ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #175 : กรมหมื่นไกรสรวิชิต ปราชญ์ราชบัณฑิตในรัชกาลที่ 3

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.09K
      1
      14 เม.ย. 53

     เล่าถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๑ กรมหมื่นไกรสรวิชิต (พระองค์เจ้าสุทัศน์) แล้ว แต่ยังมิได้เล่าถึงพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านเลย

    เจ้าพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์คลี่ สุทัศน์) แต่งกายชุดพระยายืนชิงช้า ในรัชกาลที่ ๕

                ในบรรดาเจ้านายที่เป็นกวีนั้น กรมหมื่นไกรสรวิชิต องค์หนึ่ง กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์อีกองค์หนึ่ง ไม่สู้จะมีผู้รู้จักพระองค์ท่านเท่าใดนัก ทั้งๆที่ทรงเป็นกวีอย่างปราชญ์ คือมิใช่แต่งโคลงกลอนเรื่องรักๆใคร่ๆอย่างที่เรียกกันว่าโคลงกลอนสังวาส และเพลงยาวสังวาส และหรือกลอนเรื่องประโลมโลกเท่านั้นหากแต่ทรงนิพนธ์อย่างเป็นตำรา คือโคลงกลอนกลบทและกลอักษรต่างๆ ซึ่งแต่งยากเนื่องจากลักษณะของโคลงหรือกลอนมี ‘กล’ บังคับตายตัว

                กรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์ เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ ๓ ต้นราชสกุล ‘คเนจร ณอยุธยา’ เก็บท่านไว้ก่อน ไว้เล่าโอกาสหน้า

                อันโคลงหรือกลอน กลบท  กลอักษร ต่างๆนั้น บางบทก็มีมาแต่โบราณ แต่บางบทกวีท่านก็แต่งขึ้นใหม่เป็นตำรา

                ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อโปรดฯให้ประชุมนักปราชญ์ ราชบัณฑิตแต่งกลอนกลบทจารึกไว้ที่เสาระเบียงพระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)  ฯกรมหมื่นไกรสรวิชิต เป็นกวีพระองค์หนึ่ง ซึ่งทรงพระนิพนธ์ กลอนกลบทไว้ ๕ แบบด้วยกัน คือ กลบทมังกรคาบแก้ว กลบทพยัคฆ์ข้ามห้วย กลบทพิณประสานสาย กลบทมยุราฟ้อนหาง

                นอกจากกลอนกลบทที่ทรงนิพนธ์เองแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถทางกวีของกรมหมื่นไกรสรวิชิต ในการทรงพระราชนิพนธ์กลอนกลอักษร ๖ บท จารึกที่เสาระเบียงวัดพระเชตุพนฯนั้น จึงโปรดให้กรมหมื่นไกรสรวิชิต ทรงนิพนธ์โคลงบอกกลอักษร (คือ อธิายลักษณะและวิธีแต่ง) เอาไว้ท้ายทุกกลอักษร

                กลอนกลบท คือเล่นบทในวรรคหรือในบาทดังเช่น กลบทบัวบานกลีบขยาย ซึ่งส่วนมากจดจำท่องเล่นกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ (ทรงพระราชนิพนธ์) ที่ขึ้นต้นว่า

                            “เจ้างามพักตร์ผ่องเพียงบุหลันฉาย
    เจ้างามเนตรประหนึ่งนัยนาทราย       เจ้างามขนงก่อคล้ายคันศรทรง
    เจ้างามนาสายลดังกลขอ                เจ้างามศอเสมือนคอสวรรณหงส์
    เจ้างามกรรณกลกลีบบุษบง             เจ้างามวงวิลาสเรียบระเบียบไร
                    ฯลฯ                                       ฯลฯ”

                วรรคสุดท้ายนี้ ขอแจงสักหน่อย งาม ‘วงวิลาส’ คือไว้ผมปีก หรือผมทรงฝักบัวกลางศีรษะ แล้วกันไรเป็นวงรอบทรงผมนั้น

                ส่วนกลอนกลอักษร คือเล่นอักษรนั่นเอง

                กลอนกลอักษร ที่ท่องจำกันมาแพร่หลาย เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๓ เช่นกัน ชื่อ กลอักษรถอยหลังเข้าคลอง (เป็นชื่อเพลงไทยด้วย) ขึ้นต้นว่า

                            “เจ้างามสรรพสารพางค์ดังนางสวรรค์
    โพยมแจ่มจันทร์เปรียบพอเทียบทัน   ทันเทียบพอเปรียบจันทร์แจ่มโพยม
    โฉมชะอ้อนอับสรทรงเสมอสมร        สมรเสมอทรงอัปสรชะอ้อนโฉม
    ฤทัยโทรมโทรมเศร้าประเล้าประโลม ประโลมประเล้าเศร้าโทรมโทรมฤทัย
                            ฯลฯ                               ฯลฯ”

                กลอักษรถอยหลังเข้าคลองนี้ กรมหมื่นไกรสรวิชิต ทรงนิพนธ์โคลงบอกกลอักษรไว้ท้ายบทว่า

                กลสารเสาวเลขนี้              นามสนอง
     ถอยท่อนหลังเข้าคลอง                 เคลือบไคล้
     ใครอ่านเร่งตริตรอง                      ประหยัดเยี่ยง กลนา
     แม้บ่ต้องตามใช้                          เช่นแล้วเสียความฯ

                ในบรรดากลอนกลอักษรพระราชนิพนธ์ทั้ง ๖ บท ที่น่าทึ่งที่สุดคือ กลอักษรลิ้นตะกวด

                ซึ่งกรมหมื่นไกรสรวิชิต ท่านทรงนิพนธ์โคลงบอกกลอักษรลิ้นตะกวดนี้ เอาไว้ว่า

               คันโลงลักษณเช่นชี้           เชิงเชลง นี้นา
    โดยแยบแบบบรรเลง                     เหล่านี้
    ลิ้นตะกวดประกวดเพลง                  ยาวคู่ เคียงแฮ
    อ่านบทบนล่างลี้                           ล่างแล้วเล็งบนฯ

                คือกลอนกลอักษรลิ้นตะกวดนี้ มี ๒ บท เล่นอักษรกลับคำกลางและท้ายวรรค การมี ๒ บทพลิกอักษรกลับไปกลับมา จึงเปรียบกับลิ้นตะกวดที่มี ๒ แฉก

                พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์กลอนกลอักษรได้ทั้งๆที่น่าจะทรงงง พูดอย่างภาษาชาวบ้านต้องว่า ท่านยอดทีเดียว

                ขอยกตอนต้นของลิ้นตะกวดทั้ง ๒ บท หรือ ๒ แฉก คือ

                กลอักษรลิ้นตะกวด (ที่ ๑)

                            “ได้ทราบสารเสนหาน่าเสสรวล
    จะมาเย้ายั่วใจให้เรรวน                   เห็นเล่ห์ล้วนลวงล่อข้อจงใจ
    ซึ่งว่าแสนรัญจวนหวนโหยถวิล         ทั้งโดยดิ้นอกจะหักรักหลงใหล
    มอบชีวังฝังฝากปลงฤทัย                 จงคงให้ความสัตย์จริงสิ่งรักแรง
                ฯลฯ                                           ฯลฯ”

                ทีนี้ กลอักษรลิ้นตะกวด (ที่ ๒)

                (อ่านแล้วย้อนกลับไปอ่านกลฯที่ ๑ เปรียบเทียบทีละวรรค)

                            “ได้ทราบสารเสนหาน่าสรวลเส
    จะมาเย้ายั่วใจให้รวนเร                   เห็นล้วนเล่ห์ลวงล่อข้อใจจง
    ซึ่งว่าแสนรัญจวนหวนถวิลโหย         ทั้งดิ้นโดยอกจะหักรักใหลหลง
    มอบชีวังฝังฝากฤทัยปลง                 จะให้คงความสัตย์จริงสิ่งแรงรัก
                ฯลฯ                                           ฯลฯ”

                เพียงแค่ลอกของท่านมาก็ยังงงๆ

    ขบวนแห่พระยายืนชิงช้า ไปตามถนนบำรุงเมือง

                พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ ที่ว่ากันว่าเปรื่องปราชญ์อีกพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ (พระองค์เจ้าคันธรส)

                เคยเล่าแล้วหรือมิฉะนั้นก็เป็นที่ทราบกันโดยมากแล้วว่า เจ้านายพระองค์นี้ต้องพระราชอาญาในรัชกาลที่ ๒ เพราะทรงทอดบัตรสนเท่ห์ หรือ ทิ้งหนังสือ ว่ากล่าวพาดพิงหยาบช้าต่อแผ่นดิน

                ในรัชกาลที่ ๒ นั้น การแช่งด่าพาดพิงถึงแผ่นดิน เป็นโทษร้ายแรงมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ไม่กริ้วอะไรเหมือนกริ้วเรื่องทอดบัตรสนเท่ห์ว่าร้ายแผ่นดิน ในรัชกาลของพระองค์ พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์หนึ่ง คือ พระองค์เจ้ากระษัตรี (หรือกษัตรีย์) ต้องพระราชอาญาถูกสำเร็จโทษด้วยเรื่องนี้ องค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งก็คือกรมหมื่นศรีสุเรนทร์ เมื่อไต่สวนได้ความแน่ชัดแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ก็โปรดให้คุมขังพระองค์ไว้ ว่าจองจำด้วยเครื่องสังขลิก คือโซ่ตรวนที่ใช้ผ้าขาวหุ้ม อันใช้เฉพาะการพันธนาการเจ้านายที่ต้องโทษ ขั้นรุนแรงทั้งองค์ชายองค์หญิง

                ทว่ายังไม่ทันลงพระราชอาญาอื่นใดอีก กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ก็ประชวรแล้วสิ้นพระชนม์เสียก่อน พระชนม์เพียง ๓๐ พรรษา ไม่ปรากฏว่าทรงมีเชื้อสายสืบราชสกุล

                กรมหมื่นศรีสุเรนทร์ ประสูติ พ.ศ.๒๓๓๐ ปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ สูงพระชันษากว่ากรมหมื่นไกรสรวิชิต ๙ ปี เป็นชั้น ‘อา’ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ รุ่นเดียวกันกับ กรมหมื่นศักดิพลเสพ (พระองค์เจ้าอรุโณทัย) กรมหมื่นเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าอภัยทัต) กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าฉัตร) ซึ่งล้วนแต่ประสูติ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๘-๒๓๓๓         

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×