ตั้งค่าการอ่าน

ค่าเริ่มต้น

  • เลื่อนอัตโนมัติ
    ดูการ์ตูนอย่างแมว ๆ

    ลำดับตอนที่ #180 : ไลน์โนเวลญี่ปุ่นไม่เป็นที่นิยมในแผงหนังสือของไทยจริงหรือ?

    • เนื้อหานิยายตอนนี้เปิดให้อ่าน
    • 6.19K
      4
      15 พ.ค. 55

     

                    ย้อนกลับวันที่ผมไปเชียงใหม่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน (7 มีนาคม 55) ผมไปเชียงใหม่ สถานที่แรกที่ผมไปคือร้านหนังสือครับ ที่จังหวัดที่ผมอยู่ไม่ค่อยมีร้านหนังสืออยู่หรอก ทั้งๆ ที่ผมเป็นคนชอบอ่าน ชอบสะสม แต่หนังสือที่ผมต้องการนี้ไม่ค่อยมีสักเท่าไหร่ เวลาจะซื้อการ์ตูนหรือหนังสือที่ต้องการนี้ผมต้องซื้อทางอินเทอร์เน็ตเอา

                    เป้าหมายผม คือสำหรับดูการ์ตูนอินดี้คนไทยแต่งครับ ไม่ทราบว่ามีใครเคยอ่านหรือเปล่า คือเป็นการ์ตูนแนวๆ ที่ขายโดยไม่สนตลาด ขายความคิดของคนเขียน รูปเล่มแพงมากเพราะว่าเป็นการ์ตูนอย่างดี สวยงาม น่าสะสมครับ ที่อ่านนี้ผมชอบแนวคิดมัน ชอบวิธีการนำเสนอ มุมมองแปลกๆ อ่านแล้วเพลินดีครับ

                    แต่สุดท้ายหนังสือที่ผมซื้อนี้กลับไปนิยายไลท์โนเวลเรื่องหนึ่งเรื่อง “แก๊งกวน ก๊วนกลับบ้าน” (Shinmeikai Road Grass)

                     

    Shinmeikai Road Grass เป็นเรื่องราวของเคดะ โทกาชิหนุ่มธรรมดาที่มีอดีตแสนรันทด (ตรงไหน?) คือมีบ้านอยู่ติดกับโรงเรียนมาตั้งแต่ชั้นประถมยันมัธยมต้น จนเป็นเหตุทำให้เขาไม่เคยมีโอกาสลิ้มรสชาติความสนุกสนานของชีวิตหลังเลิกเรียนเลย ดังนั้นเด็กหนุ่มจึงเลือกเข้าเรียนต่อมัธยมปลายในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลจากบ้าน และวัรนแรกเขาได้แวะไปที่ห้างสรรพสินค้าก่อนกลับบ้าน ที่นั้นเขาก็พบสามสาว สามแบบ สามสไตล์ เมื่อเขาและพวกเธอรู้จักกันก็ได้สนิทกัน และแล้วทุกวันที่กลับบ้านเขาและพวกเธอจะทำกิจกรรมตอนกลับบ้านด้วยกัน เช่น คุยเรื่องเรื่อยเปื่อย, แวะสระว่ายน้ำ ไปจนถึงเล่มเกมกัน ชีวิตหลังเลิกเรียนที่แสนจะซาบซ่า (และฮาเร็ม) ของเคกะกำลังจะเริ่มขึ้น

                    สาเหตุที่ผมซื้อก็เพราะหน้าปกนางเอกที่แสนจะเหมือนโยโซระจากชมรมคนไร้เพื่อนเหลือเกิน พร้อมกับชื่อนิยายชมรมกลับบ้านนี้พลางให้นึกถึงจริงๆ ว่าทั้งสองเรื่องนี้มีส่วนคล้ายกันหรือเปล่า?

                    คำตอบคือไม่เหมือนครับ ไม่ว่าจะเป็นตัวละครหรือเนื้อหา  ตัวละคร ทั้งเล่มมีตัวละครแค่ 4 คน (และอีกคนจะมาเร็วๆ นี้) ประกอบไปด้วย เคดะ พระเอกตามประสาฮาเร็มข้ามไป, จิโตเสะ คิราระน่าจะเป็นภาคโยโซระไม่ซึนเพราะมาคราวนี้กลายเป็นคนดีสุดขั้ว ขี้อาย ขี้กลัว มองโลกแง่ร้าย, ทันกะ มาริโนะหากจะเปรียบเหมือนใครสักคนคงจะเหมือนมิวะจากมนุษย์ต่างดาวคลื่นไฟฟ้าเพียงแต่นิสัยค่อนข้างหล่อตัวเองและพูกเกินจริงเท่านั้น (เอง), ซากิ ฟุระโนะ (ซาคิปโปะ) สาวร่าเริงที่มีนิสัยเหมือนผู้ชาย

    ถ้าถามว่าเรื่องนี้สนุกไหม คำตอบนี้มันเป็นแล้วแต่คนอ่านอ่ะนะ แต่ถ้าความคิดเห็นของผมแบบอวยสุดฤทธิ์สุดเดชล่ะก็ การ์ตูนเรื่องนี้ก็สนุกใช้ได้ แต่ถ้าจะให้มาเทียบชมรมคนไร้เพื่อนยัง (อาจ) สู้ไม่ได้ครับ

    ชมรมคนไร้เพื่อนมีคาแร็คเตอร์ที่มีจุดเด่น นิสัยตัวละครเพี้ยนๆ มีเอกลักษณ์ ตัวละครก็น่ารัก (ไม่งั้นเซนะคงไม่ถูกนำไปวาดการ์ตูนโป๊จนถึงทุกวันนี้หรอก) นอกจากนั้นเนื้อหากิจกรรมชมรมที่แสนอนาถ ผสมกับความซาบซ่าหัวใจของพระเอกที่แสนจะน่าอิจฉา (ปนจากปวดหัว) แต่นิยายแก๊งกวน ก๊วนกลับบ้านนั้นอารมณ์จะเนิ่บๆ ค่อนข้างมาก

    อย่างไรก็ตาม “แก๊งกวน ก๊วนกลับบ้าน” มันเป็นคนละอารมณ์กับ “ชมรมคนไร้เพื่อน” ครับ ฮาเร็มเหมือนกัน แต่แก๊งกวน ฯ นั้นกลับเน้นความอบอุ่น โรแมนติกมากกว่าครับ ใครหวังมุกตลก ฮ่ากระจายนี้ขอให้ทำใจไว้ก่อน แม้ว่าจะมีมุกตลกเหมือนกัน แต่เป็นตามประสาการ์ตูนฮาเร็มเซอร์วิสที่สูตรสำเร็จอยู่แล้ว ดังนั้นใครที่ไม่ชอบฮาเร็มแบบเนิ่บๆ มุกไม่แปลกใหม่ข้ามไปก็ได้ครับ

      

    เอาล่ะที่นี้ก็มาถึงหัวข้อ “ไลท์โนเวลไม่เป็นที่นิยมในแผงหนังสือของไทยจริงหรือ?” สาเหตุที่ผมตั้งหัวข้อกระทู้นี้ก็เนื่องมากจากวันที่ผมไปเชียงใหม่แหละครับ ผมไปร้านหนังสือไปทั่วแหละ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือซีเอ็ดในห้าง หรือร้านการ์ตูน ร้านหนังสือใหญ่ๆ ไปจนกาดสวนแก้ว หรืออื่นๆ อีกมากมาย ผมพบว่าแผงหนังสือนิยายนี้ไลท์โนเวลญี่ปุ่นวางแผงน้อยจริงๆ ตั้งแต่ J-BOOK ของบลิส พับลิชชิ่ง ไม่ทำหนังสือไลท์โนเวลต่อ หนังสือประเภทไลท์โนเวลก็ยิ่งน้อยลงอีก

    ผมเป็นคนหนึ่งครับที่ชอบไลท์โนเวล ชอบมากๆ เลยแหละ (แต่ชอบที่สุดคือไลท์โนเวลแนวฮาเร็ม) หลายปีที่ผ่านมาผมสะสมนิยายไลน์โนเวลของ J-BOOK ไม่ว่าจะเป็น เทพจิ้งจอกจอมยุ่ง(ประจำบ้าน) (Wagaya no Oinari-sama), เนตรเพลิงซานะ (Shana), โทระโดระ (Toradora!), การเดินทางของคิโนะ (the Beautiful World - Kino no Tabi), ขบวนการนักสืบ NEET (Kamisama no Memochou) ฯลฯ  ทำเอาผมเซ็งไปพักใหญ่ ดีที่ใต้ฟ้าจันทร์ครึ่งดวง (Another side of the moon - last quarter) และยมทูตขาว (ไม่นับไลท์โนเวลที่จบลงในหนึ่งเล่ม) จบลงกัน ไม่งั้นได้กระอักเลือดแน่

    แต่อย่างไรก็ตามของ J-BOOK  ส่วนมากผมซื้อมาสะสมนะครับ ไม่ค่อยได้อ่านหรอก ถ้าอ่านจริงๆ จะเป็นไลท์โนเวลของรักพิมพ์มากกว่า (ก็บอกแล้วว่าชอบฮาเร็ม) ดังนั้นข่าวการปิดของ J-BOOK ไม่เกิดผลเสียต่อจิตใจผมเท่าไหร่ แต่เสียดายเงินเสียมากกว่า (ฮ่า)

      

    ไลท์โนเวลคืออะไร? ตอนแรกผมได้ตั้งกระทู้ “ทำไมไลน์โนเวลญี่ปุ่นจึงไม่เป็นที่นิยมในแผงหนังสือของไทยมากนัก?” ในบอร์ดนักเขียนในเว็บเด็กดีนี้แหละเพื่อดูความคิดเห็นของคนอื่น ปรากฏว่ามีหลายคนเข้าใจความหมายของไลน์โนเวลผิดค่อนข้างมาก ไลท์โนเวล (Light Novel) คือนิยายที่มีภาพประกอบในลักษณะอมิเนชั่นหรือการ์ตูนมาใช้เป็นภาพประกอบ โดยเป้าหมายผู้อ่านคือวัยรุ่นหรือเยาวชน(แต่คนเขียนบทความนี้ อายุ 26 แล้วนะ) ซึ่งคำว่าไลท์โนเวลเป็นภาษาอังกฤษที่คนญี่ปุ่นสร้างขึ้นเอง

    เนื้อหาของไลน์โนเวลจุดเด่นของนิยายไลท์โนเวลนั้น คือ เนื้อหาพล็อตเรื่องจะมีส่วนคล้ายการ์ตูนและเกมส์อย่างมาก ส่วนมากเป็นคอมมาดี้สบายๆ ตลก ไม่เครียด และอาจมีกลื่นอายของแฟนตาซีปนอยู่เสมอ  ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ดำเนินเรื่องไว ตัวหนังสือน้อยเนื่องจากใช้ประโยชน์สั้นๆ ทำให้อ่านได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งไม่เน้นบรรยายหรือประโยคยืนยาวจนน่ารำคาญ   ภายในรูปเล่มมีภาพประกอบแบบการ์ตูนแทรกเป็นระยะ ทำให้เรามองเห็นภาพจากการบรรยายได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้ไม่ต้องจินตนาการว่าตัวละครในเรื่องมีหน้าตาอย่างไร อีกทั้งรูปเล่มนิยายเหล่านี้ส่วนมากจะมีขนาดเล็ก พกพาไปไหนก็สะดวก และสิ่งที่ทำให้ไลท์โนเวล์เหมือนการ์ตูนคือ ประโยคสนทนา ประโยคสนทนาในนิยายจะเหมือนช่องพูดบอลลูนในการ์ตูน ดังนั้นนี้คือจุดดีของไลท์โนเวล ซึ่งหากนำมาแต่งเป็นหนังสือการ์ตูน(มังงะ)หรืออมิเนชั่นทำได้ง่าย สามารถเก็บรายละเอียดของฉากในนิยายได้ทั้งหมด

    หากสรุปคร่าวๆ คือไลท์โนเวลจะต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ 1. รูปเล่มหนังสือต้องเล็กกะทักรัดพกไปไหนสะดวก, 2. มีรูปประกอบในเรื่อง และ 3. ดำเนินเรื่องและการบรรยายเหมือนการ์ตูน หากขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่สามารถเรียกไลท์โนเวลได้เต็มปาก

      

                 อย่างไรก็ตาม  ก็มีบางสำนักพิมพ์ได้ได้ปรับเปลี่ยนรูปเล่มนิยายไลท์โนเวลใหม่ คือสำนักพิมพ์บงกตที่ปรับเปลี่ยนรูปเล่มนิยายไลท์โนเวล เช่น Suzumiya Haruhi และ Baka to Test to Shokanju ให้มีขนาดรูปเล่มขนาดใหญ่เท่าหนังสือมาตราฐานทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่ไลท์โนเวลต้นฉบับเดิมมีขนาดเล็กพกพาสะดวก  ด้วยเหตุผลบางประการ

    ไลท์โนเวลเป็นศัพท์ใหม่ที่พึ่งจะดังเมื่อไม่กี่ปีครับ บางคนนั้นไม่ทราบด้วยซ้ำว่าไลท์โนเวลแปลว่าอะไร  หลายคนอาจสับสนความหมายของไลท์โนเวล อันเนื่องจากปัจจุบันมีนิยายที่คล้ายๆ กับนิยายไลท์โนเวลวางแผงในตลาดมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นของคนไทยเขียน ฝรั่งเขียน สับสนวุ่นวายไม่รู้ว่ามันคือไลท์โนเวลหรือเปล่า ดังนั้นจึงอยากให้จำว่า หากนิยายเรื่องไหนขาดคุณสมบัติ 3 อย่างที่ผมบอกว่าอย่างนี้ถือว่าไม่ใช่ไลท์โนเวลเลย

    ยกตัวอย่างเช่นนิยายที่คนไทยเขียนหน้าปกเป็นรูปการ์ตูนสวยๆ หล่อๆ แฟนตาซีอลังการสวยน่าซื้อ อีกทั้งในเล่มยังมีภาพประกอบ อย่างไรก็ตามหากเนื้อหาอ่านแล้วไม่เหมือนการ์ตูน ไม่มีความรู้สึกเหมือนการ์ตูน และรูปเล่มที่ไม่พกพาถือว่าไม่ใช่ไลท์โนเวล

    หากหนังสือนิยายแนวตะวันตก เช่น อเมริกา มีรูปภาพ มีเนื้อหาแฟนตาซี รูปร่างเล็ก ก็ถือว่าไม่ใช่ไลท์โนเวล อย่างที่บอกไปว่าไลท์โนเวลเป็นศัพท์เฉพาะของหนังสือรูปแบบเอกลักษณ์ของตัวมันจริงๆ ไม่เหมือนนิยายต่างชาติ ที่มีศัพท์เฉพาะมันเหมือนกัน เช่น วรรณกรรมเยาวชน, นิทาน, วรรณกรรมเด็ก เป็นต้น

    ส่วนสำหรับนิยายแต่งลงเว็บ หากเนื้อหาคล้ายมีไลท์โนเวล มีรูปประกอบการ์ตูนนั้น ก็ไม่นับว่าเป็นไลท์โนเวล หากเนื้อหาแสดงถึงการแต่งครึ่งๆ กลางๆ ตรงนี้มีคนวิเคราะห์ว่าคนเขียนนั้นความจริงไม่ได้ตั้งใจนิยายเป็นไลท์โนเวล แต่เป็นเพราะคนเขียนส่วนใหญ่ฝีมือไม่ถึง เลยเขียนแบบนิยายจริงๆ ไม่ได้ แต่ไปเขียนแบบครึ่งๆ กลางๆ โดยอ้างอิงจากการ์ตูนแทน สิ่งที่ได้คือมันคล้ายไลท์โนเวลไป

    แม้เนื้อหาไลน์โนเวลจะง่ายๆ สบาย แต่กระนั้นไลน์โนเวลแปลญี่ปุ่นที่วางแผงในบ้านเรานั้นถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับไลน์โนเวลต้นฉบับที่วางแผงในญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีสำนักพิมพ์ที่แปลไลน์โนเวลหลักๆ เท่าที่มอง ตามหน้าแผงหนังสือเพียงแค่ 3 สำนักพิมพ์เท่านั้น, รักพิมพ์, JBOOK และ A Plus ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นวิบูลย์กิจ (คินดะอิจิ, โคนัน) บงกต นานๆ ครั้งจะออก และตั้งแต่ JBOOK ปิดตัวลง ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊คมีเพียง A Plus เท่านั้น (หากไม่นับไลน์โนเวลที่ไทยแต่ง ซึ่งแถบแทบส่ายหัว เพราะดูยังไงก็ไม่เหมือนไลนโนเวลสักเท่าไหร่ นอกจากบางเรื่อง เช่นการิม) สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอบย้ำว่าไลน์โนเวลแปลไทยไม่ได้รับความนิยมในแผงหนังสือมากนัก

    แน่นอนว่าสิ่งที่ผมคิดว่ายอดขายไลท์โนเวลในไทยนั้นไม่ดีนั้น เป็นเพียงความคิดผมที่คิดเองเท่านั้น ไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรมว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าว่ายอดขายในไทยนั้นดีหรือไม่ดี เพราะไม่เห็นมีใครทำแบบสอบถามดังกล่าวเลย จึงไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลจากเว็บไซต์ไหน แต่ที่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือจำนวนไลท์โนเวลญี่ปุ่นในแผงในหนังสือนั้นค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบนิยายประเภทอื่นๆ  และปฏิกริยาของคนอื่นเมื่อพูดถึงไลท์โนเวลที่แทบไม่มีใครรู้จักนิยายประเภทนี้เลย หรือบางคนไม่ชอบด้วยซ้ำ ด้วยเหตุผลดังกล่าวก็เพียงพอแล้วที่ทำให้ผมรู้สึกดังกล่าว

     
                 แต่ถ้าสมมุติว่าสิ่งที่ผมคิดเป็นจริง คำถามที่ตามมาคือเป็นเพราะอะไรที่ทำให้ไลน์โนเวลแปลไทยไม่เป็นที่นิยมในไทยมากนัก
    ? เท่าที่มองอย่างแมวๆ พบว่ามีหลายปัจจัย แต่หลายปัจจัยดังกล่าวล้วนมาจากนิสัยการเลือกซื้อนิยายของคนไทยมากกว่าที่มีความแตกต่างจากคนญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง ซึ่งแยกย่อยออกหลายข้อดังต่อไปนี้

    ราคา ราคาถือว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ที่คิดจะซื้อไลท์โนเวลมาอ่านสักเล่มหนึ่ง อันเนื่องจากไลท์โนเวลเรื่องหนึ่งเล่มหนึ่งราคา 120 บาทเป็นอย่างต่อ บางเล่ม 150 บาทก็มี ซึ่งสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มคนอ่านไลท์โนเวลมักเป็นเด็กวัยรุ่นเป็นหลัก (วัยเลย 20 อย่างผมยังคิดหนักเลย) หากแต่เงินที่จะเจียดซื้อนิยายไลท์โนเวลนั้นไม่ค่อยมีซึ่งกว่าจะซื้อต้องคิดหนักหลายครั้งหลายตลบ ยกตัวอย่างเช่น นิยายคินดะอิจิกับคดีฆาตกรรมปริศนา ตอน คดีฆาตกรรมเรือสำราญผีสิงของสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจมีราคาถึง 190 บาทเลยทีเดียว ทำให้หลายคนที่มาเห็นตกใจกับราคาดังกล่าวมากทั้งที่รูปเล่มมีขนาดเล็กแท้ๆ ไม่น่าจะมีราคาแพงเลย

    ทำไมไลท์โนเวลถึงมีราคาแพงนั้น อันนี้ผมก็ไม่ทราบ แต่ที่คาดเดาก็น่าจะมาจากกระบวนการผลิตไลท์โนเวล ไล่ตั้งแต่ ลิขสิทธิ์ไลท์โนเวลเรื่องดังๆ (แต่ผมเชื่อว่ามันไม่น่าจะมีราคาแพงมาก) และเมื่อได้ลิขสิทธิ์ก็ต้องหาคนแปล ตรงนี้อาจจะยากพอสมควร เพราะคนแปลญี่ปุ่นเป็นไทยนั้นอาจหายากในบ้านเรา ที่มีใจรักการเรียบเรียงนิยายไลท์โนเวลจริงๆ ประกอบกับระยะเวลาแปล กับการตีพิมพ์รูปเล่มขนาดเล็ก จนเป็นเหตุทำให้นิยายไลท์โนเวลหลายเล่มมีราคาแพงหากเทียบกับนิยายมาตรฐานทั่วๆ ไป  หากสำนักพิมพ์ปรับราคาลงอีกนิดก็จะดีมาก

    หลายคนมักเข้าใจผิดว่าซื้อไลท์โนเวลไม่คุ้มเนื่องจากมีเนื้อหาน้อยกว่านิยายมาตรฐานทั่วๆ ไป       ความจริงแล้วไม่ใช่เลย นิยายไลท์โนเวลทั่วไปมีปริมาณเนื้อหารูปเล่มจำนวนหน้าแล้วๆ พอๆ กับหนังสือเล่มหนาเล่มหนึ่งเลยทีเดียว เพียงแต่ปรับตัวหนังสือให้มีขนาดเล็กและปรับขนาดรูปเล่มให้พกพาสะดวกเท่านั้น

                รูปเล่ม ไลท์โนเวลถือว่าเป็นของใหม่ในวงการแผงหนังสือของไทย ที่ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเปรี้ยงปร้างถึงขั้นคนแห่มาซื้อจนหนังสือไลท์โนเวลเรื่องใดเรื่องหนึ่งติดอันดับขายดีระเบิดแบบแฮรี่ พอตเตอร์แต่อย่างใด การเริ่มต้นของไลท์โนเวลในไทยนั้นค่อนข้างมีอุปสรรค์พอสมควร เนื่องจากนิสัยการอ่านของไทยที่ ที่มีนิสัยมักมองรูปเล่มหนังสือก่อนที่จะอ่านและตัดสินใจซื้อแต่ละครั้ง (การซื้อหนังสือของไทยต้องพิจารณาอะไรหลายอย่าง มากกว่าใจรัก) ไม่เหมือนที่ญี่ปุ่นที่มีฐานผู้ซื้อเหนียวแน่นอยู่แล้ว

    อย่างที่บอกไว้ว่านิยายไลท์โนเวลส่วนใหญ่มักมีขนาดเล็กเพื่อพกพาได้สะดวก หากแต่สำหรับคนไทยแล้วกลับมองไลท์โนเวลเป็นหนังสือที่ซื้อแล้วอาจไม่คุ้ม หรือไม่ชอบขนาดของไลท์โนเวล เพราะเอามาจัดเรียงไม่ค่อยสวย (เฉพาะบางคน) หรือเล่มเล็กไม่มีจุดเด่นหากมาวางบนแผงหนังสือ และด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้บางสำนักพิมพ์อย่างบงกตเพิ่มขนาดไลท์โนเวลให้กลายเป็นหนังสือมาตราฐานเพื่อให้คนที่ผ่านมาสนใจมากขึ้น

    คนซื้อไลท์โนเวล ส่วนใหญ่นั้นมักเป็นคนที่ซื้อไลท์โนเวล มักเป็นพวกสะสม หรือรู้เนื้อหาไลท์โนเวลเรื่องดังกล่าวอยู่แต่ก่อนแล้ว เพราะไลท์โนเวลส่วนมักมักนำถูกไปถูกนำไปสร้างเป็นอนิเมะหรือมังงะ ทำให้ทราบเนื้อหาและอยากเก็บของสะสมไลท์โนเวลหรืออยากอ่านการ์ตูนเรื่องนั้นแบบไลท์โนเวล ดังนั้นลูกค้าส่วนใหญ่มักเป็นคนที่ชอบการ์ตูนเรื่องนั้นมาก่อนแล้ว ซึ่งกลุ่มดังกล่าวในไทยค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะต่างจังหวัด (มีไลท์โนเวลส่วนน้อยที่ต้นฉบับเป็นอนิเมะหรือมังงะ เช่น วัชพีช หรือ โคนัน เป็นต้น)

                    เพราะรู้เนื้อหาไลท์โนเวลมาก่อนแล้ว ส่วนใหญ่นิยายไลท์โนเวลที่แปลไทยนั้นส่วนใหญ่เราทราบเนื้อหาเกือบหมดแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่เรา (คนส่วนใหญ่ ที่มีอินเตอร์เน็ต และชอบดูการ์ตูนทางอินเทอร์เน็ต) อ่านมังงะและอนิเมะมาก่อนที่ไลท์โนเวลญี่ปุ่นวางแผงในไทยด้วยซ้ำ เช่น ฮารุฮิ คาโนค่อน เป็นต้น จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อที่เราจะซื้อนิยายมาอ่าน ในเมื่อเราทราบเนื้อหาในนิยายหมดแล้ว ดังนั้นทำคนที่จะซื้อไลท์โนเวลส่วนใหญ่ส่วนมากเป็นเป็นแฟนพันธุ์แท้และชอบการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ก่อนหน้านี้อยู่แล้ว

                    อย่างไรก็ตามมีนิยายหลายเรื่องที่เนื้อหาเมื่อดัดแปลงเป็นอนิเมะหรือมังงะแล้วไม่ตรงกับต้นฉบับ (อาจจะน้อยหรือมากก็ว่ากันไป) เช่น ชมรมคนไร้เพื่อน (Boku wa Tomodachi ga Sukunai) ที่เนื้อหาในอนิเมะแตกต่างจากไลท์โนเวลโดยสิ้นเชิง (หลายจุด) หรือ ยัยตัวร้ายกับนายมาโซ (MM!) ที่เนื้อหาในอนิเมะและมังงะ(โดนตัดจบ)ไม่ตรงกับไลท์โนเวล เช่นกัน

    คนทั่วไปมีความคิดว่า....... นิยายไลท์โนเวล เป็นการ์ตูนไม่ใช่ นิยายก็ไม่เชิง พวกชอบอ่านการ์ตูนไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ชอบรูปไม่นั่งจิตนาการเอง หรือคนชอบอ่านนิยายรู้สึกไม่ชอบรูปเล่มที่เล็กไป มีอารมณ์คล้ายการ์ตูนมากไป อ่านแล้วไม่เหมือนนิยาย

      

    ขี้เกียจตาม ไลน์โนเวลส่วนใหญ่ไม่ได้จบภายใน 1 เล่ม เพราะเป็นเรื่องยาวๆ คล้ายกับอนิเมะ 13 ตอนอวสาน เล่มหนึ่งหากเทียบตอนในอนิเมะอาจจะ 1 ตอน หรือ 3 ตอน (อย่างต่ำ 5 ตอนจบ) ดังนั้นทำให้ไลน์โนเวลเรื่องหนึ่งมีหลายเล่มจบ บางเล่ม 4 เล่มจบ 7 เล่มจบ หรือบางที 13 เล่มยังไม่จบก็มี หากพลาดเล่มหนึ่งถึงขั้นเบื่อชีวิตเลยทีเดียว หรือบางคนขี้เกียจตามด้วยซ้ำ เพราะมาแต่ละช่วง เงินในกระเป๋าของเราก็ไม่ค่อยมี ไม่มีงบพอที่จะซื้อ เวลาจะซื้อแต่ละทีคิดหนักเลยทีเดียว

    ความต่อเนื่องในการวางแผง ระยะเวลาในการวางแผงนิยายแต่ละเรื่องนั้นไม่ค่อยลงต่อเนื่องมากนัก  บางเล่มต่อ 1 เดือนถึงจะออก ในขณะบางเรื่องครึ่งปีถึงจะออกวางแผง ซึ่งนานมาก จนบางคนลืมไปเลยก็มี สาเหตุไลน์โนเวลเรื่องหนึ่งออกนาน อาจเป็นเพราะขาดคนแปลเรื่อง หรือแปลช้าก็เป็นไปได้

               ตลาดแผงหนังสือของไทยนั้นมีทางเลือกที่ค่อนข้างหลากหลายและมีการแข่งขันสูง อย่างที่บอกเอาไว้ว่าไลท์โนเวลญี่ปุ่นยังเป็นของใหม่ในตลาดบ้านเรา ซึ่งการเริ่มต้นอาจไม่ดีนักเพราะคนส่วนใหญ่ชอบอะไรที่มีมานาน คนที่ชอบไลท์โนเวลส่วนมากเป็นการ์ตูนซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มน้อยในบ้านเรา ส่วนมากกลุ่มนิยายส่วนมากมักเป็นวัยรุ่นที่นิยมติดตามพวกแจ่มใสหรือนิยายแฟนตาซีที่เขียนโดยนักเขียนไทย ทำให้หลายคนอาจรู้สึกไม่ชอบไลท์โนเวล ไม่คุ้มเคย อาจทำให้นิยายไลท์โนเวลขาดความน่าสนใจไปบ้าง  แม้เนื้อหาไลท์โนเวลจะมีหลากหลาย (โรแมนติก, คอมมาดี้, ฮาเร็ม) แต่กระนั้นก็ยังเป็นวัฒนธรรมของญี่ปุ่น อาจเข้าถึงคนไทยได้ยาก (ส่วนมากพระเอกในนิยายไลท์โนเวลมักเป็นคนธรรมดา) หลายคนมักเอาเอานิยายทั่วไปมาเปรียบเทียบกับไลท์โนเวลโดยไม่สนลักษณะเฉพาะ ทำให้มีหลายร้านไม่อยากเสี่ยงที่จะเอาไลท์โนเวลมาขายมากนัก หากตลาดขยายตัวไลท์โนเวลอาจวางแผงในตลาดมากขึ้น

    อื่นๆ ขาดการโฆษณา, การแปลไม่ดี, คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ, การเรียบเรียงผิดพลาด คำผิดหลายคน คนอ่านอารมณ์เสีย, ข่าวลื่อที่ไม่ดี ฯลฯ

    ไลท์โนเวลดีกว่าที่คิด ความจริงแล้วไลท์โนเวลดีกว่าที่คิด ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบไลท์โนเวล (ต้องฮาเร็ม) เนื่องจากการบรรยายเนื้อหาเข้าใจง่าย มุกตลกได้ฮ่าก๊าก อ่านแล้วอบอุ่น หลากหลายอารมณ์ อ่านได้หลายครั้งหลายรอบไม่เบื่อ บรรยายได้ดีกว่านิยายที่คนไทยเขียนหลายเรื่องอีก  

    และมีหลายครั้งผมก็อยากจะเขียนไลท์โนเวลในเว็บเด็กดีบ้าง (แน่นอนว่าต้องฮาเร็ม) โดยไม่สนคนจะอ่านหรือไม่อ่าน อยากเขียนเพราะใจรักมากกว่า

                   

                    อนาคตของไลท์โนเวลนั้นยังอยู่ในช่วงตลาดใหม่ ที่ยังไม่ดังเปรี้ยงปร้าง แต่กระนั้นก็ยังพอมีอนาคต เพราะยังมีแฟนไลท์โนเวลที่ติดใจการ์ตูนอนิเมะที่โหลดจากบิตมาดูแล้วติดใจ อยากเก็บไปอ่านหรือสะสมไลท์โนเวลมากพอสมควร ล่าสดสำนักพิมพ์ Zenshu ได้ประกาศการวางแผงไลท์โนเวลน้องสาวของผมไม่น่ารักเลย (Ore no Imouto) มาวางแผงทำให้พอคาดเดาว่าตลาดไลท์โนเวลประเทศไทยเริ่มตื่นตัวบ้าง และบางทีอาจมีสำนักพิมพ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดการแข่งขันบ้าง แต่กระนั้นผู้ซื้อของไทยยังคงแตกต่างจากคนญี่ปุ่น ที่ต้องการโฆษณา ระยะการวางแผงต่อเนื่อง และที่สำคัญคือราคา และที่สำคัญที่สุดคือการ์ตูนสักเรื่องที่ดังเปรี้ยงปร้าง จนเกิดกระแส เช่น เซเลอร์มูน, แขนกล ฯ ฯลฯ หากสิ่งเหล่านี้พร้อมมูล บางทีไลท์โนเวลอาจได้รับนิยมในแผงหนังสือไทยในไม่ช้าก็ได้

                    สุดท้ายก็ขอขอบคุณคอมเมนต์ของทุกท่านในบอร์ดนักเขียนน่ะครับ หากผิดพลาดประการใดขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย และคราวหน้าหากมีปัญหา (หรือผมอยากโม้อะไร) ก็ขอรบกวนอีกน่ะครับ

                   

     + +

    ติดตามเรื่องนี้
    เก็บเข้าคอลเล็กชัน

    นิยายที่ผู้อ่านนิยมอ่านต่อ ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    อีบุ๊ก ดูทั้งหมด

    loading
    กำลังโหลด...

    ความคิดเห็น

    ×