ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #102 : Tokyo Magnitude 8.0 กลไกพัฒนาจิตใจ อย่าฆ่าคนที่ฉันรักน่ะ!?

    • เนื้อหาตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 10.71K
      8
      28 ต.ค. 53

      

    (สปอยเกือบทั้งเรื่อง ใครที่ไม่เคยดูเรื่องนี้ควรรีบไปดูครับ อย่าอ่าน ไม่งั้นไม่สนุกแน่)

     

    “แน่นอนว่าไม่มีใครคนไหนที่อยากให้ ภัยพิบัติเกิดขึ้น แต่กระนั้นหากมันเกิดขึ้นจริงและคุณได้เป็นคนอยู่ในเหตุการณ์เช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น เราสามารถรับมือหายนะที่อยู่ตรงหน้าได้หรือไม่”

     

     Tokyo Magnitude 8.0 006 เป็นการ์ตูนแนวภัยพิบัติ ที่ผมนึกหวั่นๆ ว่ามันจะทำให้ผมสนุกหรือเปล่า? พูดตามตรงเลยผมไม่ค่อยได้ดูแนวจำพวก ภัยพิบัติและหายนะสักเท่าไหร่ จำพวกโลกแตก ดาวเคราะห์ชนโลก ซึนามิ แผ่นดินไหว โลกล่มสลายนี้ผมดูน้อยมากๆ  การ์ตูนยิ่งไม่ต้องพูดถึง ขนาดการ์ตูนเทพคลาสสิกเรื่อง ต้องรอดของ ทาคาโอะ ไซโต ผมยังไม่อ่าน

    เท่าที่ผมคิดแนวจำพวก ภัยพิบัติและหายนะพล็อตส่วนมากมักเกิดในโลกที่ปิดตายจากโลกภายนอก เช่นจำพวก อยู่บนเกาะร้าง(เกิดเหตุภัยพิบัติไกล บ้านตัวเอก ไม่ก็หลุดไปยังโลกอื่น) หรือไม่ก็เกิดในที่แคบๆ(เช่น สถานีรถไฟใต้ดิน ตึก)  ตัวเอกอยู่คนเดียว ไม่ก็พระเอกกับนางเอกรอดและผ่าฟันไปถึงตอนจบ แต่ภัยพิบัตินั้นแทบไม่ได้กับนรกที่รอตัวเอกอยู่ นั่นก็คือ โลกที่ล่มสลายจนบ้านเมืองไร้ซึ่งกฎหมาย จิตใจดำมืดของมนุษย์ทะลุถึงขีดสุด ฆ่าคนอื่นโดยไม่รู้สึกถูกผิดอย่างหน้าตาเฉย และนี้คือหลักการดำเนินเรื่องที่แนวภัยพิบัติเล่นกัน

     แต่แล้ว หลังจากที่ผมดู Tokyo Magnitude 8.0 ตอนที่ 1 ถึง ตอนที่ 5 จบโดยไม่รู้ตัว(ตอนที่ 5 นี้เรียกน้ำตามาก) ผมก็รู้สึกชอบมันมาก เพราะว่าการดำเนินเรื่องนี้เดาทางไม่ได้เลย ว่าจะออกมาในรูปแบบใด อีกทั้งมันได้ฉีกแนวภัยพิบัติที่ผมรู้จักมาโดยสิ้นเชิง

     

     

    Tokyo Magnitude 8.0

    ดราม่า, หายนะภัยพิบัติ

    ดูได้ที่ http://video.mthai.com/player.php?id=18M1248349534M0

     

    Tokyo Magnitude 8.0 เป็นการ์ตูนอนิเมชั่น 11 ตอนจบ ที่ฉายทางช่องทีวีฟูจิ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2009 17 กันยายน ในช่วงตอนเที่ยงคืน กำกับโดย Masaki Tachibana เขียนบทโดย Natsuko Takahashi ผลิตโดยสตูดิโอ Bones และ Kinema Citrus (สตูดิโอ Bones มีผลงานดังๆอย่างเช่น Cowboy Bebop และ Sword of the Stranger) โดยแนวคิดของการ์ตูนเรื่องนี้คือการจำลองเหตุการณ์โตเกียวได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นถึง 0.8 ริคเตอร์ในเมืองหลวงอย่างครั้งใหญ่ในปี 1012(วันที่หลายคนเชื่อว่าโลกจะแตก) และเมื่ออนิเมชั่นญี่ปุ่นออกฉายครั้งแรก(เที่ยงคืน) ผลปรากฏว่าเสียงตอบรับนั้นดีมาก เพราะเรื่องแผ่นดินไหวนั้นเป็นเสมือนสิ่งที่อยู่ในใจของญี่ปุ่นอยู่แล้ว พอเรื่องนี้ออกมาก็ถูกใจพระเดชพระคุณ ส่งผลทำให้การ์ตูนอนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับรางวัล Media Arts Festival ในปี 2009

       

    Tokyo Magnitude 8.0 เป็นเรื่องราวในมุมมองของตัวละครตัวหนึ่งชื่อ โอโนะซาวะ มิไร(Onozawa Mirai) เด็กสาวมัธยมต้น ชั้นม.1 เด็กหญิงธรรมดาที่มักมองโลกในแง่ลบและคิดว่าชีวิตของเธอนั้นมีแต่เรื่องวุ่นวาย ที่กำลังอยู่ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน และได้การบ้านคือ อนาคต 10 ปีข้างหน้าอยากเป็นอะไร แต่เธอไม่สนกับการบ้านนี้เลยเพราะเธอนึกไม่ออกว่าอนาคตของเธอจะเป็นอะไร นิสัยภายนอกมักทำตัวเฉยชากับสิ่งรอบข้าง(ที่ชอบรำคาญและบ่นๆ ในใจกับสิ่งรอบตัวเธอ(ยิ่งกว่าเจ้าเคียวน์ในฮารุฮิอีก)ไม่ว่าจะเป็น บ่นโรงเรียน, บ่นคนรอบข้างที่นิสัยกวนโอ๊ย, บ่นพ่อแม่ที่ชอบดุเธอ, บ่นน้องชายว่าไม่รู้จักโต,บ่นโลกว่าโลกร้อน พูดง่ายๆ เห็นอะไรก็บ่นหมด ดังนั้นเพื่อตัดเรื่องรำคาญเหล่านี้ทำให้เวลาส่วนใหญ่ของมิไรมักอยู่กับการเล่นแชทบนมือถือ(และบันทึกประจำวัน) จนน้องชายล้อเธอว่า ปีศาจมือถือ

    มิไรกำลังอยู่ในวัยต่อด้านครอบครัว ทั้งๆ ที่จริงแล้วมิไรก็เป็นเพียงแค่เด็กน้อยที่ต้องการมีคนเอาใจใส่คนหนึ่ง เธออยู่ในครอบครัวแบบญี่ปุ่นยุคใหม่ คืออยู่ในอพาร์ทเม้น ที่มีสมาชิก 4 คน คือ พ่อ แม่ น้องชาย และก็เธอ ก่อนหน้านั้นเธอเป็นเด็กร่าเริงแจ่มใส แต่เมื่อขึ้นมัธยมพ่อแม่ก็ไม่ได้มีเวลาให้เหมือนเมื่อก่อน เพราะต้องไปทำงานและกลับดึก จนทำให้เธอกลายเป็นเด็กเบื่อโลก เฉยเมย ชอบบ่น อีกทั้งยังต้องเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อดูแลน้องชาวโอโนซาว่า ยูกิ(Yuki Onozawa อายุ 8 ปี)ของเธออีก จนเธอ มักสาปแช่งโลกว่า โลกจงแตกไปซะ!!

     

    แต่หารู้ไม่ว่ามิไรกำลังจะอยู่ในเหตุการณ์โลกแตกจริงๆ เมื่อเธอถูกแม่บังคับให้พาน้องชายของเธอพาไปนิทรรศการหุ่นยนต์ ที่จัดที่ Tokyo’s artificial เกาะโอไดบะ ในวันเสาร์ 23 กรกฎาคม 2012 (ซึ่งพึ่งผ่านวันเกิดแม่ของมิไรไปหนึ่งวัน) ซึ่งแน่นอนว่าการไปครั้งนี้มิไรไม่เต็มใจนัก แถมยังทำหน้าบูดบึ้งใส่น้องชายตลอดทางอีก ทำให้การเดินทางมาเที่ยวคนนี้กร่อยลงทันที

    และแล้วขณะที่ทั้งสองกำลังจะกลับบ้าน น้องชายเกิดปวดห้องน้ำจนขอแยกกับพี่สาวไปเข้าห้องน้ำตามลำพัง มิไรเลยต้องมานั่งข้างนอกคนเดียว พร้อมกับบ่นๆ(ตามประสาของเธอ) โดยเธอบ่นว่า พอกันทีเรื่องวุ่นวายเหล่านี้ โลกนี้มันน่าจะแตกๆ ไปซะได้แล้ว และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อเธอรู้สึกถึงแผ่นดินไหว และแผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ธรรมดา(พิเศษใส่ไข่ด้วย) แผ่นดินไหวนี้รุนแรงที่สุดเท่าที่เธอเคยเห็นมาในชีวิต รุนแรงถึงขั้นทำให้สะพานพังพินาศในพริบตา แผ่นดินแยก ตึกรามบ้านช่องพังทลาย และเมื่อแผ่นดินไหวหยุดลงเธอก็พบว่าเธอยังครบ 32 ไม่บาดเจ็บแต่อย่างใด แต่แล้วปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ตอนนี้คือห้างที่เธอพึ่งออกมามีสภาพยับไม่มีชิ้นดี ที่สำคัญยูกิน้องชายของเธอยังอยู่ในนั้น ไม่รู้เป็นตายร้ายดีอย่างไร แต่เธอจะต้องช่วยเหลือน้องชายให้ได้ มิไรจึงต้องเข้าไปในห้างที่ตอนนี้มันได้กลายเป็นซากปรักหักพังที่เต็มไปด้วยอันตรายพร้อมจะถล่มลงมาทุกเมื่อ


              ระหว่างทางที่มิไรกำลังตามหาน้องชายในห้างอยู่นั้นเธอได้พบกับสาวใหญ่นามคุซาคาเบะ มาริ
    (Kusakabe Mari อายุ 32) พนักงานส่งของเดลิเวอรี่ที่ได้อาสาช่วยเหลือน้องชายของเธอด้วย และนี้คือจุดเริ่มต้นของสามชีวิตที่ต้องผจญกับโลกแห่งภัยพิบัติที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและน้ำตา เหตุการณ์นี้จะจบเช่นไร ก็ติดตามตอนต่อไป!!

     

    รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ปี 2012 นี้ มักนำมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับสื่อต่างเยอะเหลือเกิน สาเหตุก็คือมนุษย์เรานั้นมักหวาดกลัวคำทำนายอนาคตร้ายๆ ที่ไม่แน่ไม่นอน ในสมัยก่อนนั้นมีคนทำนายว่าโลกจะแตกปี 2000 และมีปัญหา Y2K นี้คนตื่นกลัวกันยกใหญ่ แต่พอผ่านปี 2000 ไปแล้ว แทนที่จะไม่มีคำทำนายร้ายๆ แต่กลายเป็นว่าดันมีคนบอกว่าปี 2012 โลกจะแตก โดยให้เหตุผลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น นาซ่าเป็นคนบอกเองว่าโลกเรากำลังถึงคราววิกฤต เช่น คลื่นแม่เหล็กของโลกเปลี่ยนแปลง, น้ำแข็งขั้วโลกจะละลาย ภาวะโลกร้อน โลกจะเปลี่ยนไป ฯลฯ  ตามด้วยการเสริมเรื่องความเชื่อโบราณให้น่าเชื่อถือ เช่น ปฏิทินของชาวมายันมีเพียง 2012 โดยอ้างว่าปฏิทินของชาวมายันนั้นละเอียดแม่นยำที่สุดในประวัติศาสตร์ของโลก และพระคัมภีร์ของศาสนาต่างๆ ระบุอย่างชัดเจน ดังนั้นสื่อต่างๆ จึงทำให้โลก ปี 2012 ให้น่ากลัวเว่อร์ๆ จำพวกคลื่นซึนามิสูงราวกับตึกร้อยชั้น ดาวเคราะห์กำลังพุ่งชนโลกอย่างบ้าคลั่ง แผ่นดินแยกราวกับธรณีพิโรธ ภูเขาไฟพร้อมใจกันปะทุโดยมิได้นัดหมาย ฯลฯ

    แต่การ์ตูน Tokyo Magnitude 8.0 นั้นแตกต่างแนวคิดเว่อร์นี้โดยสิ้นเชิง แม้จะเป็นการ์ตูนเกี่ยวกับแผ่นดินไหว แต่ไม่ใช่แผ่นดินไหวเว่อร์ๆ เหมือนการ์ตูนบางเรื่อง Tokyo Magnitude 8.0 เป็นการ์ตูนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหวเน้นความสมจริงมากที่สุด โดยแรงบันดาลใจการ์ตูนเรื่องนี้มีแนวคิดทฤษฏีที่คาดการณ์ว่ามีโอกาส 70% หรือมากกว่านั้นที่แผ่นดินไหวขนาด 7.0 ริคเตอร์ จะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งทางทีมผู้สร้างก็พยายามต่างๆ ที่จะเนรมิตให้แผ่นดินไหวเรื่องนี้เกิดเสมือนว่ามันเป็นเรื่องจริง ถึงขั้นรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็ก-ใหญ่ เช่น การวิจัยแผ่นดินไหว การทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ภัย ไม่ว่าจะเป็น Japan Ground Self-Defense Force(กองกำลังทหารภาคพื้นดินที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชน) , Japan Coast Guard(ยามชายฝั่งรับผิดชอบป้องกันเส้น-ชายฝั่งของญี่ปุ่น) , Tokyo Fire Department (เจ้าหน้าที่ดับเพลิงโตเกียว) หรือการสัมภาษณ์บุคคลที่ได้รับผลกระทบของแผ่นดินไหว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกมากมายที่ทำการบ้านอย่างละเอียดยิบ เช่น อาฟเตอร์ช็อก(แผ่นดินไหวขนาดกลาง,เล็ก หลังเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งแรก), FNN(เครือข่ายโทรทัศน์ของญี่ปุ่น), ผู้ประกาศข่าว Christel Takigawa(นักประกาศข่าวชื่อดังของญี่ปุ่น)ไปจนถึงการบทบาทของสื่อมวลชนในการทำข่าว  จึงไม่น่าแปลกอย่างไรที่การ์ตูนเรื่องนี้มีความสมจริงเหลือเกิน

      

    สถานที่เกิดเหตุครั้งแรกในการ์ตูนเรื่องนี้ก็เน้นความสมจริง เช่น เกาะโอไดบะ(Odaiba)เวทีเปิดเรื่องของการ์ตูนเรื่องนี้ โดยเกาะโอไดบะเป็นเกาะเทียมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่อยู่ใจกลางเมืองญี่ปุ่น เกิดจากการนำขยะมาทับถมกันโดยฝีมือมนุษย์เพื่อวัตถุประสงค์เพิ่มที่อยู่อาศัยเนื่องจากตอนนั้นญี่ปุ่นเกิดปัญหาการขยายตัวของเมืองในปี 1850 ปัจจุบันที่แห่งนี้กลายเป็นสภาพที่พักผ่อนสำคัญในประเทศญี่ปุ่น และสถานที่เริ่มเรื่องเป็นห้างใกล้สถานีโตเกียว เทเลพ็อต(Tokyo Telerort) ซึ่งสังเกตได้ว่าเกาะนี้ถูกเชื่อมด้วยทางรถไฟ(นอกจากนี้ยังมีทางรถไฟใต้ดินอีก) หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว(ในการ์ตูน) รางรถไฟข้างนอกพังยับทั้งสองด้าน ทำให้เกาะแห่งนี้ตัดขาดโดดเดี่ยวไม่มีทางออกไปไหนมาไหนได้ และจำเป็นต้องใช้เรือขนส่งเพียงอย่างเดียว

     นอกจากนี้การ์ตูนยังใส่ใจรายละเอียดต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลล่าสุดของหุ่นกู้ภัยใหม่ๆ หรือถุงยังชีพต่างๆ ที่เราแทบไม่รู้ว่ามันมีอะไรบ้าง(ผมก็พึ่งรู้ว่ามันมีห้องนำแบบพกพาด้วย)

                   

    จริงอยู่ว่าบ้านเราอาจไม่ค่อยรู้สึกรู้สมอะไรกับแผ่นดินไหวเหมือนญี่ปุ่นสักเท่าไหร่ ที่ญี่ปุ่นก็เช่นกันโดยเฉพาะพวกคนรุ่นใหม่คนญี่ปุ่นสมัยนี้เริ่มไม่ตระหนักภัยอันตรายใกล้ๆ ตัวกันสักเท่าไหร่ แม้ญี่ปุ่นจะผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่และมีคนตายมามากมายก็ตาม ซึ่งส่งผลทำให้ทางการญี่ปุ่นได้จัดวันสำคัญในการรณรงค์เตรียมพร้อมเหตุภัยพิบัติขึ้น มีการฝึกซ้อมวิธีหนีทั้งในโรงเรียนในสำนักงาน มีการเปิดสารคดีการระวังภัยต่างๆ เป็นต้น  เพราะไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จนตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่รับมือการเกิดแผ่นดินไหวที่ดีที่สุดในโลก

                    แต่กระนั้น ดูเหมือนว่าวัยรุ่นญี่ปุ่นสมัยนี้ไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญการป้องกันแผ่นดินไหวขั้นต้นเท่าใดนัก เห็นได้จากสารคดีหนึ่ง ที่นำเสนอคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะวัยรุ่นเริ่มไม่ตะหนักภัยพิบัติเหล่านี้เสียแล้ว พวกเขาเห็นการรณรงค์เหล่านี้เป็นเรื่องตลก จริงจังก็บ้าแล้ว ทำให้เราเห็นภาพเด็กผู้หญิงนักเรียนญี่ปุ่นเดินเหมือนเต่าในเวลาซ้อมหนีภัยอยู่บ่อยครั้ง บางคนเดินไปคุยไป เห็นเป็นเรื่องตลกเป็นต้น ทั้งนี้เพราะคนญี่ปุ่นมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงกระมั้ง ตอนเกิดสึนามิ รัฐบาลก็สร้างเขื่อนให้ ตอนเกิดแผ่นดินไหวก็มีการเตือนล่วงหน้า สถิตเกิดอาชญากรรมก็น้อย ทำให้คนญี่ปุ่นขาดความระมัดระวังตัวไป คิดแล้วมันก็เหมือนสึนามิบ้านเราแหละ ตอนแรกๆ ก็เริ่มมือฝึกซ้อมระวังภัยดี หลังๆ ก็ไม่สนแล้ว ฝึกทำไม บ้าหรือเปล่า แต่พอลองให้เกิดอีกทีสิ มันก็สายไปเสียแล้ว....

    ดังนั้น Tokyo Magnitude 8.0 ก็เลยเป็นการ์ตูนดีๆ ที่เหมาะให้ลูกเล็กเด็กแดงคนญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงอันตรายที่เกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า หากมันเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เราจะทำอย่างไรจะสามารถรับมือได้หรือไม่เมื่อเราต้องสูญเสียทรัพย์สินและบุคคลที่เป็นที่รักจะทำให้เราสามารถทำใจได้ไหม? สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในการ์ตูนครบถ้วน แถมทำให้คนญี่ปุ่นอินกลับมันด้วย อีกทั้งคนไทยดูแล้วก็เรียกน้ำตาเช่นกัน เพราะบ้านเราก็เคยเกิดซึนามิ, น้ำท่วมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้นเราก็น่าจะมีหัวจิตหัวใจเข้าใจหัวอกของคนที่ประสบซะตากรรมกับเหตุการณ์ภัยพิบัติบ้างไม่มากก็ไม่น้อย

    ผมขอย้ำอีกครั้งว่า Tokyo Magnitude 8.0 เป็นการ์ตูนแนวภัยพิบัติที่แตกต่างจากการ์ตูนแนวอื่นๆ ทั้งหมดที่เรารู้จักมาก อย่าคาดหวังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ทำลายโลกจนย่อยยับ อย่าคาดหวังว่าโลกของการ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นโลกมืดอยู่คนต่างสิ้นหวังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและฆ่าฟันกันจนไร้ซึ่งกฎหมาย ไม่มีอาคารพังทลายยับ ไม่มีคนตายเกลื่อนบนพื้น ไม่มีภูเขาไฟระเบิด ไม่มีสึนามิยักษ์ (เห็นได้ชัดเลยว่าหนังฮอลลีวู้ดนี้ได้จำลองเหตุการณ์แผ่นดินไหวออกมาเกินจริงมากเกินไป)แทนที่ทำให้เรารู้สึกเบื่อ แต่มันกลับทำให้เราอยากติดตามอย่างเหลือเชื่อ และขอเตือนอีกครั้งว่านี้คือการ์ตูนภัยพิบัติที่ดีที่สุดที่เว็บต่างประเทศต่างยกย่องว่ามัน ยอดเยี่ยม มีการดำเนินเรื่อง ฉลาดมากในการดึงหัวใจ จับสายตาผู้ชมได้อยู่หมัด โดยไม่ต้องสนคุณภาพของภาพแต่อย่างใด เผลอๆ อาจดีเยี่ยมพอๆ สุสานหิ่งห้อย(Hotaru no Haka)เสียด้วยซ้ำไป ข้อบกพร่องมีอยู่อย่างเดียวคือคำเตือนว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องสมมุติแต่กลายเป็นว่ามันกลับเหมือนจริงจนไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องสมมุติเลย

                    ตอนแรกผมบ่นกับตัวเองเหมือนว่าว่าการ์ตูนเรื่องนี้จะเป็นพวกตัวเอกกับเพื่อนๆ ต้องผจญภัยพิบัติแผ่นดินไหวหรือเปล่า เพราะว่าฉากเปิดเรื่องนั้นอยู่โรงเรียนสตรี แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะอนิเมชั่นนี้ไม่ใช้ขายแนวเพื่อนรัก คู่รัก ไม่มีตัวร้าย ไม่มีตัวโกง หรือไม่มีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติใดๆ ทั้งสิ้น หากแต่เนื้อหาหลักๆ ของการ์ตูนเรื่องนี้การเดินทางและการพัฒนาด้านจิตใจของมิไรที่เต็มไปด้วยข้อคิดดีๆ มากมาย แม้ว่าพล็อตการพัฒนาด้านจิตใจของตัวละครระหว่างเดินทางนั้นจะมีดาษดื่นในการ์ตูนทั่วไป แต่กระนั้น Tokyo Magnitude 8.0 ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเบื่อในการดูการพัฒนาด้านจิตใจชื่อมิไรแต่อย่างใด

              

    “ ฉันเกลียดเมืองนี้ เกลียดบ้าน เกลียดพ่อแม่ เกลียดตอนพ่อแม่ดุฉัน และยิ่งเกลียดมากตอนดุในเวลาพักผ่อน พอกันที ให้มันล่มสลายไปให้หมด..........”

                    มิไรเอ่ยประโยคนี้ในใจ ขณะที่ตนอยู่กลุ่มคนที่ดูสิ้นหวัง สายตาของเธอมองไปยังทิวทัศน์ตอนกลางคืนในช่วงฝนตกหนักโดยมีซากตึกที่พังทลายอยู่ตรงหน้า เสมือนกับโลกนี้กำลังล่มสลาย......

                    จากนั้นฉากการ์ตูนก็กลับไปวันก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ โดยผ่านสายตาของมิไร ที่เราทำให้รู้นิสัยของมิไรว่าเป็นอย่างไร ตอนแรกมิไรเป็นคนขวางโลก ขี้หงุดหงิดและอารมณ์เสียได้ง่าย ชอบมองโลกในแง่ร้าย ไม่ว่าที่โรงเรียนที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร แม้ไม่มีการกลั่นแกล้ง แต่มันทำให้เธอรู้สึกน่าเบื่อ บางทีอาจเบื่อพอๆ กับสุซึมิยะ ฮารุฮิเสียด้วยซ้ำ เบื่อเพื่อนโต๊ะข้างๆ ที่อวดร่ำอวดรวยประมาณว่า วันหยุดนี้ฉันได้ไปฮาวายด้วยล่ะ กิ๊วๆที่บ้านก็รำคาญน้องชายที่ทำตัวเหมือนเด็กไม่รู้จักโต เบื่อแม่ที่ใช้งานน่าเบื่อ(ขี้เกียจนั้นแหละ) เบื่อพ่อที่บ้านที่ดูเหมือนขาดความรับผิดชอบ แถมยังลืมวันเกิดภรรยาตัวเอกอีก อีกทั้งเค้กวันเกิดแม่ที่ซื้อให้ ทำไมมันมาเป็นชิ้นๆ ฟ่ะ เค้กวันเกิดมันต้องกลมๆ สิ แถมอาหารค่ำวันเกิดมื้อหรูก็ไม่มี ต้องกินอาหารอุ่นเองอีก เซ็งเป็ด ซึ่งตอนที่ 1 นี้คือการทำให้เราได้เห็นมิไรเป็นตัวละครที่มีนิสัยเห็นแก่ตัว เป็นคนที่ต้องการสิ่งที่ดีกว่าคนรอบข้างของเธอ ยิ่งในฉากที่เธอไปกับน้องชายในนิทัศการหุ่นยนต์ยิ่งเห็นได้ชัด ว่าเธอเป็นขี้หงุดหงิด ชอบว่าผู้อื่น ทั้งๆ ที่ตนเองก็ทำตัวไม่ดีไม่แพ้กัน

    แต่แล้วเมื่อมิไรได้พบภัยหายนะ เธอก็เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างในช่วงเวลานั้น นิสัยและความรู้สึกของเธอก็เริ่มเปลี่ยนไปที่ละเล็กทีละน้อยในระหว่างที่เธอกับน้องชายและสาวใหญ่กำลังเดินทางกลับบ้าน ที่ระหว่างทางได้พบเห็นเหตุการณ์มากมาย

     

    ตอนที่ 1-2 ยูกิติดอยู่ในห้างและมิไรพยายามช่วยเหลือเขา โดยลืมทัศนคติตอนต้นเรื่องไปเสียสิ้นที่เธอมองน้องชายว่าเจ้าเปี๊ยกที่ไม่รู้จักโต และโลกน่าจะแตกไปซะ แต่การกระทำของเธอทั้งหมดในสองตอนนี้กับทำให้ผู้ชมเห็นว่าเธอมีความรักขั้นพื้นฐานแก่ครอบครัวของเธอ(แม้ว่าบางฉากเธอจะขาดสติก็ตาม)และสังเกตว่าการ์ตูนได้เริ่มมองให้เราเห็นว่าภัยพิบัติไม่ได้ทำให้จิตใจมนุษย์ดำมืดแต่ที่คิดไว้ เมื่อมิไรเข้าในตึกห้างที่เต็มไปด้วยอันตราย เมื่อเข้าไปยังที่ลึกและอันตราย มิไรก็ได้เห็นพื้นที่นี้ยังคนจำนวนมากที่ไม่ได้คิดจะเอาแต่เอาชีวิตรอด หากแต่ยังรวมกลุ่มกันช่วยค้นหาผู้รอดชีวิตคนอื่นอยู่เนื่องๆ  

     

    ตอนที่ 3 มิไรให้เชื่อใจในมนุษย์ เมื่อตอนแรกมองมาไรไม่ถูกชะตามาริ(แม้ว่ามาริจะช่วยเหลือเธอก็ตาม) เชื่อใจไม่ได้ เดี๋ยวเขาก็ทิ้งเรา แต่ยูกิบอกว่าให้มองโลกในแง่ดี และปรากฏว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อมาริไม่ได้จากไปไหนแถมยังช่วยดูแลเด็กสองคนนี้เสมือนลูกของตนไม่ปาน และอาสาจะพาเด็กสองคนกลับไปถึงบ้าน และแล้วก็เดินทางของเด็กสองคนและผู้ใหญ่สองคนก็เริ่มขึ้น ฝ่ายเด็กสองคนต้องการกลับไปหาพ่อแม่ ส่วนฝ่ายผู้ใหญ่ก็อยากกลับบ้านไปดูหน้าแม่และลูกสาว และต่างคนต่างไม่รู้ชะตากรรมของคนในครอบครัวที่ตนจะกลับไปหา อีกทั้งทั้งสองฝ่ายแทบไม่รู้จักกันมาก่อน แต่มาริกลับยินดีช่วยเหลือเด็กสองคนทำหน้าที่เสมือนแม่ ที่คอยเอาใจใส่ ดูแลช่วยเหลือ และไม่แสดงด้านอ่อนแอหรือด้านมืดให้เด็กสองคนเห็น(แม้ว่าเธอเป็นห่วงครอบครัวของเธอแทบใจจะขาด) ทั้งสามคนต่างร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในการเดินทางที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะว่าการจราจรและการสื่อสารนั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง อีกทั้งยังเกิดอาฟเตอร์ช็อคตามมาหลายระลอก นอกจากนี้ยังนำเสนอภาพของเมืองโตเกียวที่แม้ว่าจะเป็นเมืองที่ดีที่สุดในการเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวแต่ก็ยังอยู่ในสภาวะวุ่นวายสับสน ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก หลายคนเสียบ้านและผู้อยู่ต้องนอนในถนน บางคนถึงขั้นสิ้นหวังจนต้องมีคนมาปลอบใจกันยกใหญ่ นี้คือสิ่งที่มิไรเห็น เหมือนสอนว่า ความช่วยเหลือจะมาหาคุณเสมอ ตราบใดที่คุณยังมีความหวัง ไม่ยอมแพ้ แม้ว่าโลกจะพบจุดจบ คุณก็ไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

                   

    ตอนที่ 4 ระหว่างทางมิไรเจอผู้คนมากมาย ทั้งคนไม่ดี(ระดับเห็นแก่ตัวในสังคม) จำพวกแซงคิวเด็กอย่างหน้าตาเฉย ไม่รู้สึกรู้สาเมื่อทำผิด หากเราเป็นมิไรในตอนนั้นก็อยากกระทืบเหมือนกัน

    นอกจากนี้การ์ตูนตอนนี้ยังเน้นการพัฒนาจิตใจการมองโลกในแง่ร้ายของมิไร ที่เธอเชื่อว่าเธอไม่มีที่กลับแล้ว แต่น้องชายของเธอให้ความหวังว่าพ่อแม่ยังรอการกลับมาของพวกเราอยู่ แต่มิไรกลับด่าน้องชาย จนน้องชายงอนแล้วหนีหายไป มิไรจึงจำเป็นต้องออกตามหาพร้อมกับเรียนรู้ถึงความรักและความผูกพันระหว่างพี่น้องที่เธอมองข้าม  ระหว่างทางที่มิไรตามหายูกิ คนที่เดินทางไปท้องถนนต่างถามสารทุกข์สุขดิบว่า ทำไมหนูถึงร้องไห้? เป็นอะไรหรือเปล่า? บาดเจ็บตรงไหนหรือเปล่า? พ่อแม่อยู่ไหน? นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครมากมายที่พยายามสละเวลาส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เดือดร้อนมากมาย การ์ตูนพยายามที่จะทำให้เตือนใจผู้ดูว่า คนญี่ปุ่น(หรือคนแปลกหน้าในสังคม)นั้นไม่ได้ไร้น้ำใจอย่างที่เราคิด แม้จะอยู่ในช่วงภัยพิบัติก็ตาม

                    (น่าสังเกตว่าการ์ตูนเรื่องนี้พยายามเน้นอาสาสมัครและเหล่าคนธรรมดาที่เป็นคนดีที่มิไรพบเจอระหว่างทางมากกว่าจะเน้นเจ้าหน้าที่พวกทหารที่ออกปฏิบัติการ แม้ว่าบุคคลกลุ่มนี้น่าเชื่อถือได้ในภาวะวิกฤตินี้ แต่ปรากฏว่าการ์ตูนนี้ไม่ได้เอ่ยถึงตัวละครที่มีอาชีพเจ้าหน้าที่และทหารเลยสักตอน)

                   

                    ตอนที่ 5 มาถึงตอนนี้ฉากเสี่ยงตายหรือฉากหวาดเสียวเริ่มลดน้อยถอยลง แล้วหันมาเน้นการพัฒนาจิตใจของมิไรและเน้นการพบเจอตัวละครที่นิสัยดีจำนวนมากยิ่งขึ้น มีฉากเรียกน้ำตามากยิ่งขึ้น ตอบย้ำถึงความสมจริงสมจังของอนิเมชั่นนี้อย่างชัดเจนที่สามารถดึงเราเข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ได้เหมือนอย่างเหลือเชื่อ บีบหัวใจเราจนเรากลั้นตาไม่อยู่ เริ่มจากฉากที่มิไรกลายเป็นคนรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เมื่อเธอได้เห็นเพื่อนร่วมห้อง(ที่เธอบ่นเหม็นขี้หน้าตอนแรก)ต้องสูญเสียแม่อันเป็นที่รักไป  ทำให้เธออดรู้สึกสงสารเพื่อนร่วมห้องคนนี้ไม่ได้ทั้งๆ ที่เพื่อนร่วมห้องคนนั้นเธอแค่รู้จักกันผิวเผิน และเมื่อมิไรรู้คนชราที่ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครคอยช่วยเหลือพวกเหลือพวกเธออยู่ เคยผ่านประสบการณ์คนที่เรารักตายเพราะเหตุแผ่นดินไหวมาหมาดๆ มิไรถึงกับร้องไห้สงสารไม่ไหว และเธอถึงกับเอ่ยปากว่าเธออยากช่วยอะไรบางอย่างเพื่อส่วนรวมบ้าง ซึ่งผมดูแล้วรู้สึกชอบฉากนี้จริงๆ ดูแล้วอบอุ่นและปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง

                    ตอนที่ 6 เป็นตอนเดียวที่ดำเนินเรื่องในมุมมองของมาริซึ่งตอนนี้มีจุดประสงค์ต่อเพื่อต่อตอนที่ 8 ที่ทำให้เราได้อินเรื่องยิ่งขึ้นและเข้าใจในตัวของมาริมากยิ่งขึ้น โดยตอนนี้มาริเกิดความเครียดสะสมจนล้มป่วยและมิไรกับยูกิพยายามทำอะไรบางอย่างเพื่อมาริ แสดงให้เห็นว่ามิไรตอนนี้กลายเป็นเด็กสาวธรรมดาและเด็กดีอย่างแท้จริงไม่มีเค้าโครงของเด็กขวางโลกเมื่อตอนต้นเรื่องเลย

    (ตอนนี้เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้เน้นเครียดหนักอย่างเดียว ยังแฝงด้วยความอบอุ่นและมีจุดฮ่าเล็กๆ ด้วย เช่น มีใครสังเกตบ้างว่า มีฉากหนึ่งที่สุนัขคาบมือศพผ่านหน้ามิไร ถ้าเป็นการ์ตูนเรื่องอื่นนี้ตัวละครมักตกใจกริ๊ดร้องไปแล้ว แต่การ์ตูนเรื่องนี้ดันทำฉากนี้เฉยมากๆ แบบว่ามีสุนัขผ่านแวบไปมาแค่นี้เอง)

       

    ตอนที่ 7 เมื่อยูกิได้รู้จักคนแปลกหน้าคือนายแว่นผู้ชื่นชอบหุ่นยนต์และยูกิได้พูดสนิทสนมกับเขา จนมิไรแสดงอารมณ์ออกมาแสดงอารมณ์หึงหวงน้องชายอย่างเห็นชัด แสดงให้เห็นเธอเริ่มเป็นคนที่ให้ความสำคัญแก่ครอบครัวมากขึ้น

    อย่างที่สองเธอได้เรียนรู้เรื่องของนายแว่น ถึงอนาคตที่เธอต้องการจะเป็น เมื่อนายแว่นได้กำหนดจุดมุ่งหมายอนาคตของเขาตั้งแต่สมัยเด็ก ในขณะที่เธอแทบไม่ได้คิดอะไรเลยว่าอนาคตของเธอจะเป็นอะไร

    จากตอนที่ 2-7 จะเห็นได้ว่าการดำเนินเรื่องในการ์ตูนนี้แสดงให้เห็นการพัฒนาด้านจิตใจของมิไรเป็นระยะอย่างช้าๆ และก้าวกระโดด ภายใต้ฉากหายนะแผ่นดินไหวเพียงไม่กี่วัน แต่มันกลับทำให้มิไรพัฒนาด้านจิตใจถึงเพียงนี้ เมื่อเธอได้เรียนรู้โลกทัศน์จริงๆ เต็มสองตาที่เธอไม่เคยเห็นมาก่อน โลกเหล่านี้ไม่ได้เห็นจากหน้าจอมือถือ ไม่ใช้อยู่แต่บ้านแล้วมันจะมาเอง หรือเมื่ออยู่ในสังคมแคบๆ ก็ไม่มีวันได้เห็น

     

    และแล้วก็มาถึงตอนจบ

     

    การ์ตูนเรื่องนี้ได้ดำเนินมาชนิดคนดูต้องอ้าปากค้างในตอนที่ 10  เมื่อมาริพบว่าครอบครัวของเธอมีชีวิตอยู่และทำให้ผู้ชมรู้สึกกลั้นน้ำตาไม่อยู่เป็นที่เรียบร้อย มิไรกับยูกิจึงแอบแยกทางจากมิไรเพื่อติดรถของทหารเพื่อกลับบ้าน และจากนั้นเธอก็ได้ทราบข่าวว่าพ่อแม่ของเธอมีชีวิตอยู่และตอนนี้ทั้งสองกำลังเป็นห่วงเธอและน้องชายเป็นอย่างมาก ระหว่างทางกลับบ้านมิไรพูดคุยกับยูกิน้องชายถึงเรื่องราวการผจญภัยร่วมกันมาและเตรียมจะมอบของวันเกิดให้แก่แม่ จนดูเหมือนว่าการ์ตูนเรื่องนี้กำลังจบแอปปี้

    แต่แล้ว.................

    Tokyo Magnitude 8.0 ได้ทำให้คนญี่ปุ่นช็อกกันทั่วทั้งประเทศ(ปานนั้น) มันได้สร้างปราฏการณ์หักมุมเรียกน้ำตาคนอย่างแท้จริง ชนิดเรียกว่าใครจะอินการ์ตูนเรื่องนี้จนร้องไห้เป็นสายเลือดก็ไม่แปลก เท่าที่ผมรู้บทสรุปสุดท้ายของการ์ตูนเรื่องนี้กลายเป็นบทสนทนาประเด็นร้อยในโลกอินเตอร์เน็ตไปเลยทีเดียวในหัวข้อ

    ทำไมยูกิต้องตายด้วย!!”

    ใช่แล้ว เขากำลังพูดถึงยูกิน้องชายของมิไร ที่เขาตายก่อนหน้าตั้งแต่ตอนที่ 8 ไปแล้ว แต่การ์ตูนได้ดำเนินให้ยูกิเหมือนมีชีวิตอยู่ ซึ่งกว่าที่มิไรจะรู้ตัวว่ายูกิตายนั้นก็ปาไปตอนที่ 10 (พร้อมด้วยรางสังหรณ์เป็นระยะ) โดยสิ่งที่น่าคิดคือยูกิที่มิไรเห็นนั้นคืออะไรกันแน่? ระหว่างวิญญาณของของน้องชายที่ยังคงอาลัยต้องโลกและกังวลเรื่องพี่สาว หรือจะเป็นสิ่งที่มิไรพยายามสร้างมโนภาพหลีกหนีความจริงว่ายูกิยังไม่ตาย เขายังมีชีวิตอยู่ กันแน่?? โดยอาการทางจิตของบุคคลที่รับไม่ได้กับคนรักที่ตายและสร้างภาพว่าพวกเขามีชีวิตอยู่นั้นก็พบมากในอาการทางจิตของผู้ประสบภัยพิบัติที่สูญเสียบุคคลที่รักเหมือนกัน

      

    จากนั้นตอนที่ 11 ในขณะที่มิไรเห็นความสิ้นหวังและความหวังมากมายตลอดกาลเดินทาง และแล้วเธอก็ได้พบความสิ้นหวังที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเอง เมื่อ ยูกิน้องชายของเธอตาย ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนเลยว่าเขาจะตายก่อนหน้านี้นานแล้ว แต่มิไรพยายามคิดว่ายูกิไม่ตายและเขายังอยู่กับเธอมาโดยตลอด(หรือสิ่งที่เธอเห็นคือวิญญาณยูกิจริงๆ)

    ตอนที่ 11  เป็นฉากเรียกน้ำตาล้วนๆ เริ่มตั้งแต่มิไรเดินทางกลับบ้านพร้อมกับยูกิ ที่ยูกิยิ้มแย้มตลอด(ซึ่งเกือบทั้งเรื่อง) จนไม่เชื่อเลยนี้ว่าทำไมเด็กน่ารักอย่างยูกิต้องตาย เพราะทั้งเรื่องยูกิไม่ได้สร้างปัญหาที่น่าปวดหัวแก่มิไรเลย ยูกิเป็นเด็กดี ไม่ได้งอแงอะไรเลย อีกทั้งยังเป็นตัวเชื่อมกาวใจกับมิไรให้แก่คนอื่นอีก แต่ผลสุดท้ายเขาก็ตาย แสดงให้เห็นว่าภัยพิบัติไม่ได้ปราณีแก่ทุกคน ทุกคนมีสิทธิรับเคราะห์หมดไม่ว่าคนดีหรือคนชั่วก็ตาม

    สุดท้ายมิไรก็มาถึงบ้านและเจอครอบครัว ผมมาร้องไห้ในตอนนี้แหละ เพราะเหมือนกับว่ามิไรได้ปลดความทุกข์ ต้องเดินทางด้วยเท้าเดินทางจากระยะไกลแสนไกลเพื่อมาถึง แต่การกลับมาหาครอบครัวครั้งนี้แทนที่จะมีความสุขเต็มร้อย แต่กลายเป็นว่าเป็นความทุกข์เพราะครอบครัวของมิไรได้สูญเสียสิ่งที่ตนรักอย่างไม่มีวันกลับ ซึ่งน่าแปลกมากทั้งที่การ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องสมมุติ ตัวละครในเรื่องไม่มีอยู่จริง แต่กลับทำให้ผมร้องไห้ ซาบซึ้ง ทะลุจุกอก แสดงให้เห็นว่าทีมงานผู้ทำนี้ทำการบ้านได้ดีมาก สามารถถ่ายทอดอารมณ์ดราม่านี้ได้ถึงกึ๋ง เพราะการดำเนินเรื่องที่สื่อตัวละครให้เหมือนมีตัวตนจริงๆ มีอารมณ์ที่หลากหลาย(บวกกับความน่ารักของตัวละคร) โดยไม่จำเป็นต้องมีดนตรีประกอบที่แสนจะอลังการเลย ยิ่งฉากไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิต ฉากระลึกความหลัง ผมก็อดสงสารการจากไปของเด็กน่ารักอย่างยูกิไม่ได้

      

    แต่กระนั้นหากเรามัวแต่อาลัยตายอยากการจากไปของคนที่คุณรักก็ไม่ได้อะไรขึ้น เหมือนกับการ์ตูนเรื่องนี้ที่สื่อว่ามิไรสามารถทำใจความสูญเสียนี้ได้ แม้ช่วงแรกๆ เธออาจดูเศร้าๆ กินข้าวไม่ค่อยอร่อย(ให้ได้เถอะ อะไรจะสมจริงขนาดนี้) แต่มิไรก็สามารถลืมความทุกข์โศกการจากไปของยูกิได้ เธอกลับมาเป็นเด็กหญิงที่สดใสร่าเริงแสนธรรมดา(ยังอุตส่าห์เอาภาพระลึกความหลังของยูกิมากระตุ้นต่อมน้ำตาผมแตกได้อีก)

                    
                   
    ฉากสุดท้ายก่อนจบ โตเกียวก็เริ่มกับคืนสภาพ การฟื้นฟูบ้านเมืองรุดหน้า โรงเรียนเปิดสอนตามปกติ(ให้สังเกตว่าโรงเรียนที่มิไรและยูกิเรียนอยู่บ้านโต๊ะมีแจกันดอกไม้ตั้งไว้) เสียงดนตรีบรรเลงบรรยากาศให้ดูเหงา ๆ และมิไรได้พูดประโยคปิดท้ายว่า

                    “ฉันจะเดินหน้าต่อไป เพราะยูกิกำลังเฝ้าคอยดูฉันอยู่”

                    และฉากเพลงจบก็ปิดอย่างชื่นมื่น เมื่อมีฉากบุคคลทั้งหลายที่มิไรประสบพบเจอระหว่างทาง ที่ทุกคนมีรอยยิ้ม ความหวัง ที่จะสู้ชีวิตต่อไป

    มิไรอาจเป็นหนึ่งในประชากรหลายล้านที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวที่ได้รับความสูญเสียไม่ว่าจะเป้นชีวิตของบุคคลที่รักหรือทรัพย์สินที่มีค่า แต่เหตุการณ์เหล่านี้กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสู้ชีวิตครั้งใหม่ มิไรอาจเปรียบเสมือนคนญี่ปุ่นทั้งหลาย ที่ได้รับประสบการณ์เลวร้ายต่างๆ มากมายในอดีต ไม่ว่าจะเป็น การพ่ายแพ้สงครามโลก แผ่นดินไหว สึนามิ แต่แทนทีเหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้คนญี่ปุ่นบั่นทอน สิ้นหวัง กลับทำให้เป็นเป้าหลอมจิตใจให้เข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ความสำคัญในเรื่องนี้เน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเอกกับคนแปลกหน้าที่ประสบพบเจอ ที่คนแปลกหน้าเหล่านั้น พวกมิไรนั้นแทบไม่รู้จักหน้าค่าตาด้วยซ้ำ หากไม่ใช้เพราะหายนะนี้แล้ว พวกเขาคงไม่ได้เจอะเจอ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรอก บางทีอาจเป็นตลกร้ายที่ว่าหายนะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สังคมสามัคคีมากยิ่งขึ้นก็ได้

     

    หลักการพัฒนาด้านจิตใจและหลักการยูกิตายแล้วนั้น การ์ตูนได้ใช้หลักการเทคนิคและฉากที่มักนำมาใช้ในวรรณกรรมเต็มอัตราศึกอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะหลักการ

    ทั้งหมดมันแค่เป็นเพียงความฝัน(All Just A Dream) ที่ตัวละครในเรื่องตกอยู่ในอาการฝันร้ายที่ไม่สามารถแยกออกว่าอันไหนจริงอันไหนเท็จ เช่นฉาก มาริได้ฝันร้ายเกี่ยวกับครอบครัวโดนขังในบ้านไฟไหม้ในตอนที่ 6 หรือฉากมิไรประสบเหตุการณ์แยกความฝันและความจริงไม่ออกในฉากที่น้องชายรักษาตัวในโรงพยาบาลในตอนที่ 8 จนเกิดตัวตนจินตนาการยูกิออกมาโลดเล่นในสองตอนที่เหลือ

    ปืนเชคอฟ(chekhov's gun) การนำเสนอคือนำสิ่งที่ไม่ชัดเจนมาเปิดฉากแรก ก่อนที่จะมีการดำเนินเรื่องจนกระทั้งทราบความสำคัญของมันในตอนท้ายเรื่อง เช่น การที่มิไรพบมาริในตอนต้นเรื่องที่ดูเหมือนเปิดตัวไม่น่าสนใจนัก ก่อนที่บทบาทจะสำคัญในช่วงตอน 2 (ปืนเชคอฟ มีที่มาจากอันทวน เชคอฟ (29 มกราคม ค.ศ. 1860 - 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1904) เป็นนักเขียนเรื่องสั้นชาวรัสเซีย )

    ความน่ารำคาญของพี่น้อง(Annoying Younger Sibling) พล็อตที่นิยมมาเล่นกันในวรรณกรรม ที่ส่วนใหญ่แล้วตัวละครที่เป็นพี่น้องนั้นมักเป็นเพศต้องข้ามเสมอ พี่ส่วนมากมักใจเย็น ปากร้าย ส่วนตัวละครน้อง ส่วนใหญ่มักเป็นน้องสาว มักขี้แย ร้องไห้ อยากรู้อยากเห็น และชอบทำอะไรที่เสี่ยงต่ออันตราย แต่ดูเหมือนว่า Tokyo Magnitude 8.0 ได้เปลี่ยนตัวละครประเทศพี่น้องตรงกันข้ามสิ้นเชิง คือ ตัวละครพี่เป็นผู้หญิง ส่วนน้องเป็นผู้ชาย พี่สาวมีนิสัยที่เป็นปัญหามากกว่าน้องชายเสียอีก แต่สิ่งที่เหมือนกันคือช่วงต้นเรื่องจะไม่ถูกกัน เนื่องจากปัญหาความแตกต่างของอายุ

    จบแบบหวานอมขมกลืน (Bittersweet Ending) คือการผสมทั้ง Happy ending และ Sad ending เข้าไปพร้อม ๆ กัน โดยฉากจบของการ์ตูนเรื่องนี้คือมิไรได้กลับไปหาครอบครัว แต่ยูกิตาย ทำให้การกลับมาครั้งนี้ไม่ได้ชื่นมื่นนัก ซึ่งจำเป็นต้องรักษาแผลใจอย่างช้าๆ กว่าจะที่จะกลับมาเป็นปกติ

    การเข้ามาของเรื่องอายุ(Coming Of Age Story) เช่นตัวละครอย่างมิไรที่เป็นเด็กแต่ทำตัวเหมือนผู้ใหญ่ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย จนกระทั้งเรื่องดำเนินไป ทำให้ได้พัฒนาจนเหมือนเป็นผู้ใหญ่แท้จริงอย่างช้าๆ

    เฮ้ไอ้หนุ่มคนนั่น(Hey, It's That Guy!) หลักการของตัวประกอบ แต่อยู่ในระดับที่มีจุดเด่นสังเกตได้ง่ายท่ามกลางตัวประกอบมากมายเต็มไปหมด เช่นในการ์ตูนเรื่องนี้มิไรเจอคุณปู่ใจดีท่ามกลางผู้ประสบภัยมากมายในโรงเรียนของมิไร นอกจากนั้นยังถูกนำมาใช้ในการ์ตูนสยองขวัญ เช่น ตัวละครที่เรื่องมาก เห็นแก่ตัว มักตายเร็ว พูดถึงครอบครัว เป็นต้น

    อารมณ์ปลายแส้(Mood Whiplash) วรรณกรรมที่เปิดออกมาอารมณ์หนึ่ง แต่แล้วก็ถูกเปลี่ยนอารมณ์อย่างฉับพลันเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง เช่นแว่วเสียงเรไรจากตอนต้นเรื่องตลกชวนหัวแต่เมื่อถึงกลางเรื่องกลับเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง เป็นต้น

    จับมือฉันสิ(Take My Hand) เป็นฉากที่เกิดขึ้นเมื่อตัวละครตัวใดตัวหนึ่งกำลังตกจากหน้าผาและข้างล่างหน้ามักสูงหรือไม่ก็มีลาวาอยู่ข้างล่าง(มุกประจำ) และในระหว่างตัวละครนี้กำลังจะตกก็มือใครคนหนึ่งพยายามจับมือเขาและรอดพ้นภัยไปได้ และคนที่ช่วยเหลือมักพูดวลีว่า “อย่ายอมแพ้!” และ “ฉันแค่อยากช่วยคุณ!” โดยสองตัวละครส่วนมากมักเป็นพระเอกและนางเอกและฉากนี้มักสร้างความสัมพันธ์แก่ตัวละครทั้งสองนี้ให้รุดหน้าโดยฉากที่ว่าปรากฏในตอนที่ 7 ที่มิไรจับมือนายแว่น และบางทีอนาคตนายแว่นคนนั้นอาจเป็นแฟนของมิไรก็ได้ใครจะไปรู้(ตอนฉากจบเห็นนายแว่นเล่นมือถือ กำลังแชทหาใครเอ่ย?)

    นอกจากจุดสังเกตในฉากหมาคาบศพแล้ว ยังมีจุดสังเกตอื่นๆ อีกเช่น

    โฆษณาแฝง ที่แปลของยูกิมีสติกเกอร์ "Fuji Staff", ในฉากตัวละครดูทีวีทางมือมักมีตัวอักษรคำว่า 8CH หรือช่อง 8 กำกับ ซึ่งเป็นของโทรทัศน์ฟูจินั่นเอง(รวมไปถึงฉากผู้ประกาศข่าวในทีวีมือถือด้วย)

    ชื่อมีความหมาย ชื่อของมิไรแปลว่าอนาคต ส่วนยูกิแปลว่าความกล้า แม้ความกล้าจะหายไป แต่มิไรยังคงมีอนาคตและความหวัง เพราะยูกิยังอยู่ในใจของเธอ

    ฉากในเพลงจบนั้น ใช้หลักการ “พวกเขาอยู่ที่ไหนในเวลานั้น(What Are They Now Epilogue)” ซึ่งส่วนมากมักเป็นฉากจบในการ์ตูนที่มีตัวละครเยอะๆ จำพวกแนวสงครามหรือหายนะ ที่ไม่จำเป็นต้องอธิบายด้วยคำพูด ขอให้มีรูปภาพก็เข้าใจแล้ว( เช่น ฉากจบของกัซเบล หรือเกมไฟนอลแฟนตาซี ฯลฯ)

    ส่วนภาพในอนิเมชั่นใครว่าไม่มีศิลปะ เพราะหากคุณสังเกตดีๆ จะพบว่ามันเต็มไปด้วยศิลปะล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นฉาก  Scenery Gorn หรือทิวทัศน์หายนะ(ชื่อฉากมาจากตัวละครในสตาร์เทค) โดยฉากนี้ส่วนมากเป็นฉากสิ้นโลก ที่ส่วนมากมักเป็นภาพของตึกระฟ้าที่พังยับและมีความเสื่อมโทรมโดยตัวละครในเรื่องต้องยืนอยู่ท่ามกลางฉากเหล่านั้นซึ่งดูยิ่งใหญ่และดูแล้วสิ้นหวังด้วย ซึ่งการ์ตูนอนิเมชั่นนี้มีฉากอย่างว่าแบบเต็มอิ่ม หรือจะเป็นฉากทิศทัศน์ที่ดูยิ่งใหญ่ระหว่างธรรมชาติและผสมเข้ากับสิ่งก่อสร้างของมนุษย์

     

    สรุป Tokyo Magnitude 8.0 เป็นการ์ตูนดีๆ นอกสายที่ควรค่าแต่การดู เนื้อหานั้นมีมากกว่าการเอาตัวรอดหายนะเหมือนการ์ตูนทั่วๆ ไป ใครที่เบื่ออนิเมชั่นจำพวกหุ่นยนต์รบสู้กันแทบระเบิดดวงดาวได้ เบื่อพวกตลกฮาเร็ม การ์ตูนเรื่องนี้น่าดูเป็นอย่างยิ่ง พร้อมกับช่วยสารสัมพันธ์ครอบครัวได้เป็นอย่างดี

    + +
    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×