beatrice
ดู Blog ทั้งหมด

ความรู้เบื้อต้นเกี่ยวกับกฎหมาย

เขียนโดย beatrice




หน่วยที่ 1 พัฒนาการกำเนิดความคิดทางกฎหมาย

1.
การทำความเข้าใจความหมายของกฎหมายต้องทำความเข้าใจในปรัชญากฎหมายในสำนักความคิดต่างๆ และจะทำให้ผู้ศึกษามีทัศนะคติที่กว้างขึ้น
2.
สำนักความคิดต่างๆ หมายถึงแนวคิดหรือทฤษฎีทางกฎหมายที่นักปราชญ์กฎหมายกลุ่มหนึ่งมีความคิดเห็นหรือความเชื่อตรงกัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นต่างยุคต่างสมัยก็ตาม
3.
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกฎหมายมีส่วนสำคัญหลายประการ ทั้งแนวความคิดทางศาสนา จารีตประเพณี ความคิดเห็นของนักปรัชญากฎหมาย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดการเปลี่ยนแปลง การใช้และการพัฒนากฎหมาย

1.1
ประวัติสำนักความคิดต่างๆ ในทางกฎหมาย
1.
แนวความคิดของสำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ ให้ความสำคัญอยู่ที่การใช้เหตุผลของมนุษย์ตามธรรมชาติของมนุษย์ กฎหมายที่แท้จริงคือ เหตุผลที่ถูกต้อง สอดคล้องกับหลักธรรมชาติ ใช้ประโยชน์ให้สอดคล้องกับการใช้อำนาจโดยชอบธรรม เป็นกระแสความคิดหลักในระบอบเสรีประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใช้เหตุผลในการโต้แย้ง การใช้อำนาจรัฐ
2.
แนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง เน้นการมีระบบกฎหมายที่แน่นอน มีระเบียบและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการพัฒนาแนวความคิดทางการเมืองและทฤษฎีกฎหมายที่จะสนับสนุนความชอบธรรมของการใช้อำนาจโดยเด็ดขาดของรัฐ ในการตรากฎหมายต่างๆ ขึ้นใช้บังคับในการปกครองประเทศอย่างไม่มีข้อแม้ใดๆ
3.
แนวความคิดของสำนักความคิดทางกฎหมาย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้ความหมายของกฎหมาย คือปรากฏการณ์ อันหนึ่งซึ่งเป็นผลสะท้อนมาจากการเมือง กล่าวคือ เศรษฐกิจและการเมืองต้องการจะแสดงคำสั่งคำบัญชาอย่างไร สิ่งที่แสดงออกมาคือกฎหมาย
4.
แนวความคิดของสำนักความคิดฝ่ายสังคมวิทยากฎหมายเห็นว่า หากกฎหมายมีสภาพที่ตรงต่อความจริงในสังคม ก็ควรมีการเปลี่ยนหลักแห่งกฎหมายทุกครั้งที่สังคมเปลี่ยนแปลง และหากผู้ใช้กฎหมายเข้าใจในบริบทของสังคม การใช้กฎหมายจะลดความขัดแย้ง รวมทั้งทำให้มีการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้น

1.1.1
ความหมายและความสำคัญของสำนักความคิดในทางกฎหมาย
การศึกษาและจำแนกความคิดในสำนักความคิดทางกฎหมายเป็นไปเพื่อประโยชน์ใด
สำนักความคิดทางกฎหมายสำนักต่างๆ เป็นพยายามสกัดเอาอุดมคติหรือคุณค่าที่แท้จริงหรือแก่นสารของกฎหมาย เพื่อพยายามหาคำตอบว่าด้วยความมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือบทบาทและหน้าที่ของกฎหมาย เพื่อหาหลักการพื้นฐานของกฎหมาย โดยวิธีการแสวงหาคำตอบที่แตกต่างกัน กลุ่มที่มีความคิดอย่างเดียวกันถึงแม้จะเกิดขึ้นก่อนหรือภายหลัง แต่หากมีความคิดเห็นที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน หรือเพื่อให้ทราบถึงแนวความคิดที่ส่งผล หรือมีอิทธิพลต่อระบบกฎหมายหรือหลักกฎหมายที่ใช้อยู่ในแต่ละยุคสมัย

1.1.2
สำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ (School of Natural Law)
แนวความคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
สำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติ เน้นการใช้เหตุผลตามธรรมชาติเป็นหลักการพื้นฐานในการต่อสู้และปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์สามารถใช้ประโยชน์ ให้สอดคล้องกับการใช้อำนาจโดยชอบธรรมในระบบเสรีประชาธิปไตยที่มุ่งเน้นในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการใช้เหตุผลในการโต้แย้งการใช้อำนาจของรัฐ

1.1.3
สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง (School of Positive Law)
ประเทศไทยรับแนวความคิดสำหรับนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองได้อย่างไร และส่งผลต่อแนวความคิดของนักกฎหมายไทยอย่างไร
การส่งนักเรียนไทยไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษในขณะที่คำสอนของออสติน ได้เป็นที่ยอมรับอย่างมากในวงการกฎหมายอังกฤษ ทำให้มีการนำสอนในประเทศไทย และส่งผลให้แนวความคิดดังกล่าวเป็นที่ยอมรับในระบบความคิดของนักกฎหมายไทยมาเป็นเวลานาน พิจารณาได้จากการบรรยายความหมายของกฎหมายทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นักกฎหมายไทยหมกมุ่นกับการเล่นในตัวอักษรมากกว่าคุณค่าที่แท้จริงของกฎหมาย

1.1.4
สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายคอมมิวนิสต์ (School of Communist Jurisprudence)
สำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายคอมมิวนิสต์เห็นว่ากฎหมายมีลักษณะและบทบาทอย่างไร
กฎหมายเป็นปรากฏการณ์” (Phenomenon) และไม่ยอมรับว่ากฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมปรัชญากฎหมายของฝ่ายคอมมิวนิสต์ คือความไม่เชื่อในกฎหมาย ไม่เชื่อในกฎแห่งธรรมชาติ หรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง และแม้ภายในขอบเขตของกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเอง ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็ไม่เชื่อว่าสูงสุด หรือเป็นสิ่งสมบูรณ์ (The Absoluteness) สำหรับบทบาทของกฎหมายมีข้อสรุปหลายประการคือ
1.
กฎหมายเป็นผลผลิต หรือผลสะท้อนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ
2.
กฎหมายเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือหรืออาวุธที่ชนชั้นปกครองสร้างขึ้น เพื่อปกป้องอำนาจของตน
3.
ในสังคมคอมมิวนิสต์ที่สมบูรณ์ กฎหมายในฐานะที่เป็นเครื่องมือของการควบคุมสังคมจะเหือดหายและสูญสิ้นไป

1.1.5
สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายสังคมวิทยา (School of Sociological Jurisprudence)
การศึกษาของสำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายสังคมวิทยา กฎหมายมีประโยชน์อย่างไร
การศึกษาในทางสังคมวิทยาจะช่วยอธิบายเหตุผล ของกฎเกณฑ์และเหตุผลของพฤติกรรมของคนในกลุ่มผลประโยชน์และบริบทของสังคมเพื่อใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับจารีตประเพณี และวิถีชีวิตของคนส่วนใหญ่เป็นการลดความขัดแย้งระหว่างกฎหมายกับความประพฤติของบุคคล เป็นเครื่องช่วยให้การใช้กฎหมายเป็นธรรมขึ้น รวมทั้งช่วยการพัฒนากฎหมายให้ดีขึ้น โดยฝ่ายนิติบัญญัติ

1.1.6
สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายสัจจนิยม (School of Realist Jurisprudence)
สำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายสัจจนิยม มองกฎหมายอย่างไร
สำนักความคิดทางกฎหมายฝ่ายสัจจนิยม สนใจในความเป็นจริง เพราะประเด็นข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใช้กฎหมายก่อให้เกิดประสบการณ์ที่สั่งสมกัน ทำให้บุคคลผู้เกี่ยวข้องเกิดความสงสัยหรือคับข้องใจกับการหาเหตุผลของกฎหมาย จึงเกิดแนวความคิดที่พยายามอธิบายหรือหาคำตอบที่มุ่งแยกแยะหาเหตุผลต่างๆ ว่าเหตุใดกฎหมายจึงบัญญัติเช่นนั้น หรือทำไมศาลจึงตัดสินเช่นนั้น โดยมีการนำวิธีการในวิชาอื่นๆ มาใช้อธิบายเรื่องต่างๆ ในทางกฎหมายด้วย

1.1.7
สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายประวัติศาสตร์ (School of Historical Jurisprudence)
ซาวินยีมีความคิดเกี่ยวกับกฎหมายอย่างไร
ซาวินยีเห็นว่ากฎหมายมิได้เป็นเรื่องของเหตุผล แต่เพียงอย่างเดียว แต่เจือไปด้วยวัฒนธรรม และความรู้สึกร่วมกันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาตินั้นๆ ตามอารมณ์ ความรู้สึกทางจิตใจของแต่ละชนชาติมีความแตกต่างกัน อารมณ์ ความรู้สึกที่ว่านี้คือจิตวิญญาณประชาชาติ” (Volksgeits หรือ The spirit of the people) และแสดงออกให้เห็นได้จากกฎหมายประเพณี (Gewohnheitsercht) และภาษา

1.1.8
แนวโน้มใหม่ๆ ในการพัฒนาความคิดทางกฎหมาย
แนวโน้มของการพัฒนา ความคิดทางกฎหมายในปัจจุบันมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
แนวโน้มในปัจจุบัน คือการนำปรัชญากฎหมายธรรมชาติมาผสมกับปรัชญากฎหมายฝ่ายบ้านเมืองเพื่อหาส่วนที่ละม้ายกันและเป็นประโยชน์ต่อสังคมให้มากที่สุด ปรัชญาใหม่ไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการ บางครั้งเรียกว่า ปรัชญากฎหมายฝ่ายบ้านเมืองแผนใหม่ (The modern positive law)

1.2
ความคิดในเชิงปรัชญากฎหมาย
1.
รัฎฐาธิปัตย์ คือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ แต่ต้องเป็นอำนาจด้วยความเป็นธรรม มิฉะนั้นอาจจะถูกล้มล้างได้
2.
ความยุติธรรม ตามความหมายโดยทั่วไปนั้นหมายถึง ความถูกต้อง ชอบด้วยเหตุผล ความหมายของความยุติธรรมนั้นยากที่จะให้คำนิยาม เพราะขึ้นอยู่กับคตินิยม ปรัชญาของแต่ละคน
3.
ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมาย ทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย และการเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย
4.
กฎหมายเป็นเครื่องกำหนดระเบียบวินัยของสังคม ประชาชนทั้งหลายจึงต้องเคารพนับถือกฎหมาย ผู้บริหารประเทศย่อมไม่มีอำนาจตามอำเภอใจ ต้องเคารพกฎหมายเช่นกัน

1.2.1
รัฎฐาธิปัตย์
หลักนิติรัฐและหลักการแบ่งแยกอำนาจมีผลต่อการจำกัดการใช้อำนาจของรัฎฐาธิปัตย์อย่างไร
หลักนิติรัฐหมายถึงรัฐที่ปกครองตามหลักแห่งเหตุผลเพื่อให้การอาศัยอยู่ร่วมกันของมนุษย์เป็นไปด้วยความสงบสุข หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยเป็นหลักการที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ ประเทศที่ปกครองด้วยหลักการดังกล่าวจะส่งผลให้รัฎฐาธิปัตย์ไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างเต็มที่

1.2.2
ความยุติธรรม
อริสโตเติลได้กล่าวถึงความยุติธรรมอย่างไร
อยุติธรรมย่อมเกิดขึ้นเมื่อความเท่ากันถูกทำให้ไม่ทัดเทียมกัน และเมื่อความไม่เท่ากันถูกทำให้กลายเป็นความทัดเทียมกัน (In-just arises when equals are treated unequally, and also when unequals are treated equally) อริสโตเติลไม่ยอมรับว่าความยุติธรรมเป็นคุณธรรมดังที่เปลโตเข้าใจ แต่บอกว่าความยุติธรรมเป็นเรื่องของการจัดระเบียบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม โดยถือหลักว่า สิ่งที่เหมือนกันควรได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน

1.2.3
ดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมาย
การใช้ดุลพินิจของนักกฎหมายจะสอดคล้องกับความยุติธรรมในสังคมคืออะไร
การใช้ดุลพินิจจึงเป็นสิ่งสำคัญสุดยอดข้อหนึ่ง ในการอำนวยความยุติธรรมเมื่อใดที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้ดุลพินิจ นักกฎหมายควรใช้ดุลพินิจไปในทางสอดคล้องต่อมโนธรรม ศีลธรรม และความต้องการของสังคม

1.2.4
การนับถือกฎหมาย
ประเทศที่เป็นนิติรัฐมีลักษณะอย่างไร
ประเทศที่เป็นนิติรัฐนั้นจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.
ในประเทศนั้นกฎหมายจะต้องอยู่เหนือสิ่งใดทั้งหมด การกระทำต่างๆ ในทางปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระทำของตำรวจจะต้องเป็นไปตามกฎหมายและชอบด้วยกฎหมาย หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของราษฎรอยู่ที่กฎหมาย ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐมากล้ำกลายสิทธิและเสรีภาพของราษฎร โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เจ้าพนักงานก็ย่อมมีความผิดอาญา
2.
ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ ขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่ของรัฐย่อมกำหนดไว้แน่นอน เริ่มตั้งแต่การแบ่งแยกอำนาจและมีขอบเขตในการใช้อำนาจทั้งสามนี้ ถัดจากอำนาจรัฐ อำนาจของเจ้าพนักงานที่ลดหลั่นลงมาเป็นอำนาจที่วัดวัดได้ เป็นอำนาจที่มีขอบเขตเช่นเดียวกัน และต้องมีการควบคุมการใช้อำนาจภายในขอบเขตเท่านั้น
3.
ในประเทศที่เป็นนิติรัฐ ผู้พิพากษาต้องมีอิสสระในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยจะต้องมีหลักประกันดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญและเพียงแต่รัฐได้จัดให้มีผู้พิพากษาเป็นอิสสระสำหรับพิจารณาคดีแพ่งและคดีอาญาเท่านั้น

1.3
ปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาความคิดในทางกฎหมาย
1.
ศาสนาเป็นปัจจัยที่ให้ก่อให้เกิดกฎหมาย และมีอิทธิพลต่อการเกิดและการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย
2.
จารีตประเพณี เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดกกหมาย และมีอิทธิพลต่อการใช้กฎหมาย
3.
ความเห็นของนักกฎหมาย เป็นปัจจัยทำให้เกิดกฎหมาย และมีอิทธิพลต่อการใช้กฎหมาย
4.
เหตุการณ์ในสังคม มีส่วนทำให้เกิดกฎหมาย และมีอิทธิพลต่อการใช้กฎหมาย

1.3.1
ศาสนา
กฎหมายตราสามดวงของประเทศไทยมีคติความเชื่อในทางศาสนาอย่างไร
กฎหมายตราสามดวงของประเทศไทยประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ พระธรรมศาสตร์และพระราชศาสตร์ เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาในการก่อกำเนิดขึ้น ผ่านคติความเชื่อในศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ พระธรรมศาสตร์เป็นส่วนที่เน้นอุดมคติในเรื่องความยุติธรรม ส่วนพระราชศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องของบรรดากฎหมาย อรรถคดี พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และพระราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์และยังได้กล่าวถึงลักษณะของการเป็นผู้พิพากษาที่ดีต้องยึดหลักอินทภาษ คือ เวลาพิจารณาคดีจะต้องปราศจากอคติ 4 คือ ฉันทาคติ (รัก) โทษาคติ (หลง) และภะยาคติ (กลัว) ล้วนแล้วมีความสอดคล้องกับความเชื่อในเรื่องสวรรค์และนรกในความเชื่อทางศาสนาทั้งสิ้น

1.3.2
จารีตประเพณี
จารีตประเพณีก่อให้เกิดกฎหมายได้อย่างไร
เมื่อจารีตประเพณีได้รับการยอมรับและยึดถือปฏิบัติ ก็จะมีการนำมาบัญญัติในกฎหมายลายลักษณ์อักษรขึ้น แต่จารีตประเพณีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่สังคมก็ยังยอมรับปฏิบัติกันต่อมา มีผลในการยอมรับปฏิบัติเสมือนเป็นกฎเกณฑ์ตามกฎหมาย

1.3.3
ความเห็นของนักปรัชญาทางกฎหมาย
ความเห็นของนักปราชญ์ทางกฎหมายมีอิทธิพลต่อกฎหมายอย่างไร
ความเห็นของนักปรัชญาทางกฎหมายหรือนักปราชญ์ทางกฎหมาย หรือคำพิพากษาของศาลหรือระบบของกฎหมายอาจเกิดขึ้นจากข้อคิดเห็น ข้อโต้แย้งที่มีต่อตัวบทกฎหมายหรือคำพิพากษาของศาล หรือระบบของกฎหมายได้สร้างบทบาทและเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงการกฎหมาย อาจส่งผลต่อระบบกฎหมายของประเทศ ระบบศาล หรือมีกฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมาย

1.3.4
เหตุการณ์
เหตุการณ์และสภาพปัจจัยแวดล้อมส่งผลกระทบต่อกฎหมายอย่างไร
เหตุการณ์และสภาพปัจจัยแวดล้อมของสังคมหรือของประเทศ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบทกฎหมายหรือมีบทกฎหมายขึ้น หรืออาจส่งผลต่อการใช้ การตีความกฎหมายด้วย ดังเช่นการนำเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในชีวิตประจำวัน การพัฒนาทางเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคมก่อให้เกิดระบบอินเทอร์เนต ส่งผลให้ต้องมีการตรากฎหมายขึ้นรองรับ

แบบประเมินตนเองหน่วยที่ 1

1.
สำนักความคิดทางกฎหมายคือ แนวคิดหรือทฤษฎีทางกฎหมายของนักคิดทั้งหลายซึ่งมีความคิดเห็นตรงกัน แม้ว่าแต่ละคนหรือแนวความคิดแต่ละอย่างเกิดขึ้นต่างสมัยกันก็ตาม
2.
สำนักความคิดกฎหมายธรรมชาติมีแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายคือ กฎหมายต้องสอดคล้องกับธรรมชาติและความมีเหตุผล
3.
การถือว่ากฎหมายที่สมบูรณ์ใช้การได้จริงและเป็นไปตามเจตจำนงของผู้มีอำนาจรัฐเป็นแนวคิดของสำนักความคิดกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง
4.
แนวความคิดว่ากฎหมายคือปรากฏการณ์อันหนึ่งซึ่งเป็นผลสะท้อนทางการเมืองเป็นแนวคิดของสำนักความคิดทางกฎหมาย สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายคอมมิวนิสต์
5.
การมุ่งหาความจริงว่าเพราะเหตุใดกฎหมายจึงบัญญัติเช่นนั้น และทำไมศาลจึงตัดสินคดีเช่นนั้นเป็นแนว ความคิดของ สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายสัจจะนิยม
6.
สำนักความคิดทางกฎหมายใดที่เป็นว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่ค้นพบ ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น มีลักษณะเฉพาะเช่นเดียวกับภาษา เป็นจิตวิญญาณของประชาชาติ สำนักความคิดกฎหมายฝ่ายนิยมประวัติศาสตร์
7.
รัฐาธิปัตย์ มีความหมายถุง ผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ
8.
กฎหมายจะสามารถใช้ให้เกิดความสงบสุขได้เมื่อ ประชาชนและผู้มีอำนาจต่างเคารพนับถือกฎหมาย
9.
ศาสนามีผลต่อกฎหมายคือ (1)เป็นเครื่องกระตุ้นให้คนกระทำในสิ่งที่เหมาะสมหรือมีความประพฤติเหมาะสม (2) ศาสนาเป็นเครื่องควบคุมสังคมเช่นเดียวกับกฎหมาย (3) กฎหมายบางเรื่องมีที่มาจากหลักคำสอนทางศาสนา (4) การนับถือศาสนาส่งผลให้คนปฏิบัติสอดคล้องกับกฎหมาย
10.
จารีตประเพณีมีความสำคัญต่อกฎหมายคือ จารีตประเพณีเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย



หน่วยที่ 2 วิวัฒนาการระบบกฎหมาย

1.
กฎหมายนั้นได้วิวัฒนาการมาจากระเบียบ ความประพฤติ ศีลธรรม จารีตประเพณี ศาสนา แล้วกลายเป็นมีสภาพบังคับได้
2.
ระบบกฎหมายไทยได้วิวัฒนาการมาเป็นขั้นตอนตามสภาพความเป็นเอกราชตลอดมา
3.
ในการพัฒนาระบบกฎหมายไทยให้ถึงเป้าหมายนั้น ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคหลายประการ

2.1
วิวัฒนาการของระบบกฎหมายที่สำคัญของโลก
1.
ในสมัยดั้งเดิมนั้นยังไม่มีภาษาเขียน จึงต้องใช้คำสั่งของหัวหน้า ประเพณี ศีลธรรม ศาสนา และความเป็นธรรมตามความรู้สึกของมนุษย์ ให้มีสภาพบังคับตามนามธรรมเป็นกฎหมายได้
2.
เมื่อมนุษย์รู้จักภาษาเขียน ก็ได้เขียนบันทึกสิ่งที่บังคับตามนามธรรมขึ้นใช้ และต่อมาก็ได้พัฒนาขึ้นให้เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรหรือประมวลกฎหมาย
3.
ในบางประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ยังคงยึดจารีตประเพณีที่ปฏิบัติมาเป็นหลักกฎหมายและอาศัยคำพิพากษาของศาลที่พิพากษาวางหลักใช้เป็นกฎหมายในระบบกฎหมายคอมมอนลอว์
4.
กฎหมายในระบบอื่น เช่น กฎหมายสังคมนิยม กฎหมายอิสลาม ย่อมจัดอยู่ในระบบประมวลกฎหมาย
5.
เมื่อหลักกฎหมายของประเทศต่างๆ คล้ายคลึงกัน ย่อมใช้กฎหมายฉบับเดียวกันได้ นักกฎหมายก็สามารถใช้กฎหมายฉบับเดียวกันได้ทั่วโลก กลายเป็นหลักสากลขึ้น

2.1.1
กฎหมายในสังคมบรรพกาล
คำสั่งหัวหน้าเผ่าเป็นกฎหมายได้อย่างไร
เมื่อมีกรณีพิพาทหรือโต้แย้งเกิดขึ้น ผู้ที่เป็นหัวหน้าเผ่าจะต้องเป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งต้องอาศัยความถูกต้องตามกฎเกณฑ์ การชีขาดดังกล่าวบังคับแก่คู่กรณีได้ โดยจะต้องปฏิบัติตามและเชื่อฟังคำชี้ขาดและกฎเกณฑ์เช่นนั้นจึงเป็นกฎหมาย
จารีตประเพณีเป็นกฎหมายได้อย่างไร
จารีตประเพณีเกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบของมนุษย์ตามความเคยชินที่คนในสังคมนั้นจะกระทำตามคนส่วนใหญ่ เมื่อพฤติกรรมเหล่านั้นได้มีการปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเลื่อยๆ เป็นระยะเวลาอันยาวนานหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ยอมประพฤติหรือปฏิบัติตามก็จะได้รับการตำหนิอย่างรุนแรงจากสังคม ในบางครั้งก็จะมีสภาพเป็นการลงโทษ ในที่สุดก็จะกลายเป็นหลักบังคับใช้กับประชาชนในถิ่นนั้นๆ และเป็นกฎหมายจารีตประเพณีโดยไม่รู้ตัว

2.1.2
วิวัฒนาการของระบบประมวลกฎหมาย
ระบบประมวลกฎหมายนั้นจะมีลักษณะอย่างไร
จะมีลักษณะเป็นรูปร่างของกฎหมาย 3 ประการคือ
1.
เป็นระบบกฎหมายที่มาจากกฎหมายโรมันและใช้กันอยู่ทั่วไปในยุโรป ซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายจารีตประเพณี
2.
เป็นการตั้งหลักเกณฑ์ที่ใช้บังคับถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะแตกต่างไปจากกฎหมายอาญา
3.
เป็นกฎหมายที่มีสภาพบังคับซึ่งตรงข้ามกับกฎหมายพระหรือศาสนจักร

2.1.3
วิวัฒนาการของระบบคอมมอนลอว์
หลักเอ็คควีตี้ (Equity) หมายความว่าอย่างไร
เป็นการตัดสินที่อาศัยหลักมโนธรรม (Conscience) ที่ให้ความเป็นธรรมแก่คู่กรณี โดยคำนึงถึงประโยชน์สุขและความยุติธรรมในสังคมเป็นใหญ่

2.1.4
วิวัฒนาการของระบบกฎหมายอื่นๆ
สตาลินได้เปลี่ยนหลักการใหม่ของกฎหมายสังคมนิยมว่าอย่างไร
สตาลินได้เปลี่ยนหลักการใหม่ของกฎหมายสังคมนิยมว่า ความยุติธรรมมีอยู่เท่าที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นและต้องเป็นกฎหมายที่รัฐบาลชั้นกรรมาชีพซึ่งอยู่ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์กำหนดขึ้นเท่านั้น

2.1.5
แนวโน้มของวิวัฒนาการของระบบกฎหมายในโลกปัจจุบัน
แนวโน้มของการวิวัฒนาการของระบบกฎหมายในโลกปัจจุบันนี้จะเป็นอย่างไร
แนวโน้มในการวิวัฒนาการของระบบกฎหมายในโลกปัจจุบันนี้ จะเป็นการใช้ระบบกฎหมายซีวิลลอว์ทั้งหมด โดยสามารถจะจัดรูปแบบและพัฒนาได้โดยฝ่ายนิติบัญญัติ โดยนักนิติศาสตร์ของประเทศต่างๆก็จะนำความคิดเห็นที่เป็นธรรมซึ่งมีอยู่โดยทั่วไป ไปบัญญัติใช้ในกฎหมายในประเทศของตนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
ขอบคุณมาก ๆ ได้ประโยชน์ดีเลยค่ะ
ชุณหภัทร รัทยาย
มีตัวอย่างข้อสอบไหม ครับ
Praphon navadurong
Praphon navadurong 14 ธ.ค. 58 / 08:13
ดีมากเลยครับ จะอ่านต่อไม่รู้จะทำอย่างไร