ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    เวียงวัง

    ลำดับตอนที่ #287 : "พระอาการทรงพระประชวร"

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 819
      2
      19 เม.ย. 53

    บัน ทึกของ Sir John Bowring กล่าวถึงเจ้าจอมมารดาคนโปรดในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ คือเจ้าจอมมารดากลีบ และว่ามีลูกเธอถึง ๗ องค์  

            ท่านเซอร์ เข้ามากรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๙๘ ปรากฏในจดหมายเหตุว่า ลูกเธอพระองค์หญิงพระองค์ที่ ๗ ในเจ้าจอมมารดากลีบนั้น ประสูติเมื่อ พ.ศ.๒๓๙๗ ทว่ายังไม่ทันมีพระนามก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน คงจะสิ้นฯในปี พ.ศ.๒๓๙๗ นั้นเอง
            เจ้าจอมมารดากลีบเห็นจะเป็นที่โปรดปรานมากจริงๆ เพราะบนพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ซึ่งในตำนานวังหน้าว่า เป็นตึกอย่างยุโรป และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จฯประทับอยู่อย่างฝรั่ง
            "...มีบ๋อยผู้ชาย...ฯลฯ...แม้เจ้าจอมก็อยู่เฉพาะผู้ที่เป็นราชูปฐาก พระเจ้าลูกเธอและพระสนมกำนัลขึ้นเฝ้าแต่เฉพาะเวลาเสวยเท่านั้น..." (ราชูปฐาก หมายถึง ผู้มีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้เฉพาะพระองค์)
            ซึ่งท่านเซอร์เล่าว่า เห็นแต่เจ้าจอมมารดาผู้เป็นมารดาของพระองค์เปียแอบดูอยู่ข้างพระทวาร
            เจ้าจอมมารดากลีบท่านนี้ ปรากฏในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ว่า ก่อนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯจะสวรรคตมีลูกเธอถึง ๑๒ องค์ แต่ในจดหมายเหตุพระโอรสธิดาในวังหน้า จดไว้เพียง ๙ องค์ รวมที่สิ้นพระชนม์แต่เมื่อทรงพระเยาว์ ฉะนั้นที่ว่า ๑๒ องค์ อาจจะนับรวมถึงที่ประสูติแล้วสิ้นพระชนม์โดยไม่ครบกำหนด จึงไม่ได้ลงในรายละเอียด
            พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ นั้น ปรากฏมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ แล้วว่า ทรงแคล่วคล่องว่องไวเป็น 'นักกีฬา' และเมื่อเสด็จขึ้นเป็นวังหน้า ก็มีพระลักษณะหนุ่มแน่นกว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มาก ทั้งที่พระชนมายุห่างกันเพียง ๓-๔ พรรษา
            สำหรับพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ระหว่างทรงพระผนวชอยู่ ปรากฏในบันทึกของหมอบรัดเลย์ว่า พระอนามัยไม่สู้ดีนัก
           "เจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ) โปรดฯให้ข้าพเจ้าไปเฝ้าฯพระเชษฐาองค์ใหญ่โดยด่วน เรือลำเล็กมาพาข้าพเจ้าไป เจ้าฟ้าเสด็จตามมาในเรือพระที่นั่งอย่างใกล้ชิดที่วัดมีผู้คนมากหน้าหลายตา ส่วนมากมา                                                                                                                          เยี่ยมพระราชาคณะเจ้าฟ้าจุฑามณีและพระอนุชาที่ทรงเป็นแพทย์ (คงจะเป็นพระองค์เจ้านวม คือกรมหลวงวงศาธิราชสนิท-จุลลดาฯ) ประทับรออยู่กับข้าพเจ้าร่วมหนึ่งชั่วโมง องค์ผู้ประชวรจึงเสด็จออกมา และประทับบนพระเก้าอี้ข้างๆข้าพเจ้า พระอนุชาและคนอื่นๆหมอบลงต่อหน้าพระองค์...ฯลฯ...
             ข้าพเจ้าเห็นว่าทรงประชวรหนัก พระองค์ประชวรที่พระกรรณขวา ซึ่งทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมพระพักตร์เป็นอัมพาต ผลก็คือพระพักตร์ด้านขวาหย่อนและพระโอษฐ์ ถูกดึงเบี้ยวไปทางซ้าย เมื่อจะเยื้อนพระโอษฐ์ก็ต้องทรงดึงพระโอษฐ์ด้านขวาไว้ตลอด พระเนตรขวาทรงมีพระโศผะ (บวม) ออกมาเพราะพระโลหิต พระตจะเนตร (หนังตา) หย่อนเล็กน้อย และทรงมีพระยอด (ฝี) ใต้พระกรรณขวาด้วย
             ข้าพเจ้ารับรู้ว่าโรคนี้เรียกว่า 'โรคลม' ว่ากันว่า อาการเริ่มจากเท้าแล้วค่อยๆเคลื่อนตัวขึ้นมาส่วนบนของร่างกาย พระองค์ทรงได้รับการถวายพระโอสถ แบบพื้นบ้านและการใช้ความร้อนภายใน ข้าพเจ้าใช้เวลาหว่านล้อมทั้งคนไข้และหมออยู่นาน ว่าความคิดที่ว่า 'ลม' เป็นต้นเหตุแห่งโรคนั้นเหลวไหล...ฯลฯ...ฯลฯ...อาการก็คือโรคแฮมิเพลเจีย (อัมพาตซีกเดียว) ทางพระเศียรด้านขวา ดังนั้น เมื่อหายประชวรแล้วพระโอษฐ์ที่เอียงไม่เท่ากันก็จะยังคงอยู่ไปตลอดพระชนมายุของพระองค์"
            แม้พระอนามัยจะไม่สู้ดีนัก ทว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ทรงพระลักษณะ 'พิเศษ' หลายประการซึ่งหมอบรัดเลย์บรรยายว่า
            "อากัปกิริยาของพระองค์ว่องไวและประหม่า ความทรงจำของพระองค์แม่นยำ ทรงมีพระราชดำริมากมาย จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าพระมัตถลุงค์ (สมอง) จะเหนือกว่าผู้อื่น...ฯลฯ...ฯลฯ...พระองค์ทรงมีพระทัยกว้าง และตรงไปตรงมาแม้กับข้อผิดพลาดของพระองค์ พระคุณสมบัติอีกประการหนึ่งคือ ความถูกต้องคลองธรรม ซึ่งทำให้พระองค์เสียพระทัย และทรงแลเห็นการกระทำที่ผิดพลาดของพระองค์เองได้ พระองค์ทรงขยันขันแข็งอย่างที่อาจจะไม่มีกษัตริย์สยามพระองค์ใดในอดีตเทียบเท่าได้"
            อย่างไรก็ตาม ระหว่างวังหลวงกับวังหน้าสองพระองค์นี้ ดูเหมือนบรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินทั้งหลาย ส่วนมากแทบไม่มีผู้ใดคาดคิดว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะเสด็จสวรรคตก่อน ด้วยเหตุว่าทรงเป็นพระอนุชาอ่อนพระชนมายุกว่า และทรงหนุ่มแน่นแข็งแรงกว่าดังกล่าว
            ทว่า...การณ์กลับเป็นว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เริ่มทรงพระประชวรว่ากันว่า แรกก็ทรงพระประชวรเล็กน้อยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๔ พระอาการประชวรนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชห
    ตถเลขา พระราชทานไปยังพระองค์เจ้าปัทมราช พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ประสูติแต่เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ธิดาเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ว่าดังนี้
           "วังหน้าเดี๋ยวนี้ท่านประชวรมาแต่เดือนเก้าข้างขึ้น ตั้งแต่วันศุกร์ขึ้นสามค่ำเดือนเก้า ไม่ได้เสด็จออกเลย ไม่ได้เสด็จไปไหนเลย ท่านบอกอาการประชวรพระโรคลม ให้วิงเวียนแลลมจับเนืองๆ แต่คนทั้งปวงว่าท่านประชวรอย่างอื่น ถึงว่าประชวรอยู่นานดังนี้ ก็ไม่มีใครไปเฝ้าเยี่ยมประชวรเลย เพราะรู้ว่าถึงไปก็ไม่ได้เฝ้า การงานอันใดในวังนั้นจะเพททูลก็ไม่ได้หมด ท่านเสด็จอยู่แต่บนเก๋ง (คือชั้นบนของพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์-จุลลดาฯ) ไม่ได้ลงมาข้างล่างเลยสามเดือนเศษมาแล้ว กระหม่อมฉันจะขอไปเยี่ยมก็ให้มาห้ามเสียว่าอย่าให้ไป กลัวคนจะลือว่าประชวรมาก ครั้นมาเมื่อวันเจ้าฟ้าอิศราพงศ์สิ้นชีวิตลง กระหม่อมฉันเห็นว่าการอาบน้ำศพ แลจัดการไว้ศพเป็นหน้าที่ของท่าน แต่เห็นว่าท่านจะไม่เสด็จไปได้ กระหม่อมฉันจึงไปแทน วันนั้นกระหม่อมฉันไปทอดกฐินก่อน แล้วจึงมาแวะจอดเรือที่พระตำหนักน้ำพระบวรราชวัง ท่านทราบเข้าจึงให้หนูตุ้ย ลงมารับกระหม่อมฉัน แล้วว่าให้เชิญกระหม่อมฉันเข้าไปเยี่ยมท่านก่อน ท่านรำลึกถึงนักกระหม่อมฉันก็เข้าไปเยี่ยม เห็นอาการท่านก็คล้ายกับปกติ แข็งแรงดีอยู่ ไม่โทรมซูบผอมดอก เห็นเป็นผิดปกติที่ผิวนั้นซีดมากอยู่เท่านั้น แต่ท่านบอกอาการว่าเป็นลมจับเนืองๆ จะไปข้างไหนก็จะไปได้ แต่กลัวจะไปลมจับล้มลง กลัวคนจะตื่นเอิกเกริกไป วันนั้นหม่อมฉันเห็นเห็นแต่ท่านนัดพิมเสนหลายครั้ง พิมเสนขวดโตตั้งอยู่ที่นั่นทีเดียว ขยี้ใส่ลงไปในน้ำผ้าขาวชุบเช็ดที่สูง (พระเศียรพระนลาต) ก็เนืองๆ"
            พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงพระประชวร พระอาการยืดเยื้อดังนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๔ จนถึง พ.ศ.๒๔๐๘ ระหว่างนี้บางครั้งก็เสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักบ้านสีทาเป็นส่วนมาก จนพระอาการหนักลงจึงเสด็จกลับมากรุงเทพฯ เสด็จสวรรคต พ.ศ.๒๔๐๘ เสด็จบวรราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ อยู่ ๑๕ ปี สวรรคตก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ๓ ปี (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ สวรรคต พ.ศ.๒๔๑๑)
            เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เสด็จสวรรคต มีข้อความจดไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์โดยพิศดารว่า

           "ครั้น ณ วันจันทร์ เดือน ๒ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก (พ.ศ.๒๔๐๘ ก่อนเสด็จสวรรคต ๒๐ วัน-จุลลดาฯ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปเยี่ยมประชวรพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงกราบบังคมทูลว่า ทรงประชวรครั้งนี้มีความสงสัยกลีบทำเสน่ห์ยาแฝด จึงทรงประชวรมากไป ขอรับพระราชทานข้าทูลลอองธุลีพระบาทในพระบรมมหาราชวังเป็นตระลาการชำระให้ได้ความจริง..."

    หมายเหตุท้ายตอน เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ คือ พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพในแผ่นดินที่ ๓ ประสูติแต่พระองค์เจ้าดาราวดี พระราชธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เพราะเป็นเจ้านายวังหน้า การพระศพจึงเป็นหน้าที่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
    หนูตุ้ย คือพระองค์เจ้าหญิงดวงประภา ลูกเธอลำดับที่ ๕ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×