ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #233 : พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์)

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 1.41K
      0
      17 เม.ย. 53

          พระยาเพชรบุรีที่ปรากฏชื่ออยู่ในเรื่อง “บุญบรรพ์” บรรพ ๒ นั้น ท่านชื่อ “สุข” หรือโบราณเรียกว่า “ศุข” ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ท่านได้เป็นเจ้าพระยายมราช

                ในที่นี้ขอใช้อย่างปัจจุบันว่า “สุข”

                ที่ยกขึ้นมาเล่าเพราะท่านเป็นบุตรชายของ พระยากลาโหมราชเสนา (อินทร์ หรือทองอินทร์) โบราณมักเขียนว่า “อิน” หรือ “ทองอิน” ในที่นี้จะวงเล็บชื่อพระยากลาโหมราชเสนาผู้นี้ว่า “ทองอินทร์”

                พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) เป็นโอรสของเจ้าฟ้าจุ้ย พระมหาอุปราชกรุงธนบุรี

                ซึ่งพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) ผู้นี้ ผู้เขียนประวัติเจ้าพระยาในปัจจุบันหลายท่านมักเขียนตามๆกันมาว่า เป็นคนเดียวกันกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ผู้ซึ่งเป็นกบฎพร้อมกับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต โดยเข้าใจจากพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ซึ่งจดเอาไว้ว่า

                “...ตั้งแต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ก็มีความกำเริบจึงไปร่วมคิดกับนายทองอิน กระลาโหม เป็นคนแข็งทัพศึกสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังบวรฯ ก็โปรดปรานไว้พระทัย ตรัสว่าทรงรักเหมือนบุตรบุญธรรม นายทองอินกลาโหม กับพระองค์เจ้าทั้งสองตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลาดพลั้งล้มตายลงก็ฝังเสียข้างในกำแพงวังเป็นหลายคน...ฯลฯ...

                ครั้นมาถึงวันอังคารเดือน ๓ ขึ้น ๕ ค่ำ จับนายทองอินกลาโหมกับพวกได้สิ้น นายทองอินให้การว่า วันถวายพระเพลิง (กรมพระราชวังบวรฯ) จะเป็นวันที่ลงมือทำการประทุษร้าย ได้ความจะแจ้งแล้วก็ให้เอาหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต กับบุตรไปสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์อ้ายทองอินกับพรรคพวกทั้งนั้น ก็ให้เอาไปประหารชีวิตเสีย...”

                ข้อความในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ดังนี้ จึงเข้าใจกันว่า พระยากลาโหมฯ (ทองอินทร์) เป็นคนๆเดียวกับพระยากลาโหมฯ (ทองอิน) ที่ถูกประหารใน พ.ศ.๒๓๔๖ หลังจากสมเด็จพระบวรเจ้ามหาสุรสิงหนาทสวรรคตเพียงไม่กี่เดือน

                เมื่อแรกผู้เล่ายังไม่ได้พิจารณาก็เคยเชื่อตามนั้น

                แต่เมื่อค้นคว้าประกอบกับเหตุผลแล้ว จึงอาจยืนยันได้ว่า พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ที่ถูกประหารไม่ใช่คนเดียวกันกับพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) อย่างแน่นอน

                พระยากลาโหมราชเสนา ตำแหน่งกลาโหมวังหน้านั้น จริงๆแล้วต้องมีถึง ๓ คน ตามลำดับ

                แรกทีเดียวปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ เมื่อเสด็จปราบดาภิเษก ขุนนางวังหน้านั้น สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงแต่งตั้งเอง

                “ตรัสเอา พระไชยบูรณ์ ปลัดเมืองพระพิษณุโลกเป็นพระยากลาโหมราชเสนา

                ...และ...

                ตรัสเอานายทองอิน ข้าหลวงเดิมเมืองพระพิษณุโลก เป็นพระยาเสน่หาภูธร จางวางมหาดเล็ก

                จางวางมหาดเล็ก คือ หัวหน้ามหาดเล็กทั้งหมด ผู้เป็นจางวางมหาดเล็ก มักเป็นผู้ใกล้ชิดโปรดปรานมาแต่เดิม ที่เรียกกันว่า ข้าหลวงเดิม ดังเช่น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงตั้งนายภู่ ข้าหลวงเดิมเป็นพระยาราชมนตรี (ภู่) จางวางมหาดเล็กเป็นต้น

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงฉายพระบรมรูปร่วมด้วย ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ขวาพระองค์) และ พลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (ซ้ายพระองค์) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

                ต่อมาเมื่อพระยากลาโหมราชเสนาคนแรกถึงแก่อนิจกรรม พระยาเสน่หาภูธร (ทองอิน) จึงได้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)

                ส่วนพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) โอรสเจ้าฟ้าจุ้ยนั้น เป็นพระยากลาโหมราชเสนาคนที่ ๓ ของวังหน้าพระองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) อย่างแน่นอน

                ด้วยเหตุผลดังนี้

                ว่าถึงพระชนมายุสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ พระชนมายุเพียง ๓๐ กว่าๆ พระโอรสองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าจุ้ย อายุอย่างมากที่สุดก็เพียง ๑๔-๑๕ ไม่เกินกว่านั้นแน่ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จครองราชย์อยู่ ๑๕ ปี เจ้าฟ้าจุ้ยเมื่อสิ้นพระชนม์ มีโอรสธิดา ๔ ท่าน เจ้าทองอินทร์ เป็นคนสุดท้าย อายุเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ อย่างมากก็เพียง ๑๐ ขวบ

                เด็ก ๑๐ ขวบ จะไปเป็นพระยากลาโหมฯ วังหน้าได้อย่างไร

                จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ท่านต้องเป็นพระยากลาโหมราชเสนาวังหน้าคนที่ ๓ ในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๑ และคงเลยเป็นพระยากลาโหมฯ วังหน้าในรัชกาลที่ ๒ ต่อไป เพราะปรากฏว่า เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนารุรักษ์ วังหน้ารัชกาลที่ ๒ ท่านเสด็จขึ้นเป็นวังหน้า ขุนนางวังหน้ามิได้เปลี่ยนแปลง

                ว่าถึงอายุอานามเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นวังหน้าใน พ.ศ.๒๓๔๙ อายุของนายทองอินทร์ บุตรชายเล็กของเจ้าฟ้าจุ้ย ก็คงจะประมาณ ๓๐ ไม่มากไม่น้อยกว่านั้นเท่าใด สมวัยและวุฒิที่จะทรงแต่งตั้งให้เป็นพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) ของวังหน้า

                ด้วยพระราชโอรสธิดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระมหากรุณาเมตตาแต่งตั้งใช้สอยสนิทสนมในพระบรมราชวงศ์จักรีแทบทุกท่าน ยิ่งพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) เป็นโอรสของเจ้าฟ้าจุ้ย ที่ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จะโปรดฯเลี้ยงดูต่อไป แต่เมื่อมีรับสั่งถามเจ้าฟ้าจุ้ยกราบทูลว่าไม่ขออยู่ ขอตายตามสมเด็จพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ จึงทรงจำพระทัยให้ประหารและคงโปรดน้ำใจของเจ้าฟ้าจุ้ยเป็นเหตุผลที่ทำให้ทรงตั้งบุตรชายกลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) วังหน้าพระองค์ที่ ๒ ในปลายแผ่นดินของพระองค์ (เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๓๕๒ อีกเพียง ๓ ปีต่อมา)

                การที่ทำให้เข้าใจสับสนว่า พระยากลาโหมราชเสนาคนที่ ๒ และคนที่ ๓ เป็นคนเดียวกันก็เพราะราชทินนามในตำแหน่งเหมือนกัน ทั้งชื่อจริงก็ยังซ้ำกันเสียอีก อีกทั้งในหนังสือลำดับสกุลเก่าที่เพิ่งเรียบเรียงขึ้นในรัชกาลที่ ๕ บอกไว้แต่เพียงสั้นๆว่า โอรสธิดาของเจ้าฟ้าจุ้ยมี ๔ ท่าน คนสุดท้องคือคนที่ ๔ เจ้าพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน)

                ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจผิดกันต่อๆมา ดูไม่เป็นการยุติธรรมต่อเชื้อสายวงศ์สกุลของพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์)

                พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์) ไม่มีบุตรหญิงเลย มีแต่บุตรชายล้วนๆ ๕ คน บุตรชายที่ ๑-๔ รับราชการเป็นขุนนางทุกคน คนที่ ๔ คือ เจ้าพระยายมราช (สุข หรือ ศุข) ในรัชกาลที่ ๔ ต้นสกุล “สินสุข”

                คนสุดท้องชื่อนายนุชไม่ได้รับราชการ แต่หลานปู่ของท่านเป็นเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) ในรัชกาลที่ ๗

                ซึ่งเมื่อแรกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯพระราชทานนามสกุลว่า “อินทรโยธิน” ตามชื่อของพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอินทร์)

                แต่ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ทางการให้เลิกบรรดาศักดิ์ขุนนางเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน จึงใช้ราชทินนามของท่านเป็นนามสกุลว่า “พิชเยนทรโยธิน”

                ในรัชกาลที่ ๘ โปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วยท่านหนึ่ง จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ในตำแหน่ง อายุ ๗๑ ปี

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×