ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #177 : พระพงษ์นรินทร์

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 722
      4
      14 เม.ย. 53

      เรื่องที่ยืนยันกันชัดเจนนั้นว่า สมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงษ์ ต่อมาคือพระพงษ์นรินทร์ หรือพงศ์นรินทร์ (ในที่นี้จะใช้ว่า ‘พงศ์นรินทร์’ ตามตัวสะกดปัจจุบัน) เป็นพระราชโอรสผู้เดียวที่เข้าไปติดอยู่ในโบสถ์วัดแจ้ง อันเป็นที่คุมขังสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                แม้จะพูดทำนองเปรยกันต่อๆมาในบรรดาญาติวงศ์พงศาว่า ใครบอกว่า พระพุทธยอดฟ้าฯ ท่านฆ่าพระเจ้าตากสิน แต่ไม่เคยมีใครเล่า หรืออ้างออกมาตรงๆว่า พระพงศ์นรินทร์ท่านเป็นคนบอกเล่าถึงการเปลี่ยนตัว หรือการหลบหนีของพระราชบิดาของท่าน

                ซึ่งญาติวงศ์พงศาพากันสันนิษฐานเอาเองว่า อาจเพราะพระพงศ์นรินทร์ยังเด็กอายุเพียง ๑๒ อาจเหน็ดเหนื่อยหลับๆตื่นๆ เมื่อเขานำพระราชบิดาออกไป (ประหาร) อาจหลับอยู่ และเมื่อเชิญเสด็จออกไปนั้นว่าเป็นเวลามืดค่ำ ในโบสถ์คงมองเห็นกันไม่ถนัด หากมีการเปลี่ยนตัว

                หรือสันนิษฐานกันเอาเองอีกประการหนึ่ง ว่า พระพงศ์นรินทร์อาจรู้เรื่อง ทว่าไม่ยอมพูดเรื่องเปลี่ยนตัว คงเล่าให้คุณหญิงเสงี่ยมธิดาคนใหญ่ฟังแต่เพียงคำรับสั่งห้ามเจ้ารามลักษณ์ว่าอย่าทำเลย คือ อย่าต่อสู้เขาเลย แล้วยังทรงสั่งพระพงศ์นรินทร์ว่า หากไม่ตายให้ฝากตัวกับสองคนพี่น้อง (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)

                และที่พระพงศ์นรินทร์ ท่านไม่พูด อาจด้วยท่านเกรงว่าจะเป็นภัยต่อพระราชบิดา หรือมิฉะนั้นก็อาจมีผู้กำชับให้ท่านปฏิญาณเป็นสัจจะให้เก็บไว้เป็นความลับ

                ข้อสันนิษฐานทั้งหมดนี้ เป็นสันนิษฐานประการแรก

                ทีนี้ ชวนให้สันนิษฐานประการที่ ๒ ต่อไปอีก

                คือทำให้เกิดความสงสัยว่า บางที พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ อาจทรงทราบด้วย หรืออาจจะทรงรับทราบเรื่องการสับเปลี่ยนตัว หรืออาจจะทรงเป็น ‘ต้นคิด’ เสียเอง (สำหรับเรื่องนี้คนรุ่นปัจจุบันต่างสันนิษฐานกันมาก)

                ข้อสันนิษฐานประการหลังนี้ สอดคล้องกับการที่ทรงเลี้ยงดูบรรดาพระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ฆ่าแกง แม้สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จะทรงทักท้วงว่า ต่อไปจะได้ยากแก่ลูกหลาน (พระบรมราชวงศ์จักรี) ก็ไม่ทรงยอมอันเป็นเรื่องผิดธรรมดาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์โดยปราบดาภิเษก เปลี่ยนราชวงศ์

                มิหนำซ้ำยังทรงพระเมตตาเลี้ยงดูใกล้ชิด มีความสัมพันธ์สนิทสนมกลมเกลียวประดุจราชวงศ์เดียวกัน หากแต่ต้องถอดอิสริยยศตามธรรมเนียมเท่านั้น

                เป็นไปได้หรือไม่ว่า หากข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัวเป็นความจริงไซร้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระเมตตาเอ็นดู แก่พระโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ก็เพราะทรงรำลึกถึงความเสียสละของสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ

                โดยเฉพาะพระพงศ์นรินทร์ หรือสมเด็จเจ้าฟ้าทัศพงศ์นั้น เป็นที่โปรดปรานเสมือนพระราชโอรส เมื่ออายุถึงคราวอุปสมบท ก็โปรดฯให้อุปสมบท พร้อมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ ทรงผนวช

                พระพงศ์นรินทร์นี้ เมื่อแรกออกนามกันว่าคุณพงศ์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระพงศ์นรินทร์ ตำแหน่งราชนิกุล

                โปรดฯให้รับราชการเป็นหมอหลวง

                ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อได้ข่าวศึกพม่า พ.ศ.๒๓๖๓ ที่โปรดฯให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ร.๓) เสด็จยกทัพไปขัดตาทัพที่เมืองกาญจนบุรีนั้น ทรงปักษ์ใต้พอดีเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เช่นกันล้มป่วยลง  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงโปรดฯให้พระพงศ์นรินทร์ลงไปรักษา และหากพม่ายกทัพเข้ามา ก็ให้เจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นแม่ทัพ พระพงศ์นรินทร์เป็นยกกระบัตรทัพ ยกไปสู้รบพม่า

                แปลว่า ทรงใช้ทั้งพี่ (พระพงศ์นรินทร์) และน้อง (เจ้าพระยานครฯ) ให้ช่วยกันสู้ศึก

                พระพงศ์นรินทร์ และ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ตามความสัมพันธ์ทางสายเลือด นอกจากเป็นโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วยกันแล้ว มารดายังเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือเจ้าจอมมารดาฉิม (กรมหลวงบริจาภักดีศรีสุดารักษ์ มเหสีฝ่ายซ้ายในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) มารดาของพระพงศ์นรินทร์ เป็นพี่สาวคนกลาง ของเจ้าจอมมารดาปราง มารดาของเจ้าพระยานครฯ (น้อย) (เรื่องราวของเจ้าจอมมารดาปราง หรือทูลกระหม่อมหญิงเล็กเมื่อเมืองนครศรีธรรมราช ยังเป็นเมืองเจ้าประเทศราช ขึ้นต่อกรุงธนบุรีนั้น ได้เล่าไปแล้วหลายครั้ง)

                อันพระราชวงศ์กรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯกรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช สมเด็จพระอนุชาธิราช ร่วมพระครรโภทรใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ได้ทรงพระนิพนธ์เอ่ยถึงไว้ในหนังสือราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ ว่า

                “บรรดาพวกพระเจ้ากรุงธนบุรีโดยมากย่อม ฝากใฝ่อยู่ในราชินิกุลรัชกาลที่ ๓”

                ทั้งนี้เพราะพระพี่เลี้ยงและพระนมของพระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีรัชกาลที่ ๔ ล้วนแต่เป็นเชื้อสายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทั้งสิ้น คือ

                คุณหญิงกลิ่น เป็นพระพี่เลี้ยงสมเด็จเจ้าฟ้าจันทรมณฑล กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์ (อ่านว่า จัน-ทอน-มณฑล) เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงวิสุทธิกษัตรีย์สิ้นพระชนม์แล้ว ก็เป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ (สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ในรัชกาลที่ ๗) ต่อมา

                คุณหญิงกลิ่น เป็นธิดาของคุณชายร้าย คุณชายร้ายเป็นบุตรคนใหญ่ของคุณวัน (พระองค์เจ้าอัมพวัน) คุณวันเป็นโอรสที่ ๓ ในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเป็นโอรสท่านแรกที่เกิดแต่พระสนม (เจ้าจอมมารดาทิม ธิดาท้าวทรงกันดาลมอญ)

                คุณชายร้าย มีธิดาคนเดียว คือคุณหญิงกลิ่นดังกล่าว ว่ากันว่า คุณชายร้ายผู้นี้ร้ายสมชื่อ คือเป็นคนติดจะเฮี้ยวๆอะไรทำนองนั้น

                คุณหญิงกลิ่นจึงเป็น ชั้นปนัดดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

                ส่วนพระพงศ์นรินทร์ เป็นโอรสลำดับที่ ๔

                พระพงศ์นรินทร์ มีบุตรชายหญิง ๑๗ คน ล้วนเรียกกันว่า คุณหญิง และคุณชาย

                ธิดาพระพงศ์นรินทร์ ๔ ท่าน เป็นผู้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องใกล้ชิดในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือ

                ธิดาลำดับที่ ๓ คุณหญิงเสงี่ยม สมรสกับพระยาเสน่หามนตรี (น้อยเอียด) บุตรชายเจ้าพระยานครฯ (น้อย) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง ในรัชกาลที่ ๔ ทรงตั้งให้เป็นปลัดเจ้าคุณตำหนักเดิม (เจ้าคุณหญิงนุ่ม ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ) แล้วเป็นพระพี่เลี้ยงพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ต่อมาเมื่อพระยาเสน่หามนตรี สิ้นชีพแล้ว เข้าอยู่ด้วยสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ทูลกระหม่อมแก้ว) จนถึงแก่อนิจกรรม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดปรานมาก ตรัสเรียกว่า ‘คุณหรัดน้อย’ (ที่จริงน่าจะเป็น ‘คุณหลัดน้อย’)

                ธิดาลำดับที่ ๑๑ คุณหญิงพลับ ได้เป็นหม่อมในกรมหมื่นภูมินทรภักดี (พระองค์เจ้าลดาวัลย์) คุณหญิงพลับผู้นี้ มาเป็นผู้ที่โปรดปรานคุ้นเคยในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เนื่องด้วยธิดาของท่าน คือ หม่อมเจ้าหญิงสารภี

                เท้าความว่า แต่เดิมมาทูลกระหม่อมแก้วแต่เมื่อยังเป็นพระองค์เจ้าลม่อม ท่านและกรมหมื่นภูมินทร์ฯ เป็นพี่น้องที่สนิทสนมกันมาก พระองค์เจ้าลม่อมอ่อนพระวัยกว่ากรมหมื่นภูมินทร์ฯ สามปี

    พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ปิยมหาราชปดิวรัดดา และหม่อมเจ้าสารภี (ทรงยืนชะโงกองค์) ในรถยนต์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อพระราชทานพระวิมาดาเธอฯ

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ยังทรงพระเยาว์  อยู่ในพระอุปการะของทูลกระหม่อมแก้ว ท่านจึงทรงพาพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาที่วังกรมหมื่นภูมินทร์ฯ เสมอ จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงผนวชเณร ก็เสด็จมาถวายพระกุศลให้กรมหมื่นภูมินทร์ฯ ในวาระนั้นเอง กรมหมื่นภูมินทร์ฯ ซึ่งทรงชราและประชวรอยู่ ก็ทรงเรียกพระโอรสธิดา หม่อมห้ามข้าคนบริวาร ทั้งหมดเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทั้งหมด แล้วกราบทูลว่า พระองค์ท่านจน ไม่มีเงินทองของสิ่งใดจะถวาย จึงขอถวายโอรสธิดาบริวารข้าคนทั้งหมดแทนตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงถือว่าบรรดาโอรสธิดาทุกองค์ในกรมหมื่นภูมินทร์ฯ เป็นข้าหลวงเดิมในพระองค์

                ต่อมาเมื่อทรงรับ หม่อมเจ้าปิ๋ว (ต่อมา คือพระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์) และเจ้าพี่เจ้าน้องเป็นพระอัครชายาซึ่งทั้งสามพระองค์อยู่ในพระอุปถัมภ์ของทูลกระหม่อมแก้ว ประจวบกับกรมหมื่นภูมินทร์ฯ สิ้นพระชนม์ หม่อมเจ้าหญิงองค์อื่นๆ เจ้าพี่เจ้าน้องจึงตามเข้าไปอยู่ในพระอุปถัมภ์ของทูลกระหม่อมแก้วทุกพระองค์

                สำหรับหม่อมเจ้าหญิงสารภีนั้นเป็นขนิษฐาของพระอัครชายาองค์ใหญ่ และพระอัครชายาองค์กลาง แต่เป็นเชษฐภคินี ของพระอัครชายาองค์เล็ก (ต่อมาคือ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ) ได้ทรงดูแลบรรดาสมเด็จชายและสมเด็จหญิง พระราชโอรสธิดาในพระวิมาดาเธอฯ มาแต่ยังทรงพระเยาว์ ทั้งทรงช่วยพระวิมาดาเธอฯ ซึ่งทรงรับหน้าที่บัญชาการห้องเครื่องต้น สมเด็จชาย สมเด็จหญิง ตรัสเรียกว่า ‘ป้าภี’ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงทรงพลอยรับสั่งเรียกว่า ‘ป้าภี’ ไปด้วย

                เมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ.๒๔๕๐ ระหว่างเสด็จลงเรือมหาจักรี ไปต่อเรือเดินสมุทรที่สิงคโปร์ หม่อมเจ้าหญิงสารภีตามเสด็จ ลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีด้วย เพื่อดูแลพระกระยาหารถวายแทนพระวิมาดาเธอฯ

                ถึงสิงคโปร์ เมื่อกำลังจะเสด็จฯจากไปด้วยเรือซักเซน ทรงมีพระราชหัตถเลขา ถึง สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีว่า

                “ให้ป้าภีมาดูห้องจะได้ไปเล่าให้ฟัง จะพาดูเองก็ไม่ได้ เพราะต้องรับแขกคนพลุกพล่านมาก ให้ดุ๊ก (พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสาตรศุภกิจ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์) พาดู ดุ๊กรายงานว่าไม่เป็นอันดู มัวแต่ร้องไห้ แลจะขอเห็นพ่อจนไปลับอย่างเดียว”

                ครั้นเมื่อคราวเสด็จฯ กลับจากยุโรป จะโปรดฯให้หม่อมเจ้าสารภี ตามเสด็จพระวิมาดาเธอฯ ออกมากับเรือมหาจักรี รับเสด็จที่สิงคโปร์ ทรงทราบว่า หม่อมเจ้าสารภีประชวรก็ทรงพระวิตก ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพว่า

                “แต่มีความวิตกด้วยเรื่องเจ้าสารภีเป็นอันมาก ด้วยแกได้เจ็บมาหลายหนแล้ว เจ็บเป็นโรคภายในเห็นว่าอาการลึกอยู่ ถ้าปล่อยให้หมอไรเตอหลงๆลืมๆอยู่อย่างนี้ เห็นจะเอาชีวิตไม่รอด ซึ่งเธอเอาหมอปัวไปรักษานั้น นับว่าเป็นได้ทำบุญคุณแก่ฉันอย่างยิ่ง นึกวิตกไปว่ากลัวจะออกมารับที่สิงคโปร์ไม่ได้”

                ธิดาพระพงศ์นรินทร์ ลำดับที่ ๑๒ น้องถัดจากคุณหญิงพลับ คือ พระนมจั่น เป็นพระนมพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ลำดับที่ ๑๗ ธิดาคนสุดท้อง คือ พระนมขาว เป็นพระนมสมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (กรมพระจักรพรรดิพงศ์) พระราชโอรสพระองค์กลางในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×