้าวมาวางในถังสำหรับวางจานใช้ทานแล้วอย่างมีความสุขอิ่มอกอิ่มใจและอิ่มท้อง ประโยคนี้ยาวเกินไป และใช้คำมากเกิน ถ้าตัดออกบ้าง และเว้นวรรคบ้าง ก็จะได้ใจความเหมือนกันที่กระชับขึ้น เป็นต้นว่า สภาถือถาดจานข้าวมาวางในถังสำหรับวางจานใช้แล้ว หน้าตาบ่งบอกความสุข อิ่มอกอิ่มใจและอิ่มท้อง

ขอให้นิยายมีคนอ่านเยอะ ๆ สมกับความดีและความน่ารักของมันนะคะ ถ้ามีความเห็นอะไรที่ล่วงเกิน ขออภัยด้วยค่ะ

reviewer author
@จันทรังสี
5 ก.ค. 59 / 16:58 น.

0

นิยายแสนอบอุ่น ได้บรรยากาศวัยรุ่น

รีวิวถึงลำดับตอนที่ 7

เยี่ยมมาก

สวัสดีครับพี่ริ แหะๆ เมื่อสัปดาห์ก่อนพูดไว้ว่าบทวิจารณ์จะเสร็จในวันสองวันใช่ไหมครับ...ที่จริงคือกะจะเขียนและลงตั้งแต่เมื่อวันศุกร์แล้วล่ะครับ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงที่กลับบ้านเย็นบ่อย และพอกลับมาก็ร่างพัง ล้มตัวลงนอนทันที งานอดิเรกอย่าได้พูดถึงเลยครับ ผมไมได้แตะอะไรเลย555 ขออภัยที่ล่าช้าครับ

เอาล่ะ จบการแก้ตัวครับ มาเข้าสู่บทวิจารณ์กันดีกว่า สำหรับเรื่องนี้ผมว่าโอเคนะ ชอบบรรยากาศอบอุ่นกับอะไรหลายอย่างที่มันดูเรียล จับต้องได้ ทั้งตัวละครและภูมิหลังของพวกเขา ถ้าให้พูดรวมๆ คือเรื่องนี้ผ่านนะครับ ^^

ไปดูบทวิจารณ์แบบละเอียดกันครับ

1. ชื่อเรื่อง - กลัวเธอจะเปลี่ยนไป

เป็นชื่อที่เรียบๆ แต่เข้าใจง่ายดีครับ ผมเพิ่งอ่านไปได้แค่เจ็ดบท ยังไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงระหว่างชื่อเรื่องกับเนื้อหาเท่าไหร่ แต่ก็พอเห็นเค้าลางว่ามันน่าจะเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนางเอกพระเอกนี่ล่ะ

แอบกระซิบนิดนึง...เวลาคนมาบอกว่าชื่อนิยายควรมีภาษาอังกฤษนำหน้าเนี่ยอย่าไปเชื่อนะครับ ไม่มีใครบัญญัติไว้สักนิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้น ถ้าเจออีกให้เบ้ปากใส่ได้เลย555

2. พล็อต

เรื่องย่อ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อพี่รหัสของเธอกลายเป็นคนที่เธอประทับใจมานานตั้งแต่ยังเด็ก แต่ต้องจากไปนาน พอได้เจอกันอีกครั้งกลับมีเรื่องไม่เข้าใจกัน อดีตและความทรงจำแสนดีจะทำให้เขาและเธอเข้าใจกันได้หรือไม่? (เรื่องย่อจากข้อมูลเบื้องต้นของนิยาย)

เป็นพล็อตเรียบง่ายน่ารักๆ ที่ค่อนข้างเห็นได้ทั่วไป เพราะฉะนั้นการจะทำให้นิยายแนวนี้น่าสนใจขึ้นมาได้ก็ต้องใช้ความพยายามพอสมควรเลยครับ เท่าที่อ่านมา เรื่องพล็อตหรือปมในเรื่องผมไม่เห็นอะไรผิดปกตินะ จะมีก็แต่เรื่องการตัดฉากที่เร็วไปจนเนื้อเรื่องดูไม่ต่อเนื่องกันจนอารมณ์สะดุด ซึ่งจะพูดถึงในพาร์ทต่อไปครับ

3. เนื้อเรื่อง

ภาพรวม ได้บอกไปแล้วครับว่านิยายเรื่องนี้ค่อนข้างเรียบง่าย แต่มันก็แฝงความน่ารักน่าอ่านเข้าไปทำให้รู้สึกเพลินดีเหมือนกัน ชอบที่อะไรหลายอย่างมันไม่ดูโอเวอร์เกินไป แต่อยากถามพี่ริหน่อยครับว่าในบางบทมันมีบางฉากที่ถูกตัดออกไปหรือเปล่า อย่างเช่นบทแรกเลยที่ปารกับยนตร์บังเอิญเจอกันบนรถไฟ จากนั้นก็ตัดไปตอนเย็นเลย แต่ฉากตอนเย็นมีการบรรยายว่าปารกับยนตร์ได้เจอกันอีกครั้งในตอนบ่ายอีกรอบ แถมยังรู้ว่าได้เป็นพี่-น้องรหัสกันอีก นี่มันไม่ใช่การตัดฉากแบบรวบรัดอ่ะครับ มันเหมือนเขียนทิ้งไว้แล้วแต่จู่ๆ ก็ตัดทิ้งไปเลย เนื้อเรื่องตอนนี้เลยงงไปหน่อย ตอนผมอ่านครั้งแรกนี่ถึงกับต้องวนกลับไปอ่านใหม่เลยนะ

ไปดูแต่ละบทกันบ้างครับ เปิดอ่านตามทีละจุดเลยก็ได้นะ

บทที่ 1อันนี้ถามเพราะไม่รู้นะครับ ส้มบางมดนี่มันลูกเล็กหรือลูกใหญ่อ่ะครับ ผมลองเสิร์ชกูเกิ้ลดูแล้วมันก็ขนาดเท่าส้มธรรมดานะ แต่ประโยค ...ที่ปูลาดด้วยหินก้อนใหญ่เท่าผลส้มบางมด...คือถ้าจะเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่งกับของอีกสิ่งหนึ่งที่มีขนาดเท่ากัน ถ้าของสิ่งนั้นใหญ่ก็ใช้คำว่า ใหญ่เท่าหรือถ้ามีขนาดเล็กก็บอกว่า เล็กเท่าจะดีกว่าครับ

- ขออนุญาตให้ความรู้เกี่ยวกับโบกี้รถไฟนะครับ คือสิ่งที่เรียกว่าโบกี้เนี่ย มันไม่ใช่ตู้ใหญ่ๆ ที่เราเข้าไปนั่งเวลาขึ้นรถไฟกันนะครับ แต่มันคืออุปกรณ์ที่เอาไว้รับน้ำหนักตู้รถไฟ รายละเอียดตามลิ้งก์นี้ครับ > คลิก

แต่ถ้าอยากให้มันเรียลจริงๆ ก็ไม่เป็นไรครับ เพราะคนปกติก็เรียกตู้รถไฟว่าโบกี้กันครึ่งประเทศอยู่แล้ว555

- ทำไมตอนปารหลงกับสภา ปารไม่โทรหาเพื่อนล่ะครับ แถมหลงตั้งแต่เช้ายันเย็นไม่ได้ติดต่อกันเลย

- ปารกับพี่ยนตร์เจอกันตั้งแต่เช้ากับบ่ายแล้ว รู้แล้วด้วยว่าเป็นพี่รหัส-น้องรหัสกัน แต่ทำไมจำไม่ได้ว่าอีกฝ่ายคือคนรู้จักสมัยเด็ก

- ถ้าจะใส่เครื่องหมายตกใจ ไม่ต้องมีไข่ปลา (...) นำหน้าจะดีกว่าครับ

บทที่ 2 ระวังการเว้นวรรคเยอะเกินไปด้วยนะครับ มันจะทำให้อ่านสะดุด

- เธอใจหายวาบ!!’ บรรทัดนี้มันโดดไปนะครับ นอกจากระวังการเว้นวรรคแล้ว ควรระวังเรื่องการขึ้นบรรทัดใหม่เยอะเกินความจำเป็นด้วย

บทที่ 3คิตตี้ไม่ใช่แมวววววว~~ ถึงมันจะเหมือนแมวมากๆ ก็เหอะครับ (คลิก) แต่บางแหล่งข่าวก็บอกว่าไม่ใช่ทั้งแมวและไม่ใช่ทั้งมนุษย์ (คลิก)

- ระวังการใช้คำซ้ำกันในระยะใกล้ๆ กันด้วยครับ

บทที่ 4 ผมแอบงงกับที่อยู่ของตัวละครมาตั้งแต่บทหนึ่งแล้วอ่ะครับ ตกลงปารตอนนี้อยู่ที่ไหน ต่างจังหวัดหรือในกรุงเทพ แล้วเป็นบ้านหรือหอพัก อยู่ใกล้กับบ้านสภาหรือเปล่า หรือผมอ่านข้ามอะไรไป รู้แค่ตอนบทเปิดเทอมวันแรกปารกับสภาจะนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพก็เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าพอเข้ากรุงเทพมาแล้วเธอไปอยู่ไหน

- ตอนมีเด็กมาหาเรื่องปารควรจะใส่รายละเอียดให้มากกว่านี้นะครับ แถมคำพูดกับความคิดของปารยังดูขัดแย้งกันอีก ในบทบรรยายบอกว่าปารไม่เข้าใจว่าเด็กคนนั้นคิดว่าปารเอาเรื่องอะไรไปฟ้องครู แต่ปารกลับตีสีหน้าเรียบเฉยแล้วถามว่า รู้ได้ไงล่ะว่าฉันเป็นคนฟ้อง ไหนล่ะหลักฐานมันฟังดูเหมือนรู้อยู่แล้วว่าอีกฝ่ายกำลังพูดถึงเรื่องอะไร แถมการตีสีหน้าเรียบเฉยในสถานการณ์แบบนั้นมันก็ดูกวนอารมณ์ไปหน่อยนะครับ

- เห็นในคอมเมนต์ พี่ริบอกว่าปารกับพี่ยนตร์อายุห่างกันห้าปี แล้วทำไมถึงยังเป็นพี่รหัสน้องรหัสกันได้ล่ะครับ (อันนี้ไม่รู้จริงๆ นะครับว่าเขานับญาติสายรหัสกันยังไง) หรือเพราะว่ายนตร์เคยไปเรียนต่อต่างประเทศทำให้ต้องดรอปเรียนอะไรแบบนี้หรือเปล่าครับ

บทที่ 5บทนี้ทำไมไม่มีการเว้นย่อหน้าเลยล่ะครับ

- ชอบตอนบรรยายอาหารที่ปารทำ หน้ากินดี ท้องร้องเลยครับ555

- อ้าว ครอบครัวของยนตร์เป็นมังสวิรัติเพราะอยากได้ลูกสาว แต่ตัวลูกสาวอย่างสภาดันไม่ชอบกินผักเฉยเลย

บทที่ 6 - ถ้าเป็นคำพูดของคนๆ เดียวกันพูดต่อกัน ไม่ต้องขึ้นบรรทัดใหม่จะดีกว่าครับ เพราะมันจะงงว่าตกลงใครพูด อย่างเช่นตอนสภาบอกนรินทร์ว่าปารทำขนมไว้ให้

บทที่ 7 ช่วยบรรยายฉากนิดนึงก็ดีครับว่าตัวละครกำลังอยู่ที่ไหน บทนี้เปิดฉากแรกมาปารก็โดนแซวเลย แต่ไม่ได้บอกว่าตอนนั้นอยู่ ณ ส่วนไหนของมหาวิทยาลัย ม้าหินเหรอ? แล้วม้าหินตรงไหนล่ะ? หน้าคณะหรือเปล่า

- โดนตัดฉากอีกล้าววว! ยนตร์กับนรินทร์จะไปซื้อของด้วยกัน แต่จู่ๆ ปารกับสภาดันโผล่มาในรถด้วยเฉยเลย ถ้าเขาถูกชวนมาด้วยกันก็ควรพูดถึงสักนิดก็ดีนะครับ

- ตอนที่นรินทร์หยุดรถให้คนข้ามถนนนี่ผมนึกว่าสภามองเหตุการณ์นั้นจากด้านนอกรถนะ ผ่านไปสักพักถึงได้รู้ว่าเขาอยู่ในรถด้วยกัน555 เพิ่มรายละเอียดในแต่ละฉากให้เยอะกว่านี้หน่อยจะดีมากเลยครับ

- พะลุงพะลังเขียนผิดนะครับ

4. ตัวละคร

ตัวละครแต่ละตัวโอเคนะครับ ดูจับต้องได้ ดูมีความเป็นคนจริงๆ อยู่ ถ้าว่าเรื่องคาแรกเตอร์ของตัวละครในเรื่องนี้ ผมให้เก้าเต็มสิบเลยครับ

แต่ทีนี้ สิ่งที่อยากจะพูดถึงก็คือเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครในเรื่อง

คู่แรก ปารกับสภา สองคนนี้เป็นเพื่อนรักกันในระดับหนึ่งเลย แต่รู้สึกเหมือนเบื้องหลังของสองคนนี้มีอะไรหลายอย่างที่ขาดหายไป เช่นในบทแรก พี่ริบอกว่าสองคนนี้ไม่ได้เจอกันมานานแล้วเพราะมัวยุ่งกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สงสัยนิดหน่อยครับ ว่ายุ่งมากในที่นี้คือยุ่งขนาดไม่ได้เจอกันสักนิดเลยเหรอ มีไลน์แล้วก็น่าจะมีเฟซบุ๊คสิ ในตอนที่รู้ว่าต้องเดินทางเข้ากรุงเทพเพื่อไปมหาวิทยาลัย ถ้าเป็นผมผมจะนัดกับเพื่อนให้เดินทางไปสถานีรถไฟด้วยกันนะ

ทีนี้พอมันไม่ได้เจอกันมานานทั้งๆ ที่สนิทกัน ก็เลยมีอะไรหลายอย่างที่ไม่รู้ อย่างเช่นเรื่องของพี่ยนตร์ ยุคสมัยนี้ใครๆ ก็มีเฟซบุ๊คกันทั้งนั้น สภาเองก็น่าจะมี เพราะฉะนั้นก็น่าจะมีรูปพี่ชายให้ปารที่แอบปลื้มเข้าไปส่องบ้างใช่ไหมครับ ผมอ่านไปแล้วหลงๆ กับบรรยากาศในเรื่องจนเผลอนึกว่านิยายเรื่องนี้อยู่ในยุคเมื่อสิบปีที่แล้วเลยล่ะเนี่ย

คู่ที่สองคือสภากับนรินทร์...คือนรินทร์เนี่ยเป็นเพื่อนกับยนตร์ใช่หรือเปล่าครับ ผมลองเดาจากบทสนทนาของทั้งคู่ (แค่เดานะ) ก็คิดว่าพวกเขาน่าจะสนิทกันมานานแล้ว (อย่างน้อยก็เป็นปี) แล้วทำไมสภาถึงรู้จักกับนรินทร์หลังปาร ทั้งๆ ที่สภาเป็นน้องสาวของยนตร์ล่ะ (จากบทที่ 4 ปารต้องแนะนำนรินทร์ให้สภารู้จัก)

คู่ที่สาม นรินทร์กับปาร...มีความรู้สึกว่านรินทร์แอบชอบปารมานานหลายเดือนมากแล้วยังไงไม่รู้ (แต่ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ แสดงว่าพี่ยนตร์เองก็งอนปารมานานมากๆๆๆๆๆ แล้วด้วยสิ O_O) และข้อนี้มันก็เชื่อมกับข้อที่แล้วครับ คือถ้าปารกับนรินทร์รู้จักกันมานานจริง แล้วทำไมสภาเพิ่งจะเคยเจอนรินทร์? แต่ผมแค่รู้สึกเฉยๆ นะว่าสองคนนี้รู้จักกันมานานแล้ว แต่ความจริงอาจจะเพิ่งรู้จักกันแค่ไม่กี่วันก็ได้

5. สรุป

ข้อดีของนิยายเรื่องนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ความอบอุ่นเป็นความอบอุ่นแบบที่จับต้องได้จริงๆ สัมผัสถึงมันได้จริง แค่เจ็ดบทที่ผ่านมาก็ทำให้ผมอินไปกับภูมิหลังของปารกับยนตร์ได้ดีทีเดียวครับ

ถ้าเป็นนิยายรักผมก็ชอบนิยายพ่อแง่แม่งอนแบบนี้นะ มันดูน่ารักดี ลุ้นดีด้วยว่าเมื่อไหร่จะง้อกันเสร็จ ความน่ารักของนิยายเรื่องนี้ทำให้อยากอ่านต่อเหมือนกันครับ

แต่ทีนี้ หลายคำถามที่ผมพูดถึงในบทวิจารณ์เนี่ยไม่ได้ต้องการแค่คำตอบนะครับ แต่อยากให้พี่ริลองพิจารณาเพื่อปรับแก้ดู พวกรายละเอียดบางอย่างของเรื่อง ฉากที่โดดไปโดดมา ความสัมพันธ์ของตัวละคร การเว้นวรรค การย่อหน้า พวกนี้จะทำให้นิยายเรื่องนี้มันพัฒนาขึ้นจากเดิมได้อีกครับผม ^^