ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เกร็ดความรู้นิดๆหน่อยๆ

    ลำดับตอนที่ #1 : มังคุด อาหารของพระเจ้า ราชินีแห่งผลไม้

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 275
      0
      22 ส.ค. 52

    มังคุด เอกลักษณ์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 
    มังคุดมีฉายาในแถบเอเชียด้วยความภาคภูมิใจในผลไม้ชนิดนี้ว่า “ราชินีแห่งผลไม้,  the queen of fruits”
    มีฉายาในแถบ French Caribbean ว่า “อาหารของพระเจ้า” “the food of the Gods” 
    คนไทยรู้จักมังคุดเป็นอย่างดี รู้ว่ามังคุดเป็นยาเย็นหรือตามการแพทย์จีนเรียกว่ามีฤทธิ์ “ยิน” หลังจากกินทุเรียนที่มีรสร้อน หรือมีฤทธิ์เป็น “หยาง” แล้วต้องกินมังคุดตาม เพื่อทำให้ร่างกายเกิดความสมดุล
    ที่สำคัญคือ มังคุดเป็นผลไม้อร่อยมาก มีรสหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม เป็นที่นิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังต่างประเทศ
    แหล่งกำเนิดของมังคุดคาดว่าเป็นแถบหมู่เกาะมลายูและประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันยังพบมังคุดเป็นพืชในป่าธรรมชาติในประเทศมาเลเซียและหมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งพบ “มังคุดป่า” หรือ “มะแปม” (Garcinia costata Hemsl.) บริเวณป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดภาคตะวันออก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนย
    ด้วยความอร่อยของมังคุดจึงได้มีความพยายามที่จะนำมังคุดไปปลูกในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จนัก เช่น มีการนำเข้าไปปลูกในประเทศศรีลังกา ปี พ.ศ. ๒๓๔๓ ในประเทศอินเดียตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๔๔ ในรัฐควีนส์แลนด์ประเทศออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. ๒๓๙๗ และได้นำไปปลูกในเรือนกระจกในสวนพฤกษศาสตร์คิวของประเทศอังกฤษระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๓-๒๔๐๓ และผลมังคุดผลแรกของสวนคิวออกในปี พ.ศ. ๒๔๐๐ และยังมีการนำไปทดลองปลูกในหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน เช่น ปานามา เพอร์โทริโก โดมินิกา คิวบา ซึ่งได้ผลผลิตไม่ดีเช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาซึ่ง The United States Department of Agriculture ได้รับเมล็ดมังคุดจากประเทศจาวา ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ได้พยายามขยายพันธุ์ทดลองปลูกในเขตร้อนของประเทศสหรัฐอเมริการวมไปถึงฮาวาย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเช่นกัน
    ดังนั้น  มังคุดจึงยังคงเจริญเติบโตได้ดีในแถบแหลมมลายูและชวา พม่า ไทย ประเทศในกลุ่มอินโดจีน  สำหรับประเทศไทยนับว่าเป็นสวรรค์ของคนชอบมังคุด เพราะมังคุดไทยรสชาติดี เนื้อมากเมล็ดเล็ก เปลือกบาง ในประเทศอื่นมักจะมีเปลือกหนา รสชาติเปรี้ยวจัดกว่าของไทย 
    ประเทศไทยมีแหล่งเพาะปลูกมังคุด ๓ แหล่งใหญ่ๆ คือ ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี  ระยอง ตราด ปราจีนบุรี ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป และภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี

    ลักษณะทางวนวัฒนวิทยา
    มังคุดเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ ทรงต้นแบบกรวยคว่ำหรือทรงพีระมิด เป็นพุ่มทึบ สูง ๑๐-๑๒ เมตร เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่อาจสูงถึง ๓๐ เมตร ทุกส่วนมียางสีเหลือง ใบเดี่ยวออกตรงข้าม
    ใบ เป็นรูปใบพาย รูปไข่หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน  ปลายใบแหลม ใบคล้ายใบชมพู่ม่าเหมี่ยว  หลังใบสีเขียวเข้มเป็นมันท้องใบสีอ่อนกว่า  เนื้อใบค่อนข้างหนาและค่อนข้างเหนียว  ใบมีขนาดใหญ่ยาว กว้าง ๖-๑๑ เซนติเมตร ยาว ๑๕-๒๕ เซนติเมตร
         ดอก มี ๒ ชนิดคือดอกตัวผู้และดอกสมบูรณ์เพศ
         ดอกตัวผู้จะออกที่ปลายกิ่งเป็นกระจุก ๓-๙ ดอก
         ดอกสมบูรณ์เพศออกเป็นดอกเดี่ยวๆ หรือ ๒ ดอก ที่บริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบรองกลีบดอกสีเขียว แข็งเหนียวจะคงอยู่และขยายใหญ่ขึ้นเมื่อเป็นผล กลีบดอกสีชมพูแดง
    ผล ค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓.๕-๗.๐ เซนติเมตร สีเขียวอมขาว เมื่อแก่จะเริ่มมีลายสีแดงๆ หรือม่วงแดง ชาวสวนเรียกลายนี้ว่า “สายเลือด” จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีม่วงแดงจนถึงม่วงดำภายใน ๒-๕ วัน เปลือกผลหนาค่อนข้างแข็ง ผลเกลี้ยงกลม มีสีม่วงหนาประมาณ๐.๘-๑ เซนติเมตร
    บริเวณเปลือกจะมีท่อน้ำยางซึ่งเป็นสารพวกแทนนินมีรสขมฝาด ซึ่งเป็นตัวช่วยลดการทำลายของแมลงได้ทางหนึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งแมลงวันทองไม่สามารถเจาะเข้าไปทำลายได้ ในหนึ่งผลมีเมล็ด ๑-๒ เมล็ด นอกนั้นเป็นเมล็ดที่ไม่เจริญ เมล็ดมีรกสีขาวหุ้ม สีขาวนี้คือส่วนเนื้อที่ใช้กิน มีรสหวานอมเปรี้ยว

    การเพาะปลูก
    ใช้เมล็ดเพาะปลูก  เมล็ดควรมีขนาดใหญ่  สดและใหม่  ไม่ควรแกะเมล็ดจากผลทิ้งไว้เพราะจะทำให้เมล็ดงอกช้าหรือไม่งอกเลย  ก่อนเพาะควรล้างเนื้อออกจากเมล็ดเสียก่อนเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา  ควรเพาะในที่ร่ม  มีความชื้นสูง  ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ  เมล็ดจะงอกภายใน ๓-๔ สัปดาห์
         เมื่อมังคุดมีใบแล้ว ๒ ใบ  ควรแยกใส่ถุงเพาะชำถุงละ ๑ ต้น
         หลังจากชำไว้ ๑ ปี ควรเปลี่ยนถุงเพาะชำให้มีขนาดใหญ่ขึ้น
         ปีที่ ๒ ต้นมังคุดจะแตกกิ่งข้าง  เมื่อมีอายุครบ ๒ ปี ก็เริ่มนำลงปลูกในแปลงได้
         มังคุดเป็นพืชคายน้ำ พื้นที่ที่ปลูกต้องเป็นที่ที่มีความชื้นสูง ชอบอากาศร้อน เป็นพืชที่ต้องการน้ำตลอดปี ยกเว้นช่วงก่อนออกดอกประมาณ ๑ เดือน ดินต้องมีหน้าดินลึก มีอินทรียวัตถุสูง และระบายน้ำได้ดี

    ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์
    ผลใช้เป็นอาหาร
    ผลสุกมีรสหวานอมเปรี้ยวหอมอร่อย กินเป็นผลไม้ นอกจากจะกินเป็นผลสุกแล้ว ทางภาคใต้ของประเทศไทยยังนิยมกินมังคุดในลักษณะ “มังคุดคัด” โดยนำมังคุดดิบที่แก่จัดแต่ยังไม่สุก กล่าวคือเริ่มเห็นสายเลือด มางัดเปลือกออก โดยให้เนื้อและเมล็ดคงรูปเดิม ไม่แตกกระจายออกจากกัน แล้วนำมาล้างน้ำให้สะอาด นำไปแช่น้ำเกลือที่มีความเค็มอ่อนๆ ทิ้งไว้ให้น้ำเกลือดูดซึมเข้าไปในเนื้อจนทั่ว แล้วใช้ไม้เสียบเรียงเป็นตับๆ แต่ละชุดมีเนื้อมังคุดเรียง ๕-๗ ผล 
    มีความพยามที่จะทำมังคุดกระป๋องแต่ไม่อร่อยเนื่องจากเกิดการสูญเสียกลิ่นของมังคุดไปในกระบวนการฆ่าเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาสเจอไรซ์นาน ๑๐ นาที จากการทดสอบพบว่าวิธีทำมังคุดกระป๋องที่ดีที่สุดคือ การแช่ในน้ำเชื่อมเข้มข้นร้อยละ ๔๐ ถ้าการฆ่าเชื้อแบบสเตอริไลซ์นาน ๕ นาที ซึ่งมังคุดที่มีรสเปรี้ยวเหมาะที่จะทำมังคุดกระป๋องมากกว่า 
    ในประเทศมาเลเซียมีการทำแยมมังคุดจากการนำเนื้อมังคุดที่ไม่มีเมล็ดมาต้มกับน้ำตาลในปริมาณที่เท่าๆ กัน เติมกานพลูไปเล็กน้อย ต้มนาน ๑๕-๒๐ นาที แล้วจึงนำมาเก็บไว้ในขวดแก้ว ในประเทศฟิลิปปินส์ มีวิธีเก็บมังคุดไว้กินนานๆ ง่ายๆ คือนำทั้งเนื้อและเมล็ดไปต้มในน้ำตาลทรายแดง 
    บางประเทศมีการนำเมล็ดของมังคุดมาต้มหรือคั่วกินเป็นของว่าง ส่วนเปลือกของมังคุดมีสารที่เรียกว่า เพกทิน (pectin) สูงมาก หลังที่ไปกำจัดสารฝาดด้วยน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นร้อยละ ๖ แล้ว จะได้เจลลี่สีม่วง มีคุณสมบัติเหมือนเจลลี่ทั่วๆ ไป

     สารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายที่มีในเนื้อมังคุดในส่วนที่กินได้ ๑๐๐ กรัม ประกอบด้วย

    คุณค่าทางอาหาร/สารอาหารปริมาณใน ๑๐๐ กรัม
    พลังงาน
    ความชื้น
    โปรตีน
    ไขมัน
    คาร์โบไฮเดรต
    ใยอาหาร
    เถ้า
    แคลเซียม
    ฟอสฟอรัส
    เหล็ก
    วิตามินบี ๑
    วิตามินบี ๒
    ไนอาซิน
    ๗๖ กิโลแคลอรี
    ๗๙.๒ กรัม
    ๐.๕๐ กรัม
    ๐ กรัม
    ๑๘.๔ กรัม
    ๑.๗ กรัม
    ๐.๒ กรัม
    ๑๑ มิลลิกรัม
    ๑๗ มิลลิกรัม
    ๐.๙๐ มิลลิกรัม
    ๐.๐๙ มิลลิกรัม
    ๐.๐๖ มิลลิกรัม
    ๐.๑ มิลลิกรัม



    *ที่มา กองโภชนาการ กรมอนามัย พ.ศ. ๒๕๓๕

    การใช้ประโยชน์อื่นๆ  
         ในประเทศกานา มีการใช้กิ่งเล็กของมังคุดเคี้ยวเล่นดับกลิ่นปาก เหมือนเคี้ยวหมากฝรั่ง
         ในประเทศจีนใช้เปลือกมังคุดไปย้อมหนังให้เป็นสีดำจากการที่เปลือกมังคุดมีสารแทนนิน(tannin) คาเทชิน (catechin) และโรซิน (rosin) อยู่ถึงร้อยละ ๗-๑๔
         ในประเทศไทยใช้เนื้อไม้ของมังคุดซึ่งมีสีน้ำตาลแก่ หนัก จมน้ำ มีความทนทานปานกลาง นำเผาเป็นถ่านไว้ใช้เป็นเชื้อเพลิง ใช้ในงานฝีมือ ใช้เป็นที่นวดข้าว หรือในงานก่อสร้าง

    การใช้ประโยชน์ทางยาและวิธีใช้พื้นบ้าน
    ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เปลือกผลที่สุกแล้วของมังคุดเป็นยา นิยมตากแห้งเก็บไว้ใช้ แต่ส่วนอื่นๆ ของมังคุดก็สามารถนำมาใช้เป็นยาได้เช่นเดียวกัน
    ประเทศไทย ยาไทยส่วนใหญ่ใช้เปลือกผลมังคุดแก้ท้องเสีย แก้บิด และรักษาแผล
         แก้ท้องเสีย โดยใช้เปลือกผลตากแห้ง ๑/๒-๑ ผล ต้มกับน้ำปูนใสดื่มแต่น้ำ  
         แก้บิด ใช้เปลือกผลแห้ง ๑/๒ ผล ย่างไฟให้เกรียมฝนกับน้ำปูนใส ๑/๒ แก้ว ดื่มครั้งเดียวหรือใช้ผง ๑ ช้อนชา ละลายน้ำข้าวหรือน้ำสุก ดื่มทุก ๔ ชั่วโมง
         (ขนาดที่ใช้ ๑/๒ ผล จะได้น้ำหนักของสารสกัดประมาณ ๑๑๖ +- ๗ มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่เพียงพอในการรักษาโรคท้องร่วงเมื่อเทียบกับขนาดที่ใช้ในการต้านเชื้อแบคทีเรียในการทดลอง)
         รักษาแผล  เปลือกผลต้มน้ำใช้ชะล้างแผลที่เป็นหนอง  เน่าเปื่อย  หรือจะใช้เปลือกลำต้นตากแห้ง เปลือกผลดิบหรือเปลือกผลสุกมาฝนเป็นยาทาแผล  
         
    ประเทศอื่นๆ มีการใช้มังคุดเป็นยารักษาโรคคล้ายคลึงกันกับที่มีการใช้ประเทศไทย เช่น
    ประเทศอินโดนีเซีย ใช้เปลือกไม้กินแก้บิด นำใบแห้งมาต้มดื่มแก้ไข้ บรรเทาอาการปวดท้อง 
    ประเทศจีน ได้นำเข้าเปลือกมังคุดแห้งแล้วนำไปบดเป็นผงใช้เป็นยาแก้บิด นำไปสกัดใส่ยาขี้ผึ้ง (ointment) ใช้ทาแก้ผื่นแพ้ (eczema) และปัญหาทางผิวหนังอื่นๆ เปลือกผลใช้ต้มกินเพื่อรักษาอาการท้องร่วงและทางเดินปัสสาวะอักเสบ โรคโกโนเรีย นำเปลือกผลไปแช่น้ำค้างคืนหรือทำเป็นชาชงเพื่อรักษาอาการท้องเสียเรื้อรังทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ และใส่สารสกัดเปลือกผลผสมในโลชั่นด้วยต้องการฤทธิ์ฝาดสมาน 
    ประเทศฟิลิปปินส์ ใช้ใบและเปลือกต้มน้ำเพื่อรักษาอาการท้องเสีย บิด ถ่ายพยาธิ และทางเดินปัสสาวะอักเสบ ทั้งยังเชื่อว่าการกินผลมังคุดจะควบคุมอาการไข้
    ประเทศมาเลเซีย ใช้ใบมังคุดชงผสมกล้วยดิบและใส่เบนโซอินไปเล็กน้อยใช้ทาแผลที่ขริบ ใช้รากต้มดื่มเพื่อรักษาอาการประจำเดือนไม่ปกติ ใช้เปลือกแก้บิดโดยมีการสกัดสารจากเปลือกชื่อว่า "amibiasine"  ขายในท้องตลาดเพื่อรักษาโรคบิด
    ประเทศแถบทะเลแคริบเบียน รู้จักมังคุดในชื่อของ "eau de Creole " ซึ่งเป็นชาจากมังคุดมีฤทธิ์เป็นยาบำรุงแก้อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวหมดแรง ชาวบราซิลดื่มชามังคุดด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน ทั้งยังเชื่อว่าการกินมังคุดจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายเป็นปกติ

    สมุนไพร..แห่งอนาคต
    จากกระแสการตื่นตัวนิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติทั่วทั้งโลก มังคุดเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากการศึกษาวิจัยล่าสุดพบประโยชน์ของมังคุดมากมาย นอกเหนือไปจากฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในอดีต
    การพบสารในมังคุดที่เรียกว่า “แซนโทน (xanthones ซึ่งมีอยู่ถึง ๔๓ ชนิด เช่น mangostin, mangostenol, mangostenone A, mangostenone B, trapezifolixanthone, tovophyllin B, alpha- and beta-mangostins, garcinone B, mangostinone, mangostanol เป็นต้น) ซึ่งมีมากในเปลือกผลและเมล็ด และมีน้อยในเนื้อผล  สารกลุ่มนี้มีฤทธิ์ในการต้านออกซิเดชั่น ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ปัจจุบันมีการสั่งเปลือกมังคุดจากประเทศไทยไปสกัดสารดังกล่าวในประเทศต่างๆ เช่น นำเข้าไปในประเทศอินเดีย โดยโรงงาน Dhanvantari Botanicals เป็นโรงงานผลิตสารสกัดและสารบริสุทธิ์ ของบริษัท Renaissance Herbs ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ซื้อเปลือกมังคุดแห้งจากเมืองไทย ซื้อแต่ละครั้งประมาณ ๑๕ ตัน ในกิโลกรัมละ ๒.๕ ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ ๑๐๐ บาท) จากโรงงานทำน้ำมังคุดหรือมังคุดกระป๋องในประเทศไทยหลังจากทำการสำรวจแล้วว่าเปลือกมังคุดของประเทศไทยให้สารแซนโทนสูง 
    ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากเปลือกมังคุดมากมายทั้งในรูปแบบของการกิน เป็นยาภายนอก เป็นเครื่องสำอาง จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงพอจะกล่าวได้ว่ามังคุดเป็นสมุนไพรแห่งอนาคตที่คนไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
    ก่อนอื่นจำเป็นต้องรู้องค์ประกอบทางเคมีของสารในส่วนต่างๆ ของมังคุดก่อนดังนี้
         ลำต้น
    ๑. แก่นไม้ ประกอบด้วยสารกลุ่มฟีนอลิกส์ (phenolics) ได้แก่ เตตรา
    ไฮดร็อกซีแซนโทน (1, 3, 6, 7-tetrahydroxyxanthone) เป็นต้น
    ๒. เปลือกไม้ ประกอบด้วยสารกลุ่มแซนโทน ได้แก่ แมงโกสติน (mangostin), บีตา-แมงโกสติน (? - mangostin) 
         ใบ
    ใบประกอบด้วยอนุพันธ์แซนโทนกลุ่ม isoprenylated xanthone ได้แก่ 1, 5, 8-tri-hydroxy-3-methoxy-2-(3-methyl-2-butenyl)-xanthone สารกลุ่มไทรเทอร์พีน (triterpenes) ได้แก่ 3?-hydroxy-26-nor-9, 19-cyclolanost-23-ene-25-one นอกจากนี้ ยังมีโปรตีนประมาณร้อยละ ๗.๘ แทนนิน ประมาณร้อยละ ๑๑.๒ และใยอาหาร 
         ผล
    ผลมีสารที่ให้กลิ่นหอมที่มี ๖ คาร์บอนอะตอม (C6) ที่สำคัญคือ hexyl acetate, cishex-3-
    enylacetate, cis-hex-3-en-1-ol
    ๑. เปลือกผล ประกอบด้วยสารกลุ่มแซนโทน ที่สำคัญ ได้แก่ แมงโกสติน (mangostin) แกมมา-แมงโกสติน (?-mangostin) บีตา-แมงโกสติน (?-mangostin) เป็นต้น สารกลุ่มแอนโทไซยานิน (anthocyanins) ซึ่งเป็นสารสีแดง มีปริมาณร้อยละ ๓๑.๒๙ ได้แก่ cyanidin-3-o-?-sophoroside, cyanidin-3-glucoside และมีแทนนิน ประมาณร้อยละ ๗-๑๔ 
    ๒. ผลสุก ประกอบด้วยสารกลุ่มแซนโทน ได้แก่ การ์ทานิน (gartanin), 8-hydroxygartanin, นอร์แมงโกสติน (normangostin) ผลสุกบางส่วนพบแมงโกสติน และบีตา-แมงโกสติน เนื้อผลมีน้ำตาลและกรดอินทรีย์ต่างๆ เช่น กรดมาลิก กรดซิตริก เป็นต้น
    ๓. เมล็ด มีน้ำมัน (oil) ประกอบด้วยกรดโอเลอิก (oleic acid) ร้อยละ ๕๖.๒ กรดไลโนเลอิก (linoleic acid) กรดคาพริก (capric acid) เป็นต้น

    โรคและอาการที่มีแนวโน้มที่มังคุดจะเป็นประโยชน์
    จากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาการศึกษาในห้องทดลองพบว่าโรคและอาการที่มังคุดน่าจะนำมาใช้ประโยชน์มีดังต่อไปนี้

    โรคและอาการทางผิวหนัง 
    เป็นที่รู้กันมาแต่โบราณตามที่กล่าวมาแล้วของต้นมังคุดว่าเป็นสมุนไพรที่ใช้ในโรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีการศึกษายืนยันการใช้ประโยชน์ในโรคนี้ จากการศึกษาพบว่า มังคุดมีสรรพคุณในการฆ่าเชื้ออย่างกว้างขวาง มีฤทธิ์ลดการอักสบ จึงควรที่จะนำมาพัฒนาเป็นยารักษาอาการ ผื่นแพ้ รักษาสิว ยาทาแผลฆ่าเชื้อที่ผิวหนัง จากการศึกษาพบว่ามังคุดมีคุณสมบัติ ดังนี้

    ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง
    สารสกัดจากเปลือกมังคุดต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (Staphylococcus aureus) ทั้งสายพันธุ์ปกติ และสายพันธุ์ที่ดื้อยาเพนิซิลลิน สารสำคัญที่แสดงฤทธิ์ คือ แมงโกสตินและการ์ตานิน โดยแมงโกสตินจะแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียแรงที่สุด โดยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ายาแวนโคไมซิน (vancomycin)
    สารสกัดจากเปลือกมังคุดต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง (Staphylococcus aureus) เทียบเท่ากับน้ำยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน
         
    รักษาแผลอักเสบและแผลเรื้อรัง
    แมงโกสตินป้องกันการเกิดแผลอักเสบในหนูขาว และครีมสารสกัดจากเปลือก
    ผลมังคุด (GM-1) สามารถรักษาแผลติดเชื้อเรื้อรังให้หายเป็นปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแผลในผู้ป่วยเบาหวาน

    ต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว
    สารสกัดเปลือกมังคุด มีฤทธิ์ต้านเชื้อที่ทำให้เกิดสิว Propionibacterium acnes และ Staphylococcus epidermidis ที่ดีมากชนิดหนึ่ง 
         
    บรรเทาอาการแพ้
    แกมมา- และ แอลฟา-แมงโกสติน จากเปลือกผลมังคุด  บรรเทาอาการแพ้และมีประสิทธิ
    ภาพดีในการรักษาผู้ป่วยไข้ละออง โดยแกมมา-แมงโกสติน แสดงฤทธิ์ต้านฮิสตามีน และแอลฟา-แมงโกสติน แสดงฤทธิ์ต้านซีโรโทนิน  เมื่อร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมแมสต์เซลล์ (mast cells) และเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดเบโซฟิล จะหลั่งฮิสตามีนและซีโรโทนิน ทำให้เกิดอาการแดงเนื่องจาก  หลอดเลือดขยายตัวบวมเนื่องจากเพิ่มการซึมผ่านของหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัวและฮิสตามีนจะเพิ่มการหลั่งน้ำเมือกด้วย ซึ่งฮิสตามีนมักจะทำให้เกิดอาการแพ้หรือที่เรียกว่าไข้ละอองฟาง

    ป้องกันผิวจากแสงแดด
    ผลิตภัณฑ์ป้องกันผิวจากแสงแดด (sunscreen) ที่ประกอบด้วยแมงโกสติน ร้อยละ ๒๐ สามารถป้องกันผิวจากแสงแดด  และมีค่าดัชนีในการป้องกันแสงแดด (sun protective factor; SPF) ๑๐.๔

    โรคและอาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
    สารสกัดจากเปลือกผลมังคุดต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงและกลุ่มเชื้อในลำไส้ (normal floras) ได้แก่ enteropathogenic Escherichia coli, Salmonella ๖ ชนิด, Shigella ๔ ชนิด, Vibrio ๒ ชนิด เชื้ออื่นในลำไส้ ๕ สกุล 
    สารกลุ่มแซนโทนจากเปลือกผลมังคุด  ยับยั้งเชื้อเฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารส่วนบน ได้แก่ แผลเพ็ปติก กระเพาะอาหารอักเสบ  มะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น สารสำคัญที่ออกฤทธิ์  คือแกมมา-แมงโกสติน 
    สารในเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ต้านอะมีบา ยาดองเปลือกผลมังคุดแห้ง เมื่อใช้ร่วมกับยาเอมิทีน (emitine) ให้ผลดีในการรักษาโรคบิดที่มีสาเหตุมาจากเชื้ออะมีบา และทำให้ใช้ขนาดของยาเอมิทีนน้อยลงกว่าเดิม

    โรคและอาการทางหัวใจและหลอดเลือด
    สารแซนโทนได้แสดงคุณสมบัติหลายประการที่มีแนวโน้มว่าเป็นประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด คุณสมบัติเหล่านั้นได้แก่ ฤทธิ์ในการต้านการออกซิเดชั่น ต้านการอักเสบ ฤทธิ์ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันหลอดเลือด คุณสมบัตินี้ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของไขมัน  กลุ่มสารที่ออกฤทธิ์คือ แอนโทไซยานิน แมงโกสติน แอลฟาและแกมมา-แมงโกสติน  แกมมา-แมงโกสตินแสดงฤทธิ์แรงในการต้านออกซิเดชั่น และแมงโกสตินสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน  โดยป้องกันการเกิดไขมันชนิดเลว (LDL)

    อาการอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อ
    แมงโกสตินและอนุพันธ์ของแมงโกสติน คือ 1-isomangostin และ mangostin triacetate
    ลดการอักเสบที่อุ้งเท้าหนูขาว เมื่อให้สารสกัดจากเปลือกผลมังคุดทางปากและฉีดเข้าช่องท้อง และสารสกัดจากเปลือกผลมังคุด (GM-1) แสดงฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีเป็น 3 เท่าของแอสไพริน โดยไม่มีผลกดภูมิคุ้มกัน และยังพบว่าสารสกัดของเปลือกมังคุดยับยั้งการหลั่งของฮิสตามีนและยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin E2) ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อมีอาการอักเสบ

    โรคมะเร็ง
    นับว่ามังคุดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่น่าจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็ง จากสารแซนโทนที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) และนอกจากนี้ยังสารพวกคาเทชิน โพลีฟีนอล เกลือแร่ และวิตามิน ซึ่งมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกด้วย 
    สารสกัดของมังคุดมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาว ทั้งยังมีฤทธิ์ต้านเนื้องอกโดยแสดงฤทธิ์ต้านเนื้องอกในหนูถีบจักร และต้านมะเร็งที่เกิดในเนื้อเยื่อ (sarcoma-180)
    สารกลุ่มแซนโทนจากเปลือกผลมังคุด  ยับยั้งเอนไซม์โทโพไอโซเมอเรส I และ II ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทในกระบวนการถ่ายแบบดีเอ็นเอ (DNA replication) เพื่อการดำรงชีพต่อไปของสิ่งมีชีวิต  โดยเอนไซม์นี้จะคลายเกลียวซุปเปอร์คอล์ยของดีเอ็นเอเพื่อให้เอนไซม์ชนิดต่างๆ เข้ามาทำการถ่ายแบบต่อไป คุณสมบัติดังกล่าวอาจยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งได้ 
    นอกจากนี้สารโพลีแซคคาไรด์จากเปลือกมังคุด  ที่ความเข้มข้น ๒๐ ไมโครลิตร/disc แสดงผลกระตุ้นการจับกินสิ่งแปลกปลอมของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดโมโนไซต์

    โรคเอชไอวี
    สารสกัดเมทานอลและสารจากเปลือกผลมังคุด  ยับยั้งเอนไซม์โพรทีเอส (HIV-1 pro-
    tease) ซึ่งจำเป็นต่อวงจรชีวิตของเชื้อเอชไอวี และสารสกัดน้ำและสารสกัดเมทานอลจากเปลือกผลมังคุด ยับยั้งเอนไซม์รีเวอร์สทรานสคริปเทส (reverse transcriptase)

    การศึกษาความเป็นพิษ
    พิษต่อตับ

    เมื่อฉีดแมงโกสตินเข้าช่องท้องหนูขาว ขนาด ๒๐๐ มิลลิกัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม พบว่าปริมาณของเอนไซม์ทรานซามิเนสในเซลล์ตับ (SGOT และ SGPT) เพิ่มขึ้น และถึงระดับสูงสุดหลังจากฉีดแมงโกสติน ๑๒ ชั่วโมง เอนไซม์ทั้งสองนี้จะเพิ่มขึ้นตามขนาดของแมงโกสตินที่ให้และเมื่อให้แมงโกสตินทางปากแก่หนูขาว ขนาด ๑.๕ กรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม เปรียบเทียบกับยาพาราเซตามอล พบว่าพาราเซตามอลจะเพิ่มปริมาณของเอนไซม์ดังกล่าว มากกว่าแมงโกสติน
    ปริมาณโปรตีนในตับหนูขาวที่ได้รับพาราเซตามอลจะลดลง ในขณะที่หนูขาวที่ได้แมงโกสตินไม่มีการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนที่ตับ
    แซนโทนจากเปลือกผลมังคุดที่ความเข้มข้น ๒๐๐ ไมโครกรัม/มิลลิลิตร แสดงฤทธิ์เป็นพิษต่อเซลล์ตับของหนูขาว โดยทำให้ผนังเซลล์สูญเสียความคงตัว ปริมาณของเอนไซม์ทรานซามิเนสเพิ่มขึ้น ระดับฮอร์โมน Glomerular stimulating hormone (GSH) ลดลง การเกิด MDA (malondialdehyde) และ aminopyrine demethylase activity ไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ พบว่าสารสกัดความเข้มข้น ๐.๐๒ ไมโครกรัม/มิลลิลิตร มีผลลดอัตราการหายใจของไมโตคอนเดรีย
    เมื่อให้แซนโทน ขนาด ๑๐๐ มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว ๑ กิโลกรัม ทางปากแก่หนูขาว เป็นเวลา ๓, ๕ และ ๗ วัน ติดต่อกัน ไม่ปรากฏพิษต่อเซลล์ตับ ปริมาณของเอนไซม์ทรานซามิเนส,  MDA และ aminopyrine demethylase ไม่เปลี่ยนแปลง  แต่พบว่าระดับฮอร์โมน GSH เพิ่มขึ้น
    ดังนั้น การกินมังคุดเป็นยาต้องให้อยู่ในขนาดที่เหมาะสม และยังคงต้องศึกษาหาขนาดที่เหมาะสมต่อไป

    พิษระคายเคือง
    ครีมที่ประกอบด้วยสารสกัดจากเปลือกผลมังคุด (GM-1) ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
    หรืออาการแพ้ต่อผิวหนัง
    ยาทาแผลฆ่าเชื้อจากสารสกัดเปลือกมังคุด “การ์ซิดีน” ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง
    หรืออาการแพ้ต่อผิวหนัง

    ผลิตภัณฑ์ที่มีการขายในท้องตลาด
    ยาทาแผลฆ่าเชื้อการ์ซิดีน

    โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้พัฒนายาทาแผลฆ่าเชื้อ “การ์ซิดีน” จากสารสกัดเปลือกมังคุด ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น จากการประชุมวิชาการของกระทรวงสาธารณสุขในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพรจากคณะกรรมการอาหารและยา 
    “การ์ซิดีน” นับเป็นยาทาแผลฆ่าเชื้อจากสมุนไพรตัวแรกของเมืองไทยที่ได้รับทะเบียนยาจากคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย
     
    ยาสีฟัน
    การที่เปลือกมังคุดมีฤทธิ์ฝาดสมาน ทำให้เยื่อบุช่องปากมีความแข็งแรงขึ้น ซึ่งในอดีตใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดอมบ้วนปากเพื่อรักษาอาการแผลในปาก ทั้งยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อได้หลายชนิด โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงได้พัฒนายาสีฟันผสมเปลือกมังคุดขึ้น โดยผสมใบพลูและใบฝรั่งลงไปด้วย

    สบู่ 
    การที่มังคุดมีสารฝาดสมานทำให้ผิวหนังแข็งแรง มีสารต้านออกซิเดชั่น มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ มีฤทธิ์ต้านฮิสตามีน ทำให้สบู่ที่ผสมเปลือกมังคุดได้รับความนิยมใช้อย่างกว้างขวาง เช่น สบู่เปลือกมังคุดของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ที่มีรูปแบบทั้งสบู่เหลวและสบู่ก้อน ในประเทศญี่ปุ่นมีการทำสบู่เปลือกมังคุดไปจำหน่ายอย่างกว้างขวาง
    สบู่มังคุดมีสรรพคุณช่วยดับกลิ่นกาย สมานผิว กระชับรูขุมขน
     
    ครีม โลชั่นที่ใช้สปา
    มีการนำเปลือกมังคุดไปผสมในผลิตภัณฑ์สปา เช่น ครีมพอกตัว โลชั่น เกลือขัดผิว
     
    น้ำมังคุดและแคปซูลมังคุด
    ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์จากมังคุดและแคปซูลมังคุดจำหน่ายในตลาดโลก โดยอ้างสรรพคุณดังนี้ คือ ช่วยในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยในการยืดหยุ่นของข้อเข่า ทำให้สมองแจ่มใส  ลดอาการภูมิแพ้ ลดอาการข้ออักเสบ ป้องกันมะเร็ง
    น้ำมังคุด ในรูปแบบของน้ำมังคุด จะบรรจุในขวด ๗๕๐ มิลลิลิตร ซึ่งประกอบด้วย น้ำมังคุดเข้มข้นร้อยละ ๗๕ และน้ำผลไม้อื่นๆ ร้อยละ ๒๕ เช่น บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ องุ่น เชอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ ลูกแพร์และแอปเปิล การที่ต้องผสมผลไม้อื่นๆลงไปด้วย เนื่องจากน้ำมังคุดเข้มข้นนั้นจะมีส่วนของเปลือกและเมล็ดด้วยซึ่งมีปริมาณของแซนโทนสูง แต่ทำให้มีรสขม น้ำผลไม้ที่ใส่ลงไปเพื่อกลบรสและเสริมฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น
    แคปซูลมังคุด ในรูปแบบของแคปซูลมังคุด จะบดผลมังคุดแห้งทั้งผล บรรจุในแคปซูลขนาด ๕๐๐ มิลลิกรัม ดังตัวอย่าง ซึ่งเป็นผลมังคุดจากประเทศไทย
    มังคุด ผลไม้ไทย สมุนไพรสารพัดประโยชน์ที่คนไทยภาคภูมิใจล



    ที่มา http://www.doctor.or.th/node/2172

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×