ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #28 : พนักงานห้องพระบรรทม

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 2.67K
      3
      5 มิ.ย. 52

     

    พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) ได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสเกาะสิงคโปร์และชวา ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๔๓๙ เมื่อครั้งที่ยังเป็นนายสุจินดา ได้รับใช้สนองพระยุคลบาทใกล้ชิดพระองค์ในตำแหน่งพนักงานห้องพระบรรทม ถวายเครื่องแต่งพระองค์ และรับใช้การเบ็ดเตล็ดในพระองค์ทั่วไป เป็นที่ทรงพระมหากรุณาโปรดปรานอย่างยิ่ง โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมรูป ทรงพระอักษรลายพระราชหัตถ์ใต้พระบรมรูปว่า ให้นายสุจินดา (นพ) เป็นที่ระลึกในการที่ได้รับใช้ ได้ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อไปยาวา ในรัตนโกสินทรศก ๑๑๕ในเวลาที่ยังเสด็จฯอยู่ชวา ทรงมีพระกระแสรับสั่งกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ แต่ครั้งยังเป็นพระเจ้าน้องยา เธอกรมหมื่นฯ ว่า ฉันได้นายสุจินดาเป็นคนใช้เป็นที่เรียบร้อยพอใจมาก เห็นจะไปเที่ยวยุโรปได้แน่

    ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา ก็โปรดฯให้พระยาบุรุษฯ ตามเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก (พ.ศ.๒๔๔๐) ครั้งนี้เลื่อนจากนายสุจินดา เป็นจ่ายวด (นพ)

    ถึง พ.ศ.๒๔๔๔ ตามเสด็จประพาสชวาเป็นครั้งที่ ๒ (ในการเสด็จฯครั้งที่ ๓ ครั้งแรกนั้นเสด็จฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓ พระยาบุรุษฯ เพิ่งจะอายุได้ ๔ ขวบ) ครั้งนี้ พระยาบุรุษฯ เป็นเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี

    พ.ศ.๒๔๕๐ ขณะเป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ โปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จประพาสยุโรป ครั้งที่ ๒

    พระราชธิดา ๔ พระองค์ ทรงฉายพระรูปร่วมกัน เมื่อตามเสด็จประพาสชวา จากซ้าย - สมเด็จหญิงน้อย เสด็จพระองค์สุจิตราฯ สมเด็จหญิงกลาง เสด็จพระองค์อาทรฯ

    ส่วนเจ้าจอมมารดาชุ่ม ผู้เป็นพี่สาว ได้ตามเสด็จประพาสเกาะสิงคโปร์และชวา ในหน้าที่นางสนองพระโอษฐ์ สมเด็จพระอัครราชเทวี พ.ศ.๒๔๓๙ ดังที่เล่าแล้ว

    และได้ตามเสด็จประพาสเกาะชวาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔ ห่างจากครั้งแรก ๕ ปี

    เจ้าจอมมารดาชุ่ม มีพระองค์เจ้าหญิงสองพระองค์ คือพระองค์เจ้าหญิงอาทรทิพยนิภา และพระองค์เจ้าหญิงสุจิตราภรณี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกว่า อาทรและ สุจิตรา

    เมื่อตามเสด็จครั้งแรก พระองค์เจ้าหญิงสองพระองค์ ยังทรงพระเยาว์ พระชันษาเพียง ๗ และ ๖ พรรษาเท่านั้น มิได้เสด็จไปด้วย

    แต่เมื่อเสด็จประพาสชวาครั้งหลัง พ.ศ.๒๔๔๔ พระองค์เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์ได้ตามเสด็จ พร้อมเจ้าจอมมารดาของพระองค์

    เสด็จประพาสชวา พ.ศ.๒๔๔๔ นี้ เป็นขบวนเสด็จ ซึ่งผู้ตามเสด็จต่างพระองค์ และต่างคน เมื่อกลับมาแล้ว พากันเล่าอย่างสนุกและตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ หรือเล่าสู่กันฟังด้วยวาจาต่อกันมาเป็นทอดๆ

    ครั้งนั้น พระมเหสีเทวีพระอัครชายา ตามเสด็จด้วยกันสามพระองค์ คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี และพระอัครชายาเธอ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี กำลังอยู่ในระยะทรงพระประชวร

    เวลานั้น สมเด็จเจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระชันษา ๒๔ พระราชธิดาในพระนางเจ้าฯ พระราชเทวี ตามเสด็จด้วย เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่

    พระองค์เดียวที่ทรงเป็นผู้ใหญ่แล้ว

    เจ้าจอมพระสนมเอก ที่โปรดฯให้ตามเสด็จครั้งนั้น นอกจากเจ้าจอมมารดาชุ่มแล้ว ก็มีเจ้าจอมพระสนมเอกอีกเพียง ๒ ท่าน คือ เจ้าจอมเอี่ยม และเจ้าจอมเอิบ ก๊กออในสกุลบุนนาค เจ้าจอมเอี่ยมนั้นเป็นพนักงานถวายงานนวดซึ่งโปรดปรานว่ามีฝีมือไม่มีผู้เสมอเหมือน ส่วนเจ้าจอมเอิบเป็นพนักงานแต่งพระองค์ และเป็นเจ้าจอมคนโปรดมาแต่แรกเริ่มรับราชการ เป็นที่ทราบกันว่า ขึ้นไม่เคย ตกแต่ทั้งสองท่านไม่มีพระองค์เจ้า

    พระราชโอรสธิดา นอกจากชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเพิ่งจะเสด็จกลับจากยุโรป ๔ พระองค์ และสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ แล้ว

    ก็มีพระราชโอรสธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งโปรดฯ ให้เสด็จพร้อมพระราชชนนี พระชนนี และเจ้าจอมมารดาอีก ๖ พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ (ทูนหม่อมเอียดเล็ก) ๑๑ พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (ทูนหม่อมเอียดน้อย) ๘ พรรษา ทั้งสองพระองค์ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา (สมเด็จหญิงกลาง) ๑๔ พรรษา เจ้าฟ้านิภานภดล (สมเด็จหญิงน้อย ขณะนั้นพระบรมชนกนาถ ตรัสเรียกว่า หญิงเล็กนิภา) ๑๓ พรรษา ทั้งสองพระองค์ในพระอัครชายาเธอ และพระองค์หญิงสองพระองค์ของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระชันษา ๑๒ ๑๑ ตามลำดับ พระราชโอรสธิดาทั้ง ๖ นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสั่งเรียกว่า กรมซน

    สมเด็จหญิงกลาง สมเด็จหญิงน้อย และพระองค์อาทรฯ พระองค์สุจิตราฯ ทรงเป็นพี่น้องที่ทรงสนิทสนมกันอยู่แล้ว เนื่องจากเจ้าจอมมารดาชุ่มเข้ามาอยู่ในตำหนักสมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งต่อมาเท่ากับสังกัดสำนักพระอัครชายาเธอฯ เมื่อตามเสด็จชวา ครั้งหลังนี้ จึงปรากฏว่าเวลาไปไหนมาไหน มักจะโปรดฯให้ตามเสด็จพระอัครชายาเธอฯ ไปในรถคันเดียวกันเสมอๆ

    การตามเสด็จประพาสชวาครั้งนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงฯ ทรงประจักษ์ในพระอัชฌาศัยของสมเด็จหญิงนิภานภดล ทำให้ทรงโปรดปรานยิ่งขึ้นกว่าที่โปรดอยู่แล้ว

    เวลานั้นสมเด็จหญิงน้อย ยังไม่ทรงอยู่ในวัย สาวแต่ก็มิใช่จะทรงพระเยาว์เสียทีเดียว ทรงวางพระองค์อย่างเด็กๆ ตามธรรมดาธรรมชาติ ทรงช่างพูดช่างคุย เล่ากันว่าฉลาดนัก ทรงเข้ากับทุกคนได้ดี ไม่ว่าแขกหรือ ฝรั่ง (ขณะนั้นชวายังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์หรือดัทช์) ซึ่งน่าอัศจรรย์ที่เพิ่งจะเสด็จออกต่างประเทศเป็นครั้งแรก และพระชันษาก็เพิ่งจะ ๑๓ พรรษาเท่านั้นเอง

    พระคุณสมบัตินี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ทรงถวายคำนิยามไว้สั้นๆ ในพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพม่า ว่า น่ารักน่าชม สมกับเป็นเจ้าฟ้า โดยทรงสรรเสริญว่า ทรงพระคุณอย่างเป็นขัติยนารีแท้ทุกสถาน ทรงพิสูจน์ให้ปรากฏแล้ว ทั้งในเวลาที่มีความสุข และในเวลาได้รับความทุกข์ยาก สมควรกับที่ทรงสร้อยพระนามกรมว่า ขัติยนารีเป็นอนุสรณ์อยู่กับพระนามตลอดไป

     ทั้งในเวลาที่มีความสุขคือ เมื่อเสด็จฯอยู่ในยุคสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทรงเป็น ลูกรักของพ่อมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็น ลูกหญิงน้อยในพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้านเมื่อทรงเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ ในรัชกาลที่ ๗ ทรงเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ตลอดระยะเวลาเหล่านี้ ทรงพร้อมด้วยพระเกียรติยศ และ ความสุข มาทรงได้รับความทุกข์อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อผู้เป็นที่รักต้องเสด็จจากไปตามๆ กัน คือ พระเชษฐภคินี สมเด็จเจ้าฟ้ามาลินีนพดารา กรมขุนศรีสัชนาลัยสุรกัญญา สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๖๗ พระชนนี พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๗๓ และพระเชษฐา สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ สิ้นพระชนม์ พ.ศ.๒๔๗๕ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง ๓-๔ เดือน

    จากนั้นก็ทรงเป็นดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ท่านว่า ทรงอยู่ใน เวลาที่ได้รับความทุกข์ยากเรื่อยมานับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงอยู่เสมือนเหลือเพียงพระองค์เดียว บรรดา พี่น้องก็ล้วนแต่อยู่ในฐานะตกต่ำ ต่างองค์ต้องทรงประคองตัวอยู่ เจ้านายผู้ใหญ่ที่จะทรงพึ่งได้ ส่วนมากเสด็จ

    หลบภัยการเมืองไปประทับนอกประเทศ ที่ทรงอยู่ในเมืองไทย ก็ไม่อยู่ในฐานะจะทรงเป็นที่พึ่ง ในที่สุด สมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งทรงเป็น ลูกรักของสมเด็จพระปิยมหาราช ก็ทรงตัดสินพระทัย เสด็จไปประทับ ณ ประเทศชวา ต่างประเทศเดียวที่พระองค์เคยเสด็จฯไปและทรงรู้จัก

    ก่อนสิ้นพระชนม์ เมื่อพระชันษาเพียง ๔๙ นับว่าเป็นเวลาที่ทรงได้รับความทุกข์ยาก ด้วยเหตุอันมิใช่เพราะพระองค์เอง หากแต่เกิดจากอุบัติการณ์อันไม่อาจทรงหลีกเลี่ยงได้ ทว่าก็ทรงรักษาพระเกียรติยศอย่าง ทรงพระคุณของขัติยนารีแท้ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถให้ปรากฏจนบัดนี้

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×